พลอย ลุมทอง

พลอย ลุมทอง

หลังจากหนังสือ “เด็กนอกคอก” ที่เขียนโดย พลอยเซ่ ออกวางจำหน่าย ก็ทำให้หลายคนรู้จัก ครีเอทีฟดีไซเนอร์คนนี้มากขึ้นโดยเฉพาะทัศนคติ การใช้ชีวิต และการทำงาน เรียกว่าได้ใจใครหลายคนไปเต็มๆ กลายเป็นว่าตอนนี้มีผู้ชื่นชอบติดตามเธอมากมาย รอให้เธออัพเดทข้อมูลสร้างแรงบันดาลใจทางโซเชียลมีเดีย เรียกได้ว่ามีแฟนคลับเหนียวแน่น

เส้นทางชีวิตบางคนราบเรียบเหมือนถนนลาดยาง แต่อาจไม่ใช่กับชีวิตของพลอยเซ่ เพราะเธอเติบโตมาในครอบครัวที่แม่มีอาชีพขายผ้าอยู่จตุจักร เธอจึงต้องต่อสู้และทำอะไรด้วยตัวเองมาโดยตลอด

“สมัยเด็กได้ค่าขนมน้อยมาก จำได้ว่าอาทิตย์ละ 100 บาทเท่านั้นเอง แล้วที่บ้านมีพี่สาวสองคน เซ่จะเป็นคนที่ค่อนข้างดื้อ ทำให้ตอนนั้นพี่ๆ ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เวลาพี่มีของอะไรมักแบ่งมาไม่ถึงเราจึงเกิดความรู้สึกว่า แล้วชั้นล่ะไม่เห็นได้อะไรเลย พอเริ่มโตขึ้นก็ทำงานเก็บเงินเพื่อซื้อของเอง” 

ในช่วงมัธยมปลายเธอเป็นนักกิจกรรมตัวยงอย่าง ทำนิตยสารทำมือจนได้รับรางวัล SCBS Young Star Investor ประกวดแข่งขันวาดภาพ เข้าค่ายคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ฝึกงานเป็นเลขา กราฟฟิกดีไซเนอร์จนในที่สุดก็ได้เรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็เลือกทางเดินที่คิดว่าดีกว่า โดยมีโอกาสไปเรียนที่ฝรั่งเศส จนคว้าเกียรตินิยมด้านการออกแบบจากมหาวิทยาลัย EPSAA ณ กรุงปารีส ก่อนกลับมาทำงานที่ตัวเองถนัดอย่างภาคภูมิใจ

“ปัจจุบันเปิดบริษัท C’EST DESIGN มาเกือบปีแล้วค่ะ แต่ก่อนหน้านั้นเป็นฟรีแลนซ์ ก็คิดว่าจะเปิดเป็นบริษัทดีไหม เพราะว่าสายงานที่ทำมันไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทก็ได้ แต่คิดว่าเมื่อมีทีมงานเข้ามาก็ไม่อยากให้เขามาอยู่กับเราโดยไม่มีอนาคต จึงต้องทำเป็นระบบบริษัทแบบจริงจัง เช่นมีประกันสังคมหรือการเสียภาษี

“มาถึงตรงนี้ ไม่ได้เปิดบริษัทเพราะอยากรวย แค่คิดว่าวิธีไหนมันจะเหมาะกับเรา ตอนเป็นพนักงานบริษัท เซ่เคยอยู่กับบริษัทฝรั่งซึ่งดีมากมีคนเก่งเยอะ แต่มันเหมือนไม่ใช่เรา ก็เลยลาออกมาล้มเหลวและไม่มีเงินอยู่พักหนึ่ง ถึงขั้นเป็นหนี้ เพราะเอาเงินเดือนมาหมุนใช้จ่ายล่วงหน้าแล้วไปต่อไม่ได้ ที่เป็นแบบนี้เพราะเด็กอาร์ตส่วนใหญ่จะบริหารเงินไม่เป็น แต่ก็หลุดพ้นตรงวิกฤติมาได้เพราะไม่ยอมแพ้ จากวันนั้นทำให้รู้ว่าเรื่องเงินมันเป็นอะไรที่สำคัญสุดๆ” 

บริษัท C’EST DESIGN ทำงานพื้นฐานด้านการออกแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่การทำแบรนด์ให้กับลูกค้า รีแบรนด์ของเดิม ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ออกแบบโลโก้ หรือแม้แต่ดูแลคอนเซ็ปต์ของอีเว้นท์ที่ครอบคลุมภาพลักษณ์ทั้งหมดว่าจะออกมาในทิศทางใด

“โดยปกติแล้วลูกค้าแต่ละคนจะแตกต่างกัน มีตั้งแต่ให้ทำแบบ Mass Produce หรือ Luxury Produce โดยการทำงานของเซ่คิดอยู่แค่ 2 อย่างคือ 1.ลูกค้าต้องการอะไรแล้วเราจะทำอย่างไรให้เขาพอใจ 2.งานที่ทำมันเทียบเท่าระดับอินเตอร์หรือยัง 

“อย่าเข้าใจผิดว่ารับแต่งานใหญ่ๆ อย่างเดียว งานออกแบบฉลากสินค้าที่คนเพิ่งเริ่มก่อตั้งกิจการก็ทำค่ะ เซ่ไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่ฉลากสินค้า แต่มันคือจิตวิญญาณของการต่อสู้ ลูกค้าบางคนอยากได้ตามแบบที่เขาชอบส่วนตัว หรืออาจให้ไปก๊อปปี้งานคนอื่นก็มีแต่เราจะไม่ทำมัน เพราะเหมือนกับการดูถูกงานของเรา แบบนี้ไม่ต้องใช้เรา ใช้ใครทำก็ได้

“งานที่บริษัทตอนนี้จะเน้นไปทางงานที่ทำแล้วสนุก พอเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ระหว่างทางมันจะสนุกไปด้วย ส่วนเรื่องคุณภาพงานเซ่จะทำเอง แม้จะมีพนักงานคนอื่นมาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง แต่เรื่องการคุมคอนเซ็ปต์และการตรวจงาน เซ่จะเป็นคนทำทั้งหมด 

“เซ่ยอมรับว่ามาถึงตรงนี้เป็นคนที่ฝันใหญ่ จากนี้ก็มีความฝันว่าในอีก 5 ปี อยากให้บริษัทอยู่ในระดับท๊อปของประเทศ มีชื่อที่ใหญ่พอจะทำให้เราโตขึ้นได้ โดยคิดว่าเป็นไปได้เนื่องจากศักยภาพของคนไทยไม่แพ้ฝรั่ง แล้วทุกงานจะทำออกมาเต็มที่ทั้งหมด เชื่อว่าการที่เราเต็มที่สักวันจะไปถึงสิ่งที่เราต้องการ ในอีกด้านหนึ่งจะพยายามส่งประกวดผลงานซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น 

“ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะสร้าง Community สังคมที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน แต่ไม่ได้เอาเงินเป็นจุดเริ่มต้น โดยยึดแนวทางของ พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ที่ให้สร้างความสำเร็จในแบบของตัวเอง คือเซ่ไม่รู้ว่ามันจะออกมาในรูปแบบใด แต่จะดีมากถ้าส่งเสริมทำให้คนในสังคมค้นหาตัวเองให้เจอ” 

Did you know? 

•    ในวัยเด็กเธอเคยสร้างเครื่องปัดแมลงวันไฟฟ้า และแชมพูสมุนไพรจนได้ออกรายการ “ซูเปอร์จิ๋ว” ที่โด่งดังมากในอดีต 
•    ด้านผลงานการออกแบบส่วนตัว เธอเคยได้รางวัล Design Excellent Award (DEMARK) 2012 มาแล้ว
•    สิ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เธอมีพลังทำอะไรหลายอย่างนั้นคือแม่ของเธอนั่นเอง

Designer of Dreams หลังจากหนังสือ “เด็กนอกคอกงานดีไซน์สร้างแรงบันดาลใจ