Chikungunya

Chikungunya

หลายๆ คนที่เคยได้ยินชื่อนี้ครั้งแรก อาจจะงงๆ ว่าเป็นชื่อไวรัสพันธุ์ใหม่หรือเปล่า แต่ที่จริงแล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่อะไรเลย มันเกิดขึ้นบนโลกนี้มาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โรคนี้ถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1955 แถบทวีปแอฟริกา ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปหลายประเทศและกลายเป็นทั่วโลก และคนแรกที่สามารถบรรยายลักษณะของโรคชิคุนกุนยาได้ ก็คือ Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden

 

การแพร่ระบาดของโรคนี้ในทวีปแอฟริกานั้น มี 2 วงจร คือ วงจรที่เรียกว่า วงจรชนบท (คน-ยุง-ลิง) ซึ่งมีลิงบาร์บูนเป็นแรกเริ่มมีการระบาดเล็กๆ เป็นครั้งคราว และเมื่อติดสู่คนจึงค่อยนำเชื้อออกมาสู่สังคมเมือง ทำให้เกิด วงจรเมือง (คน-ยุง) กลายเป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คน โดยยุงลายกลายเป็นพาหะนำโรคนั่นเอง

 

การติดต่อของโรคชิคุนกุนยานั้นเกิดขึ้นเมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด และเมื่อเชื้อไวรัสถูกถ่ายทอดไปยังยุงลายก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเมื่อยุงลายตัวที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ก็จะสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ที่ถูกกัดได้ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

 

ในช่วงแรกที่เกิดอาการของโรคชิคุนกุนยานั้น ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง รวมทั้งอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดกระบอกตา แม้กระทั่งเลือดออกตามผิวหนังก็มีในบางคน รวมทั้งอาจจะมีอาการคันเกิดขึ้นด้วย โรคนี้จะคล้ายๆ กับไข้เลือดออกหรือหัดเยอรมัน แต่ในช่วงระยะแรกที่เป็นจะไม่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก รวมทั้งเลือดที่ออกก็ไม่มากเท่ากับโรคไข้เลือดออก

 

โรคนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ถ้าอายุมากจะมีอาการที่รุนแรงกว่า คือมักจะมีอาการปวดข้อ ทั้งข้อมือ ข้อเท้า และเป็นข้ออักเสบตามมาด้วย อาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นจะมีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย หากเป็นขั้นรุนแรงก็อาจจะทำให้ปวดจนไม่สามารถขยับข้อได้ อาการเหล่านี้หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะค่อยๆ หายไปภายในระยะเวลาประมาณ1-2 สัปดาห์ แต่ก็มีบ้างบางคนที่เกิดการเจ็บปวดเรื้อรังโดยร่างกายไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ปวดอยู่นานเป็นเดือนเป็นปีก็มี

 

การรักษาโรคนี้นั้นยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาและป้องกันโรค จึงเป็นการรักษาตามลักษณะอาการที่เป็น เช่น หากผู้ป่วยมีไข้สูงก็ให้กินยาลดไข้ และพักผ่อนให้เพียงพอ หรือหากใครที่มีอาการปวดข้อก็ให้พักผ่อนให้มากเช่นเดียวกัน

 

และถึงแม้ว่าจะไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาหรือป้องกันได้ แต่ก็มีงานวิจัยออกมาพบว่า ยาคลอโรควิน (Chloroquin) สามารถบรรเทาอาการได้ผลดี ส่วนวิธีที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ดีที่สุดก็คือการป้องกันยุงลายที่เป็นตัวพาหะของโรคนี้ หมั่นตรวจดูตามแหล่งน้ำขังภายในบ้านเพื่อไม่ให้ยุงมาวางไข่ ควรหาฝามาปิดเพื่อป้องกัน รวมทั้งการฉีดพ่นหมอกควันตามบ้านเรือนก็สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ในเบื้องต้น

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงการป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดไม่ให้อยู่ในแหล่งที่มียุงลายมาก และไม่ให้ยุงกัด ด้วยการทายากันยุงหรือใช้สารไล่ยุง สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด และสังเกตว่าคนรอบข้างมีอาการของโรคนี้หรือไม่ หากคิดว่ามีอาการใกล้เคียงให้รีบพบแพทย์โดยทันที เพราะถึงแม้โรคนี้จะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยและปวดเมื่อยตามร่างกายได้ ดังนั้นเราจึงควรป้องกันและรับมือกับโรคนี้ไว้อย่างดีที่สุด และหากใครที่มีคนใกล้ชิดกำลังตั้งครรภ์อยู่และมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะเด็กที่อยู่ในท้องอาจจะติดเชื้อชิคุนกุนยาได้

หน้าฝนทีไร โรคต่างๆ ก็มักจะวนเวียนเข้ามาเสมอๆ