ฤทัย ใจจงรัก

ฤทัย ใจจงรัก

ชีวิตการทำงานของ รศ.ฤทัย เริ่มต้นขึ้นหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต (สถาปัตยกรรมไทย)เกียรตินิยม จากคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2504 และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง(สถาปัตยกรรมไทย)ในปีพ.ศ.2517 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทในแนวคิดทางวิชาการและวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมไทยและสากล ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่น ด้านการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทย เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พ.ศ.2540และยังเป็นศิลปินแห่งชาติ รุ่นเดียวกับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรและยังคงทำงานสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้อุทิศเวลาส่วนหนึ่งเพื่อเขียนตำราทางวิชาการด้านสถาปัตยกรรมไทย ด้วยความมุมานะมุ่งมั่นบากบั่น มิเสื่อมคลาย เพื่อถ่ายทอดผลงานจินตนาการดุจนิรมิตศิลป์จากสรวงสวรรค์ มาแล้วทั่วแคว้นแดนสยาม

ตามรอย...บูรพาจารย์

หากจะย้อนหลังไปเมื่อ 74 ปีก่อน เด็กชายฤทัย ถือกำเนิดขึ้น ณ ตำบลมหานาค อำเภอป้อมปราบ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนเดียวของนายจำลอง บิดาซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กับนางประทุมวรรณ มารดาซึ่งมีอาชีพค้าขาย เขามีใจรักการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดทรงธรรม ย่านพระประแดง ก็ได้ริเริ่มวาดภาพสีน้ำ ในชั้นมัธยมปีที่ 3เพื่อนๆ ทุกคนในห้องมักจะมีการวาดภาพสีน้ำนำมาติดประกวดแข่งขันกันที่หน้ากระดานดำในทุกๆ เช้า ทำให้ได้คลุกคลีอยู่กับสีน้ำทุกวัน ไม่มีวันไหนที่เขาไม่ได้เขียน พร้อมกวาดรางวัลคะแนน 10 เต็ม จวบจนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยมปีที่ 5 จึงได้พัฒนาจากการวาดด้วยสีน้ำมาสู่สีน้ำมัน จนสามารถวาดภาพสีน้ำมัน เป็นภาพผลไม้ ขายได้ตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม โดยเรียนรู้ด้วยตัวเองและซื้อตำรามาเปิดดูแสงเงาตกทอดออกมาเป็นงานศิลปะแบบไทยๆ

หลังจากจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ด้วยใจรักด้านศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านจิตรกรรม จึงตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปศึกษา(เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) ที่นี่ท่านได้มีโอกาสฝึกฝนวิชาความรู้กับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ด้วยความสนุกสนาน ส่งเสริมความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่ตนเองรัก ทำให้ผลการเรียนยอดเยี่ยมและก้าวหน้าสู่ถนนเส้นทางสายศิลปะด้วยการสอบเข้าคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรแต่ด้วยการทัดทานของบิดาจึงฉุกคิด จากที่เคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นช่างวาดเขียน เขียนป้ายต่างๆ ตามโรงหนังหากินไปวันๆ ท่านจึงผันความคิดมาสอบเข้าเป็นนิสิตรุ่นที่ 3 ของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ตอนนั้นเรียนแบบไม่มีความหมาย ผมเริ่มปรับตัวเรียนสถาปัตยกรรมไทย เรียนลายไทยใหม่อีก ซึ่งผมเรียนมาตั้งแต่อยู่คณะจิตรกรรมแล้ว เมื่อตัดสินใจเดินหน้า จะถอยหลังไม่ได้ มาเรียนสถาปัตยกรรมไทยแล้วก็ต้องเรียนต่อไป เมื่อมีชั่วโมงเรียนว่าง ก็แอบไปเรียนที่คณะจิตรกรรม เรียนเรื่องทฤษฎีสีกับท่านอาจารย์ศิลป์ ตอนเรียนผมมานั่งเขียนลายไทยตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่แรกนั้น การเรียนสถาปัตยกรรมที่ศิลปากรจะเน้นหนักไปทางด้านสถาปัตยกรรมไทยเป็นหลัก โดยเรียนกับศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์สายตรงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ สมเด็จครูช่างของไทย ท่านจึงมีพื้นความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างดี

“แต่เมื่อเรียนอยู่ปีที่สอง ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ ได้เปลี่ยนชื่อคณะจากคณะสถาปัตยกรรมไทย มาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์พร้อมเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนเป็นแบบสมัยใหม่ ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ผลงานของสถาปนิกเอก ระดับโลกในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นแฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ เลอ คอร์บูซิเอร์ หรือ มีส แวน เดอร์ โรฮ์ ยิ่งทำให้มีใจรักและชื่นชอบในทางสถาปัตยกรรมแบบสากลมาก โดยเฉพาะผลงานของ แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ มีอิทธิพลต่อตัวผมมาก จึงนับว่าเป็นการเติมเต็มพื้นฐานความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมสากลได้อีกสาขาหนึ่ง

“หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว คณบดีในยุคนั้นได้เรียนเชิญผมเข้ารับราชการในคณะสถาปัตยกรรมไทย โดยได้สอนวิชาสีน้ำเรื่องลายไทยและวิชาสถาปัตยกรรมไทยควบคู่กันไป ทำให้ยิ่งต้องศึกษาค้นคว้า วิจัยด้านสถาปัตยกรรมไทยอย่างจริงจัง แล้วสอนเด็กว่าลายไทยมีโครงสร้างอะไรบ้าง คุณไปหามา เราเรียนเทคโนโลยีการรีเสิร์ชมา เรานำมาใช้ได้ เพราะแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยจะมีสถาปัตยกรรมไทยที่ไม่เหมือนกัน วิถีชีวิตของผู้คน ความสนิท ความเชื่อที่แตกต่างกัน ผมรีเสิร์ชเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยปี พ.ศ.2510-2516 ทั้งหมด 28 จังหวัดภาคกลางก็ยังไม่เหมือนกันเลย

“เมื่อกาลเวลาผ่านไป เรือนไทยต่างๆ มักจะมีมุ้งลวด เหล็กดัด ผ้าม่าน ดูแล้วมันอึดอัดหัวใจ เรือนไทยเดิมมันโปร่ง เปิดโล่งทำให้ไม่ร้อน เวลาหน้าหนาวจะเย็นสบาย มันหมายถึง สะอาด สว่าง สงบ สั้นๆ มีเสื่อผืน หมอนใบ นอนหลับสบาย ผมทำลงในตำรา โครงสร้างเหล่านั้นจะมีความละเอียดอย่างไร มีภาพประกอบจบหมด สามารถอธิบายได้ แล้วนำมาเขียนยอดให้สวย จะเขียนอย่างไร เราสามารถนำการสอนจิตรกรรมไทยมาใช้ว่าซัพเจคท์ตัวนี้มันเหมาะกับสถาปัตยกรรมไทยอย่างไร ไม่ใช่ว่าสถาปัตยกรรมไทยจะใส่อะไรลงไปก็ได้

“ศาสตราจารย์อันมักจะสอนว่าสถาปัตยกรรมฝรั่งเราเรียนวิธีของเขา เรียนรู้เทคโนโลยีของเขา แต่ไม่ใช่เอาของเขามาทั้งหมดต้องนำมาประยุกต์ให้เป็นของเรา เพราะสภาพดินฟ้าอากาศของเขาไม่เหมือนกัน ภูมิภาคของบ้านเราเป็นเมืองร้อน เพราะอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร แดดแรง ฝนชุก น้ำท่วม แล้วเรื่องอะไรเราจะไปลอกของเขามา เราต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้เหมาะสม คิดให้เป็นมันจะสนุก โดยเฉพาะด้าน Fine Art แนวความคิดมันจะมีเหมือนกัน ทั้งจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี มันจะมีคอมโพสิชั่นเหมือนกัน อย่างเอลวิส เพรสลี่ย์ ร้องเพลง มันจะออกมาจากหน้าอก สถาปัตยกรรมก็เหมือนกัน ดีไซน์ออกมาแล้ว จะเช้าชามเย็นชาม สี่โมงครึ่งกลับบ้าน มันก็ไม่ใช่ ออกแบบมาต้องดูแล้วว่ามีพลังมหาศาล มีสมาธิ โดยใช้ธรรมะมาเป็นหลัก จะทำให้มีมุมมองและมิติอันหลากหลายซุกซ่อนอยู่”

เจียรนัยอย่างเคี่ยวกรำ

“ในงานออกแบบและงานสอน การทำงานอะไรก็ดี ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามทำอะไรก็ได้ให้มันแปลก แต่มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเจ้าของที่เขาสั่งให้เราทำหรือใครก็ดี สำคัญว่าเขาจะตามทันเราไหม เวลาเราออกแบบ มันก็ไม่เหมือนกับจิตรกรเขาเพ้นท์สี เขาเพ้นท์อย่างอิสระ แต่สถาปนิกนั้นไม่ได้ งานออกแบบจึงแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ขั้นแรก ออกแบบอย่างธรรมดาให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยของอาคารนั้นๆ เป็นพื้นฐาน งานออกแบบระดับนี้ จะมุ่งเน้นการใช้งานได้เหมาะสมเป็นประการสำคัญ โดยไม่ได้มุ่งเน้นในด้านความงาม อันที่สองเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากอันแรก นอกจากจะมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังต้องมีรูปทรง หน้าตาสัดส่วนถูกต้องและต้องคำนึงถึงความงามทางสถาปัตยกรรมด้วย อันสุดท้ายเมื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นพื้นฐานและมีความงามแล้ว ทำอย่างไรที่จะออกแบบให้ขับเคลื่อนเน้นสิ่งที่พิศวงออกมาจากความงามนั้นๆ นั่นคือทำให้งานออกแบบไม่เป็นอย่างธรรมดาสามัญทั่วไป ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะตัว กลายเป็นงานศิลปะ

“ซึ่งการทำงานให้ถึงระดับนี้ต้องผ่านการค้นคว้า การศึกษาหาข้อมูลที่ได้มาตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการฝึกฝนเคี่ยวกรำ การทำงานออกแบบอย่างหนักหน่วง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเรือนไทยเดิม ตามตำนานมันมีความเชื่อต่างๆ เป็นต้นว่าครอบครัวเดี่ยวครอบครัวขยาย มีคหบดี มีกุฏิสงฆ์แล้วแต่ภาษาบาลี ที่เขาใช้เรียกกัน สมัยก่อนช่างวิจิตรเหล่านี้ทำได้ดีมีฝีมือคือเรือนไทยเดิมแบบประเพณี มีปั้นเงิน ทีนี้เมื่อคนจะทำถวายให้พระ เขาก็ต้องทำให้ดีที่สุดเพราะให้ของดีย่อมได้ของดีกลับมา ให้ของเลิศย่อมได้ของเลิศ ของอันประเสริฐ ย่อมอยู่ในฐานะอันประเสริฐ เขาจึงทำของดีไปให้วัด เพราะพระสร้างเองสร้างไม่ได้ ต้องกว้าง 7คืบ ยาว 12 คืบ มันเป็นเรื่องยาก ทีนี้กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ท่านค้นคว้ามาได้ความว่า 1 คืบของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเท่าไรคำนวณอย่างไรถึงจะถูกต้อง แม้แต่พม่าเอง ยังต้องมาเอาสูตรนี้จากของไทยเรา เวลานี้ไปดูได้ที่วัดบวรมงคล หน้าตำหนักจันทร์เขาขีดเส้นใต้ไว้เขาคำนวณให้ว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับที่จะสร้างวัด

“ฉะนั้นสถาปัตยกรรมไทยตามความหมาย มันก็คืออาคารที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์เอาไปใช้หรืออาศัย แต่สถาปัตยกรรมภายนอก เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วไม่ได้ใช้ ส่วนที่ใช้จริงๆ คือส่วนภายใน ขงจื้อเป็นคนบอกเมื่อพันกว่าปีล่วงมาแล้วว่า ‘ในงานสถาปัตยกรรม ที่ว่างภายในต่างหากที่มนุษย์เข้าไปใช้’ นั่นคือประโยชน์ที่มนุษย์ใช้สอย ปัจจุบันการสืบสานสถาปัตยกรรมไทยอันนี้เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ เวลานี้สมาคมสถาปนิก เขาก็ลงมาดูเหมือนกัน เขาก็ให้รางวัลสำหรับผู้ที่ออกแบบ คือไม่ต้องมีปั้นลมแต่ให้มีลักษณะของความเป็นไทยเท่านั้น เหมือนกับญี่ปุ่นใหม่ออกมา มองแล้วเป็นสมัยใหม่ ของเราเมื่อสร้างสรรค์ออกมาแล้วจะมองเห็นความเป็นชาติ มันมีจิตวิญาณของความเป็นไทยแฝงอยู่ มีดีเอ็นเอของความเป็นไทย อย่างเราจับเอาฝรั่งตาน้ำข้าวมาใส่ชุดไทย มันจะเป็นไทยไหม มันไม่เป็น เพราะดีเอ็นเอมันเป็นฝรั่ง

“การแสดงออกของงานสถาปัตยกรรมไทยมันต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เด็กรุ่นใหม่มักจะใช้คำว่า ‘บริบท’ ล้วนเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ว่าเราอยู่ในเส้นศูนย์สูตร มีไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว แม้กระทั่งฮาวาย อยู่แถบนี้ทั้งนั้น ภูมิอากาศจะร้อนชื้น แดดแรง ฝนชุก อาคารที่สร้างจะต้องโปร่ง เบา ลอย ไม่ใช่ปลูกติดดินเหมือนของจีนเขา ซึ่งมีสภาพอากาศที่หนาวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เมื่อสร้างเสร็จแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้มุ้งลวดหรือมีผ้าม่าน เหล็กดัดอะไรเลย การสร้างเรือนไทยเดิมต้องสร้างให้พอดีๆ อย่าสร้างมากเกินไป ในที่สุดเราก็ไม่ได้อยู่ตลอดไป

“การวางแพลนมันต้องมีเทคนิค แพลนนี้สัดส่วนอย่างไร เขียนแพลนเป็น 3 มิติได้ไหม อย่างแพลนนี้ติดกับหลังนี้ หลังนี้ 4 ชั้นมี 2 ชั้นยื่นออกมาหน่อย แล้วฟังก์ชั่นใช้ได้ไหม จะไปห้องนั้น ต้องผ่านห้องนี้ทำไม พวกนี้เป็นเทคนิคหมด ภายในบ้านจะสมดุลกัน มองแล้วสวยงามมีรสนิยมได้มาตรฐาน ส่วนเรือนไทยภาคอีสานจะออกแบบง่าย สวยแบบซึ้งๆ (หัวเราะ) ซื่อแล้วมันสวย ถ้าสวยแบบลึกซึ้งจริงๆ ต้องวัฒนธรรมล้านช้าง ของลาวๆ กับเราเป็นชาติเดียวกันในความคิดของผม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม ผมเปิดทีวีช่องของประเทศลาว เมื่อดูแล้วไม่ต้องแปล คนลาวเองก็ดูทีวีของประเทศไทย ก็ไม่ต้องแปลอีกเหมือนกัน ฟังออกหมดรากเหง้าทางภาษา วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน จากเวียงจันทร์ลงมา แล้วแยกข้ามแม่น้ำโขง มาแต่งงานกับคนไทย คนไทยก็แต่งกับคนลาว แต่งกันไปแต่งงานกันมา แม้แต่พระธาตุพนม ที่บ้านเรา พังลงมาฝั่งลาวก็ร้องไห้ เราจะไปแยกกันทำไม แม้แต่วัฒนธรรมการตักบาตร การไหว้ การเข้าวัด ก็คล้ายคลึงกัน”

สืบสานผสานสร้างสรรค์

“ผมมักจะกล่าวอยู่เสมอถึงงานทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ว่ามีอยู่ 3 แนวทาง อันได้แก่ แนวทางอนุรักษ์ แนวทางการสืบสานและแนวทางสร้างสรรค์ งานในแนวทางอนุรักษ์ คือการรักษาของโบราณ รักษาขนบเดิมไว้ทุกประการ งานในแนวทางการสืบสาน คือการออกแบบอาคารที่มีประโยชน์ใช้สอยอย่างใหม่ในปัจจุบัน แต่ยังคงรูปลักษณ์ความงามตามแบบอย่างงานสถาปัตยกรรมไทยเดิมอยู่มาก โดยแนวทางส่วนมากของผมมีแนวความคิดในการผสมผสานหลักการวางผังแบบ Dynamic Balance ของสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของแฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ สถาปนิกในดวงใจ เพื่อให้เข้ากับงานที่มีลักษณะการวางผังแบบ Static Balance อย่างงานสถาปัตยกรรมไทย ผลที่ออกมาคือการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่มีลักษณะการวางผังแบบ Dynamic Balance ซึ่งทำให้เกิดวิสัยทัศน์ในการออกแบบที่กว้างขวางขึ้นมาก

“งานเรือนไทยภาคกลาง ถือได้ว่าเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับผม สืบเนื่องมาจากการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนักในระหว่างการค้นคว้าวิจัยเรื่องเรือนไทยเดิมอย่างถ่องแท้ ผลงานที่ปรากฏออกมามีจำนวนมากทั้งที่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ อาคารที่พักอาศัยฯลฯ ถือว่าเป็นการต่อลมหายใจของเรือนไทยภาคกลางแบบประเพณีให้ยืนยาวต่อไป ทำให้หมู่เรือนไทยเดิมเพิ่มความพิเศษมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานหมู่เรือนไทยในอุทยานพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์ จึงได้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ถึงพระองค์ท่านและใช้เป็นที่จัดแสดงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งเป็นที่รวบรวมบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม

“นอกจากนั้นผลงานที่เด่นๆ ยังมีศูนย์วัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม พิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ สโมสรหมู่บ้านเรือนไทย บางบัวทอง หอภาวนาอนุสรณ์ วัดหนัง บางขุนเทียน วัดสีสุก ย่านบางมด กรุงเทพฯ อุโบสถวัดญาณเวศวัน ศาลายา ตามแนวดำริของท่านเจ้าอาวาสพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ปราชญ์แห่งยุคสมัย และยังสร้างสรรค์บ้านพักอาศัยเรือนพื้นถิ่นไทย อีกจำนวนหลายหลัง โดยคำนึงถึงความเลื่อนไหลของที่ว่าง ทั้งภายในกับภายในและภายในกับภายนอก มีการยกใต้ถุนสูงเป็นบางส่วนเพื่อให้อาคารโปร่ง เบา ลอย อีกทั้งยังคำนึงถึงการถ่ายเทอากาศจากห้องใต้หลังคา โดยเปิดช่องระบายอากาศร้อนไว้ที่จั่วทุกด้าน อาจจะสลับซับซ้อนตามรูปแบบวิถีชีวิตปัจจุบัน แต่สามารถกลั่นกรองความซับซ้อนเหล่านั้นให้ออกมาเป็นผลงานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ได้โดยไม่ทิ้งกลิ่นอายดั่งเดิม”

ซาบซึ้งเอกลักษณ์ไทย

“ถ้าประเทศไทยของเราไม่มีวัฒนธรรมประเพณี มันก็สิ้นชาติ ชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง จีนหรือนักท่องเที่ยวมาเมืองไทย เขามาดูอะไร เขามาดูวัฒนธรรมไทย มาดูวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว มาจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาดูวัดต่างๆ จะให้ไปดูตึกสูงๆ ที่สีลมหรือถนนราชดำเนิน ที่บ้านเขาก็มีแล้ว บ้านเรามีอะไรดีๆ อีกเยอะแยะ ถ้าเราไปประเทศสิงคโปร์ เราจะไปดูอะไรเขาไม่มีอะไรให้ดูเลย แต่เขาอยากจะมีที่บ้านเรามีวัฒนธรรม แต่เราไม่ค่อยรู้ว่าไอ้นี่มันมีคุณค่า การส่งออกทางวัฒนธรรมสามารถตักเงินเข้าประเทศกี่แสนล้านบาท ล้วนได้มาจากการท่องเที่ยวทั้งนั้น

“ถ้าไม่นับความสวยงาม ความมีเอกลักษณ์ ความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมไทยเราแล้ว ประเทศที่มีศิลปะในเชิงสถาปัตยกรรมคงเป็นประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจที่สุด สถาปัตยกรรมของบ้านเขาสวยงามอย่างบอกไม่ถูก สวยตั้งแต่ตะเกียบยันผังเมือง เพราะญี่ปุ่นมีนิกายเซน คนมันก็ดี ผมไปที่ประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง ตอนแรกๆ ที่ไป ฟังไกด์มันพูดว่า ญี่ปุ่นมีความเจริญล้ำหน้ากว่าบ้านเราไปอีก 10 ปี พอผมฟังแล้วหมั่นไส้ (หัวเราะ) อะไรจะขนาดนั้น ยกยอเกินไปหรือเปล่า แต่เมื่อผมได้สัมผัสนานเข้า ไปอยู่จริงๆ เออมันจริง อีก 20-30 ปีข้างหน้า เราก็ยังสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ในหลายด้าน เพราะคนเขาพัฒนา อย่างผมไปที่ดิสนีย์แลนด์ของเขา เขาเข้าคิวเป็นระเบียบเรียบร้อยรอถึง 45 นาที เพื่อเล่นเครื่องเล่น 15 นาที ทีนี้ผมไปซื้อข้าวโพดคั่ว ข้างถนน แต่ข้าวโพดมันดันหล่นลงพื้น เดี๋ยวเดียวมีคนเดินมาเก็บกวาด เด็กของเขากินทอฟฟี่ หรือหมากฝรั่งเสร็จ จะมีกระดาษติดตัวห่อเอาไว้ทิ้งถังขยะ ไปดูที่พื้นสนามหลวงของบ้านเราสิ กระดาษเกลื่อนเต็มไปหมด บ้านเมืองเขาสะอาด เพราะเขามีวินัย แล้วเวลาเราก้าวเท้าลงไปข้ามถนนพอเท้าแตะพื้นปั๊บ รถมันหยุดหมดเลย ผมนึกว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเขา ผมจึงถามคนขับรถแท็กซี่ดู เขาบอกว่า ถ้ารถชนคนแต่ไม่ตาย จะเสียเงิน 1 ล้าน คือ ค่าเสียเวลา ค่าเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด รักษาอีกเป็นเดือน ค่าทำขวัญและค่าปรับเงินเข้าหลวงยึดใบอนุญาตขับขี่ ห้ามขับรถ

“จะเห็นได้ว่าที่ประเทศญี่ปุ่น แม้แต่ตะเกียบยังดีไซน์สวยงาม การจัดวางข้าวแต่ละเม็ด จะมีสีเขียวสีแดงวางสลับไว้ ข้าวสวยก็ยังมีศิลปะและอีกหลายอย่างทั้ง อาหารการกิน เครื่องปั้นดินเผา การจัดดอกไม้ การดื่มชา วิธีห่อไข่ 5 ฟอง โดยเฉพาะวิธีการห่อของต่างๆ เป็นศิลปะหมด ศิลปะการห่อของเขาสวยงามมาก จนเราไม่กล้าแกะออกมาดู

“พอกลับมาเมืองไทย ผมมีโอกาสออกแบบสร้างสรรค์ผลงานอีกหลายอย่าง เท่าที่จำได้ มีพระธาตุเจดีย์อีกหลายแห่ง อาทิ พระเจดีย์หลวงปู่เสรี วัดบูรพาราม จังหวัดหนองบัวลำภู และธุตังคเจดีย์องค์ใหม่ วัดอโศการาม ตรงข้ามกับเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ผลงานอันนี้ยังไม่เคยมีสื่อนำเสนอลงไป ธุตังคเจดีย์องค์เก่าเป็นผลงานออกแบบของหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี นายช่างหลวงแห่งกรุงสยาม ท่านเป็นสถาปนิกออกแบบไว้ เป็นหมู่เจดีย์กลม 13 องค์ เป็นตัวแทนของธุดงควัตร 13 ตั้งอยู่บนฐานไพที แต่ด้วยกาลเวลาและสภาพแวดล้อม ซึ่งอยู่ใกล้ทะเล ทำให้เหล็กเกิดผุกร่อนของโครงสร้างธุตังคเจดีย์องค์เดิมชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ผมได้รับมอบหมายให้ออกแบบธุตังคเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นมา โดยเคารพโครงร่างแนวคิดเดิมเป็นหลักแต่พัฒนาสัดส่วนรูปทรงให้มีความงดงามลงตัวและตอบสนองประโยชน์ใช้สอยได้มากยิ่งขึ้น ตอนแรกตั้งงบประมาณไว้ 40 กว่าล้าน ทำไปทำมาบานปลายไป 90 ล้าน จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2548 ของเดิมเขาสร้างครอบของเก่าเพราะสมัยก่อนเขาออกแบบไว้แล้ว เอาปูนไปพอกเหล็ก ทีนี้น้ำเค็มของทะเลมันขึ้นมา ก็ไปกัดเหล็ก ทำให้เหล็กเกิดผุกร่อนผมจึงออกแบบให้ใหม่แต่ยังคงรูปแบบประเพณีเดิมๆ ไว้

“หากจะเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมให้เห็นภาพเช่นศูนย์วัฒนธรรมไทย ดูจากการออกแบบแล้ว มันไม่ใช่สถาปัตยกรรมไทยเพราะประเทศญี่ปุ่น เขาออกงบประมาณมาให้เราสร้าง ประเทศญี่ปุ่นเองเขาอยากให้เราออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทย เขาพยายามที่จะให้ศูนย์วัฒนธรรมไทย ออกมาเป็นแบบไทยๆ จริงๆ แต่คนไทยเองกลับไม่ออกแบบอย่างนั้น เพราะเกรงใจที่ญี่ปุ่นเขาให้เงินมาสร้าง มันจึงออกมาเป็นแบบนั้น เหมือนหออัครศิลปินก็เช่นเดียวกัน สร้างมาไม่ทันไร สีลอกแล้ว พื้นผิวทางเดินก็เป็นหินอ่อน ฝนตกมาทีไรลื่นทุกที ผมว่ามันเป็นเรื่องของผู้รับเหมาเขาสร้างมากกว่า

“การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่สร้างพรวดพราด สร้างเสร็จแล้วมันสามารถอยู่ได้เป็น 100 ปี มันไม่ใช่เสื้อผ้า เดี๋ยวเวลาเบื่อก็ไปซื้อมาใส่ใหม่ก็ได้ คนที่จะสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ ต้องมีสมาธิ ต้องมีความรับผิดชอบ อาคารที่เราทำต้องมีความปลอดภัย ผมเคยไปดูที่โรงพยาบาลตำรวจ ขึ้นไปที่ระเบียนชั้นบนที่กันตกของขอบระเบียงสูงแค่เอว โอ้โห เห็นแล้วเสียวตามหลักสถาปัตยกรรม ต้องสูง 1 เมตร 30 เซ็นติเมตร ไม่ใช่เวลายืนอยู่ขอบระเบียง แล้วเผลอไปกระแทกด้านหลังปังเดียว ตีลังกาตกลงมาเลย เห็นแล้วตกใจ อย่างที่บอกสถาปนิกต้องมีความรับผิดชอบ หรืออย่างโรงภาพยนตร์ที่อยู่บนอาคารสูงๆ เวลาไฟไหม้ มีทางหนีไฟไหม มีประตูหนีไฟออกได้ 8 ประตูหรือไม่ ผู้ที่ออกแบบต้องสามารถอธิบายได้ด้วยว่าเวลาไฟไหม้ จะออกมาได้ภายในกี่นาที นั่นคือความรับผิดชอบของสถาปนิก”

เส้นทางการสืบสานสร้างสรรค์ ค้นคว้า