ธรรมวิทย์  เลี่ยมพุธดำรง

ธรรมวิทย์ เลี่ยมพุธดำรง

สถาปนิกที่วางโครงสร้างดังกล่าวมีชื่อว่า คุณธรรมวิทย์ เลี่ยมพุธดำรง เป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสถาปนิกร่วมเกือบ 30 ปี ไม่เพียงแต่ผลงานข้างต้นที่เรากล่าวถึงเท่านั้น แต่ยังมีงานอื่นๆ อีกมาก เช่น โครงการ The Oasis Amata โครงการโรงงานกาแฟสำเร็จรูปของ บริษัท เขาช่องอุตสาหกรรม 1979 จำกัด สมุทรปราการ โครงการบ้านสวนแจ้งวัฒนะ ดอนเมือง โครงการอาคารเรียนและปฏิบัติการของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ฯลฯ

 

คุณธรรมวิทย์เรียนจบปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเดินทางออกไปหาประสบการณ์ในต่างแดนและต่อมาก็ได้เรียนจนจบในระดับปริญญาโทที่ School of Architecture and Urban Planning, UCLA California, USA

 

“ตอนนั้นเป็นยุคของพลเอกเปรมเป็นรัฐบาลซึ่งเข้ามาฟื้นฟูประเทศ ก่อนที่พลเอกชาติชายจะเข้ามาเป็นรัฐบาลในเวลาต่อมา ช่วงนั้นผมได้เดินทางไปสิงคโปร์ ไปหาประสบการณ์ ไปฝึกภาษา ก็ไปทำงานอยู่ประมาณ 3 ปีครึ่ง พอกลับมาเมืองไทยได้ไม่นานก็ไม่อยากอยู่เมืองไทย เลยไปหาประสบการณ์ต่อที่อเมริกา ตอนแรกก็ไปอยู่ที่เท็กซัส ไปเรียนอยู่ได้ 1 ปี เราก็ย้ายไปแอลเอ ก็กะว่าไปเรียนต่อ พอไปถึงที่นั่นก็ได้รู้จักเพื่อนหลายคน แล้วก็มีงานพิเศษทำเยอะ ได้ไปช่วยงานดีไซน์ที่บริษัทในแอลเอ ไปอยู่อีก 2 ปีครึ่ง พยายามทำความเข้าใจว่าคนที่นั่นเขาคิดอะไร”

 

หลังจากที่ได้สัมผัสงานสถาปัตยกรรมทั้งของไทยและของต่างประเทศ ก็ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันสักเท่าไหร่ เขาบอกว่าที่สหรัฐอเมริกามีตึกสูงใหญ่และเทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่ในภาพโดยรวมแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่ากันสักเท่าไหร่อย่างไรก็ตาม การบ่มเพาะรากฐานจากทั้งสองวัฒนธรรมก็ทำให้เขามีงานที่เอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

“ผมชอบแนวที่เหมือนกับไปข้างหน้า เหมือนการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งมันอาจไม่ใช่ความใหม่สำหรับโลกหรือจักรวาลใบนี้ แต่เป็นอะไรที่คนเรายังไม่ได้เจอมันหรือลืมมันไปแล้ว ก็เอามารื้อฟื้นใหม่ แนวทางของผมมันค่อนข้างประหลาดนิดหนึ่ง พูดไปแล้วคนอื่นอาจไม่เข้าใจ มันเหมือนการค้นหาชีวิต พร้อมกับวิถีการค้นหาสถาปัตยกรรม ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจยาก ต้องใช้เวลานิดนึง ในช่วงที่ผมอายุ 30 กว่าๆ ตอนนั้นผมเริ่มสนใจเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาค่อนข้างเยอะ แล้วก็คิดว่าเราจะทำยังไงให้ชีวิตมีความสุขได้โดยที่ยังสนุกสนานกับงาน มันเป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วคุ้มค่า ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมคือผลผลิตทางใจของสถาปนิก เหมือนลูกคนหนึ่ง ถ้าเราคิดยังไงสถาปัตยกรรมก็ออกมาอย่างนั้น เหมือนพ่อเป็นยังไงลูกก็จะเป็นอย่างนั้น”

 

และแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่างานยักษ์ใหญ่ชิ้นโบแดงที่เขาให้เวลาและความตั้งใจมากที่สุดงานหนึ่งนั่นก็คือ การออกแบบอาคารImpact Challenger ที่เมืองทองธานี

 

“ผมพยายามดีไซน์ตัวล็อบบี้ของ Challenger ให้เป็นสะพานที่นำไปสู่สะพานที่เราไปค้นพบอันใหม่ บางทีขั้วโลกเหนืออาจจะยังเป็นคำตอบที่เรายังชอบมัน เพราะเขายอมรับว่ามันน่าท่องเที่ยว ซึ่งมันก็ต้องระวังว่าการทำของใหม่ที่ทำแล้วคนไม่ชอบมันก็มีเลยต้องทำไม่ให้มันเป็นของใหม่ที่เสี่ยง ให้มันเป็นสุนทรีของงานดีไซน์ 

 

“ตอนที่ออกแบบ เราก็พยายามคิดว่าจะทำยังไงที่จะเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม แล้วบังเอิญทางเจ้าของก็มีแรงบันดาลใจให้เราเข้ามาผสมโรง คุณปีเตอร์ กาญจนพาสน์ อยากจะได้สถาปัตยกรรมที่ออกไปแนว Futuristic ก็ให้ผมไปดูหนังเรื่อง The Fifth Element ก็เป็นในลักษณะหนังอวกาศหน่อยๆ แต่ภายในยานอวกาศจะตกแต่งแบบคลาสสิค ซึ่งภายในยานอวกาศจะสมัยใหม่เหมือนกับว่าไปข้างหน้าแบบสุดโต่งก็ไม่เชิง ยังอาลัยอาวรณ์ความเจริญรุ่งเรืองในอดีต มนุษย์เราทุกคนเวลาเดินไปข้างหน้ามากๆก็จะรู้สึกเสียดายสิ่งดีๆ ในอดีต ก็เลยไม่อยากทิ้งมันไป นี่คือแรงบันดาลใจอันหนึ่งที่คุณปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ชวนมาทำ ส่วนที่เราอยากมาทดลอง เราคิดว่าจะทำยังไงให้ผู้ประกอบการได้มาโชว์สินค้า ที่ดูแล้วสินค้าของเขามีคุณค่า เราก็เลยคิดว่าเอาดีไซน์ของสถาปัตยกรรมมาสร้างคุณค่าให้กับสินค้า

 

“เราสนุกที่ได้พรีเซนต์ออกไป ทำแล้วลบ ฉีก แก้ อย่างห้องจูบิลี่ก็คือตัวแทนความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่มนุษย์รู้สึกว่าอาลัยอาวรณ์ เราก็ควรจะเอามันมาใส่ไว้ในนี้ แล้วสังเกตว่าสร้างเสร็จแล้วไม่มีใครรู้สึกต่อต้านหรือปฏิเสธว่าทำไมเราต้องเอาสิ่งที่ขัดแย้ง 2 สิ่ง ที่อย่างหนึ่งไปข้างหน้ามาก อีกอันก็เป็นข้างหลังมาก เพราะในใจของมนุษย์ก็ต้องการอย่างนั้น หมายถึงว่าเราให้ในสิ่งที่เขาต้องการ แต่ว่าทำอย่างไรให้มันแตกต่างกันออกไป”

 

จากที่ได้พูดคุยกันมาได้สักระยะหนึ่ง เราก็รู้สึกได้ว่าสิ่งที่เขาคิด และท่วงทำนองที่เขาสื่อสารออกมาแต่ละถ้อยคำอย่างใจเย็นนั้นมีนัยยะแฝงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงใจในการทำงาน ที่ดูจะเป็นสิ่งที่สร้างพลังให้กับเขาอยู่ตลอดเวลา

 

“การเริ่มต้นขึ้นมามันมาจากอะไรก็ได้ แล้วเราก็พยายามสร้างแรงบันดาลใจที่มันแรงๆ ไว้ก่อน สมมุติคนทั่วไปบอกว่าอยากทำงานให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็เว่อร์ๆ หน่อยว่าอยากให้ได้สักสองร้อยหรือสามร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรก็ได้คิดให้มันแรงๆ ให้มันไม่ธรรมดา ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร แค่คำพูดคำเดียวที่มันแรงๆ ก็ค่อยแปลงมาเป็นรูปธรรมศิลปะ ให้มันเห็นภาพที่ชัดขึ้นใสขึ้น แล้วก็นั่นแหละ ใช่แล้ว

 

“บางทีก็เอาหลักธรรมมาแฝงอยู่ในปรัชญาการออกแบบ หลักธรรมของศาสนาพุทธ มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ในความเกิดดับของจิตมีการสร้างภาพมายา เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้แค่ On กับ Off ทุกอย่างที่เราเห็นในโลกนี้มาจาก Bios System จิตมนุษย์ก็คงไม่ต่างกัน เหมือนกับที่ชาวจีนบอกว่าหยินกับหยางคือทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล มันก็คือ On หรือ Off เกิดกับดับ มันกลายเป็นว่าความคิดทางด้านเอเชีย มันคือทั้งหมดที่เราเห็นอยู่ แม้กระทั่งฝรั่งยังยอมรับปรัชญาของชาวเอเชีย ฝรั่งจึงไม่ได้เก่งไปกว่าเราเพียงแต่เขามีเงินสร้าง ส่วนในเรื่องความคิดผมว่าชาวเอเชียดีกว่า สถาปัตยกรรมดีที่คือต้องจรรโลงสังคม คือทำให้มนุษยชาติอยู่ดีมีสุข ใจสงบสบาย ไม่ให้เขาอยู่ในสถาปัตยกรรมแล้วเดือดร้อนทุรนทุราย ให้เขาสัมผัสกับธรรมชาติมันจะทำให้สังคมสงบสุขมากขึ้น”

 

หากเป็นคนอื่น การจะออกแบบสถาปัตยกรรมของตัวเองขึ้นมาสักหนึ่งชิ้น ก็คงจะสร้าง วิหาร โบสถ์ หรือวัด แต่สิ่งที่เขาอยากทำนั้นคือพิพิธภัณฑ์

 

“ความจริงผมอยากสร้างพิพิธภัณฑ์ สามารถบอกสาธารณะชนในสิ่งที่เราอยากบอกว่าที่ผ่านมา เราได้เดินทางมาเกินครึ่งทางเยอะแล้ว ซึ่งสิ่งที่เรารับรู้เราก็อยากถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ตรงนี้ด้วย ให้เขาได้แชร์การเดินทางของเรา มันอาจเป็นพิพิธภัณฑ์อะไรก็ได้ เพราะความคิดพวกนี้มันแทรกอยู่ แล้วก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสสร้างเพราะคนที่ทำได้ต้องเป็นนายทุนที่อยากจะทำในวาระสุดท้าย อยากสร้างผลงาน เหมือนคอเดียวกัน แล้วเราก็มาแชร์กัน แล้วก็สร้างเพื่อเกียรติยศของเจ้าของ ก็เพื่อความภาคภูมิใจของเรา คิดว่ามันยากเพราะต้องใช้เงินมหาศาล แต่ถ้าสร้างแบบเล็กๆ มันไม่ค่อยได้ผลสำหรับโลกปัจจุบัน คือมันต้องมีขนาดพอเพียงแล้วมันต้องตะโกนออกไปเสียงดังๆ คนถึงจะหันมามอง”

หากจะพูดถึงสิ่งปลูกสร้างมากมายที่อยู่ในประเทศไทย