โยฮัน สตาร์ วิมลเฉลา

โยฮัน สตาร์ วิมลเฉลา

โยฮัน สตาร์ วิมลเฉลา บางคนอาจคุ้นหน้าเขาจากการเป็นพิธีกรในรายการภาษาอังกฤษ Morning Talk ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 50 หนุ่มหล่อในฝันของนิตยสารฉบับหนึ่ง ไม่ใช่งานในวงการบันเทิง เพราะเรื่องวิชาการเขาก็ไม่เป็นรองใคร เขาเคยเป็นอาจารย์สอนให้กับมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังอีกด้วย

 

หนุ่มคนนี้เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ไทย ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามายี่สิบกว่าปี เรียนจบปริญญาตรีทางด้านคอมพิวเตอร์ และวิจิตรศิลป์ตามด้วยปริญญาโททางด้านคอมพิวเตอร์ ช่วงเวลานั้นเขาแทบไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะได้มาอยู่ที่เมืองไทย เขาทำงานประจำด้านคอมพิวเตอร์อยู่ที่นิวยอร์ก แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับชาวอเมริกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปี 2001 ทำให้เขาตัดสินใจย้ายที่ทำงานมายังฟลอริดา ก่อนจะเบนเข็มครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการมาเมืองไทยโดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการมาครั้งนั้นมากนัก

 

“ความจริงผมเป็นทั้งคนไทยและอเมริกันอย่างละครึ่ง ถึงผมจะเติบโตมาจากครอบครัวอเมริกัน และตอนนั้นผมพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ทุกอย่างที่เกี่ยวกับประเทศไทยแทบไม่รู้เรื่องเลย ครั้งแรกก็คิดว่าจะมาที่นี่ไม่เกิน 2ปี”

 

แต่เมื่อมาอยู่ประเทศไทยแล้ว งานที่เขาทำก็คล้ายๆ กับที่ชาวต่างชาติหลายคนมาทำงานในเมืองไทย นั่นคือการสอนภาษาอังกฤษ ถึงแม้ว่าเขาจะเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือให้กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฟลอริดามาก่อน แต่เมื่อมาเจอเด็กไทยเข้าไปเรื่อง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสำหรับเขาไปในทันที

 

“ผมเคยสอนภาษาอังกฤษเด็ก คิดว่าพอมาประเทศไทยคงสอนได้ แต่เวลามาสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศไทยนี่สุดยอดครับเพราะว่าการที่พวกเขาเป็นเด็ก เราก็เลยต้องเข้าใจว่ามันมีความแตกต่างกัน”

 

เขาตัดสินใจเลิกสอนภาษาอังกฤษเด็กเล็ก แต่การที่มีเลือดอาจารย์อยู่เต็มเปี่ยมก็ทำให้ในเวลาต่อมา เขากลายมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเช่นกัน

 

“เด็กไทยไม่เหมือนเด็กต่างประเทศ ผมจึงต้องเป็นอาจารย์ที่เข้มงวด นักศึกษาต้องมาตรงเวลา ห้ามคุยโทรศัพท์ และต้องทำรายงานที่สั่ง ถ้าไม่ทำ ผมตัดคะแนน ผมไม่สงสาร เป็นนักศึกษามีหน้าที่อะไรก็ต้องทำอย่างนั้น เพราะหลังจากจบถ้าไม่มีความรู้ก็แย่ เพราะเวลาผมเรียนหนังสือ ผมก็อยู่ในกฏระเบียบเหมือนกัน

 

“ถ้าพูดถึงนักเรียนที่เป็นชาวต่างชาติ พวกเขาจะมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงออก แล้วก็สนใจตัวเอง ทุกคนอยากได้เกรดที่ดีจะไม่ช่วยคนอื่น แต่นักเรียนไทยแม้แต่ตัวเองก็ไม่สนใจ เวลาถามก็ไม่มีใครยกมือ ไม่มีใครอยากตอบ ขี้อายมาก”

 

แต่งานที่ทำให้เขาเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาสำหรับคนทั่วๆ ไปก็คือ งานพิธีกรรายการ Morning Talk ที่ออกอากาศวันจันทร์ถึงศุกร์ทางสถานี NBT เวลาตี 5 ครึ่งถึง 6 โมงเช้า นับตั้งแต่วันแรกที่เขาทำงาน รวมระยะเวลาก็ 5 ปีกว่าเข้าไปแล้ว

 

“ครั้งแรกผมไม่รู้อะไรเลย จะมองกล้องตัวไหนก็ไม่รู้เรื่องทุกอย่าง เกิดอาการประหม่าตื่นเต้น จำได้ว่าทำเทปแรกผมต้องไปที่แยกบางนา สัมภาษณ์เรื่องละครไทย เป็นฤดูร้อนที่ร้อนเอามากๆ

 

“ความจริง ผมไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ นะครับ จะอายมาก แต่หลังจากที่ได้รับการฝึกฝนและทำรายกายมานาน ตอนนี้ก็ไม่ค่อยตื่นเต้นแล้ว อีกอย่างรายการนี้เป็นรายการภาษาอังกฤษ ผมเลยทำได้ง่ายกว่าการใช้ภาษาไทย เลยกลายเป็นว่าคนที่มาให้สัมภาษณ์จะตื่นเต้นมากกว่า

 

“สำหรับตัวผมเองไม่ได้คาดหวัง เพราะว่าไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานในรายการมอร์นิ่งทอล์คมาก่อน แต่ก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาจากการได้ไปสัมภาษณ์ บางครั้งคนไทยกลับไม่ค่อยรู้กันนะครับว่าที่เมืองไทยมีอะไร ทำอะไร ผลิตอะไร ผมเองได้มีโอกาสเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างล่าสุดไปที่จังหวัดยโสธรกับสุโขทัย ก็ได้เรียนรู้ในส่วนต่างๆ ของวัฒนธรรม

 

“ความจริงหนึ่งในเป้าหมายของชีวิตผมคือ อยากเดินทางรอบโลก ผมชอบเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่ผมจะไม่ค่อยชอบเที่ยวทะเล เพราะมันไม่ค่อยมีอะไรทำ ผมชอบไปเที่ยวภูเขา ชอบเที่ยวเมืองเก่าๆ มากกว่า”

 

สิ่งที่เขาตั้งใจจะทำในปลายปีนี้ก็คือการเปิดบริษัทใหม่ที่ใช้ชื่อว่า โฮเลดู เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นเพราะเขาเล็งเห็นว่าควรมีอะไรที่ดีกว่าการเรียนในแบบเดิมๆ

 

“ผมจะเปิดบริษัทเกี่ยวกับการศึกษาให้คนไทยไปเรียนที่อเมริกา เป็นการเรียนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน เพราะเวลานักศึกษาเรียนในห้องเรียนผมว่ามันน่าเบื่อ เราสามารถเรียนรู้ได้จากภายนอก ผมอยากให้นักเรียนไปเจอประสบการณ์จริงๆมากกว่า ถ้าหากสนใจก็ไม่ต้องทำอะไรมาก มาสัมภาษณ์ว่าจะไปทำอะไร อยากได้การเรียนแบบไหน เราก็จะทำให้ คนที่จะไปก็มีหลายรูปแบบ ทั้งระยะสั้น 2-3 เดือน หรือเป็นเทอมเลยก็มี”

 

ทุ่มเทและจริงจังขนาดนี้ เราเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จในทุกด้านที่เขาทำแน่นอนครับ

“Live each day as if it were your last day”