ดอยธิเบศร์ ดัชนี

ดอยธิเบศร์ ดัชนี

ดอยธิเบศร์ ดัชนี หนุ่มหน้านิ่ง มาดเซอร์ ทายาทคนเดียวของศิลปินยิ่งใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี เล่าเรื่องราวผ่านเส้นสายลายสี กรีดอารมณ์บาดลึกแทงใจ อยู่ภายในโชว์รูมเชิดชู 3 ศิลปินแห่งชาติ ดร.ถวัลย์ ดัชนี ศ.ประหยัด พงษ์ดำ และ ดร.กมล ทัศนาญชลีแกลเลอรี่เล็กๆ นี้ให้เราเสพกลิ่นอายการจำลองแท่นพิมพ์และผลงานบรรยากาศตัวตน ภายในร้านกาแฟ สมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง ที่ตนเองออกแบบตกแต่งภายในอย่างภาคภูมิใจ

 

“พ่อผมไม่เคยสอนการใช้ชีวิต วิธีการสอนของเขาคือกุศโลบายมากกว่า งานที่ผมสร้างสรรค์ให้กับบ้านเราและต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ผมทำงานงานศิลปะทั้งหมด ตั้งแต่ประติมากรรม จิตรกรรม ออกแบบ ยกเว้นภาพพิมพ์อย่างเดียว งานชิ้นแรกที่ทำจริงๆจังๆ ก็คือวาดตัวหรือบอดี้เพ้นท์ จนกระทั่งมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะจิตกรรม จบแล้วไปต่อปริญญาโท ด้านมิวเซี่ยมเมเนจเมนต์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้บารมีของคุณพ่อ พ่อผมจะเลี้ยงผมแบบปล่อยเหมือนบุฟเฟ่ต์ตัวใครตัวมัน พ่อเลี้ยงลูกแบบสิงโต ตัวไหนไม่เข้มแข็งก็ตายไปเอง ตัวที่เข้มแข็งที่สุดก็อยู่รอด แกคงอยากให้ผมเหมือนแก เดินทางมาสายเดียวกัน

 

“พอผมเกิดที่กรุงเทพ ก็ถูกนำไปทิ้งไว้ที่เชียงรายให้ย่าเลี้ยง เป็นเหมือนสายธารเดียวกัน เข้าโรงเรียนเหมือนกัน พอโตขึ้นผมสอบเข้าศิลปากรไม่ติด ผมก็ไปเรียนที่อื่น ผมเริ่มสร้างสรรค์งานเพ้นติ้งในรูปแบบวิธีของผม และเมื่อมีโอกาสได้ไปที่อเมริกา ผมทำสื่อผสมรูปหอกของอินเดียนแดง นำวิธีการมาจากอาจารย์กมล ทัศนาญชลี เป็นสื่อผสม นอกจากนั้นยัง เป็นวิทยากรรับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรม บรรยายร่วมกับศิลปินแห่งชาติที่เป็นผู้เชียวชาญด้านต่างๆ ผมเป็นเหมือนพี่เลี้ยงนักศึกษาศิลปะที่มาจากทั่วประเทศ ที่จะได้คัดเลือกไปดูงานศิลปะต่างๆ ที่อเมริกา ส่วนหนึ่งมาจากที่ผมคลุกคลีร่ำเรียนศิลปะแล้วผมก็ทำมิวเซี่ยมด้วย ก็เลยนำไปถ่ายทอดข้อมูล หากเด็กไปดูอย่างเดียวก็จะไม่ได้อะไร

 

“ผมเหมือนคนโหยหา ไม่เข้มแข็งแบบพ่อ บุคลิกเราจึงแตกต่างกัน เขาปล่อยให้เราอยู่ด้วยสัญชาติญาณ เขาเชื่อในเลือด มันจะดีจะเลว ก็แล้วแต่ ผมจึงเข้มแข็งโดยธรรมชาติของตัวมันเอง ผมจะเจอกับเขาต้องโทรศัพท์นัดกันเป็นอาทิตย์ ปีหนึ่งผมเจอกันไม่กี่ครั้ง แต่เรามีธรรมเนียมเจอกันต้องกอดกัน มันเหมือนการชาร์จพลังมากกว่า ไม่ต้องพูดอะไรมาก ผมจะกอดกับท่านตลอด มันเป็นวิธีเคี่ยวกรำ สอนแบบไม่สอน”

 

“ผมแฮปปี้กับงานทุกชิ้นที่ผมทำ โดยเฉพาะที่สร้างชื่อเสียงให้กับผมก็คือทำให้บริษัทไทยน้ำทิพย์ ออกแบบ บนขวดโค้กและกระป๋องโค้ก เป็นเรื่องของวัฒนธรรม 4 ภาคออกมาเป็นคอลเล็คชั่น เขาจะคัดศิลปินมาจาก 30 กว่าคน งานของโคคาโคล่า ธีมมันจะเป็นธีมเหมือนกันทั่วโลก ตรงกลางจะเป็นขวดเหมือนกันหมด แล้วมันจะมีฟองพุ่งออกมา ศิลปินของแต่ละประเทศจะดีไซน์แตกต่างกัน เขาอยากได้ผมไปออกแบบเพราะคาแรคเตอร์เป็นตัวของตัวเองไม่เหมือนชาวบ้านเขา ธีมมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางภาคเหนือคืออะไร เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ เพื่อหาเทคนิค ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ต้องมานั่งตวัดฝีแปรงและทำบิลบอร์ดขนาดใหญ่ถึง 40 เมตร งานนั้นค่อนข้างใหญ่มาก ถือว่าเป็นจุดก้าวกระโดด ผลงานผมติดอยู่ประตูสู่ภาคเหนือ ที่จังหวัดนครสวรรค์และทางภาคเหนือตอนบนและพิมพ์บนกระป๋อง

 

“อย่างงานเดินแฟชั่นโชว์ของ จิมทอมสัน ผมออกแบบทั้งหมดใน งานนั้น มีบอดี้เพ้นท์ ออกแบบลายผ้าของนายแบบนางแบบแต่ละท่าน ฮือฮามากในสมัยนั้น เพราะเป็นปีที่ลูกเกด เมทินีเปลือยอก เดินแบบแล้วดัง ผมจะชอบงานที่ท้าทาย บางครั้งแรงบันดาลใจในการออกแบบของผมมาจากวัฒนธรรมการทำขนม ตอนนั้นผมเดินกลับบ้านทุกวันขณะเรียนหนังสือ ผมเห็นเขาทำขนมโตเกียว เขาจะเทแป้งเป็นวงกลมแล้วใส่หมูหยองหรือใส่อะไรลงไปแล้วเขาจะเอาอะไรมาหยอดๆ แป้งเป็นเส้นสาย ผมจึงลองทำดูบ้าง ผมคิดของผมเองเอามาผสมผสาน ผมเลยนำเอาสีมาใส่ดู ลองบีบ ใช้เวลาพัฒนา 10 กว่าปี

 

 “สิ่งที่ผมรู้ตัวเองคือเราพยายามจะทำอะไรที่ดีที่สุดเท่านั้น งานของผมมีเทคนิคเฉพาะตัว ใครเห็นก็รู้ แต่เมื่องานผมออกไปสู่สาธารณะชน ก็ถูกนำไปเลียนแบบ ผมก็ต้องหนีหาเทคนิคออกไปอีก งานครั้งแรกของผมที่สร้างสรรค์ ผมรับเงินมาประมาณ 2หมื่นบาท เงินมันจำเป็นนะ แต่ผมจะไม่ค่อยสนใจเท่าไร เพราะมันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต มันเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการอำนวยความสะดวกเท่านั้น

 

“การเป็นศิลปินต้องไม่ขายตัวไม่ขายจิตวิญญาณหรือใครเอาเงินมาฟาดหัวให้ทำ เราต้องเป็นตัวของตัวเอง มีจิตวิญญาณของตัวตน เวลาผมไปรับงาน ผมจะคิดเสมอว่าผมเป็นนักฟุตบอล ผมไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีสนาม เขาให้โอกาสผมลงไปเตะในสนาม เขาให้โอกาสผมยืมลูกฟุตบอลไปเตะผมก็สนุกแล้ว เขาให้เงินมาเท่าไร ผมไม่เคยเรียกร้อง แต่ผมมีลูกทีม 4 -5 คน ผมก็แบ่งให้เขางานครั้งนั้นหลังจากที่แบ่ง เหลือเงินอยู่ 2,000 บาท ผมนำไปแลกเป็นแบงก์สิบ แบงก์ยี่สิบ แล้วนำมาพับเป็นเรือแล้วปิดทองจากนั้นนำมาใส่โหลแก้วใบใหญ่ นำไปให้พ่อ เป็นงานชิ้นแรกในชีวิตของผมที่ผมหาเงินมาได้ด้วยตัวเอง ผมก็คิดว่ามันเป็นสำเภาเงิน สำเภาทอง ทุกวันนี้พ่อก็ยังเก็บไว้

 

“มีคนถามว่าเป็นลูกศิลปินใหญ่ระดับโลกแล้วรู้สึกอย่างไร เมื่อก่อนผมเคยคิด บางทีที่เราทำดี เราเก่งเขาก็จะบอกว่ามันเก่งเหมือนพ่อ แต่ถ้าเราทำไม่ดี เขาก็บอกว่าไม่เห็นเก่งเหมือนพ่อเลย แล้วไง ผมทำดีก็เสมอตัว ฉะนั้นผมจะแฮปปี้ที่ทำงานที่พ่อไม่เคยทำยกตัวอย่างที่ผมออกแบบโคมไฟสนามในสวนให้กับเจ้าของสุราต่างประเทศยี่ห้อหนึ่ง เป็นโมเดล ทำเป็นเครื่องปั้นดินเผา แล้วนำไปไว้ที่บ้านเรือนไทย

 

“ผมเริ่มแสดงงานครั้งแรกตอนอายุ 20 ต้นๆ เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแสดงผลงานร่วมกับพ่อในฐานะศิลปินที่เกาะลังกาวีประเทศมาเลเซีย ยังมีงานอีกหลายอย่างที่ผมออกแบบ จะมีคนสะสมงานของผม ผมขายงานได้หมด มีอยู่วันหนึ่งมีผู้ติดต่อให้ผมออกแบบศาลพระภูมิ ผมก็บอกว่าคุณไปซื้อตามข้างถนนไม่ดีกว่าหรือ (หัวเราะ) คือเขาอยากให้เราออกแบบเป็นตัวของเราเองทำขึ้นมาใหม่ มันยากที่จะฉีกรูปแบบ แต่ผมก็ทำให้นะ ตอนนี้อยู่ที่บ้านจิม ทอมป์สัน อีกงานคือวัดมุมเมือง ที่จังหวัดเชียงรายเหมือนวัดประจำตระกูล เขาอยากให้พ่อผมหรือลูกก็ได้ ฝากอะไรไว้กับวัดบ้านเกิด งานนี้ผมไม่ได้ค่าจ้าง ทำให้กับแผ่นดิน เมื่อผมจากโลกนี้ไป ผลงานผมยังอยู่ พ่อผมออกแบบเจดีย์ ส่วนผมเขียนลายจิตรกรรมในโบสถ์โดยใช้เทคนิคพิเศษของผมด้วยการสาดสีเข้าไปตามแนวราบ ต้องดูที่น้ำหนักมือ แรงลม สีมันจะมากน้อยแค่ไหนต้องใช้เวลาฝึกอีกนาน

 

“งานศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในมิวเซี่ยม อยู่ที่วัดก็ได้ มันเหมือนเป็นกลิ่นอายเป็นตัวตน กลั่นออกมาเป็นกลิ่น การสเก็ตลายตามแบบของผมเป็นอารมณ์ร่วมทั้งประวัติศาสตร์ การผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมไทย จีน พม่า ลาว กัมพูชา มากมาย ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซของผมก็ได้ ผมใช้เวลา 2 เดือนเต็มๆ จึงเสร็จเพราะวัดไม่เหมือนขนมเค้กซื้อมาแล้วแต่งหน้าได้ทันที เราอยู่ในโลกนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นเมื่อได้แล้ว มีสิ่งไหนบ้างที่จะคืนสู่แผ่นดินเกิดของเราได้บ้าง เพราะการสร้างนั้นมันยาก แต่การรักษานั้นยากกว่า”

ผมคนบ้าบอคอแตก ไฮเปอร์ เป็นเจ้าของบริษัท LARTiSAN