สัญญา คุณากร

สัญญา คุณากร

เมล็ดพันธุ์สถาปัตย์

“ชีวิตวัยเด็กของผมเริ่มจากพ่อเป็นลูกจ้างมาก่อนแล้วก็มาแต่งงานกับแม่ซึ่งเป็นลูกเจ้าของโรงสี ทั้งคู่อยู่กรุงเทพฯ หลังแต่งงานเสร็จ คุณตาก็สั่งให้พ่อกับแม่มาดูแลโรงสีที่อุดรธานี ช่วงนั้นแม่เปิดร้านขายอะไหล่ยนต์ ร้านขายทองร้านเล็กๆ และขายสังฆภัณฑ์ เราเป็นชนชั้นกลางธรรมดา ผมเกิดที่อุดรธานีมีพี่น้อง 4 คน มีพี่ชาย 2 คน น้องสาว 1 คน ผมเป็นคนที่ 3 พอเรียนจบป.7 ที่ดอนบอสโก ก็มาเรียนต่อสวนกุหลาบฯ มาอาศัยอยู่บ้านคุณตาจนถึงม.ศ.5 แล้วคุณแม่ก็จากไป ฝั่งคุณตากับครอบครัวผม จึงห่างๆ กันไป โรงสีคุณพ่อก็ไม่ได้ทำ ทรัพย์สินต่างๆ ก็ไปให้คุณน้าคือน้องชายของแม่เป็นผู้ดูแลสานต่อตามสังคมแบบคนเชื้อสายจีน พ่อจึงมาเปิดร้านขายของธรรมดา อยู่ย่านฝั่งธนบุรี ไม่ได้มีฐานะอะไรครับ”

 

“หลังจากผมจบจากสวนกุหลาบฯ ก็เอนทรานซ์ติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ แล้วช่วงที่เรียนสถาปัตยกรรม ก็มักจะมีการแสดงละคร มันเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม ตอนที่เราเข้ามาเรียนใหม่ๆ รุ่นพี่ให้ทำอะไรก็ทำหมด ไม่ได้มีทักษะ มันสนุก เด็กสถาปัตย์ถ้าไม่นับเรื่องเรียนก็จะทำกิจกรรม ได้รับการสอนจากพี่ๆ ว่าต้องทำละครนะ ทำได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร แล้วตอนเรียนอยู่สวนกุหลาบ ผมว่ายน้ำเยอะ พอมาอยู่สถาปัตย์ก็เลยเป็นทีมโปโลน้ำของคณะ เล่นรักบี้ด้วย แต่ไม่ได้โดดเด่นอะไร

 

“คำว่าเล่นละครถาปัด มันหมายถึงการรวมกลุ่มของแต่ละชั้นปี พอถึงปี 3 พวกเราจะได้ทำละคร ช่วงตอนปี 1 เป็นลูกน้องเขา ปี2 ฝึกงาน พอปี 3 จึงเลือกเรื่องที่จะทำ เขียนบทเอง ออกแบบ ตอกฉากเอง สร้างอัฒจันทน์เอง ขายบัตรเอง หาสปอนเซอร์เองทุกอย่างทำหมด มันเหมือนเป็นประเพณีที่เราได้เรียนรู้การทำงานด้วยกัน ผมเล่นละครมาตั้งแต่ปี 1 จนมาถึงปี 3 ก็มาทำละครของตัวเอง เขียนบทเองกำกับเองด้วย แสดงเองด้วย รุ่นผมไม่ทัน พี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) พี่โย (ภิญโญ รู้ธรรม) ผมจะทันพี่ตั้ว ศรัญยู ผมเข้าปี 1 เขาอยู่ปี 5 ขึ้นปี 2 พี่เขาก็จบออกไปแล้ว แต่ก็ทันได้เห็นกันเวลามีละครแวดวงสถาปัตย์ รุ่นพี่รุ่นน้อง จะได้พบปะกันเจอะเจอกันในกลุ่มซูโม่สำอาง ทุกคนได้เล่นละครสถาปัตย์มา ได้รู้จักกันหมด ก็มีพี่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ) พี่อิทธสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด แล้วก็มากำกับ โหมโรง เป็นเรื่องที่ 2

 

“การเรียนสถาปัตย์จุฬาฯ สอนผม 2 เรื่องใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่ง วิธีการที่จะทำให้เนื้องานออกมาได้ดี จากการสังเกต การคิดแก้ไขปัญหา การสังเคราะห์ปัญหา มันมีวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีขั้นตอนในการทำงานของสถาปนิกว่าอาคารบ้านช่องหรือสิ่งปลูกสร้างอันล้ำสมัย ประเภทนั้นใช้ในเชิงพาณิชย์ อาคารนี้ใช้พักอาศัย เป็นสิ่งที่ต้องตอบโจทย์ในแต่ละโจทย์ของแต่ละอาคาร งานทุกงานผมเชื่อว่าเป็นแบบเดียวกัน นี่คือวิธีทำงานแบบที่สถาปัตย์เขาสอน ส่วนประเด็นที่สองก็คือวิธีการคิดที่ทำอย่างไรก็ได้อย่าให้เหมือนกับที่เคยชิน ขั้นตอนของการทำงาน เราหาความรู้ได้ แต่ขั้นตอนของการกล้าใช้คำว่าสร้างสรรค์มันยาก เพราะตั้งแต่ที่เราเกิดมา ทุกสิ่งที่เราคิดเราทำหรือเราพูด มันมีคนทำมาก่อนแล้วเป็นร้อยเป็นพันปี แม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ก็อาจจะเป็นร้อยปีแต่ถ้าเป็นอาคารบ้านเรือนเกินหลักพันปีแน่นอน พวกถ้ำก็ถือว่าใช่หมด เพราะมนุษย์ถ้ำดัดแปลงเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย

 

“สองอย่างที่ผมกล่าวไปมีคุณค่าที่เรานำมาใช้งานทุกงานได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากสถาปัตย์ แต่นอกเหนือจากหลักสูตรที่เราเรียนแล้วสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่ามากก็คือบรรยากาศของคณะ คณะที่เราเรียนจะเป็นคณะที่คนจะมีบุคลิกเฉพาะตัว อาจเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิดนิดหนึ่งหากเปรียบเทียบกับคณะอื่นๆ ในรุ่นผมทั้งรุ่นมี 90 กว่าคน ผู้หญิงประมาณ 20 คน รวมทั้งคณะทุกชั้นปีมีนิสิตอยู่ในการเรียนประมาณ 500 คน ข้อเสียคือรู้จักคนน้อยกว่า ข้อดีคือมันเกิดจากสังคมภายในที่เกิดมามีบุคลิกเฉพาะตัว 
ความสนิทสนมแต่ละชั้นปีแต่ละคนมันสนิทกันง่ายเมื่อมันดีแล้ว ผู้คนก็พร้อมที่จะแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ เพราะมันไม่ต้องไปอายคนอื่น มันรู้สึกว่าเหมือนมาอยู่บ้าน เราอยากทำอะไรก็กล้าทำ บรรยากาศของคณะมันเอื้อต่อการแสดงออก การสนับสนุนให้เกิดงานแปลกๆ ใหม่ๆ ความคิดทัศนคติจึงมองโลกอย่างสร้างสรรค์”

 

ดั่งลมหายใจของกันและกัน

“ผมโตมาในครอบครัวธรรมดา พ่อเป็นแบบอย่างในการทำงาน เมื่อผมโตขึ้นมา ผมจึงเข้าใจว่าพ่อผมตำแหน่งไม่ดี รายได้ไม่มากแต่เขาก็ภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำ เขาเป็นเสมียน จนกระทั่งมาเป็นผู้จัดการโรงสี แล้วกลับมาเป็นคนขายของ ตลอดชีวิตที่ผมเห็นเขาทำงานตลอด 365 วัน วันอาทิตย์ก็ต้องแวะไปดูโรงสีว่าเขามีอะไร ครึ่งวันเขาก็กลับมา นี่คือสิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาเราไปเที่ยวกับครอบครัว ผมจะเห็นพ่อขับรถวอลโว่เก่าๆ คันหนึ่ง แม่นั่งด้านข้างๆ ลูก 4 คนนั่งหลังแย่งกันนั่งริมหน้าต่าง อ้าปากกินลม ผมนึกไว้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องหารถแบบนี้ แล้วเราต้องเป็นคนขับให้ภรรยานั่ง มีลูกนั่งข้างหลัง ก็ได้แต่ชื่นชมในสิ่งที่เห็น

 

“เวลาเจอคนบอกว่า เฮ้ย! คุณมันแฟมิลี่แมนจังเลย ผมบอกว่าสิ่งที่ผมโตขึ้นมาเป็นเรื่องปกติ ใครไม่ทำอย่างนี้คือไม่ปกติ ก็แล้วแต่ว่าใครโตมาแบบไหน ไม่ใช่ว่าแบบผมดีหรือว่าถูก มันเป็นเรื่องเฉยๆ ธรรมดา แล้วทำไมผมต้องนึกถึงพ่อกับแม่อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนถึงโตบ้านผมไม่มีคนรับใช้ แม่ผมขายของ ทำกับข้าว ดูแลบ้านซักเสื้อผ้าโดยมีลูกๆ 4 คนเป็นลูกมือ เรามีเวรถูบ้านล้างส้วม ซักผ้า ล้างจาน ผมมีความรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขมาก ไม่ได้มีความรู้สึกเป็นทุกข์ใดๆ เลย พวกเรา 4 คนไม่เคยต้องถูกแม่ว่า อย่าทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ มันจะเสียชื่อแม่ เราจะรู้สึกตลอดเวลาว่าเราจะไม่ทำให้ท่านทั้ง 2 คนเสียใจ เหมือนกับลูกผม มันอยู่ที่ว่าสิ่งที่เขาเห็นตลอดชีวิตคืออะไร ถ้าเขาเห็นผมกินเหล้าเมายาสูบบุหรี่เล่นการพนันขี้โกง สบถ เลวร้าย แล้วผมจะไปบอกว่าเขาต้องดีอย่างนั้นคุณต้องดีอย่างนี้ ผมว่าคงลำบาก บางอย่างไม่ต้องสอนเด็กๆ ทุกคนคงเรียนรู้ตลอดชีวิตว่า วันหนึ่งมนุษย์ไม่สามารถอยู่กับสิ่งที่เรารักได้ตลอดไป ไม่สิ่งที่เรารักไป ก็ตัวเราต้องไป อย่างใดอย่างหนึ่ง มันเข้าใจ แต่มันทุกข์ มันห้ามไม่ได้ เนื่องจากผมเห็นความตายมาแล้ว บางทีลูกนอนหลับอยู่ข้างๆ มองหน้าลูก คิดภาพตอนลูกอยู่แล้วผมตาย เขายังอยู่แต่เราไป ผมยังทำใจไม่ได้ พ่อไปแล้วลูกจะอยู่อย่างไร ผมค้นพบสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่คุณแม่ผมเสีย เหตุผลหนึ่งที่ผมกำลังตามหาอยู่ได้คำตอบบ้างไม่ได้บ้าง

 

“สมัยเด็ก ตอนกลางคืนผมต้องสวดมนต์กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคืนก่อนนอน สิ่งหนึ่งที่ผมอธิฐานทุกคืนก็คืออย่าให้พ่อกับแม่ผมเป็นอะไร แล้ววันที่แม่ผมเสีย ตอนนั้นผมมีความรู้สึกว่ามันไม่จริง การบำเพ็ญเพียรภาวนา การแลกเปลี่ยนสิ่งที่ยิ่งใหญ่ด้วยข้อแม้ว่าจะปฏิบัติตนเป็นคนดีไม่มีจริง วันนั้นผมคิดแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมต้องเหลวแหลกนะ (หัวเราะ) แล้ววันนั้นผมก็ค้นพบว่าทุกอย่างมันต้องจากด้วยสังขาร

 

“ณ วันนี้ ผมมีความคิดว่า มนุษย์ล้มหายตายจากกันไปด้วยความรู้สึก คุณอาจจะมีคนในครอบครัวอยู่ในบ้านเดียวกัน เป็นเพื่อนหรือเป็นญาติกัน แล้วคุณเกลียดเขา จริงๆ เขาจากคุณไปตั้งแต่คุณเกลียดเขาแล้ว คุณไม่เคยนึกถึงเขา ว่าเขาจะเป็นอย่างไรกันบ้าง กินข้าวรึยัง จะร้อนจะหนาวมั้ย ฝนตกแดดออกเขากำลังรู้สึกอะไร ผมว่านั่นคือความรู้สึกว่าคนนั้นตายจากคุณไปแล้ว และผมได้ค้นพบว่าแม่ของผมไม่ได้ตายจากผมไป เพราะผมยังรู้สึกตลอดเวลาว่าไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะระลึกอยู่เสมอว่าถ้าเขายังอยู่เขาจะว่าเราไหม เขาจะตำหนิเราไหม สังขารเรารักษาไว้ไม่ได้ แต่สิ่งที่อยู่ในหัวใจเรารักษาไว้ได้”

 

ก้าวแรกที่ก่อร่าง 

“หลังจากผมจบสถาปัตย์ มาทำงานสถาปนิก ประมาณ 8 ปี 4 บริษัท ผลงานไม่โดดเด่นอะไร มีออกแบบสร้างบ้าน 2-3 หลัง มีคอนโดมิเนียมอยู่ซอยอ่อนนุช เป็นผลงานของบริษัทออกแบบ แต่เป็นส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบ ตั้งแต่จบออกมาผมทำงาน 
2 อย่างคือ สถาปนิกแล้วทำงานนอก หลังเลิกงาน เสาร์-อาทิตย์โดยการเล่นละครบ้าง เป็นพิธีกรบ้าง ทำคู่กันมา ประมาณปี2540 ก็เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้น อสังหาริมทรัพย์ แวดวงก่อสร้างได้รับผลกระทบอย่างมาก ตอนนั้นสำนักงานสถาปนิกเกือบทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ต้องระบายคนออกประมาณครึ่งหนึ่งหรือผลัดกันมาทำงานจันทร์-พุธ-ศุกร์ แล้วรับเงินเดือนครึ่งเดียว บริษัทผมตอนนั้นผมหุ้นกับรุ่นพี่ ทุกวันนี้บริษัทนี้ก็ยังอยู่ เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างดีมีผลงานออกแบบคือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ทุกสาขา แต่เมื่อเราเจอวิกฤติก็มีกติกาว่าจะต้องลดค่าใช้จ่าย ผมเป็นคนเดียวในบริษัทที่ต้องไปทำรายการโทรทัศน์ด้วยผมมีงาน 2 อย่าง ถ้าต้องมีใครเสียสละ คนๆ นั้นจะต้องเป็นผม เพราะผมมีทางไป คนอื่นทำอย่างเดียว

 

“วงการโทรทัศน์ตอนนั้นก็มีผลกระทบบ้างแต่ยังพอไปได้ มันไม่หนักเท่าอสังหาริมทรัพย์โฆษณามันก็เหมือนกับเค้กก้อนใหญ่ มันก็จะเหลือเท่ากำปั้น แต่ก็ยังมีให้กินอยู่เช่นเดียวกัน รายการโทรทัศน์ซึ่งแต่เดิมการจะได้เวลาแต่ละสถานีเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากคนธรรมดาทำไม่ได้ มันไม่ใช่ระบบยื่นซองประมูลกัน มันเป็นระบบกำลังภายนอกบวกกับกำลังภายใน ผมไม่ทราบจริงๆ เพราะไม่เคยคิดว่าจะได้เวลา ตอนนั้นผมทำพิธีกรมาหลายปีแล้ว ได้รับเสนอจากทางช่องว่าจะมาทำรายการไหม แล้วทาง JSL ก็ให้การสนับสนุนว่าให้ทำรายการของตัวเองเลยสิ หลังจากรับจ้างเขามาหลายปี จึงเกิดเป็นรายการสัญญามหาชน ทุกคืนวันเสาร์ทางช่อง7 แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น ที่นี่หมอชิต ทุกคืนวันอาทิตย์ ซึ่งก็คือรายการเดียวกัน เริ่มทำเมื่อประมาณปี 2541 รวมๆ แล้ว
ก็ 11 ปีแล้ว

 

“ตัวกรุยทางที่ทำให้ผมเข้ามาอยู่ในวงการบันเทิงก็คืองานละครที่สถาปัตย์ ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 5 จบแล้วก็ยังไปช่วยน้องๆ บ้างตามโอกาส แล้วบังเอิญมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ เขาเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์พอเขาไปเห็นเราเล่นละคร เขาก็ชอบ ก็ชวนไปเล่นละครทีวี ตอนนั้นตามวิธีคิดแบบผม อะไรที่คุณยังไม่เคยลองในชีวิต ไม่ได้แปลว่าคุณทำได้หรือทำไม่ได้ฉะนั้นคุณต้องลอง เหมือนผมสอนลูกว่าอาหารจานนี้ไม่เคยกินแล้วอย่างเพิ่งยี้ ไม่กินก็ลองกัดกินดูก่อนแล้วค่อยมาว่ากันต่อว่าจะเอาอย่างไร

 

“ผมจึงไปเล่นละครของบริษัทไนท์สปอตโปรดักชั่น ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท.เรื่อง ยุทธจักรนักคิด เป็นเรื่องเกี่ยวกับบริษัทโฆษณาผมเล่นเป็นครีเอทีฟคนหนึ่งในนั้น พระเอกคือคุณทูน หิรัญทรัพย์ นางเอกคือคุณธิติมา สังขพิทักษ์ ผมเป็นตัวละครประจำ มีบทพูด
นะครับ ไม่ใช่เดินผ่านไปผ่านมา (หัวเราะ)” 

 

บนโลกแห่งมนต์มายา

“หลังจากรับเล่นเรื่องนั้นเสร็จ วันหนึ่งผมก็มาโผล่แว้บๆ ในรายการวิก 07 ตอนนั้นยังเป็นละครของบริษัท JSL คุณพิไลวรรณบุญล้น เป็นผู้กำกับ มีนักแสดงรับเชิญมาแสดงเป็นตอนๆ ในแต่ละสัปดาห์ ผมรับแสดงไป 2 เรื่อง คราวนี้เขาจะทำเป็นเกมโชว์เขาจึงมาชวนผมไปแคสติ้ง เพื่อทดสอบการเป็นพิธีกรดู จำได้ว่าเหงื่อแตกพลั่ก ทุกวันนี้ก็ยังแตกอยู่ (หัวเราะ) ปรากฏว่า
ได้ เขาถามว่าอยากทำพิธีกรไหม ผมบอกว่าไม่อยากทำ เขาบอกว่าทำแล้วดังนะ ผมบอกว่าผมไม่อยากดัง เขาก็บอกใหม่อีกว่าทำแล้วได้ตังค์นะ ตอนนั้นเงินเดือนสถาปนิกไม่กี่พันบาท ผมบอกว่าตังค์นะอยากได้ แต่ไม่อยากดัง เขาก็บอกอีกว่าตังค์กับดังมันต้องมาคู่กัน ผมยังจำประโยคนี้ได้ แต่จำบทสรุปไม่ได้ เมื่อไปทดสอบบทก็ได้ทำพิธีกรชื่อรายการ เฉียบ คู่กับคุณดี๋ ดอกมะดัน ยุคนั้นมันเป็นสูตรสำเร็จว่าพิธีกรเกมโชว์ต้องมี 1 พิธีกรกับ 1 ตลก ผมทำอยู่ประมาณ 1 ปีแล้วเลิกรายการไป

 

“ผมเริ่มเล่นละครบ้าง ทำงานควบคู่ไปกับสถาปนิก และไปเล่นละครเป็นอาชีพที่โรงแรมมณเฑียรเล่นอยู่หลายปี จนกระทั่งทางบริษัท JSL เรียกให้มาทดสอบอีกครั้งในรายการใหม่ชื่อรายการ เจาะใจใส่จอ มีคุณดำรง พุฒตาล ซึ่งเป็นพิธีกรที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ผมก็บอกเขาอีกครั้งว่า ผมชอบแสดงละคร ไม่ชอบเป็นพิธีกร เพราะผมเคยลองมาแล้วเหงื่อแตก เขาก็บอกให้ลองดูอีกครั้ง เราจะทำรายการที่มีละครอยู่ในรายการนั้นด้วย แล้วก็มีสัมภาษณ์เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตคนด้วย ผมก็บอกว่าถ้ามี 2 คนก็ให้คุณดำรง เขาสัมภาษณ์ไปก็แล้วกัน ผมจะอยู่ในส่วนของละคร ก็เริ่มทำกันไป

 

“โดยธรรมชาติของรายการโทรทัศน์ มันก็เหมือนกับต้นไม้ ถ้ามันงอกไปตรงนี้ถ้ามันติดอะไรมันก็จะงอกไปอีกทางหนึ่งเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่า รายการเจาะใจใส่จอก็เป็นเช่นเดียวกัน จะต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ จากไม่สัมภาษณ์ก็กลายเป็นสัมภาษณ์ จากการมีละครก็กลายเป็นไม่มีละคร อยู่มาวันหนึ่งมันก็กลายเป็นทอล์กโชว์เพียวๆ ผมกับคุณดำรง ทำกันมาเรื่อยๆ จนหยุดไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รวมระยะเวลา 17 ปีกับรายการเจาะใจ เปลี่ยนพิธีกรมาหลายคู่ คู่แรกผมกับคุณดำรง ทำกันมาอยู่ 9 ปีนานมาก คุณดำรงก็กลายเป็นสว.แต่งตั้งเสร็จแล้วเป็นสว.เลือกตั้ง หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นสว.เลือกตั้งรุ่นที่ 1 เป็น 2 สมัยเขาจึงลาออกไปทำการเมืองผมจึงบอกกับ JSL ว่าคุณดำรงออก ผมขอออกด้วย เพราะเขาคือเสาหลักของรายการ เขาบอกว่าอย่าไปยึดติดกับตัวบุคคล แต่รายการมันต้องดำเนินของมันต่อไป คุณดำรงยังให้กำลังใจอยู่ตลอดเวียนไปเวียนมา ผมจึงเปลี่ยนมาคู่กับคุณนรากร ติยายนตอนนั้นเขาดังจากผู้ประกาศของไอทีวี ทำอยู่ประมาณหนึ่ง จึงเปลี่ยนมาคู่กับคุณต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี ก็ทำมาประมาณ 2 ปีกว่าตั้งแต่ปี 2540 รวม 3 คน 17 ปี

 

“ระหว่างนั้นผมยังทำรายการอื่นด้วย จนกระทั่งมาทำรายการตาสว่าง ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นผมทำรายการ ดิไอคอน กับช่อง 9 อ.ส.ม.ท.เป็นการสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจ เป็นแบบอย่างเป็นไอคอนของเราได้ ทำตั้งแต่คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นผอ. จนมาถึง ผอ.วสันต์ ภัยหลีกลี้ ท่านมาถามว่าทำรายการเป็นสล็อตเลยยาว 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์วันละชั่วโมง เป็นรายการสดไหวไหม ผมก็คิดในใจว่า สิ่งที่ที่เราสงสัยมานานว่าคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ต้องวิเคราะห์ข่าวหลายรายการทุกๆ วัน เขามีชีวิตแบบไหน เราจะได้ลองแล้วล่ะ”

 

เราก็ศิษย์มีครู...หนึ่งบ้าง

“ผมก็อยากจะรู้ว่าเราจะมีชีวิตแบบไหน ชีวิตต่อจากนี้มันจะเป็นอย่างไร วิธีการทำงานมันจะต่างกันไหม ทีมเราจะผลิตได้ทันไหมมันเหมือนทีมข่าวอย่างไรก็ไม่รู้ ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า ก็แค่อยากลอง ก็ตกลงทำรายการ ตาสว่าง 5 วัน แต่ขอคืนไป1 วันที่ไม่ใช่วันเสาร์และอาทิตย์ เพราะผมยังมีรายการ ที่นี่หมอชิต อีก ไม่อย่างงั้นผมจะไปถ่ายรายการไม่ได้ จึงเหลือ 4 วัน ทีนี้มันไปชนกับรายการเจาะใจ เมื่อชนกันมันจึงมีประเพณีขึ้นมาอยู่อย่างหนึ่งว่า เปิดโทรทัศน์ในเวลานี้คุณเปลี่ยนไปช่อง 5 เจอผมเปลี่ยนไปช่อง 9 ก็เจอผมอีก ไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ผมก็ต้องไปลาออกจากรายการเจาะใจอีก ผมเกรงใจเขามาก มันเหมือนกับเราทำรายการกันมาดีๆ เมื่อเธอมีรายการใหม่ก็ต้องไปทำ ผมก็บอกว่ามันจำเป็น ซึ่งเขาก็ใจดี กรุณาผมว่ามันจำเป็นก็ต้องไปโดยไม่ได้โกรธกันเลย แล้ววันไหนว่างก็กลับมา โปรดติดตามตอนต่อไป เพราะตอนนี้ว่างแล้ว (หัวเราะ) ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาผมยังกลับไปเป็นเหมือนแขกและพิธีกรในรายการ เดี๋ยววันหลังไม่มีอะไรก็กลับไปเป็นใหม่ได้ แต่รายการดีๆ ก็อยากให้เราไปทำและเราก็ไม่ได้ไปเบียดบังพิธีกรประจำที่เขาทำอยู่ สุดท้ายผมก็ออกมาทำรายการตาสว่าง หยุดเวลาเจาะใจไว้ที่ 17 ปี ไม่อย่างงั้นถึงวันนี้ที่ทำอยู่ก็ 19 ปี ใกล้บรรลุนิติภาวะแล้ว

 

“สำหรับแบบอย่างการทำหน้าที่พิธีกรของผมนั้น มีหลายรูปแบบหลายคนที่ผมนำมาเป็นไอคอน คุณดำรง พุฒตาล คือหนึ่งในนั้นที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานพิธีกรของผมในเรื่องการให้เกียรติ คุณดำรงไม่เคยสอนผมว่า ดู๋ นี่พี่แก่กว่าดู๋ตั้ง 20 ปี เชื่อพี่ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่มีครับ ตลอด 10 ปีที่ทำงานกับเขาและ 18 ปีที่รู้จักกันมา ไม่เคยมีการใช้อาวุโสเข้าไป
บอกว่า จงเชื่อ แต่เป็นการทำให้เห็น ทำให้รู้ ทำให้ดู แถมบางเรื่องหันมาถามว่าเรื่องนี้ดู๋ว่าอย่างไร ผมมีความรู้สึกว่าการสอนโดยไม่ต้องสอนมันเกิดขึ้นในชีวิตจริง ถ้าเคยอ่านเรื่องของเซนกับเต๋าจะรู้เลย กับคนๆ นี้ท่านสอนโดยไม่ได้สอนแต่ท่านให้เกียรติคนทุกคน ไม่เคยมีความรู้สึกว่าคนที่มาออกรายการเป็นแค่คนถีบสามล้อซาเล้งเก็บขวดขาย สิ่งที่ผมได้จากคุณดำรงก็คือมนุษย์ทุกคนมีสิ่งดีๆ อยู่ในตัวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพียงแต่เราจะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนพึงได้รับเกียรติจากคนอื่นเสมอ

 

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้จากคุณดำรงก็คือความรักในภาษาไทย คือท่านไม่ได้สอนว่าต้องพูดอย่างไร แต่เขาแสดงให้เห็นถึงว่าเขารักผมก็เลยรักภาษาไทยไปด้วย คำว่ารักมันมีทั้งที่เรียกว่าความรักกับรักษา แต่คำว่ารักและรักษาไม่ได้แปลว่าทำอะไรกับมันไม่ได้ภาษาเป็นสิ่งที่มีชีวิต และอะไรก็ตามเป็นสิ่งมีชีวิตก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่เราพึงรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงมาจากเจตนาที่ดีที่ถูกไม่ว่าจะเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เราไม่ได้พูดเป็นกลอน แต่มีคนคิดเป็นกลอนเป็นการพัฒนาของสิ่งมีชีวิต ผมอุปมาอุปไมยว่ารู้ภาษาไม่จำเป็นต้องเป็นพิธีกรถึงจะมารักภาษา ใครก็ตามที่ใช้ภาษาไทย ควรจะรักภาษาเท่ากันหมด

 

“อีกท่านหนึ่งก็คือคุณสมเกียรติ อ่อนวิมล ท่านเป็นผู้ประกาศข่าวและพิธีกร ในสมัยผมยังเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นรายงานข่าว การปรับปรุงวิธีการทำงานข่าวของช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย คุณสมเกียรติทำให้ผมได้รู้สึกถึงความตั้งใจของมนุษย์ว่าเราทำอะไรก็ได้ในระดับที่เราจะทำได้มากมายหลายอย่าง โดยอย่าประเมินเราต่ำเกินไป ผมมีความรู้สึกว่า
คุณสมเกียรติเองในหลายๆ ครั้งก็ท้าทายอำนาจรัฐ ท้าทายค่านิยมของสังคมในเวลานั้นหลายเรื่อง แต่ท่านทำแล้วมีจุดมุ่งมั่น มันทำให้ผมย้อนไปคิดถึงว่าอุดมคติมีจริง ถ้าเราให้ความสำคัญแต่ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ อุดมการณ์หรืออุดมคติเกิดขึ้นตอนเราเป็นนักเรียน นักศึกษา ว่าเมื่อโตขึ้นจะเป็นอย่างนี้นะ อย่างนั้นนะ ผมว่ามีกันทุกคน

 

“บางคนมีคำถามว่าไอ้คนที่มันขี้โกงอยู่ทุกวันนี้ ตอนเป็นนักเรียนเขาคิดอย่างนั้นหรือเปล่า ผมเดาว่าตอนนั้นเขาคงไม่คิดแบบนั้นแต่อุดมการณ์มันหายไประหว่างการทำมาหากิน หายไประหว่างความสุขที่ได้มาจากอำนาจและเงินทอง แล้วก็ลืมเลือนสิ่งดีๆ ที่ตนเองเคยมี แล้วมันเป็นสิ่งที่มีอำนาจสูงมาก นั่นแปลว่ามนุษย์ที่มีอุดมการณ์ที่ดี จะสามารถท้าทายสิ่งหลายๆ อย่างได้ มนุษย์ที่ไม่มีอุดมการณ์ต่อให้มีอำนาจและมีเงินทองก็จะท้าทายอำนาจต่างๆ ไม่ได้ เพราะกลัวจะสูญเสียสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็จะเป๋ไปเป๋มาซึ่งคุณสมเกียรติก็ไม่ได้สอนผม แต่ผมรู้สึกเอง”

 

“อีกท่านหนึ่งล่าสุดก็คือคุณ วีระ ธีระภัทรานนท์ ที่ทำพิธีกรร่วมกันกับผมในรายการตาสว่าง สิ่งที่ผมได้จากคุณวีระก็คือ สิ่งที่หลายคนไม่ชอบท่านก็คือ การเข้าไปสู่หัวใจของเรื่องว่าคุณจะเอาอะไรกันแน่ วันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ วันนี้เราต้องการอะไรการที่เรามีการปรุงแต่ง มีบทเสริม มีท่วงทำนองที่ทำให้มันงดงาม เป็นเรื่องดี แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือว่าเรากำลังทำอะไรเพื่ออะไร คุณวีระจะไม่เอาสิ่งปรุงแต่งใดๆ สมมุติว่าถามเรื่องนี้ ก็ตอบเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าไปท้าทายใครบ้างหรือเปล่า คนชอบก็เยอะ ไม่ชอบก็เยอะ แต่ใจของผมมองในส่วนที่ผมชอบก็คือเจตนารมณ์ที่ดี ว่าเรากำลังทำหน้าที่อะไร เราต้องการคำตอบอะไรบางครั้งท่วงท่าที่ดี วาจาอันไพเราะ มีสำนวนยอดเยี่ยม ก็ทำให้เราลืมไปว่าเราอยากรู้อะไร แต่คุณวีระจะไม่ลืมสิ่งเหล่านี้เป็นอันขาด อันนี้เป็นแบบอย่างด้านดีที่ผมชื่นชม ผมเชื่อว่าคุณวีระไม่ใช่เทพ ไม่ใช่ไม่มีจุดด่างพร้อย ไม่มีตำหนิ อย่างมีคนบอกว่าคำพูดของเขาเป็นแบบมะนาวไม่มีน้ำ ก็เป็นสิทธิของแต่ละท่าน บางมุมผมก็เห็นด้วย แต่นี่คือมุมที่ผมเล่า มุมที่ผมชอบ (หัวเราะ)”

 

เจาะใจ (ผู้ชายตาสว่าง)

“ประสบการณ์อันน้อยนิดที่ผมมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ผมรู้ว่าที่ต่างประเทศก็มีละครน้ำเน่าและเน่ากว่าเราเยอะมาก (ลากเสียง) ร้องห่มร้องไห้ แย่งสามีแย่งภรรยา แย่งสมบัติ อิจฉาริษยามีหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ฝรั่ง เกาหลี จีน ญี่ปุ่นบังเอิญประเภทของละครเหล่านั้นแบบนั้นมันมีแบบอื่นให้ดูอยู่ด้วย มีละครตอนเย็นให้แม่บ้านดู มีละครตอนกลางคืนให้คนทำงานหรือนักศึกษา กลับมาแล้วได้ดู มันเป็นปัญหาเหมือนงูกินหาง ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าละครบ้านเรามันเป็นธุรกิจ มันเป็นการทำงานเพื่อให้ได้ผลตอบแทน จะเอาอะไรกับสาระ เราต้องมาหาคำตอบว่า การมีผลตอบแทนสูงสุดก็คือคนดูมากที่สุด มันเป็นเรื่องของการตลาด ก็กลับไปถามอีกว่า ทำไมคนชอบดูละครแบบนี้มากที่สุด ลองมองย้อนไปถึงละครต่างๆ ที่เราเคยดูมา ผมเดาว่าคงพอมีเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่มีอิจฉาริษยามากเกินไป ไม่ได้ใส่ความรุนแรงมากเกินไป ไม่มีฉากวาบหวามมากเกินไป ไม่ขายโป๊เปลือยมากเกินไป มีเนื้อหาที่ประโลมใจ สอนให้เป็นคนขยันขันแข็ง มุมานะอดทนต่อสู้ทำมาหากิน คิดมุมบวก หาทางที่จะฉลาดขึ้น ผมเดาว่าคงมีบ้าง แต่ก็ต้องเดาอีกว่า คงสู้หนังหรือละครประเภทตบจูบไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นงูกินหาง พัฒนาการเลยอยู่กับที่ ผมไม่กล้าโทษคนทำละครหรือคนดูละคร บังเอิญผมไม่ได้เป็นคนดูละครและไม่ได้เป็นคนทำละครด้วย แต่อยากจะทิ้งไว้เป็นคำถามว่า งูกินหาง แล้วหัวงูมันอยู่ตรงไหน หางงูมันอยู่ตรงไหน”

 

“ถ้าคนนอกมองเข้ามาว่าผมประสบความสำเร็จ ผมก็ได้แต่ยิ้ม แล้วบอกว่าครับ แต่ถ้าถามผมเอง มองตัวเองผมจะรู้สึกเฉยๆ ไปตลอดทาง เพราะผมไม่ได้ตั้งเป็นเป้าหมายว่าปีนี้รายได้ต้องเป็นเท่านี้ ต้องได้อย่างนี้ 

นักแสดงคุณภาพผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิงมากว่า 20 ปี