โดดเดี่ยว ไม่เดียวดาย ตอนที่ 44  (บทสรุป) เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “วันมหาวิปโยค”

โดดเดี่ยว ไม่เดียวดาย ตอนที่ 44 (บทสรุป) เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “วันมหาวิปโยค”

เช้าของวันที่ 14 ตุลาคม บรรดาผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มทยอยแยกย้ายกันกลับหลังจากที่ปักหลักกันมาตลอดทั้งคืน โดยเดินผ่านพระตำหนักจิตรลดาฯ ในตอนนั้นมีกำลังตำรวจขวางทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินผ่าน โดยอ้างว่าได้รับคำสั่งจากอธิบดีตำรวจในขณะนั้นคือ “พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น”  ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันก็มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจคิดว่าถูกขว้างระเบิดใส่ จึงยิงปืนเข้าใส่ เหตุการณ์ในตอนนั้นชุลมุนวุ่นวายสับสนอลหม่านไปทั่ว

นอกจากตำรวจจะยิงปืนที่บรรจุแก๊สน้ำตาเข้าสู่ฝูงชน ก็มีตำรวจจำนวนหนึ่งถือกระบองไล่ตีผู้คนจึงวิ่งหนีกันจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร บางส่วนวิ่งหนีไปตามถนน แต่บางส่วนกระโจมลงคูน้ำรอบพระตำหนัก และก็มีจำนวนมากที่หนีเข้าไปในพระตำหนักจิตรลดา ในตอนนั้น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” และ “พระบรมราชินีนารถ” ทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งสองพระองค์รับสั่งให้เปิดประตูพระตำหนัก ให้ผู้คนจำนวนมากหลบหนีเข้ามา ทั้งยังทรงเสด็จมาสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับฝูงชนที่มีจำนวนนับร้อยคน ทั้งยังทรงตรัสว่า จะดำเนินการแก้ไขเรื่องราวทั้งหลายให้สงบลงได้ ในคืนวันนั้น จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ “นายสัญญา ธรรมศักดิ์” อธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน “จอมพล ถนอม กิตติขจร”  ในสายของวันเดียวกันนั้น ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ จนเป็นที่มาของคำว่า “14 ตุลาคม วันมหาวิปโยค” 

เมื่อ“จอมพล ถนอม กิตติขจร” สั่งให้ทหารและตำรวจออกมาปราบปรามประชาชน ที่ยังชุมนุมกันอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา หน้ากรมประชาสัมพันธ์ทหาร พร้อมกับยานเกาะจำนวนหนึ่งปักหลักอยู่บริเวณหน้ารูปปั้นพระแม่ธรณีฯ ทั้งทหารและผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากัน ฉันอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดได้เห็นวีรกรรมกล้าหาญของผู้ชุมนุมที่ไม่เกรงกลัวต่ออันตราย ตะโกนด่าทหารว่าเป็นผู้รับใช้ทรราช มีประชาชนคนหนึ่งขับรถเมล์พุ่งเข้าชนทหาร จึงถูกทหารยิงด้วยกระสุนปืนจริงใส่รถเมล์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย คนขับถูกยิงเลือดท่วมตัว มีนักศึกษาคนหนึ่งถือธงชาติเดินเข้าหาทหาร จึงถูกยิงเสียชีวิตเป็นคนแรก มีการนำศพของเขามาแห่ประจาน แต่จำนวนผู้คนก็ยังไม่ถอยหนี จนทำให้เกิดมีภาพในประวัติศาสตร์อีกภาพหนึ่งที่ฉันและเพื่อนช่างภาพชื่อ “แปลก  เข็มพิลา” ถ่ายไว้คือภาพ  “ไอ้ก้านยาว”“แปลก” เคยเป็นทหารมาก่อน ฉันบอกกับเขาว่าให้ไปอยู่ด้านทหาร ส่วนฉันจะอยู่ข้างประชาชน เขาจึงได้ภาพ “นายประพัฒน์  แซ่ฉั่ว” นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือท่อนไม้ที่มีลักษณะคล้ายกระบองยืนอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เตรียมสู้กับทหารที่ถือปืนกรูกันเข้ามา ส่วนฉันก็ถ่ายภาพทหารที่ระดมยิงใส่ “นายประพัฒน์” หลังจากที่ถ่ายแล้ว ฉันก็ต้องวิ่งหลบหนีกระสุนปืนของทหาร ในตอนนั้นมีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือศีรษะ พร้อมกับมีเสียงปืนยิงมาจากเครื่องบิน ผู้คนหนีกันกระเจิง บ้างก็หมอบลงกับถนน บ้างคนก็หลบใต้ต้นไม้ริมถนน ในตอนนั้นฉันรู้สึกว่าถูกยิงเข้าที่กลางหลังจึงวิ่งหนีเข้าไปหลบอยู่ในสำนักงาน “นสพ.สยามรัฐ” เพื่อนนักข่าวที่นั่นบอกว่าฉันโชคดีที่กระสุนยิงในตอนแรกเป็นกระสุนปลอม ไม่ใช่กระสุนจริง

เหตุการณ์บนถนนราชดำเนินรุนแรงยิ่งขึ้น ตอนนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คนจำนวนนับหมื่นนับพันร่วมมือกันต่อสู้ด้วยมือเปล่า ข้าวของทางการบนถนนเช่นป้ายจราจร ถูกทุบทำงายเสียหายไปทั้งถนน กองสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกจุดไฟเผา บรรดาผู้ชุมนุมเกรี้ยวกราดเผาสถานที่ราชการอีกแห่งบนถนนสายนี้คือ “สำนักงานภัยสังคม” ซึ่งอยู่สี่แยกคอกวัว ที่นั่นฉันได้ภาพคนถูกไฟครอกตาย นับตั้งแต่เขาหนีขึ้นไปบนกันสาดของตึกไปจนถึงไฟลามติดตัวเขาดิ้นทุรนทุราย ร่างเผาไหม้ดำเป็นตอตะโกหงิกงอคากันสาดตึก มีเสียงตะโกนโห่ร้องของผู้คนไปทั่วถนนราชดำเนินเรียกร้องให้ไปเผากองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้าเป็นเป้าหมายต่อ ฉันถ่ายภาพคนที่มีมือเปล่าถือไม้หรือหยิบฉวยสิ่งที่คิดว่าป้องกันตัวได้ วิ่งไปตามถนนอย่างเกรี้ยวกราด มีเด็กวัยรุ่นช่วยกันระเบิดไฟด้วยการบรรจุน้ำมันเบนซินใส่ลงในขวดเครื่องดื่ม แล้วจุดไฟเขวี้ยงปาเข้าไปในสำนักงานตำรวจ ไฟลุกไหม้เป็นหย่อม ๆ  ตำรวจที่หลบอยู่ในตึกยิงปืนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงควันตลบไปทั่วทั้งถนน และในตอนนั้นฉันก็ถูกแก๊สเข้าตา เจ็บปวดแสบร้อนอย่างทรมาน ชาวบ้านพาฉันหลบอยู่ในบ้านเอาน้ำสะอาดมาล้างให้เป็นชั่วโมงกว่าที่จะหายจากการระคายเคืองของแก๊สพิษ

วันนั้นทั้งวันภาพที่เห็นก็คือทหารยิงประชาชนด้วยกระสุนปืนจริงตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้คน ที่ตายก็ตายไปที่บาดเจ็บก็หอบหนีช่วยกันเท่าที่จะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มันเป็น “วันมหาวิปโยค” สมอย่างที่มีคนตั้งชื่อนี้ให้ มันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติไทย  ที่ฉันอยู่ในเหตุการณ์นี้มาตลอด ข่าวและภาพฉันส่งรายงานให้นสพ.ไทยรัฐอย่างระเอียด ฉันอยู่ที่สนามหลวง อยู่บนถนนราชดำเนิน และอยู่มากกว่านั้นอีก เมื่อคำประกาศของทางการออกมาว่า “จอมพล ถนอม กิตติขจร คุณหญิงจงกล  กิตติขจร” และ “จอมพลประภาส จารุเสถียร  คุณหญิงไสว จารุเสถียร” ได้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว คำสั่งที่ฉันได้รับจากหัวหน้าข่าว “พี่วิรัช  ศิริชุมแสง” ในคืนนั้นก็คือ... “สันติพรุ่งนี้คุณต้องบินไปทำข่าวที่ไทเป เราต้องการภาพและข่าวของจอมพลประภาสและคุณหญิงหนีไปอยู่ที่นั่น”....

 

“สันติ   เศวตวิมล”

นักเขียนบรรณาธิการอาวุโส

เจ้าของนักเขียน รางวัลนราธิปประพันธ์พงศ์

เช้าของวันที่ 14 ตุลาคม บรรดาผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า