The Art of Capitalism ความผันแปรของชีวิตกับศิลปะที่เปลี่ยนแปลง  อาจารย์สุมาลี เอกชนนิยม

The Art of Capitalism ความผันแปรของชีวิตกับศิลปะที่เปลี่ยนแปลง อาจารย์สุมาลี เอกชนนิยม

อาจารย์สุมาลี เอกชนนิยม เป็นศิลปินที่มีความรักและหลงใหลในงานศิลปะอย่างสูง ที่ผ่านมาท่านได้แสดงผลงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วมากมาย ผลงานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เน้นการวาดเส้นที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ถ่ายทอดความคิดและความรู้สึก ผ่านผลงานสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คน สังคม และวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่ให้ความรู้สึกเปลี่ยวเหงาและเงียบงันอยู่ภายใน นอกจากนี้อาจารย์สุมาลียังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปะให้กับเยาวชนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

เดินตามฝันด้วยความหลงใหลสู่อาจารย์ด้านศิลปะ

พื้นเพเดิมอาจารย์สุมาลี เกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด เกิดในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน แต่มาเรียนและเติบโตที่จังหวัดอุบลราชธานี ท่านชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก มีความฝันอยากเป็นศิลปินหญิงแต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากอาชีพศิลปินในยุคนั้นได้เงินน้อยและไม่มีความมั่นคงแต่อาจารย์สุมาลีในวัยเด็กไม่ยอมทิ้งความฝัน ไปสมัครเป็นผู้ช่วยช่างเขียนภาพโปสเตอร์หนังเวลาเย็นหลังจากเลิกเรียนในช่วงนี้เองได้เรียนรู้เทคนิคการวาดรูปจากช่างเขียนภาพโปสเตอร์โรงหนัง จนสามารถวาดรูปได้สวยงามตั้งแต่วัยเด็ก

เมื่อจบชั้นม.ศ. 3 อาจารย์สุมาลีตัดสินใจเข้ากรุงเทพมาสอบเข้าโรงเรียนช่างศิลป์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีการเตรียมตัวหรือกวดวิชาใดๆ แต่สามารถสอบได้อย่างไม่คาดฝันในเวลาต่อมาคุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นถึงความตั้งใจจริง จึงยอมให้ท่านเรียนวาดรูปต่อจนเรียนจบที่โรงเรียนช่างศิลป์

หลังจากนั้นอาจารย์สุมาลีได้ไปสอบเอนทรานซ์มีความหวังว่าจะได้เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่สอบไม่ติดตัวเลือกอันดับหนึ่ง ได้ตัวเลือกอันดับสองที่คะแนนสอบถึงคือ คณะครุศาสตร์ (ศิลปศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอได้เข้าไปเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความคิดได้เปลี่ยนไป มีความรู้สึกว่าถ้าเราคือของจริงเราเรียนที่ไหนก็ได้ ซึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นการสอนให้เป็นครูศิลปะมากกว่าการเป็นศิลปิน

การเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์สุมาลีได้ร่วมทำกิจกรรมกับชมรมอาสาสมัครมากมาย ร่วมกับกลุ่มเพื่อนตั้งแต่การออกค่ายต่างจังหวัด รวมไปถึงการทำกิจกรรมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในยุคประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน เรียกได้ว่าทำงานเพื่อสังคมอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้เอง ท่านได้มีโอกาสเข้าไปทำงานฝ่ายศิลป์ให้กับนิตยสารเล่มหนึ่ง เมื่อจบออกมาจึงได้ทำงานกับนิตยสารเกือบ1 ปี ก่อนที่จะสอบเข้าทำงานในคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับราชการในตำแหน่งนักวิชาการช่างศิลป์ แต่ทำอยู่ได้เพียง 9 เดือนก็ลาออก เพื่อไปหาประสบการณ์ทางด้านศิลปะที่ประเทศฝรั่งเศส (เรียนภาษาในเวลาต่อมาได้รับประกาศนียบัตรภาษาฝรั่งเศสชั้นต้น ที่มหาวิทยาลัยปารีส 4 ซอร์บอนน์)

จากนั้นกลับมาประเทศไทยร่วมลงทุนกับเพื่อน ทำโปรดักชันเฮ้าท์อยู่ 8 ปี ก็สลายตัวเพื่อนๆทุกคนเติบโตขึ้นต่างไปมีครอบครัวส่วนอาจารย์เขียนรูปอยู่ที่บ้าน ก่อนจะมีเพื่อนร่วมโรงเรียนช่างศิลป์ชักชวนให้เอาภาพออกมาแสดงงาน ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ หลังจบงานสามารถขายภาพได้ถึง 90 % ทำให้มีรายได้และแรงบันดาลใจในการทำงานบทเส้นทางสายศิลปะมากขึ้น ระหว่างเก็บตัวทำงานศิลปะอย่างเดียวก็เกิดความคิดว่า ควรพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ จึงไปสมัครเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒการเรียนปริญญาโทนี้เองทำให้ได้กลับมาทบทวนชีวิตในหลายด้านและที่สำคัญได้พบกับ รองอธิการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อาจารย์เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์ แนะนำให้มาทำงานด้านวิชาการ รับผิดชอบวิชาพื้นฐานการวิจัยจนกระทั่งเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษ เป็นพนักงานราชการ จนท้ายที่สุดสอบรับราชการได้

 

มุมมองที่หลากหลายกับความหมายของศิลปะ

ชีวิตและประสบการณ์ด้านศิลปะของอาจารย์สุมาลีนั้นเรียกว่ามีมากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาว ความสุขความทุกข์มาอย่างยาวนาน มุมมองเรื่องราวต่าง ๆ ที่ออกมาจากตัวของอาจารย์สุมาลี จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนความจริงโดยเฉพาะในเรื่องของวงการศิลปะของบ้านเรา

“โลกนี้ปฏิเสธทุนนิยมไม่ได้ อันนี้คือข้อเท็จจริง ตั้งแต่ยุค Picasso หรือยุคเรเนซองส์มาแล้ว คือต้องมีคนอุปถัมภ์ พูดได้เต็มปากว่าศิลปะต้องอยู่กับคนที่มีความพร้อมแล้วเห็นคุณค่า อันนั้นคือวิธีที่ศิลปินจะอยู่รอดได้

“ต่อมาคือถ้าไม่มีผู้อุปถัมภ์ ศิลปินต้องบริโภคให้น้อยทุกสิ่งทุกอัน เพื่ออยู่ตามอัตภาพ มีน้อยกินน้อย มีน้อยใช้น้อย ทำงานให้มากบริโภคให้น้อย ตัดทุกสิ่งอันที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยออกไปให้หมด แต่มนุษย์ทั่วไปยังมีกิเลส ยังต้องการสิ่งที่จำเป็นและสิ่งปรนเปรอ  อยากได้ครอบครัวที่อบอุ่น มีทรัพย์สินเยอะ ๆ อยากมีความสุขที่เรียกว่าพร้อมสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเราเลือกเส้นทางศิลปะแล้ว รู้ชัดเจนแล้วว่าเราอยู่ในสังคมที่สภาพแวดล้อมปากท้องสำคัญกว่า ศิลปะย่อมเป็นของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น เว้นแต่จะมีคนเห็นให้คุณค่าแล้วยินดี Supportศิลปะนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราเลือกแล้วเราก็ต้องรับสภาพ รับเงื่อนไขเหมือนที่เขาเรียกว่าเป็นแพ็คเกจ คุณเลือกแพ็คเกจนี้คุณก็ต้องเครื่องเคียงเหล่านี้ไป 

 “ในวงการศิลปะบ้านเรามองได้ว่า ยังไม่ครบองค์ประกอบ ยังขาดผู้สนับสนุนอย่างแท้จริงจัง ขาดคิวเรเตอร์ (Curator) ตัวศิลปินเองบางส่วนก็ไม่จริงจังตั้งใจทำงานศิลปะให้บรรลุถึงความงามบริสุทธิ์ บางคนอาจฝึกทักษะวาดปั้นเพื่อทำมาหากินมีรายได้ก็พอ คือจริง ๆ อันนี้ไม่ได้ตำหนิกันแต่หมายถึงว่ามันอยู่ที่การเลือก ใครจะเลือกเส้นทางเดินไหนมันก็ทางเดินของเขา เราต่างคนต่างเลือก 

แต่สำหรับอาจารย์รู้สึกว่ามันไม่สนุก “เราไม่ต้องการโจทย์จากใคร เขียนนั่นให้หน่อยเขียนนี่ให้หน่อย เขียนตามอย่างนั้นอย่างนี้ เอาอย่างนี้ไหมคุณบอกเรื่องนี้มา แล้วให้เราทำในขอบข่ายที่อิสระ เราทำเสร็จแล้วคุณมาเลือกในอันที่ชอบไป อันนี้โอเค แต่ไม่ใช่ว่ามีโจทย์ต้องมีต้นไม้ 2 ต้นนะ ต้องมีบ้านหลังนึงให้เรานะ พระอาทิตย์ต้องอยู่ตรงนั้นตรงนี้ คือถ้ามีโจทย์แบบนี้มามันไม่สนุก เว้นแต่ว่าเราไปเที่ยวทะเลแล้วอยากเขียนเรือ เขียนลม เขียนคลื่น เขียนไป 10-20 รูป คุณมาเลือกเอา คุณจ่ายแบบนี้จะโอเคกว่า แล้วมันก็ทำให้ศิลปินอยู่ได้ แต่จริง ๆในขอบข่ายของศิลปะในบ้านเรา คิดว่ามันมีเรื่องอะไรที่จะต้องทำอีกเยอะกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้”

 

มาร์เก็ตติ้งอาร์ต ศิลปะและการตลาดของคนรุ่นใหม่

แม้ว่าวงการศิลปะของประเทศไทย ยังอยู่ในความชื่นชอบเฉพาะกลุ่ม แต่เนื่องจากโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทในสังคม ทำให้ศิลปินได้แสดงผลงานของตัวเองอย่างไม่จำกัดทั่วโลก แม้จะต้องแลกมาด้วยคู่แข่งที่มหาศาล แต่ผู้ที่สามารถนำเสนอตัวเองหรือสร้างตัวตน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีแนวทางการนำเสนอด้วยการผสมหลักมาร์เก็ตติ้งอาร์ตเข้าไป ก็ทำให้ได้เปรียบศิลปินที่ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้พอสมควร

“สมัยก่อน 40-50 ปีที่แล้ว คนที่เรียนช่างศิลป์ ศิลปินรุ่นใหญ่หรือศิลปินรุ่นพี่ เราถูกถ่ายทอดกันมาว่า กลองดีถึงไม่มีคนตีก็ดัง คำถามคือแล้วเมื่อไหร่คุณจะดัง มันเป็นยุคที่เรียกว่าต้องกินเกลือกินแกลบ เขาบอกว่าศิลปินอยู่บ้านเฉย ๆ ถ้าคุณดีจริงคนเข้ามาหาเอง อันนี้คือรุ่นพี่เขาถ่ายทอดกันมา แต่วันนี้มันไม่ใช่ยุคโคลัมบัส มันไม่ใช่ยุคของการค้นหา ยุคนี้มันเป็นยุคของการ Presentation ถ้าคุณไม่นำเสนอคุณอาจอดตายได้จริงๆ

 “วันนี้วงการศิลปะพัฒนาขยายตัวมากขึ้นเรื่องนี้ต้องยกความดีให้สื่อด้วย เพราะว่าสื่อก้าวหน้าและหลากหลายมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคุณูปการของสื่อสมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อนเรียกว่าเยอะมาก เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสสร้างชื่อสร้างตัว ถ้าเทียบกับคนรุ่นก่อน คิดว่าก้าวกระโดดเป็นทวีคูณ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่เรียนช่างศิลป์ คิดดูว่าเฟรมยังต้องทำเองเลย ผู้หญิงเรียนก็น้อย เด็กรุ่นนี้เขาสามารถก้าวได้ไวกว่า และเครื่องไม้เครื่องมือ Art Supply ก็ดีกว่าเยอะ 

“แล้วจริง ๆ น้ำหนักของ มาร์เก็ตติ้ง เป็นตัวที่มีประโยชน์มาก สำหรับวงการศิลปะเมืองไทยตอนนี้ คือเราไม่เห็นต้องไปปฏิเสธหรือตำหนิเลยว่า ไม่ใช่ศิลปะที่มีอุดมการณ์หรือมองว่าเป็นเพียงงานฝีมือดาษดื่นมันวัดกันยากขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งมาร์เก็ตติ้งนี่แหละเป็นตัว เข้ามาซัพพอร์ต วงการมันจึงเปลี่ยนไป 

“อย่างไรก็ตามcuratorยังไม่ชัดเจน curatorเดี๋ยวนี้เหมือนต่างคนต่างเป็น แล้วเป็นได้ทันทีในช่วงข้ามคืนก็มี เป็นกันง่ายมาก แต่ต้องยอมรับว่าตลาดวงการศิลปะบ้านเรายังถือว่าเล็กมาก คือในระบบการ Support ถ้าเทียบกับประเทศจีนแล้วเทียบไม่ติด คืออยากให้มีคนที่สนใจ และศึกษาอย่างจริงจังมากกว่านี้”

 

วงการศิลปะไทยในอนาคต

ถ้ามองภาพในอนาคตศิลปะของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตและก้าวหน้าขึ้น ตามการเติบโตของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเรื่องสื่อออนไลน์และการตลาดที่ช่วยส่งเสริมศิลปินให้สามารถเผยแพร่ผลงานของตนได้กว้างขึ้น นอกจากนี้ ศิลปินรุ่นใหม่ยังมีความคิดสร้างสรรค์และกล้าทดลองสิ่งใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างสีสันและแนวทางใหม่ ๆ ให้กับวงการศิลปะไทย โดยในมุมมองของ อาจารย์สุมาลีนั้นได้ทิ้งข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจ

“สมัยก่อนเราจะได้ยินคำว่าศิลปินไส้แห้ง วันนี้ไม่ใช่ ศิลปินมหาเศรษฐีเยอะมากเลยตอนนี้ ศิลปินไทยเป็นเจ้าของหอศิลป์มากมาย ขายรูป 30-40 ล้านบาทเป็นเรื่องปกติ สำหรับคนที่อยากเรียนให้เขามาเรียนได้เลย เพราะศิลปะเป็นสิ่งวิเศษมาก แต่อีกด้านหนึ่งถ้าคุณไม่ใช่ของจริง ถ้าคุณไม่ทำจริง หรือถ้าคุณไม่ประสบความสำเร็จ อะไรจะเกิดขึ้นกับทางเลือกของคุณ คุณต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง อย่าไปโทษคนอื่น

 “แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าเราเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับชีวิต สิ่งนั้นจะตอบแทนเราได้อย่างดี คุณจริงจังตั้งใจเพียงพอแล้วหรือยัง จะบอกเด็กๆที่อยากเรียนศิลปะว่าถ้าชอบ ก็ทำเลย มาเรียนสิ่งดีๆมันให้ประโยชน์แน่นอน เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักตัวเราว่าเราชอบมันจริง ๆ และยินดีที่จะอยู่กับสิ่งนี้จริง ๆ ยินดีในทุกสภาพเงื่อนไขไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะทุกข์ จะเจ็บป่วยไข้ คุณต้องรับในสิ่งที่เราเลือก พอเลือกแล้วเราก็ต้องตั้งใจทำให้ดี มันเป็นสิ่งวิเศษ มันมีค่า มันเป็นเครื่องมือนะที่ช่วยให้เรารู้จักสมาธิ รู้จักตัวเอง เป็นอะไรได้หลาย ๆ อย่าง 

“ส่วนถามว่าศิลปะในอนาคตจะเป็นอย่างไร มันจะยิ่งก้าวหน้าไปตลอดแหละ จริง ๆ การที่เรามีอินเทอร์เน็ต มันทำให้ทุกประเทศก้าวหน้า ไม่ว่าจะตะวันออกตะวันตก โลกมันแคบนิดเดียวตอนนี้ คือวันนี้ศิลปินที่นิวยอร์กรู้เรื่องอะไรศิลปินไทยก็รับรู้เรื่องเดียวกันนี้ได้ทันทีเช่นกันอ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินชาวจีน ขายรูปได้ 500 ล้านบาท ก็ไม่แปลกถ้าเกิดวันหนึ่งมีนายทุนเขาพอใจจะซื้อ เพียงแต่ว่าเด็กวัยรุ่น รุ่นใหม่ จบใหม่ใจร้อน เด็กส่วนใหญ่อยากดังเร็วรวยเร็ว เก่งเร็ว ในทางตรรกะมันเป็นไปไม่ได้ คุณต้องฝึกฝน คุณต้องผ่านวันเวลา คุณถึงจะได้ วันนี้ที่ศิลปินที่เขายืนอยู่ได้เขาผ่านอะไรมา คุณต้องรับรู้ความจริงตรงนี้ก่อน

“แต่เมื่อไหร่ที่คุณจริงคุณได้แน่นอน คุณไปรอดอยู่รอด เพียงแต่ว่าคุณต้องยืนหยัดมั่นคงในสิ่งที่คุณเลือก คุณทำได้ อยากทำอะไรทำเลยอาชีพไหนก็ตาม เราสนับสนุนคนทำจริง รู้จริง รู้จักตัวเอง คนที่มุ่งมั่นบนเส้นทางที่มีศักดิ์ศรีนะ อย่าไปใช้วิธีคดโกง มีเท่าที่มี ทำเท่าที่มี ก็โอเคแล้ว”

การศึกษา 

วิทยาลัยช่างศิลป์จบปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ (ศิลปศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับประกาศนียบัตรภาษาฝรั่งเศสชั้นต้นที่ มหาวิทยาลัยปารีส 4 ( ซอร์บอนน์ )และสำเร็จบัณฑิตศึกษา  ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เคยจัดแสดงผลงานเดี่ยวและแสดงงานกลุ่มต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

เช่นที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา กรุงบัวโนส ไอเรสอาร์เจนตินาซานติเอโก ชิลี กัวลาลัมเปอร์ มองโกเลีย กวางเจา เวียดนาม ฯลฯ รวมทั้งมีผลงานวิชาการทั้งงานวิจัยและงานวรรณกรรมอื่น ๆ เช่นหนังสือ“ฮูบแต้มในสิมอีสาน” ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชนหนังสือ “ความคิดของคนเขียนรูป”และเขียนคอลัมน์ศิลปะออนไลน์ในเพจ nandialogue site: www. Nandialouge.com กว่า 40 เรื่อง

อาจารย์สุมาลี เอกชนนิยม เป็นศิลปินที่มีความรักและหลงใหลในงานศิลปะอย่างสูง