ไต้หวัน

ไต้หวัน

มองผ่านสายตาของคนที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ไต้หวันเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีสิ่งเหนือความคาดหมายมากมาย น่าทึ่ง คิดไม่ถึง ทั้งในด้านบวกและด้านลบ 

ประชากรของไต้หวันมี 20 กว่าล้านคน หรือ 30 ล้านต้นๆ แต่หนังสือพิมพ์และหนังสือเล่มของไต้หวันพิมพ์ขายได้มากกว่าประเทศไทยที่มีประชากร 60 กว่าล้านร่วมๆ 70 ล้านคน หนังสือบางเล่มที่เคยซื้อมาอ่าน พิมพ์ครั้งที่ 50 ในเวลาไม่ถึงครึ่งปี จำนวนพิมพ์ครั้งละ 2,000 - 3,000 เล่ม เติม 0 แล้วคูณด้วย 5 อย่างน้อยก็ 100,000 เล่ม 

หนังสือดีหลายเล่มที่เคยเห็นบนแผงหนังสือเมื่อปี ค.ศ.1981 เคยพิมพ์มาตั้งแต่ยุคเซี่ยงไฮ้ และยังคงพิมพ์ต่อเนื่องมาถึงยุคปี ค.ศ.2015 และยังคงพิมพ์จำหน่ายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หนังสือตกค้างแผงเนื่องจากขายไม่ได้ แต่ที่เรายังเห็นหนังสือเหล่านี้เพราะตลาดและผู้อ่านรุ่นใหม่ๆ ยังต้องการ 

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไต้หวันนั้นใหญ่และมีการแข่งขันสูง หนังสือของไต้หวันขายภายในประเทศเป็นหลัก แต่ตลาดโลกก็มีคนอ่านหนังสือจีนในที่อื่นๆ ตลาดส่วนนั้นไต้หวันกับจีนแข่งกัน มีฮ่องกงเป็นตัวแทรกไม่มาก สู้กันทั้งตัวเรื่อง คุณภาพการผลิต การออกแบบ และราคา หนังสือแปลของไต้หวันมีหลากหลาย คุณภาพการแปลเชื่อถือได้ หนังสือใหม่ๆ แปลออกมาอย่างทันเวลา แวดวงสิ่งพิมพ์ไต้หวันเปรียบเทียบตัวเองกับกระแสหนังสือของโลก และวัดรอยเท้ากับญี่ปุ่นอย่างจริงจัง 

นอกจากแปลการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ ไต้หวันมีตลาดหนังสือการ์ตูนที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง ช่วงต้นนักเขียนหนังสือการ์ตูนมีเป้าหมายไปปักหมุดที่ญี่ปุ่น ต่อมามีอีกส่วนหนึ่งที่สร้างฐานผู้อ่านขึ้นมาจากภายในไต้หวัน แล้วบุกไปกินตลาดโลก หนังสือเด็กของไต้หวันถูกให้ความสำคัญมานานมาก ราวกลางทศวรรษ 1980 หนังสือเด็กพิมพ์กระดาษดี ทุ่มเทกับภาพประกอบ และเนื้อหา ออกไปบุกตลาดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ในเอเชียตลาดส่วนนี้ครอบครองโดยญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลี และจีน ลิขสิทธิ์การแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกเป็นหมุดหมายเลขหนึ่งของสำนักพิมพ์ในประเทศเหล่านี้ 

หลังจากการสร้างสรรค์หนังสือภาพชุดปรัชญาและวรรณกรรมของไช่จื้อจง (蔡志忠) ในช่วงทศวรรษที่ 1990 มาถึงสหัสวรรษใหม่ หลังยุค 2000 จิมมี่ เลี่ยว (幾米) ก็ทำให้วรรณกรรมภาพจากไต้หวันเป็นคลื่นอีกลูกหนึ่งที่ซัดสาดไปในแวดวงหนังสือโลก คราวนี้กว้างกว่า และหลากหลายกว่า เพราะเป็นเรื่องข้ามสัญชาติ ข้ามชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม เป็นความประจวบเหมาะและลงตัวของยุคโลกไร้พรมแดน

ไต้หวันเคยยากจน เคยเป็นประเทศด้อยพัฒนา แต่เพียงเวลาราว 30 ปี จากปลายทศวรรษ 1920 ไต้หวันก็ค่อยๆ ขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวไม่เล็กของเอเชีย ไต้หวันเคยมีโสเภณีเกลื่อนเมือง และทางการก็ยอมรับความจริงนั้น สักช่วงราวทศวรรษที่ 1960 จนช่วงสงครามเวียดนาม โสเภณีไต้หวันเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือไปทั่ว ไต้หวันมีโลกมืด มีโลกสีเทา และรัฐบาลไต้หวันแต่ละยุคค่อนข้างยอมรับความจริง 

การยอมรับความจริงทำให้สังคมเคลื่อนตัวไปข้างหน้าบนพื้นฐานที่เป็นจริง เดิมที่ดินส่วนใหญ่ของไต้หวันก็ตกอยู่ในความครอบครองของคนมือยาวจำนวนน้อย อาจเพราะไต้หวันในช่วงยุคต้นของรัฐบาลเจียงไคเชค มีบทเรียนสาหัสมาจากแผ่นดินใหญ่ การถอยร่นจนตกทะเลของเจียงไคเชค นโยบายปฏิรูปที่ดินจึงถูกกำหนดขึ้น และวางไว้บนพื้นฐานการปฏิบัติที่เป็นจริงได้ 

การปฏิรูปที่ดินด้วยแนวคิด “ผู้ลงมือทำการเกษตรต้องเป็นผู้ถือครองที่ดิน” เริ่มจากกำหนดชัดเจนเรื่องค่าเช่าที่ดินเป็นเบื้องแรก ขั้นตอนต่อไปคือนโยบายด้านภาษีและการกำหนดราคาที่ดินการเกษตรอย่างชัดเจน ทำให้การกักตุนที่ดินมากๆ เอาไว้ในมืออภิชนเป็นไปไม่ได้ กฎหมายที่ดินกำหนดชัดเจนว่าประชาชนไต้หวันมีสิทธิ์ถือครองที่ดินได้ไม่เกินคนละเท่าไร การเป็นประเทศที่เป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่นักทำให้สังคมไต้หวันจำเป็นต้องยอมรับกฎแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคม 

ปฏิรูปที่ดินแบบเอาจำนวนประชากรหารกับจำนวนพื้นที่ แล้วยืดหยุ่นจากฐานความเป็นจริงนี้ พาสังคมไต้หวันก้าวออกจากวัฒนธรรมศักดินาขูดรีดชาวนาชาวไร่ การเป็นประเทศทุนนิยมเผด็จการในช่วงแรกที่ค่อยๆ คลี่คลายมาสู่การเป็นประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยในช่วงใกล้ทศวรรษที่ 1990 โดยมีระบบกฎหมายก้าวหน้า พาสังคมไต้หวันก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่ไม่คร่ำครึ 

ไต้หวันทำได้กระทั่งจับอดีตประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนเข้าคุกหลังหมดอำนาจ แต่ไต้หวันสมัยใหม่ที่ทันสมัยล้ำยุค ก็ยังมีโลกมืดและโลกสีเทา แก๊งค์อิทธิพลของไต้หวันนั้นโหด มีองค์กรใหญ่ และทันสมัยไม่แพ้องค์กรในโลกสว่าง นักธุรกิจไต้หวันที่ไปลงทุนในต่างประเทศเจอการขู่กรรโชกจากพวกนี้เหมือนกัน ไต้หวันเริ่มทำรถไฟฟ้าไล่ๆ กับกรุงเทพ ปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนโดยรวมทั้งรถเมล์, รถไฟฟ้า, รถไฟ, รถไฟความเร็วสูง ครอบคลุมไปทั้งประเทศและล้ำหน้ากรุงเทพอย่างไม่ต้องเปรียบเทียบแล้ว 

ไต้หวันมีดีและมีเลว ประวัติศาสตร์ไต้หวันไม่ยาวนาน และไม่เคยมีการรัฐประหารโดยอำนาจนอกระบบตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็น Republic of China ตั้งแต่เจียงไคเชคถอยร่นมาจากแผ่นดินใหญ่ และอำนาจนอกระบบการเมืองปกติน่าจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงแวดวงการเมืองที่ไม่ได้สะอาดบริสุทธิ์ 100% ไปตลอดกาล เพราะว่าประชาชนไต้หวันนั้นตื่นแล้ว อนุสาวรีย์เจียงไคเชคที่สร้างไว้เกลื่อนเมืองยังถูกรื้อทิ้งไปได้ อดีตประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนยังถูกศาลพิพากษาติดคุกจริง ประชาชนที่รู้สิทธิ์และอำนาจจริงของตนรู้ว่าตนคือผู้กำหนดอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่อภิชน หรือเทพเทวาเหนือมนุษย์ที่ไหน 

ไต้หวันเดินไปบนความจริง มีรุ่งเรือง มีตกต่ำ มีอุปสรรค มีปัญหา แต่ประชาชนของเขาก็เดินไปข้างหน้า เดินไปสู่โลกยุคใหม่ไร้พรมแดน และพวกเขาจำนวนหนึ่งเริ่มดำรงอยู่ในฐานะประชากรของโลกที่ไม่ได้เป็นเพียงประชากรของรัฐชาติ 

ประเทศเล็กๆ ที่มีสิ่งเหนือความคาดหมายมากมาย