ดร.องอาจ ก่อสินค้า

ดร.องอาจ ก่อสินค้า

ไลฟ์สไตล์ของคนไทยกำลังเปลี่ยนไปโดยเฉพาะเหล่าบรรดาแฟนฟุตบอล เห็นได้จากเย็นวันเสาร์ – อาทิตย์ ผู้คนจะไปนั่งเชียร์ทีมโปรดของตัวเองในสนาม อีกส่วนหนึ่งนั่งจิบเบียร์เย็นๆ ชมฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกอยู่ที่หน้าจอทีวี สิ่งนี้บอกได้ว่าฟุตบอลไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง

แม้เราจะรู้ว่ามีหลายส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนให้ฟุตบอลลีกของไทยเติบโต แต่ผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่พยายามสร้างระบบให้เป็นมาตรฐานสากลนั้นคือ บิ๊กเปี๊ยก ดร.องอาจ ก่อสินค้า ประธานไทยพรีเมียร์ลีกคนล่าสุด! ในอดีตเขาคือนักฟุตบอลฝีมือดี ในสังกัดสโมสรราชประชานุเคราะห์ จนได้ไปฝึกฟุตบอลที่ประเทศเยอรมนีมาแล้ว เขาเป็นนักบริหารที่เข้าใจศาสตร์ของฟุตบอลเป็นอย่างดี แต่จุดเริ่มต้นของชีวิตกลับเหมือนละครที่โชคชะตามักเล่นตลก

“ผมเกิดมามีพี่น้อง 4 คน โดยมีพี่สาว 2 คน และน้องสาวอีก 1 คนคุณพ่อผมเป็นคนขับรถให้กับ บริษัท ลีเวอร์บราเธอร์ อยู่แถวถนนตก ส่วนคุณแม่มีอาชีพเป็นแม่บ้าน สมัยนั้นพวกเรายากจนมากโดยเช่าบ้านอยู่กันเดือนละ 80 บาท แต่ชีวิตมาเริ่มลำบากจริงๆ ในช่วงที่คุณพ่อเสีย หลังจากนั้นเพียงปีเดียวคุณแม่ก็ไม่สบายแล้วก็เสียตามกันไปอีก ครอบครัวจึงเหมือนแพแตกทำให้พี่สาวของผมทั้ง 2 คนต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ผมกับน้องสาวก็ถูกนำไปฝากไว้กับคุณอา 

“บ้านของคุณอาอยู่ติดกับวัดดอกไม้ (ยานนาวา) ผมไม่อยากเป็นภาระก็เลยออกมาอยู่วัด แต่น้องสาวยังอยู่ในบ้านหลังนั้น ระหว่างที่อยู่วัดผมมีรายได้จากการเก็บดอกจำปีขายให้วัด และเริ่มรู้จักกีฬาฟุตบอลจากที่นั่น ก็ใช้ชีวิตเป็นแบบนี้เรื่อยมาจนกระทั่งเรียนจบ ป. 7 ผมก็ไปคัดตัวฟุตบอลติดที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา (ลาดพร้าว) เหมือนเป็นความโชคดีเพราะได้กินนอนและเรียนฟรี เวลานั้นสามารถเอาตัวเองรอดได้แล้ว จึงได้คุยกับพี่สาวทั้ง 2 คนพวกเราตกลงกันว่าต้องไปรับน้องสาวที่ฝากไว้บ้านคุณอากลับมาอยู่ด้วยกัน เพราะไม่อยากรบกวนท่านแล้ว 

“ช่วงเรียนที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยาผมติดทีมนักเรียน โดยขณะที่ยังเรียนหนังสือก็สามารถเลือกไปอยู่กับสโมสรอื่นได้ด้วย ผมได้ไปเล่นให้สโมสรราชประชานุเคราะห์ โดยมีหม่อมเจต (พล.ต.ต. ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร) เป็นประธานสโมสร ในปี พ.ศ.2517 หม่อมเจตส่งผมไปเล่นที่เยอรมนี โดยที่ผมเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุกในรุ่นที่ผมไปคราวนั้นก็มี คุณเชิดศักดิ์ ชัยบุตร, คุณวิทยา เลาหกุล, คุณสมพร จรรยาวิสูตร และคุณชาญวิทย์ ผลชีวิน”

หลังจากกลับมาจากเยอรมนีเขาได้ใช้ชีวิตนักฟุตบอลอย่างเต็มที่ ลงเล่นให้ในนามสโมสรราชประชานุเคราะห์ในรายการสำคัญ เช่น ถ้วย ก และ FA Cup โดยมีเงินเดือนให้ 400 บาท และได้เบี้ยเลี้ยงจากสโมสร  30 บาท แต่ในทางกลับกัน
การเดินสายเล่นฟุตบอลทำให้ชีวิตการเรียนที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยาตกต่ำเป็นอย่างมาก

“ผมสอบตก ม.ศ. 4 สองปีซ้อนเพราะไม่ได้เรียนหนังสือ วันๆ เอาแต่เตะฟุตบอล ซึ่งก่อนจะเรียนจบก็มีคนมาติดต่อให้ไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ผมไม่ไปเรียนเพราะไม่ถนัดสายวิทย์ พอดีมีสายพาณิชย์ที่วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผมจึงตัดสินใจมาเรียนเพราะนอกจากจะเล่นฟุตบอลให้กับวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถทำงาน และเรียนไปด้วยได้

“ช่วงเวลานั้นผมแทบจะเลิกเล่นฟุตบอลไปเลยพอกำลังจะเรียนจบ คุณประพนธ์ ตันติยานนท์ เพื่อนร่วมสโมสรราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเคยไปเยอรมันด้วยกัน มาบอกว่าธนาคารกสิกรไทยเปิดรับสมัคร ก็ชวนผมไปทำงานที่นั่น แต่เวลานั้นมีองค์กรที่มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอลอยากให้ผมไปอยู่ด้วยเยอะ เช่น การไฟฟ้า การเคหะ องค์การโทรศัพท์ ฯลฯ 

“ผมเลือกมาทำงานธนาคารกสิกรไทย เพราะองค์กรที่ผมปฏิเสธส่วนใหญ่ต้องเรียนจบวิศวะถึงจะเติบโตในตำแหน่งได้เร็ว แต่ผมมีวุฒิแค่ ปวช. ไม่มีทางขึ้นไปในตำแหน่งสูงได้เลย การทำงานธนาคารงานนั้นใช้ความสามารถทางมาร์เก็ตติ้ง จึงเหมาะกับผมมากกว่า

“ระหว่างนั้นผมก็ทำงาน และเรียนต่อปริญญาตรีภาคค่ำไปด้วย จนสามารถไต่เต้าในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปได้ผมทำงานอยู่ธนาคารกสิกรไทยเรื่อยไปจนถึง 20 ปี อายุตอนนั้นก็ 40 กว่าๆ แล้ว ตำแหน่งผมในช่วงนั้นก็ดีมาก คือผู้จัดการฝ่ายการเงินสำนักงานใหญ่ คือใหญ่กว่าผู้จัดการสาขา เพราะคุมคนหลายพันคนในการเงินจ่ายให้สาขาทั่วประเทศ” 

เหมือนโชคชะตานำพา วันหนึ่งคุณองอาจก็ได้พบกับคุณวรวีร์ มะกูดี ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าที่เคยเล่นฟุตบอลกันตั้งแต่สมัยเด็ก ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขากลับเข้ามาสู่เส้นทางของวงการฟุตบอลอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ในฐานะนักเตะก็ตาม

“ผมรู้จักคุณวรวีย์ตั้งแต่อายุ 12 ปี สมัยก่อนเขามักจะเรียกผมไปเล่นฟุตบอลเดินสายตามองค์กรต่างๆ พอกลับมาเจอกันครั้งนี้เขาก็ชวนผมทำธุรกิจร่วมกันในอีกด้านหนึ่งคุณวรวีร์ได้เข้าไปเป็นรองเลขาธิการสมาคมฯ ในสมาคมฟุตบอล แล้วก็ไต่เต้ามาเรื่อยๆ จนเป็นเลขาธิการสมาคมฟุตบอลในสมัยของอาจารย์วิจิตร เกตุแก้ว นอกจากนี้คุณวรวีร์ยังร่วมก่อตั้งสโมสรบีอีซีเทโรขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้าเขาเคยชวนผมออกมาทำทีมฟุตบอลหลายครั้ง อยู่มาวันหนึ่งผมเบื่องานในธนาคารก็เลยตัดสินใจออกมาเป็นผู้จัดการสโมสรบีอีซีเทโร แล้วผมก็ทำทีมได้แชมป์ถ้วย ก ไปเล่นฟุตบอลถ้วย AFC (Asian Football Confederation) หรือสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดการแข่งขันขึ้น สโมสรบีอีซีเทโรก็เข้ารอบชิงแชมป์ผลสรุปว่าได้ที่ 2 

“ผมลาออกจากสโมสรบีอีซีเทโร ในปี พ.ศ.2550 มาเป็นเลขาธิการสมาคมฟุตบอล พอปี พ.ศ.2551 ผมก็ดำเนินการเปลี่ยนแผนงานตามที่  AFC กำหนด เริ่มจากเปลี่ยนสโมสรในไทยลีกให้เป็นบริษัทนิติบุคคล ให้มีงบดุลที่สามารถตรวจสอบได้ มีสนามของตัวเอง ต้องขายตั๋วห้ามเข้าฟรี ความปลอดภัยในสนามอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ผมก็ทำเรื่อยมา”

ในช่วงเริ่มต้นของการจัดฟุตบอลอาชีพในประเทศไทยที่ใช้ชื่อว่า ไทยพรีเมียร์ลีก ก็ได้คุณชัยภักดิ์ศิริวัฒน์ เข้ามาช่วยบริหาร ตามมาด้วย ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง เข้ามาจัดการหลายด้าน จนล่าสุด ดร.องอาจ ก่อสินค้า ก็เข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานไทยพรีเมียร์ลีกโดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

“ผมปรับโครงสร้างในเรื่องของสนามก่อนเลย เพราะผมถือว่ามีความสำคัญ ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทุกสโมสรต้องผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการ เช่น ความสว่างไฟจะต่ำกว่า 300 - 400 ลักซ์ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาเป็น 1,200 ลักซ์ ในเรื่องอื่นที่ผมได้กำชับให้เหล่าบรรดาสโมสรปรับปรุงก็มีเรื่องของห้องแต่งตัว ห้องกรรมการ ห้องวีไอพี ซึ่งก็พยายามทำให้ผ่านมาตรฐาน AFC ทั้งหมด

เมื่อทุกสโมสรในไทยพรีเมียร์ลีกปรับตัว และเป็นมืออาชีพมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องของรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด โดยผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดนี้ไปก็คือบริษัททรู ซึ่งเซ็นสัญญาการถ่ายทอดสดไทยพรีเมียร์ลีก 3 ปี รวม 1,800 ล้านบาท และยังมีรายได้อื่นจากสปอนเซอร์ต่างหากอีก

“ปัจจุบันยอดคนดูถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้น 200 ล้านหลังคาเรือน ต่อ 400 แมตช์ เพราะถ่ายทอดสดทุกคู่ ที่เป็นแบบนี้ได้เพราะเรามีกลยุทธ์การถ่ายทอดสดที่ต่างเวลากัน เพื่อให้คนได้ดูมากขึ้น ด้านคนในสนามแม้
จะเตะเพียงไม่กี่แมตช์แต่คนก็เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 50 %เป็นผลให้เหล่าบรรดาสโมสรต่างๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

“เห็นได้ว่าหลายๆ อย่างของไทยพรีเมียร์ลีกเริ่มพัฒนาไปในทางที่ดี แต่ก็ยังมีบางจุดที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างในเรื่องที่แต่ละสโมสรมักเอาเปรียบกันเองในหลายๆ ด้าน ไม่มีสปิริตในการแข่งขัน เพราะสโมสรรู้ว่าถ้าไม่ชนะติดต่อกัน แฟนคลับจะลดลงรายได้ก็ลดตามไปด้วย สุดท้ายสปอนเซอร์หาย เมื่อเป็นแบบนี้ก็อาจมีเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ตรงนี้เองผมจึงอยากให้สโมสรสร้างค่านิยมแฟร์เพลย์เล่นกันอย่างบริสุทธิ์ อย่าไปชิงแข่งขันในทางที่ไม่ชอบธรรมกันเลย”

ส่วนที่หลายคนกำลังจับตามองอยู่ในขณะนี้คือเรื่องของกรรมการ ซึ่งมีปัญหาหลายครั้งที่มีการแข่งขันในอดีตมีการคิดกันว่าการที่กรรมการได้เงินน้อย จึงเป็นเหตุให้ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทางไทยพรีเมียร์ลีกจึงปรับเงินขึ้นให้ จากเดิมมีรายได้ 1,800 บาท ต่อแมตช์ก็เปลี่ยนเป็น 1 หมื่นบาทต่อแมตช์ แต่ปัญหาเรื่องกรรมการก็ยังไม่ได้ลดลงเลย 

“พอมาเปรียบเทียบกับเงินของผู้ตัดสินในยุคนี้แม้จะได้มากกว่าเดิมหลายเท่า แต่ค่าของเงินสำหรับกรรมการบางคนมันก็ยังน้อยอยู่ดี เพิ่มเท่าไหร่มันก็ไม่พอหรอก ทำให้มีนัยยะที่ผู้ตัดสินบางคนจะออกนอกเส้นทางพอมีปัญหาแต่ละครั้งเราก็ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบผู้ตัดสิน ผลออกมาก็โดนแบนไปหลายคน 

“ตอนนี้กรรมการชั้น 1 ฟีฟ่าของไทยมีน้อยมาก แล้วถ้าถูกพักงานไปหมดก็ไม่เหลือใครมาเป็นผู้ตัดสิน ในอีกด้านนึงเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ติดสินผิดพลาดจากตัวบุคคลเอง โดยไม่ได้มีอะไรแอบแฝงด้วย ตรงส่วนนี้ยังพอพัฒนากันได้ 

“เราจึงต้องสร้างผู้ตัดสินให้เป็นคนดีมีจริยธรรมแล้วก็มีฝีมือ ผมคิดว่าต้องดึงพวกเขามาอยู่ในระบบเหมือนพนักงานออฟฟิศมีเงินเดือนประจำ ในแบบที่เราสามารถควบคุมได้ เช่นในเรื่องระเบียบวินัย เทคนิคการตัดสินสมัยใหม่ คุมเรื่องฟิตเนส ระบบร่างกาย ฯลฯ

“อีกแนวทางหนึ่งที่คิดไว้คือ อาจมีการจ้างกรรมการฟีฟ่าชื่อดังระดับโลกจากต่างประเทศ เข้ามาดูแลให้มีเงินเดือนเหมือนนักฟุตบอล แต่ต้องมาจัดการตัดสินให้เป็นธรรม เราก็ให้อำนาจอยู่กับเขาคนเดียว แล้วให้เขาสร้างกรรมการรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย ที่ควรทำแบบนี้ เพราะเวลาที่มีแมตช์สำคัญแข่งขัน มักเรียกร้องกรรมการต่างชาติเข้ามาตัดสิน ผมบอกเลยว่าไม่สามารถจ้างกรรมการเมืองนอกได้ตลอดเวลาหรอก เพราะเขาต้องตัดสินในลีกของตัวเอง แล้วเงินที่จ้างก็ไม่พอ เราจึงต้องสร้างผู้ตัดสินไทย ไม่อย่างนั้นฟุตบอลบ้านเราไม่สามารถเจริญได้ทั้งระบบ” 

อย่างที่ทราบกันดีว่าสมาคมฟุตบอลได้รับนโยบายมาจาก AFC ทั้งการจัดฟุตบอลลีก และแนวทางต่างๆ ในการเป็นมืออาชีพของวงการฟุตบอลไทย แต่หลายอย่างบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกก็ทำก่อนแล้วโดยมีแผนการ และแนวทางของตัวเอง มีโมเดลรูปแบบการบริหารจัดการบริษัทมหาชนโปร่งใสมากขึ้น

“ปัจจุบันเรามีระบบลีกที่ดี มีสโมสรฟุตบอลที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น และได้รับความสนใจมากจากคนในประเทศ ส่วนหนึ่งต้องยกย่องนักเตะต่างชาติว่าเป็นตัวขับเคลื่อนให้ฟุตบอลลีกพัฒนา พวกเขาเข้ามาด้วยความเป็นมืออาชีพจากระยะการจ้างที่สั้น ถ้าเล่นไม่ดีเขาก็ต้องไป พอมีความกดดันเขาจึงต้องแสดงความสามารถออกมาทั้งเรื่อง ฟิตเนส เรื่องเทคนิค ความดุดัน นักเตะไทยที่เล่นช้า ตามไม่ทันก็ต้องเป็นตัวสำรองเงินเดือนก็น้อย โบนัสต่างๆ ก็ไม่ได้ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของมัน

“ในอีกมุมหนึ่งการทำงานของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกก็ต้องปรับปรุงให้เอื้อต่อทีมชาติ จึงมีพักลีกในช่วงที่มีทัวร์นาเม้นท์ของทีมชาติ แต่ละครั้งไทยพรีเมียร์ลีกจะหยุดแข่งให้ 3 อาทิตย์ เพื่อเตรียมทีมให้พร้อมทั้งเรื่องของฟิตเนส ระบบทีม และการจัดการภายใน ผู้จัดการทีมชาติเขาก็จะเรียกนักเตะมาลงอุ่นเครื่องเพื่อความเป็นทีมเวิร์ค พอเข้าแคมป์20 วัน ก็ปรับตัวได้ง่าย ตรงนี้เองบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกเปิดทางให้เอื้อประโยชน์กับทีมชาติด้วยเพราะเราอยู่ภายใต้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 

“การจะนำทีมชาติไปในระดับสากลได้สมาคมต้องดำเนินการพัฒนาเต็มรูปแบบ ในเรื่องของทรัพยากรก็ต้องทำตั้งแต่เด็กๆ เลย อย่างเมืองนอก หรือ AFC กำหนดแผนสร้างนักฟุตบอลในอะคาเดมี่ตั้งแต่ 10 ปี 12 ปี และ 14 ปีคือสมาคมฟุตบอลทำแล้วแต่ยังไม่พอ ต้องกำหนดให้สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีกทำด้วย คือต้องทำให้ได้ทุกส่วนแต่เรื่องของงบประมาณถ้าให้สโมสรทำมันเยอะมาก อาจจะทำอะคาเดมี่อายุ 15 ปี ก่อนก็ได้

“ในฐานะที่ผมเป็นประธานไทยพรีเมียร์ลีก และเคยเป็นเลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 3 สมัย พูดได้เลยว่าฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของไทยอันดับหนึ่งแน่นอน แม้ว่าอาจจะมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมาบ้าง แต่อย่าลืมว่าลีกของเราเพิ่งเกิดมาแบบจริงจังได้เพียง 7 ปีเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องบริหารจัดการกันต่อไป

“วันนี้ไทยพรีเมียร์ลีกจะเป็นตัวสำคัญที่จะสร้างอาชีพให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ เจ้าหน้าที่ทีม โค้ช ผู้ช่วยโค้ช หรือคนที่เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอล ในอีกด้านหนึ่งมันสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เมื่อทั่วทุกจังหวัดมีฟุตบอลลีกขึ้นมา ธุรกิจในจังหวัดนั้นก็ได้รับการกระตุ้นให้เงินสะพัด เช่น เรื่องของโรงแรม การท่องเที่ยวเรื่องของโอท็อป ฯลฯ ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมหาศาลอีกด้วยครับ” 

Life Begins and Stay With Football