ลาว คำหอม

ลาว คำหอม

ในช่วงระยะกว่า 50 ปีมานี้ในแวดวงวรรณกรรมยังคงมีความขับเคลื่อน แม้จะเป็นเพียงแรงกระเพื่อมของผิวน้ำก็ตาม แต่ในหลายๆ ครั้งการแสดงความคิดเห็นผ่านงานเขียนของนักเขียนทั้งเก่าและใหม่ต่างก็มุ่งหวังฝากปัจจัยที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเหล่านั้นอยู่เสมอ จนก่อเกิดเป็นวลี หรือถ้อยคำที่สวยงามมากมายแต่แฝงไว้ด้วยความหมายที่เจ็บปวด ...

และแม้วันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานนับจากงานเขียนชิ้นเอก “ฟ้าบ่กั้น” ซึ่งยังคงมีเนื้อหาที่สะท้อนสังคมได้ทุกยุคทุกสมัย สิ่งเหล่านี้อาจกำลังแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมไม่มีวันหมดอายุ หรือว่าปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองเรานั้นยังคงอยู่เฉกเช่นเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

หลายคนบอกว่าปากกานั้นคือสิ่งที่มีคมมากกว่าดาบหลายร้อยพันเท่า ซึ่งนั่นก็คืออาวุธชั้นดีที่หากใครได้สร้างมันขึ้นมาแล้วละก็ต้องตระหนักรู้ในแสนยานุภาพของความจำเป็นที่ต้องใช้ ปากกาด้ามนั้น ... เมื่อรู้ว่ามีพลัง เราต้องรู้ว่าเราจะเขียนมันเพื่ออะไร เช่นเดียวกับความตั้งมั่นของนักเขียนเจ้าของรางวัลแห่งชีวิตมากมาย รวมไปถึงการเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปีพ.ศ. 2535 ‘ลาว คำหอม หรือ คำสิงห์ ศรีนอก’ ผู้เป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรมสะท้อนสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยชนบทมาแล้วมากมาย

ในวัยที่ 84 ของชายผู้นี้ หลังจากชีวิตต้องพานพบกับกระแสวิพากษ์ทางความคิด และหลายอีกเหตุการณ์อันเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องจากแผ่นดินเกิดไปไกล หรือจะอีกเรื่องราวอีกมากมาย เขาได้เลือกใช้ลมหายใจเพื่องานวรรณกรรมที่เหลืออยู่กับความสงบในบ้านหลังเล็กที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่อันร่มรื่น 

การได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนสัมภาษณ์ท่านในครั้งนี้ นอกจากเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ในชีวิตต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว เรามุ่งหมายที่จะเข้าถึงประเด็นสำคัญในใจที่คิดว่าหลายคนต่างก็อยากที่จะรู้ ...

หลังจากที่การกล่าวทักทายตามประสาได้เริ่มต้นขึ้น แต่ละคำพูดที่เราไถ่ถาม อาจทำให้ท่านย้อนนึกไปถึงโมงยามแห่งชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งท่านก็ได้ให้แง่คิดในเรื่องของชีวิตในโลกปัจจุบันที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าโลกนี้ไร้พรหมแดนจริงๆ มันเป็นสิ่งที่จะเป็นไปเพื่อรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแต่ละประเทศ ประเทศเล็กๆ ก็ถูกลดบทบาทจนอาจหายไปในที่สุด ผมเริ่มสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้จากการที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยุโรปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ได้นั่งรถไฟผ่านเมืองต่างๆ ประเทศต่างๆ ก็รู้สึกว่าต่างฝ่ายต่างก็พูดถึงแต่ตัวเอง ต่างฝ่ายต่างค้นหา และป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าเอกลักษณ์ของตนนั้นคืออะไร ไทยเราเองนั้นก็เป็นประเทศที่มีหลายสิ่งเป็นเอกลักษณ์มากมาย ซึ่งเราต้องอย่ามองข้ามในวันที่เราต้องมารวมตัวกันเป็นอาเซียน” 

ลาว คำหอม
ลาว คำหอม

วิถีชีวิตของนักเขียนอาวุโสท่านนี้ เกิดและเติบโตตามวิถีชนบท ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้แต่ก็ไม่ลืมที่จะหวนนึกถึงภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในสังคม ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในจิตใจ แม้ว่าเขาจะได้ทำงานหาเลี้ยงชีพในบทบาทที่หลากหลาย วันหนึ่งเขาก็ได้ย้อนกลับมาทำภาพที่เกิดขึ้นเหล่านั้นให้สะท้อนผ่านงานเขียนไปยังคนอ่านได้สัมผัส และมองเห็นถึงความเป็นจริงที่แม้ไม่อาจเห็นได้ ‘แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่ได้มีอยู่จริง’ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อมีคนสนใจก็ย่อมมีคนไม่เห็นพ้อง และแม้ว่าบางท่าทีทัศนะของเขาเองนั้นส่งผลให้ต้องลี้ภัยจากแผ่นดินเกิด เขาก็ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาที่เป็นไปในวันที่เขากำลังสร้างครอบครัว 

“ชีวิตคนเรามันก็อย่างนี้ ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาเขียนว่า ‘คนเรามีเวลาใน 1 วัน 24 ชั่วโมง แต่คนที่ตกอยู่ในช่วงชั่วโมงที่ชั่วร้าย ชั่วโมงแห่งความทุกข์ เขาจะรู้สึกว่าวันหนึ่งเขาจะมีเวลาอยู่ 25 ชั่วโมง จนบางครั้งเขาก็อาจลืมไปแล้วว่าการยิ้มนั้น ... เป็นอย่างไร’” 
....................................... 

มีหลายคำถามในใจที่เราพกมาตั้งแต่รู้ว่าจะได้พูดคุยกับบุคคลท่านนี้ การค้นหาความหมายและมุมที่แตกต่างของ “ฟ้าบ่กั้น” ที่ต่างบทบาทกันนั้นคืออะไร “เพลงฟ้าบ่กั้น” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อ “หนังสือฟ้าบ่กั้น” จริงหรือไม่ คำตอบที่คลายข้อสงสัยจึงเริ่มขึ้น

“ในเรื่องของเพลง อันนั้นก็ต้องถามหงา (คาราวาน) เขาเองนะ ผมก็ได้ยินคนเขาเคยพูดถึงกันอยู่ แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังมานี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน เราจะได้ยินคนพูดในชื่อนี้อยู่บ่อยครั้ง แม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ก็มีรายการหนึ่งใช้ชื่อนี้ มันก็เลยอาจกลายเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่างไป ผมเองก็ไม่ได้ดูหรอกนะ จนมีคนมาบอกก็พบว่าเป็นรายการวิจารณ์ทางการเมือง พูดถึงชีวิตชนบทด้วยอะไรอย่างนั้น 

“ส่วนหนังสือฟ้าบ่กั้น ผมก็ได้เริ่มเขียนเมื่ออายุได้ 25-26 ปี แล้ว เพราะผมอยากที่จะเขียนงานที่สะท้อนสิ่งที่ผมได้เห็นได้สัมผัสถึงความเป็นจริงในสังคมไทยชนบทขณะนั้น อย่างเรื่อง “คนพันธุ์” (1 เรื่องสั้นในหนังสือฟ้าบ่กั้น) 
มันก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ตอนที่ผมได้ไปทำงานที่จังหวัดขอนแก่น วันหนึ่งผมได้ปั่นจักรยานกำลังจะข้ามสถานีรถไฟ ก็มองเห็นเหล่าข้าราชการแทบจะทั้งจังหวัดแต่งตัวกันอะร้าอร่ามดูแปลกตา เมื่อสอบถามคนแถวนั้นก็ได้ใจความว่า 
‘ท่านนายก (พจน์ สารสิน) จะมามอบโคพันธุ์’ ดังนั้นเหล่าบรรดาข้าราชการเลยต้องมาต้อนรับกันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมก็มาสะกิดใจกันตรงคำว่า ‘โคพันธุ์’ ซึ่งในยุคนั้นทางสหรัฐอเมริกาเขาเริ่มให้ความสำคัญกับประเทศไทย เริ่มเข้ามามีบทบาทอยากจะเป็นมิตรกับไทย จึงมีการให้ทุนช่วยเหลือบ้านเรามากขึ้น จึงคิดว่าเอ๊ะหรือว่า ‘การมอบโคพันธุ์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ’ ผมจึงคิดต่อเอาว่าอีกไม่ช้าไม่นานเขาคงจะส่ง ‘คน’ มาเป็น ‘พ่อพันธุ์’ ในสักวัน ซึ่งเรื่องที่เขียนนั้น
ก็เป็นจิตนาการของผมเองที่สืบต่อเนื่องมา

“ผมมักจะนำเรื่องที่ได้ประสบพบเจอมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนงาน ผมใกล้ชิดกับภาพความล้าหลัง การใช้ชีวิตตามมีตามเกิดในชนบทของไทย ผมเห็นความเหลื่อมล้ำ ผมอยากให้คนอ่านได้รู้ได้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ที่ต่อไปในอีกภายภาคหน้านั้นน่าจะเป็นปัญหาสำคัญของคนประเทศนี้ นี่คือสิ่งที่ผมได้ฝากไว้ในงานเขียนของผม แม้เราเขียนหนังสือด้วยตัวอักษรก็ตาม ผมอยากจะอธิบายให้เห็นเป็นภาพ ‘เพราะผมอยากเห็นโลกที่กลมกลืน’

“ที่ผมคิดอย่างนี้ อันที่จริงก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความโชคดีหรือร้ายนะ ชีวิตของผมแม้จะได้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ทุกครั้งที่ปิดเทอมผมก็กลับมาอยู่ที่บ้าน ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน จึงเป็นเป็นคำนิยามว่าฟ้าบ่กั้น ซึ่งมันคือคำพังเพยของชาวอีสาน เขามักจะพูดกันว่า ‘ฟ้าบ่กั้น หยังมาให้ห่างกัน’ นั่นเอง 

“ในช่วงที่ผมเริ่มเรียนชั้นมัธยม ผมเข้าใจว่าเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนะ ตอนนั้นก็พักอยู่ในตัวจังหวัด แต่ในหมู่บ้านของผมเองเกิดโรคระบาด ซึ่งก็คือโรคไข้ทรพิษ ยังไม่มีการฉีดวัคซีนอะไรหรอก พอคนเป็นกันเยอะ ก็มีชาวบ้าน
พูดกันมาเรื่อยๆ ว่าโรคนี้มันไม่ธรรมดา มันเป็นเชื้อโรคที่ศัตรูปล่อยมาทางเครื่องบินในช่วงสงคราม ผมกลับไปหมู่บ้านก็เห็นคนป่วยกันมาก ชาวบ้านก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เลย รู้แค่เป็นแล้วต้องตายแน่ แล้วก็มีพระรูปหนึ่ง
ท่านคงอยากจะช่วยชาวบ้าน จึงบอกว่านั่นเป็นผีร้าย จึงระดมชาวบ้านมาสวดมนต์ ให้เด็กๆ ขนกรวดขนทรายโปรยไล่โรคนี้ออกไปจากหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้คือความล้าหลัง คือความไม่รู้เรื่อง ความที่ไม่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ดังนั้นที่พึ่งของพวกเขาก็คือ ‘ความเชื่อ’ เท่านั้น ชาวบ้านถูกปล่อยให้อยู่กับชะตากรรม คิดหาหนทางรอดกันเอง เมื่อเทียบกับคนเมือง คนกรุงเทพฯ แล้ว มันช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว ดังนั้นไม่ว่าผมจะเขียนเรื่องอะไร มันก็มักจะมีภาพความยากลำบาก ความเหลื่อมล้ำของชาวบ้านปรากฏอยู่เสมอๆ 

ลาว คำหอม
ลาว คำหอม

“ผมเขียนด้วยความคิดนึกบริสุทธิ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมไม่คิดว่าชาวไร่ชาวนาจะได้อ่านเรื่องที่ผมเขียน ผมเขียนให้คนที่มีการศึกษา คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบบ้านเมืองได้อ่าน แล้วได้รู้ว่าความเสื่อมโทรมล้าหลังนั้นมาฝังลึกมากตั้งแต่สมัยโน้น งานเขียนของผมจึงไม่อาจจะมีความโรแมนติก รัก หวานซึ้งอะไรได้ ทุกครั้งที่ลองเริ่มจะเขียนแม้จะเห็นหญิงสาวสวยๆ มาเป็นแรงบันดาลใจก็ตาม แต่ภาพเหล่านั้นก็ปรากฏอยู่ในใจได้ไม่นาน สักพักก็หายไป ไม่เหมือนกับภาพเพื่อนพ้องวัยเด็ก สภาพความเป็นอยู่สังคมตอนนั้นที่เมื่อนึกขึ้นมาทีไรก็สะเทือนใจทุกครั้ง 

“อย่างในครั้งหนึ่ง ผมกลับไปบ้านก็ลองไปถามหาเพื่อนๆ ที่เล่นมาด้วยกัน บ้างก็หายไปจากบ้านนานแล้วไม่กลับมา ส่วนผู้หญิงบางคนก็ออกลูกตาย สิ่งเหล่านี้ฟังแล้วมันเศร้าใจ จึงได้เขียนเรื่องกระดานไฟ ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ความยึดติด ผมเขียนในสิงที่เป็นจริงและขัดแย้งให้ได้มองเห็นแล้วคิดตาม

ทุกวันนี้เรื่องราว สภาพของความเหลื่อมล้ำนั้นยังคงอยู่เพียงแต่เปลี่ยนสภาพการณ์ไปเท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้ผู้สร้างงานวรรณกรรมท่านนี้ ตระหนักรู้ได้ทันทีว่าความหมายที่เขาซ่อนอยู่ในงานวรรณกรรมของตนเองนั้น 
“ทำถูกต้องแล้ว” เพราะเขาได้เขียนในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและอาจส่งผลให้เป็นปัญหาในวันข้างหน้าเอาไว้ ซึ่งมันอาจเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดการหาความสุขสงบกันได้ยาก ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำนั้นยังชัดเจนเช่นนี้ เช่นเดียวกับคำที่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำที่ทันสมัย’

“งานของผมจะเขียนถึงปัญหาของแผ่นดิน แม้จะเป็นงานในลักษณะนี้ ซึ่งตอนนั้นเองผมเองก็ยังไม่รู้จักแนวคิดอะไรมากนัก จนหลายคนเขามองว่าคิดอย่างนี้นั้นเป็นพวกฝ่ายซ้ายผมก็ยังไม่ได้เข้าใจ ครั้งหนึ่งเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา มีหนังสือปุถุชนมาสัมภาษณ์ว่าผมเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมาทำไม มีเป้าประสงค์อะไรหรือเปล่า ซึ่งผมก็เข้าใจนะว่าเขาอาจจะได้ยินอะไรมาบ้าง ผมจึงตอบว่า ‘ผมไม่รู้ว่าใครจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าอะไร แต่ผมรู้แค่ว่าขณะที่ผมเขียนเรื่องเหล่านี้อยู่นั้น ผมรู้สึกเสมือนกำลังเขียนเรื่องร้องทุกข์ให้แก่ชาวบ้านผู้ยากไร้ทั้งหลาย เสนอต่อผู้มีอำนาจทั้งหลาย ครั้นจะให้ชาวบ้านเขาบอกเล่าเอาเอง มันก็คงไม่มีวันนั้น เพราะเขาไม่มีความรู้ เขาเขียนไม่ได้ ผมเขียนได้ ผมจึงทำ!

“คุณดูเถิด เพื่อนร่วมแผ่นดินของคุณเหล่านี้ เขาเป็นอย่างนี้เอง จึงเป็นที่มาของเรื่อง ‘เขียดขาคำ’ ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายการปกครองเพื่อความเป็นมหาอำนาจในสมัยนั้น เป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตขาวบ้านคนหนึ่งที่ต้องสนองนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องมีลูกมาก แต่เมื่อลูกกำลังจะตายในวันที่ทางการจะมาแจกเงินให้ครอบครัวที่มีลูกมากครบสี่คนตามเกณฑ์ ด้วยสถานการณ์บีบคั้นเขาจึงจำต้องละทิ้งลูกที่กำลังเจ็บไปเข้าคิวรอรับเงินโดยที่ไม่มีใครสนใจปัญหาที่เขากำลังประสบพบเจอ หลังจากได้รับเงินแล้ว เขาก็ต้องเสียลูกไปหนึ่งคน กลับมีคำพูดที่ว่าเขานั้นช่างโชคดีที่ได้เงินก่อนที่ลูกจะตายวันต่อมา 

“สิ่งเหล่านี้มันคือคำว่าโชคดีที่สุดแสนจะสะเทือนใจ การที่ผมเล่าถึงสถานการณ์ที่เหลื่อมล้ำ แล้วต่อด้วยโศกนาฏกรรมที่คนๆ หนึ่งได้พบเจอ นี่คือวรรณกรรม ขณะที่ผมเขียนเรื่องนี้ผมคิดหนักเลยในการสร้างเรื่องราว ผมหวังว่าจะทำอย่างไรให้ภาพเหล่านี้มันฝังลึกอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน ซึ่งมันอาจเป็นกิเลสส่วนตัวของผู้เขียนก็เป็นได้นะ ส่วนใครจะมองผมอย่างไรก็ตาม ผมถือว่าผมกำลังทำงานความคิด ผมคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนที่เสียเวลามาอ่านเรื่องของเรา ได้คิดบ้างว่าปัญหาต่างๆ ในชีวิตนั้นมันควรได้รับการแก้ไขอย่างไร 

“ทุกวันนี้มันยังมีปัญหาอีกมาก และถ้าชีวิตผมยังมีเวลา ผมอยากเขียนเรื่องมหาเศรษฐีโรงเหล้า หรือเครื่องดื่มชูกำลังที่เกิดขึ้นร่ำรวยกันมากมายบนแผ่นดินนี้ เมื่ออยู่ในฐานะอย่างผม มันเศร้านะ ที่เห็นคนทำงานได้ค่าแรงมาต้องเจียดมาซื้อของเหล่านี้ ผมได้เห็นกลไกลที่ละเอียดอ่อนรายรอบตัวมามาก”
....................................... 

 ไม่แปลกที่ใครจะมองหาคุณค่าทางงานวรรณกรรมแล้ว ผลงานของลาว คำหอม จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ด้วยแนวคิดที่ชัดเจนและตั้งมั่น จึงทำให้งานเขียนแต่ละชิ้นนั้นมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน แม้จะเป็นธรรมดาที่นักเขียนรุ่นหลังมักจะตามแบบอย่างจากรุ่นก่อน ด้วยเพราะได้อ่านงานเขียนของรุ่นพี่มามาก การได้รับอิทธิพลนั้นจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่สำหรับเขา ‘มันไม่เคยเกิดขึ้น’ ลาว คำหอม ยังคงจำได้ดีว่าครั้งหนึ่งมีนักคิดนักเขียนผู้มากวิชาท่านหนึ่งซึ่งก็คือ นายตำรา ณ เมืองใต้ หรือ ครูเฟื่อง ณ นคร ได้เขียนวิจารณ์ถึงงานฟ้าบ่กั้นของเขาไว้ว่า “มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง มีเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ลักษณะว่าเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไม่แน่ว่าอาจเป็นเพราะหนังสือเล่มนี้ ที่ส่งผลให้เกิดโครงการพัฒนาชนบทต่างๆ ขึ้น” แน่นอนว่าคำพูดเหล่านี้นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจให้แก่เขา “ว่างานเขียนนี้ไม่เสียแรง” 

หากจะถามหาซึ่งสาเหตุของปัญหาทางสังคมเหล่านี้เกิดจากอะไร ใครๆ ก็ตอบได้ไม่แพ้กัน แต่ในความเห็นของผู้สร้างสรรค์คนนี้ เขาตอบด้วยการพินิจพิเคราะห์ว่า “มันเกิดจากโครงสร้างทางสังคม เอาง่ายๆ อย่างเราเข้าวัดได้รับคำสั่งสอนว่าคนเราควรมีเมตตา มันคือธรรมค้ำจุนโลก เราทุกคนท่องได้ รู้จักคำนี้ แต่ในสังคมจริงๆ ไม่เห็นจะมีเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกันเองเลย ทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นเรื่องอยู่ที่ริมฝีปาก สิ่งเหล่านี้มันคืออะไร?? เราต้องคิด 

ลาว คำหอม
ลาว คำหอม

“ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของโลกนี้คือ มายาภาพ มายาที่ทำให้เรามองภาพอะไรผิดเพี้ยนไปหมด มองสังคมประเทศ เราอาจมีเงิน เราอาจส่งออก ทำธุรกิจได้ดี แต่ใจเราล่ะได้พัฒนาตามไหม มองไปที่วัดล้วนแล้วแต่โบสถ์สวยงาม แต่คำสอนนั้นได้หยั่งรากลึกลงไปในจิตสำนึกของพุทธศาสนิกชนอย่างจริงแท้หรือไม่ หลายคำพูดต่างก็เป็นคำเรียกที่สวยหรูตามแต่คนจะนึกคิดกันออกมา แต่แท้จริงแล้วคืออะไร ลองคิดกันบ้างไหม ... 

“มายาภาพที่อาศัยกลไกต่างๆ ของประเทศ ของโลก ในการหลอมรวมกันในจิตสำนึก จนเราจมอยู่ในมายาภาพ ผมเป็นนักเขียนจึงอยากจะแหวกม่านมายาเหล่านี้ออก ให้ได้รู้สภาพจริงแท้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ความซับซ้อนทางมายาภาพเหล่านี้ มันต้องการการอธิบาย ต้องการการศึกษา แต่การศึกษาแม้ว่าจะเจริญมีสถานศึกษามากมายแค่ไหนก็ตาม มันก็ขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่ผู้มีอำนาจนั้นจับประเด็นว่าจะให้ผู้รับการศึกษานั้นได้เรียนรู้อะไร เพื่อนำความเป็นจริงให้ปรากฏมากขึ้น สิ่งใดที่เป็นมายาภาพล้วนต้องมีการจัดการ แม้จะมีศรัทธา ก็ต้องไม่เป็นศรัทธาที่เลื่อนลอย

“ซึ่งศิลปะวรรณกรรมนั้นหากจะว่าไปก็เป็นสิ่งที่มีพลังในการผลักดันสังคม แต่จะผลักดันได้ผลมากน้อยแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณด้วย จะมีนักเขียนที่ให้ความสนใจเอาประเด็นทางสังคมมาแจกแจงชี้ให้เห็นประเด็นนั้นมีน้อย ผมอยู่กับโลกความคิดอย่างนี้ ที่ผ่านมาจึงเห็นเพียงมีแค่ ‘ศรี บูรพา’ ที่ท่านได้ฝากหลายสิ่งหลายอย่างไว้ในงานเขียน ส่วน สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขาได้พูดถึงคำว่า ‘อำนาจวรรณกรรม’ เอาไว้และอีกคนก็คือ เสนีย์ เสาวพงษ์ ในงานเรื่องปิศาจของท่านเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นแกนหลักที่ใช้ให้เห็นทางสังคม” 

หากพูดในแง่ของวลีจำ หรือความโดดเด่นจากงานเขียนของเขาเองแล้ว เขามองว่า ‘มันเป็นงานที่ไม่มีคำคมอะไรที่โดดเด่น’ เพราะสิ่งที่เขาถ่ายทอดมันคือชีวิตจริง ตัวละครของลาว คำหอมไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตใดๆ เพราะเป็นคนที่เป็นชาวบ้านมาจากรากหญ้า ครั้งหนึ่งเขาเคยลองใส่คมคิดลงไปในตัวละครเรื่องกระดานไฟ ละครพูดถึงความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างความงมงายให้ชาวบ้านว่า ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้สร้างคนขึ้นมา แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นสร้างให้คนขี่คอกันเอง’ ถือเป็นเพียงประโยคเดียวเท่านั้นที่เป็นคำคมในงานเขียนของเขา 

มองวงการวรรณกรรมในทุกวันนี้ เขาขอตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างตัวละครในงานวรรณกรรมของนักเขียนรุ่นหลังนี้ มักเป็นคนที่ไม่มีกระดูก หรือจะเรียกได้ว่า ‘ขาดหลังอิงทางวัฒนธรรม’ ตัวละครของเขาเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ลอยมา ไม่มีภูมิหลังที่มาที่ไป เห็นแต่บทบาท ซึ่งการจะทำให้เกิดงานวรรณกรรม ตัวละครจึงถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ต้องมีการปูพื้นฐานความเป็นมาของตัวละครเสียก่อน สร้างแรงหนุนทางชีวิตของตัวละคร และความมีอิทธิพลของตัวละครนั้นต่อเนื้อเรื่องมันจึงเกิดขึ้น

และประเด็นสำคัญที่เราได้พบเห็นในถ้อยคำหรือบทความ รวมไปถึงการกล่าวอ้างในเจตคติของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ว่า ‘ลาว คำหอม คือ เสื้อแดง ล้มเจ้า’ แท้จริงความหมายของคำกล่าวนี้มีนัยยะอย่างไรหรือไม่ คำตอบของเขาเท่านั้นคือนิยาม

“เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะเจียรนัยให้ใครไม่ตีความไปผิดๆ ได้ง่าย เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ เป็นสิ่งทรงคุณค่ามาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะล้มได้ง่ายๆ นะ ถ้ายังมีพลัง แต่ถ้าศรัทธาจะแปรปรวนไปบ้างก็ต้องพิจารณาว่าเกิดจากสิ่งใด ผมยังยืนยันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดชั่วชีวิตที่เรามีอยู่นี้ไม่มีใครล้มได้ ไม่มีใครอาจหาญทำได้แน่นอน เพียงแต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย สภาพการณ์และความคิดของสังคม ทุกคนต้องพร้อมในการปรับตัว เหมือนอย่างที่ชาลส์ ดาวินซ์ บอกว่า ‘สิ่งที่เหมาะสมนั้นจะคงอยู่’” 

แม้ความหมายที่หลายคนค้นหานั้นจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าด้วยคุณค่าทางวรรณกรรมมักจะมีบางอย่างที่แฝงไว้ให้ขบคิดอยู่เสมอ ... 

 

อาวุธวรรณกรรม