วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

คอนเสิร์ต G16 Genie Fest 16 ปี แห่งความร็อก เป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่มีกระแสตอบรับมากที่สุดในปีนี้ เรียกได้ว่าบัตรหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงทว่าเบื้องหลังทุกความสำเร็จนั้นล้วนผ่านประสบการณ์อันล้มเหลวมามากมายนับไม่ถ้วน เขาผู้นี้เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้และการเอาชีวิตรอดในวงการเพลงไทย ทำให้เขากลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้ค่าย genie records ถือกำเนิดขึ้น

นักฟังสู่นักบริหาร

ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักบริหารค่ายเขาเป็นนักฟังที่ดีมาก่อน นักฟังในที่นี้หมายถึงนักฟังเพลงตัวยง บทเพลงไหนเพราะเขาก็บอกว่าเพราะ เขาไม่ตัดสินจากองค์ประกอบในตำรา แต่เขาตัดสินจากความรู้สึกภายในที่สัมผัสได้ นั่นจึงทำให้ชีวิตของเขาไม่เคยขาดเสียงเพลงได้อีกเลย

“จริงๆ ทั้งชีวิตผมก็คลุกคลีเรื่องเพลงมาตั้งแต่แรกแล้ว สมัยเด็กๆ เป็นนักฟังเพลงมาก่อน จำภาพตัวเองได้ตั้งแต่ฟัง Hank William เพลง Your Cheatin’ Heart ผมฟังเพลงฝรั่งก่อนเพลงไทยนะ ฟังมาเรื่อยๆ ฟังแบบบ้าคลั่งแต่ไม่ได้ฟังแบบที่จะมาเป็นพหูสูตในเรื่องเพลง เราฟังเพลงเพราะเราชอบ ไม่รู้หรอกว่าเพลงนี้ของใคร ใครเป็นคนแต่ง ที่สำคัญคือเราฟังเพลงได้เป็นธรรมชาติมาก ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราเดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้สบายมาก ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนฟังเพลงว่าเขารู้สึกยังไง ผมสังเกตได้ว่าช่วงหลังคนที่ทำธุรกิจเพลง เขาไม่มีความรู้สึกนี้เลย

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล
วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

“ผมฟังเพลงมาหลายยุคทั้ง 60/70/80 ไปถึงลูกทุ่ง สากล ลูกกรุง ฟังไปเรื่อย ทำให้ซึมซับความรู้สึกนี้ได้เป็นพิเศษ ในวันที่มาเป็นผู้บริหารค่าย เราสามารถย้อนนึกถึงเพลงออกมาได้ตลอดเวลาว่า ถ้าโมเม้นต์นี้คนฟังจะรู้สึกยังไง เพลงไหนได้ขึ้นอันดับ 1 ผมจะรู้ทันทีว่าซ้ายหรือขวา ถ้าซ้ายแปลว่าเจ๊ง ขวาแปลว่าสำเร็จ แล้วถ้าสำเร็จจะสำเร็จขนาดไหน เป็นแบบไหน”

โอกาส ... คว้าไว้แล้วใช้มัน 

หลายครั้งเมื่อโอกาสมาถึง หลายคนดันทำโอกาสเหล่านั้นหล่นหายระหว่างทาง เพราะมองไม่เห็นและไม่รู้คุณค่า แต่เขาผู้ไม่เคยปฏิเสธทุกโอกาสที่มีเข้ามา และคำว่าท้อก็ไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมของตัวเอง ยังคงเชื่อมั่นและลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไป

“ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป ชื่นชอบศิลปะทุกแขนงเลยตั้งใจว่าจะเข้าเรียนศิลปะที่เพาะช่าง แต่ก็สอบไม่ติดตามที่ตั้งใจไว้ ชีวิตเคว้งเลยนะ จากนั้นก็เปลี่ยนเป้าหมายด้วยความคิดแบบเด็กๆ เลือกคณะรัฐศาสตร์ไว้อันดับหนึ่ง เลือกศิลปากรไว้อันดับสอง จะติดอะไรก็ได้ สุดท้ายก็ติดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นก็เอาวะ ‘เรียนอะไรก็ได้ แต่ทักษะและกิจกรรมยามว่างของเราต้องเกี่ยวกับศิลปะ’ พอเข้ามหาวิทยาลัยผมก็ได้มาเกี่ยวข้องกับการแสดงและดนตรี ได้ขึ้นเวทีเป็นนักแสดง ได้ทำอะไรต่างๆ เยอะมาก นั่นเป็นช่วงที่ผมมีโอกาสได้ร่วมก่อตั้ง ‘กลุ่มละครเร่ มะขามป้อม’ ขึ้นมา 

“ซึ่งก่อนที่ละครมะขามป้อมจะกลายเป็นมูลนิธิ แต่ละวันก็วางแผนเดินทางไปเล่นละครต่างจังหวัด ไปในฐานะสื่อ คือเนื้อหาที่เอาไปใส่ในละครนั้นเป็นตัวสื่อสารเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม เราทำไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าชอบนะ แต่ระหว่างที่เราเดินทางแสดงละครก็พบว่า ‘เราแพ้สื่อใหญ่’ ทุกคนสนุกสนานกับละครเราอยู่สักพักก็เดินออกไปดูดาวพระศุกร์ช่อง 7 เจอแบบนี้มาเรื่อยๆ เลยทำให้เราคิดว่า‘ต้องย้ายไปอยู่สื่อใหญ่บ้าง’ อยู่ตรงนี้มันเป็นเพียงอุดมการณ์ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นความสุขของเราแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้ายผมเลยขอย้ายตัวเองออกมาก่อน เพื่อจะเข้าสู่กระบวนการของสื่อ มองเป้าไปเรื่องของทีวี และวิทยุ

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล
วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

“ในที่สุดผมก็ได้พาตัวเองมาอยู่ในรายการของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง (แกรมมี่ในปัจจุบัน) ทำรายการเกี่ยวกับวัยรุ่น เป็นรายการยิ้มใส่ไข่ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเราจะทำอะไร ขอแค่เข้าไปให้ได้ก่อน จนวันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2528 บริษัทต้องการให้ผมบุกเบิกสายงานด้านการผลิตมิวสิควีดีโอ เป็นงานที่สมัยนั้นไม่เคยมีคนไทยคนไหนทำเป็นอาชีพมาก่อน ไม่มีใครรู้จักคำว่ามิวสิควีดีโอ ไม่มีผู้กำกับ ไม่มีทุกกระบวนการ ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นมาใหม่หมด บริษัทคงมองเห็นว่าผมมีหน่วยก้านดี เพราะเคยได้ทำไตเติ้ลรายการคอนเสิร์ตแดดเดียว เราก็ครีเอทสนุกสนาน เหมือนดูมิวสิควีดีโอมันๆ เขาเลยให้ผมลงมือทำ เรียกได้ว่ามันคือโอกาส

“แต่เราต้องมาเริ่มทำเอง ไม่มีใครสอนงาน ไม่มีตัวอย่างจากรุ่นพี่ เลยต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ผมไม่ได้จบมาทางด้านสื่อสารมวลชน ผมไม่รู้หรอกว่ามันต้องใช้กระบวนการไหน จึงใช้วิธีครูพักลักจำไปเรื่อย ค่อยๆ เรียนรู้กันไป เข้าห้องสมุดบ้าง เรียกว่าเป็นชั่วโมงหาความรู้ ลองผิดลองถูกแล้วก็วัดใจเลยแหละ จากนั้นก็กลายมาเป็นผู้กำกับมิวสิควีดีโอคนแรกของประเทศไทย ผมยังจำได้แม่นนะในวันแรกที่นำมิวสิควีดีโอเพลงแรกของพี่เต๋อ เรวัติ เพลงมันแปลกดีนะ ไปฉายที่ช่อง 7 ผมได้ยินคนพูดกันว่า ‘เมืองไทยมีมิวสิควีดีโอแล้ว’ ตอนนั้นดีใจมากเลยนะเพราะอย่างน้อยเราก็เป็นคนสร้างเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนใคร

“ต่อมาก็เป็นอีกครั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 อากู๋ -ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เรียกผมไปพบพร้อมคำสั่งสองข้อ หนึ่งให้ไปเปิดค่ายเพลง สองห้ามเจ๊ง ผมคิดในใจว่า ‘มันไม่ง่ายเลยนะ’ แกรมมี่แตกหน่อให้เป็นค่ายเพลงใหม่ 4 แนว แบ่งกันดูแลไป ความสำเร็จกับความล้มเหลวใกล้เคียงกันมาก 50-50 แต่ผมยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันบวกกับประสบการณ์ชีวิตสิบกว่าปีในแกรมมี่ พร้อมสัญญากับตัวเองว่าจะทำงานครั้งนี้ให้ออกมาดีที่สุด ไม่อย่างนั้นเละแน่”

genie มหา’ลัยร็อก

จากวันนั้นจนถึงวันที่ค่าย genie records ได้ก่อร่างสร้างตัวเป็นรูปธรรมให้เห็นมากขึ้น ด้วยการลองผิดลองถูก เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญหากอยากมีความสำเร็จอย่างมีความสุข ให้ทำงานเพื่อคนที่เรารัก นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากผู้ชายคนนี้ 

“ตั้งแต่ผมเปิดค่ายมา ผมจะมีกติกาของตัวเองก็คือว่า หนึ่งต้องมีความเป็นออริจินอล สองความเป็นมืออาชีพ สามความคิดสร้างสรรค์ และสี่อ่อนน้อมถ่อมตน เพราะผมเชื่อในกฎของเต๋า ถ้าเราทำตัวให้ต่ำต้อย เราจะยิ่งใหญ่ เหมือนทะเลที่ต่ำต้อย แม่น้ำในทะเลก็ไหลลงมาสู่ทะเล ถ้าเราเป็นค่ายที่ยโสโอหัง ก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามาหาเรา อย่างตัวอักษร genie เองยังไม่เขียนตัวใหญ่เลย เพราะเราเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกอย่างมันสะท้อนความเป็นตัวตนของเราออกมาเสมอ

“ผมไม่เคยออกไปหานักร้องเลย ใช้วิธีขุดบ่อล่อปลา ในช่วงแรกของค่ายผมต้องการให้ภาพของค่าย เป็นที่เปิดโอกาสให้กับทุกคน เริ่มทำแบรนดิ้งของตัวเองด้วยการส่งผลงานเพลงหลากหลายแนวออกสู่ท้องตลาด ให้รู้ว่า genie
ไม่บ้านะ ไม่งก ไม่กำไรเราก็ทำนะ ขณะเดียวกันผมก็มีมวยเลี้ยงค่ายเป็นไท ธนาวุฒิ พลพล กะลา ที่ปรับสมดุลให้ค่ายเราไม่เจ๊ง และถ้าไล่ไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าทุกสเต็ปต์เพลงมีออกมาเรื่อยๆ ท่าทีที่นำเสนอออกไปเป็นยังไง มันก็เหมือนแม่เหล็กก้อนใหญ่ที่ดูดคนเหล่านั้นเข้ามา วันที่วง Big Ass มาหาเรา เขาก็มาของเขาเอง ตูน Bodyslam บิ๊กแอสก็เป็นคนชวนมา ผมคิดอย่างนี้นะว่า ‘เมื่อมาอยู่กับเราแล้วเราต้องมองเขาให้ออก ว่านี่เพชร หรือ พลอย จะต้องเจียระไนให้ดี ให้เหมาะสม’ เพราะมันคือหน้าที่ของผม ยังไงก็แล้วแต่ผมก็ยังเชื่อว่าคนมีพรหมลิขิตต่อกัน ‘เราก็จะเจอกันเอง’ บางทีเข้าใจกันก็อยู่กันยาว บางทีไม่เข้าใจกันจากกันมันก็เป็นเรื่องธรรมดา มันทำให้ผมเข้าใจเรื่องคนมากขึ้น

“พูดถึงศิลปินเบอร์แรกของค่ายก็คือ สุเมธ&เดอะปั๋ง ต้องบอกก่อนเลยว่าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ genie เป็นค่ายเพลงแนวร็อกมาตั้งแต่แรก ผมเปิดโอกาสของค่ายไว้กว้างๆ อะไรก็ได้ขอให้เป็นตัวจริง ในเมื่อแรกเริ่มเราไม่มีทางเลือกมาก ฉะนั้นศิลปินต้องสำเร็จรูปมาเลย ปีหลังๆ ผมเริ่มมาคิดได้ว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องเริ่มมีความชัดเจนในค่ายว่า ‘ต้องเป็นร็อก’ ถามว่าผมหัวใจเป็นร็อกไหม ผมน่ะร็อกมานานแล้ว (หัวเราะ) แต่ยุคสมัยนั้นมันไม่ค่อยมีของ ผมก็ต้องไม่จัดจ้านมาก 

“ใน 7 ปีแรก ผมจัดคอนเสิร์ตของค่ายไม่ได้เลยนะ เพราะศิลปินมีหลากหลายแนวเพลงมาก ซึ่งพอเวลามันผ่านไปเราก็จะพบว่าความจริงแล้ว ความสำเร็จมันจะอยู่แถวๆวงร็อก แนวเพลงแบบหลากหลายนั้นมันสนุกสนานแปลกใหม่ก็จริง แต่มันไม่เกิดตัวเลข เมื่อเราได้ Big Ass มา เราก็ค่อยๆ รวบรวมขุนพล มี Bodyslam เข้ามาอีก ทิศทางค่ายเริ่มชัดเจนขึ้น เด็กรุ่นหลังก็จะรับรู้ว่า genie เป็นร็อก แต่ความจริงเพิ่งจะมาร็อกช่วงหลังๆ นี้เอง

“บอกตามตรงว่าศิลปินค่ายเล็กนี่คือแรงบันดาลใจในการสร้างค่ายของผมนะ แรกๆ เราไม่มีคนทำเพลงเลย ซึ่งผมมองว่า ‘วงหน้าใหม่มักจะสร้างสถานการณ์ใหม่ๆ ได้เสมอ’ ทำให้เรามองเห็นผู้กล้าเต็มสนามเลย ถ้าเราได้เข้าไปช่วยเกื้อกูลคนเหล่านี้ วงการจะต้องเติบโตแน่ๆ ผมคิดอย่างนี้ ผมถึงทำ genie ออกมา ซึ่งทางผู้ใหญ่ก็มองว่า genie ในวันนี้ คนละเรื่องกับแกรมมี่ในวันนั้นเลย เราเอาทหารกล้าจากในสมรภูมิรบ ฟูมฟัก เติบโต ให้คนอื่นเห็น ศิลปินเลยกล้าที่จะเข้าหาเรา ผมเหมือนเป็นตัวกลางระหว่างค่ายใหญ่กับค่ายเล็ก ‘ถ้าเราไม่เปิดให้ดอกไม้มันบาน มันก็ไม่มีอะไรให้ต่อยอด ศิลปินหน้าใหม่มันต้องพัฒนาเติบโตไปเรื่อยๆ’ 

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล
วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

“16 ปีที่ผ่านมา ผมผ่านช่วงรอยต่อของวงการเพลงมาเยอะพอสมควร ถือได้ว่าเป็นช่วงขาลงของธุรกิจเพลงก็ว่าได้นะ ในช่วงที่ผมเปิดค่ายดันกำเนิด mp3 ประเทือง ไล่มาเรื่อยๆ จนถึง 4shared มาจนถึงยุคเพลงดังฟังฟรี หรือธุรกิจดาวน์โหลดริงโทน มันด้อยค่าเหลือเกินที่คนฟังจะต้องมาฟังเพลงด้วยการดาวน์โหลด จากซาวน์ห่วยๆ ที่บีบอัดไฟล์ส่งผ่านกันทางอากาศ คือทุกอย่างมันท้าทายความมั่นคงของผมมาก แต่ผมก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ ดิ้นรนแก้ปัญหา อย่างสมัยก่อนเมื่อวิทยุในเมืองไม่เปิดเพลงของเรา เราก็ไปบุกตลาดวิทยุนอกเมืองก็ได้ ให้ป่าล้อมเมือง ก็แก้ปัญหาไปตามสภาพ มีเศร้าใจ ท้อใจบ้าง แต่มันก็ต้องไปให้ได้ 

“ผมเชื่อเสมอว่ามันต้องมีความโชคดีในความโชคร้ายวันหนึ่งที่ดิจิตอลเข้ามามีบทบาท มันทำร้ายเราบ้าง เราก็ต้องหาจุดดีของมันให้ได้ ในที่สุดมันก็มี YouTube / Facebook เพื่อให้สื่อสารกับแฟนคลับโดยตรง ติดต่อกันง่ายมาก เราจึงได้เรียนรู้ว่า ‘ถ้าเราพลิกสถานการณ์ได้ก็สามารถแก้เกมได้เช่นกัน’ เราต้องมองข้ามช็อต ต้องไม่แก่ ต้องไว ยิ่งทุกวันนี้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนละยุคกับเราแล้ว นึกออกไหมเติบโตมาคนละแบบ เราจะทำยังไงที่จะอยู่ในยุคนี้ได้ คือต้องพัฒนาจากข้างใน ให้เราเป็นวัยรุ่นได้ ใส่กางเกงยีนส์มาทำงาน จากเมื่อก่อนใส่สูทผูกไทด์กางแกงสแล็ค ต้องเรียนรู้จากเด็ก จนบางทีทำให้เราลืมอายุตัวเองไปเลย

“จากหลายๆ สิ่งที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า เราต้องระวังตัว ไม่ประหม่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่ท้าทายคือ สิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง วันก่อนนู้นเรายังรู้สึกดีใจว่าดาวน์โหลดริงโทนมันหาเงินให้เรา วันนี้มันหายไปแล้ว พอมีสมาร์ทโฟนก็ไม่มีใครโหลด เราเริ่มไว้ใจ YouTube ไม่ได้แล้ว ธุรกิจนี้มันเหมือนอยู่บนเรือที่แล่นในทะเล ทัศนวิสัยไม่ค่อยดี แต่สิ่งที่เราต้องมั่นคงคือไม่ว่ายังไงคนก็ต้องการเสียงเพลง เราอยู่ตรงนี้ให้ได้ก่อน อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเราก็ค่อยๆ แก้ไปตามสถานการณ์ จนกว่าจะถึงวันที่แก้ไม่ไหว

“ย้อนกลับมาพูดถึงวงการเพลงไทยทุกวันนี้ เท่าที่ผมเห็นนะ หลายคนยังไม่เข้าใจสิ่งที่มันเปลี่ยนไปเลย ‘บางคนยังอ่านหนังสือแบบใกล้ๆ เขาไม่ได้หยิบออกมาดูว่าโลกมันเปลี่ยนไป’ ตอนนี้เพลงมันคือสื่อไม่ใช่สินค้าแล้วนะ ไม่ต้องซื้อก็ได้ วันนี้ผมไม่โกรธเลย ที่พวกเด็กๆ ไม่ซื้อแผ่น เพราะทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้เปิดแผ่นฟังเหมือนกัน โลกมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องเข้าใจโลกแล้วเราไปหาที่เก็บเงินที่อื่น ด้านอื่นดีกว่า อย่างพวกคอนเสิร์ต ขายเสื้อ ขายสินค้าตัวอื่น ฉะนั้นผมมองว่าเพลงอยู่ในธุรกิจที่มันมีคำว่าศิลปะ อะไรที่มันมีคำว่าศิลปะ มันไม่กล้าใส่คำว่าพาณิชย์ แต่ถ้าเราใส่ให้สวยมันก็เป็นพาณิชย์ศิลป์ที่สวยงาม”

ผีเพลงนักเลงพระ

ทุกวันนี้เขาไม่ได้เป็นเพียงนักบริหารค่ายเพลงเท่านั้น เขายังเป็นนักเขียน ทั้งนักเขียนหนังสือเล่มเรื่อยไปจนถึงนักเขียนประจำคอลัมน์ เรียกได้ว่ามีหมวกใบใหม่ที่เป็นทั้งนักคิดและนักเขียนไปพร้อมๆ กัน

“ผีเพลงนักเลงพระ เป็นฉายาที่ผมได้ในปี พ.ศ. 2550 สมัยนั้นจตุคามดังมาก ผมกับเพื่อนก็มานั่งคุยกันว่าทำไมเราถึงไม่มีบูชากันสักคน จากนั้นก็มีคนมาเคาะประตูมีคนให้จตุคามมาทำบุญ แล้วเขาก็เชิญให้ไปเขียนคอลัมน์พระ เพราะเห็นว่าเราสนใจเรื่องพระ คือจริงๆ แล้วผมเพิ่งมาสนใจเรื่องพระทีหลัง พอสนใจแล้วเราก็ต้องอยากรู้ข้อมูลให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีที่เร็วที่สุดของผมก็คือต้องเป็นนักข่าว นักเขียน เพื่อที่จะได้ไปคุยกับเซียนตัวจริง คุยไปคุยมาก็ได้เรื่องมาเขียนเป็นคอลัมน์ นั่นจึงเป็นที่มา

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล
วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

“นอกจากวันๆ จะส่องพระแล้ว ผมก็มีงานอดิเรกเหมือนกับคนอื่นๆ เช่น ว่างๆ ก็ออกไปตีกอล์ฟบ้าง เสาร์อาทิตย์ก็อยู่กับครอบครัว หาเวลาว่างที่เราอยากทำ เพราะผมเป็นคนที่อยากทำอะไรเยอะมาก ฝันไม่รู้จบ อยากเขียนหนังสือก็ได้เขียน พอได้พูดก็อยากถ่ายทอดประสบการณ์ที่เจอมาอีก เราเห็นว่ามันเกิดประโยชน์เราก็อยากทำ งานที่ genie ก็อยากสานต่อ 

“ชีวิตผมเหมือนชีวิตกลับหัว เหมือนเพิ่งจะเริ่มออกเดินทาง ความจริงผมได้เวลาเกษียณแล้วนะ ด้วยอายุ 56 ปีแล้ว แต่ผมยังรู้สึกว่าทุกอย่างเหมือนยังไม่ถึงไหน ชีวิตผมยังอยู่กับการเริ่มต้นตลอด ยังรู้สึกอย่างทำโน่นนี่ตลอดเวลามีเหนื่อยบ้าง แต่ถ้าถามว่าอยากพักไหม มันก็มีแต่สิ่งที่เข้ามาไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ มันทำให้เรามีไฟในตัวขึ้นมา อย่างคุยกับแฟนเพลงในโซเชี่ยล อ่านบทความดีๆ มันก็มีความรู้สึกที่เราอยากทำ มันมีความสุขที่ได้ลงมือทำ เหมือนว่าตอนนี้เรายังมีแรงที่จะทำต่อ เราก็ยังอยากที่จะทำสิ่งนี้ต่อไป” 

เปิดตำรามหา’ลัยร็อก