ลพบุรี

ลพบุรี

กลางซากอิฐปูนที่ผ่านวันเวลา ก่อรูปเป็นโบราณสถานยิ่งใหญ่ ในห้องแถวเรียงรายชีวิตของคนตลาด หรือแม้กระทั่งห้วงนาทีที่ใครบางคนหันหน้าลงสู่แม่น้ำไหลสายเอื่อยอ่อนแรง

ทุกอย่างล้วนปรับเปลี่ยนและมากไปด้วยการเรียนรู้ในรูปแบบ “เฉพาะอย่าง” ของผู้ที่อยู่กับมัน

มาอยู่ที่นี่หลายวัน ห่างจากแผ่นดินบ้านเกิดมาเพียงร้อยกิโลเมตรกว่าๆ ทว่าในความเล็กอันแสนเก่าแก่ของลพบุรี ก็เพียงพอที่จะทำให้เราไม่สนใจเรื่องความใกล้-ไกล เพราะสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่นั้นเปี่ยมไปด้วยความหมาย

หากจะมีอะไรมากไปกว่านั้น อาจเป็นได้แค่ความฟูมฟาย

ไม่ได้เป็นคนประเภทหลงใหลยามเช้าสักเท่าไหร่ หากแต่หลายวันที่นี่ก็ทำให้ผมพาตัวเองมาเดินเล่นที่ถนนสายเก่าซึ่งโอบล้อมด้วยบ้านเรือนริมแม่น้ำลพบุรีอย่างเต็มใจ

เพียงเพื่อจะมาเห็นว่า ตลาดเช้าของคนที่นี่คึกคักและเป็นกันเองเพียงไร

ผมพาตัวเองมาที่ถนนท่าขุนนาง ห้องแถวไม้อายุร้อยกว่าปีนั้นไร้การปรุงแต่ง ทรุดโทรมบ้างตามการทิ้งร้าง และก็ปรับร่วมให้เหมาะกับกิจการค้าขายที่ตกทอดมาหลายรุ่นอายุ

ย่านเงียบๆ หลังวังนารายณ์แห่งนี้เคยเป็นจุดสำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่าน้ำคึกคักด้วยเป็นทางขึ้นสู่พระราชวัง บรรดาขุนนางหรือราชทูตจากแดนไกลต่างต้องใช้ท่าน้ำเหงาๆ ที่เห็นในวันนี้ เพื่อเดินเท้าขึ้นสู่ที่สูงบันได 51 ขั้นอันเก่าคร่ำตรงหัวตลาดเข้าสู่พระราวัง ยิ่งมองยิ่งมากด้วยเรื่องราว

วันคืนผ่านพ้นมาไม่รู้เท่าไหร่ ท่าน้ำและถนนเล็กๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นชุมชน อย่างน้อยมันก็เป็นร้อยๆ ปี ตามความซบเซาและเฟื่องฟูขึ้นลงของเมืองลพบุรี

ถนนท่าขุนนางเริ่มต้นตั้งแต่หัววัดเชิงท่า ลากยาวมาจนสุดที่ทางลงท่าน้ำ ห้องแถวไม้ในยามเช้าไม่เพียงเปิดบานเฟี้ยมรับความเป็นไปจากด้านนอก แต่ยังมากด้วย “บรรยากาศ” ของบ้านและผู้อยู่ในนั้น รอยยิ้มของผู้เฒ่าระคนอยู่กับเสียงหัวเราะของลูกหลาน

หมู่ห้องแถวที่เรียงรายเก่าแก่แม้จะดูเงียบงันในบางที แต่ก็ไม่เคอะเขินกับยามเช้าที่แสนคึกคัก ผักและผลไม้นานาชนิดของตลาดท่าขุนนางในยามเช้าดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้พื้นที่ใกล้ท่าน้ำตรงนี้เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยน ตลอดจนถักทอสิ่งที่เรียกว่าความผูกพัน

“มันเป็นอย่างนี้มารุ่นต่อรุ่นครับ ลพบุรีมีตลาดเยอะ เอาแค่ถนนสายเดียวก็สามสี่ตลาดแล้ว” ที่ร้านจรุงจิตต์โอสถ ตรงข้ามวัดเสาธงทอง หลังจากเราเข้าไปชื่นชมสถาปัตยกรรมเปอร์เซียที่ตกทอดอยู่ในซุ้มประตูของวิหารและตึกคชสาร รวมทั้งตึกปิจู ผมก็ออกมาเห็นว่า ร้านขายยาแผนโบราณตรงข้ามวัดนี้ ลูกชายของเจ้าของได้ต่อยอดมันมาได้ยั่งยืนเพียงใด

ป้ายกำกับชื่อยาสมุนไพรนั้นหลากหลาย รางจืด จันท์เทศ กัลปังหา ส้มแป้น เก๋ากี้ ฯลฯ มันมีเสน่ห์พอๆ กับกลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งพอได้คุยกับคนที่ยืนอยู่ข้างหน้าตู้ยาสีเขียวสวย ผมก็รู้ว่าหยูกยามากมายเช่นนี้เดินทางมาไกล ทั้งตามฤดูกาล จากป่าเขา จากทะเล ซึ่งมันไม่แตกต่างจากยุคพ่อของเขาสักเท่าไหร่

“บางคนก็ซื้อกันมาแค่รุ่นเตี่ยล่ะครับ ไม่แช่แค่กระแสตื่นสมุนไพรอย่างตอนนี้” เขาว่าพลางหยิบใบชะครามซอยฝอยใส่ห่อกระดาษ ลูกค้าพะรุงพะรังข้าวของเข้ามาและก็จากไปเงียบๆ

ท่ามกลางคลินิกและร้านขายยาสมัยใหม่ที่รายล้อม ก็ยังมีคนเชื่อในสูตรยาของร้าน บ้างสั่งซื้อกันทางไปรษณีย์ แม้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันจะก้าวหน้าไปอย่างไรก็ตาม นั่นเองจึงทำให้ร้านขายยาเล็กๆ หน้าวัดเสาธงทองแห่งนี้คงอยู่มาเกือบ 80 ปี

และทำให้ใครบางคนเลือกยืนอยู่ที่เดิมอย่างคนที่ไม่หวาดหวั่นการผันเปลี่ยน

ยามเช้าไม่เพียงปลุกให้ชีวิตในห้องแถวขยับเขยื้อน หากแต่ถนนพระรามที่ต่อจากชุมชนท่าขุนนางก็เช่นกัน ยังคงความเป็นถนนสายโบราณในยุคเมืองและแม่น้ำแสนเฟื่องฟู

ย่านการค้าเหยียดยาวไปตามถนนเล็กๆ สายนี้ บางช่วงเป็นตึกปูนทรงเหลี่ยมสีสดที่เกิดขึ้นหลังจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2511 สถาปัตยกรรมแบบนี้เกิดขึ้นมากในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตึกรามแบบลดรายและเอียดตกแต่ง ทว่ามากด้วยความแข็งแรงและเส้นสายของดาดฟ้า

ถนนพระรามพาคนอยากรู้จักยามเช้าและย่านตลาดของลพบุรีเข้าสู่ย่านตลาดล่าง มันแคบเสียจนมองเห็นและสัมผัสอัธยาศัยของพวกเขาได้อย่างชัดเจน พวกเขาพูดน้อยๆ คำห่วงใยมักแทรกปนอยู่ในบทเจรจาซื้อขาย เป็น “น้ำเสียง” ชื่นเย็นที่หาไม่ได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต

“แต่ก่อนคนจากป่า นา ทุ่ง มาเจอกันด้วยแม่น้ำลพบุรีนี่ล่ะ” ต่อหน้าห้องแถวเลขที่ 72-78 ที่หลังบ้านคือแม่น้ำลพบุรีไหลเอื่อยลุงวิชัย จิโรจน์วงศ์ เล่าบางส่วนของตลาดล่าง-ย่านการค้าที่คึกคักที่สุดของลพบุรีให้ผมฟัง ขณะที่เพื่อนช่างภาพกำลังเพลินไปกับลวดลายประดับอาคารอันฟู่ฟ่า

“คนเหนือขึ้นไปแถบซับลังกา เอาของป่าลงมาขาย คนข้างล่างมาจากอยุธยา อ่างทอง พืชพรรณมากองที่เต็มตลาด เรียกกันว่าใครขับรถเข้ามาไม่ชนเข่ง ชนกระจาดผักนี่เซียนมาก” แกว่าความคึกคักที่เราตื่นตานี่เทียบไม่ได้กับวันก่อน

อย่างน้อยตึกแถวสี่ห้องซึ่งเป็นหลังแรกของลพบุรีที่ตกทอดมาจากรุ่นก๋งของแกก็บอกเล่าความเฟื่องฟูนั้นได้ อาคารสีน้ำตาลตัดครีมฝีมือช่างกวางตุ้งที่ชื่อ “สัจจเวสส” ชุดนี้อยู่ต้นตลาดล่าง ขายสินค้าส่งที่มาจากทั่วสารทิศ หล่อเลี้ยงคนในครอบครัวมายาวนาน มีช่องส่งสินค้าขึ้นลงจากเพดานชั้น 2 “เอาไว้ดูโจรดูขโมยด้วย” ลุงเล่าอารมณ์ดีอยู่หน้ากาแฟและหนังสือพิมพ์ประจำวันที่ฝั่งตรงข้าม ร้านขายยาหมอเปล่งเริ่มมากด้วยลูกค้า ลูกสาวกำลังจัดยาแผนโบราณอย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับร้านขายยาในตลาดใกล้เคียง

ย่านตลาดล่างจอแจและมากไปด้วยภาพการค้าที่เป็นจริงเป็นจัง มิได้จัดฉากขึ้นเพื่อดวงตาและหัวใจของคนอื่น เสื้อคอกระเช้าผ้าถุง ของกินหลากหลาย หรือแม้แต่เครื่องจักสานที่เน้นไปถึงอาชีพ “ประมง” ซึ่งตั้งอยู่ในตึกปูนสีสวยโอ่อ่าอย่างสิวะสถาน ที่สร้างจากก๋งของลุงวิชัยแห่งร้านสัจจเวสสเช่นกัน

“จะดูว่าร้านค้าไหนเก่าแก่ เจริญ ดูการก่อสร้างก็ได้” ผมแวะห้องแถวไม้ขายข้าวสารสีน้ำตาลขรึม นั่งต่อหน้าคุณยายจริยา ตันติสุข สายๆ อย่างนี้ร้าน ต. รุ่งเรือง เหลือลูกค้าขาประจำอยู่ไม่มาก ข้าวสารหลากพันธุ์เรียงรายในกระสอบ “ไปคนเยอะอีกทีก็เย็นนั่นล่ะ”

ชุดห้องแถวไม้ที่ตกทอดมาสู่รุ่นยายเหยียดยาว แม้จะเปลี่ยนมือไปในบางห้องก็ตาม แต่โครงไม้และการก่อสร้างก็ดูออกว่าเกิดมาพร้อมกัน

“ข้างล่างนี่ลึกเท่า 1 ชั้นเลยนะ แต่ก่อนใส่ทรายใส่ปูน” แต่ก่อนห้องแถวไม้กลางตลาดล่างชุดนี้คือแหล่งปูนทราย ที่ต้องบรรทุกกันมาทางเรือ เรียกว่าในตลาดล่างมีกระทั่งร้านขายวัตถุดิบในการก่อสร้าง “เวลาลงทรายทีต้องดีดไม้กระดานขึ้นเกือบหมด” ยายเล่าถึงภาพที่ผ่านพ้นไปก็น่าจะเกิน 20 ปีอย่างสบายอารมณ์

บางอย่างผ่านพ้น ใช่เพียงเพื่อการอาวรณ์หวนถึง หากแต่เป็นการบอกต่อว่า ใครบางคนไม่เคยหลงลืมว่าทุกอณูในบ้านนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

ผ่านช่วงบีบแคบแต่เปี่ยมชีวิตชีวาของย่านตลาดล่าง ความจอแจอันมีเสน่ห์ต่อเนื่องจนถึงตลาดท่าโพธิ์ ถนนคดโค้งตรงหน้ามากมายผู้คนที่ต่อรถเตรียมไปอำเภอท่าวุ้งหรือสิงห์บุรี แม่น้ำลพบุรีคล้อยไหลในแดดสาย

เมื่อมาถึงปลายถนนพระราม ความคึกคักของตลาดก็เปลี่ยนมาเป็นอีกรูปแบบ

เต็มไปด้วยภาพแห่งการผ่อนคลาย อาทร และการมีอยู่จริงของวันเวลา

ควันกาแฟและเสียงพูดคุยในยามสายลอยออกมาจากร้านดั๊ชให้ดี ป้ายไม้และสติกเกอร์ติดกระจกนั้นบอกให้คนมาใหม่ได้รูู้ว่าร้านกาแฟเก่าแก่คู่ตลาดท่าโพธิ์ในห้องแถวนี้เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2456

“มาถึงผมก็รุ่นหลานแล้วครับ ไม่ต้องไปหาลูกค้าใหม่” หนุ่มวัยกลางคนพูดติดตลกหลังเตาน้ำร้อน เขาดูค่อนข้างผ่อนคลายในยามสาย ไม่เหมือนช่วงเช้า ที่ทั้งตลาดท่าโพธิ์และตลาดล่างคึกคักต่อเนื่อง คนเดินทางจากนอกเมืองและขาประจำแน่นร้าน ขณะนี้เหลือเพียงวงน้ำชาค้างคาที่โต๊ะหินหน้าร้านกลุ่มเดียว

เรานั่งคุยกันอยู่นาน ผมได้รู้ว่าชื่อร้านแปลกๆ นี้มาจากปู่ของเขาคือ “เจ๊กดั๊ช” ความเก่าแก่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ใครที่มาเยือนร้านกาแฟเก่าแก่ของลพบุรีแห่งนี้น่าจะสัมผัสและเข้าใจได้ไม่ยากว่ามันเติบโตเคียงข้างกันมาแค่ไหน

แสงทึมๆ แสนคลาสสิกที่หลายคนหลงใหลเหมือนจะอยู่คู่กับบรรยากาศของร้านกาแฟโบราณตามตลาดเก่า ทว่าจริงแท้อาจไม่ใช่แค่นั้น การที่ได้สัมผัสเสียงหัวเราะ ถามไถ่ทุกข์สุข หรือวิจารณ์ติเตียนอันเป็นจริงเป็นจังในห้วงเวลาสั้นๆ นั้นต่างหากที่น่าใส่ใจยิ่งกว่า

อย่างถึงที่สุดมันอาจทำให้เรารู้ว่าความห่วงหาอาทรนั้นมีอยู่จริง

เสียงพูดคุยเล่นหัวของคนหลายวัยที่ดั๊ชให้ดีดำเนินไปเช่นไร ที่ห้องติดกันกลับให้ภาพอีกแบบซึ่งดำเนินมาคู่กันราวเส้นขนาน ต่อหน้าเส้นก๋วยเตี๋ยวและเครื่องเคียงสารพัด เจ๊ง่วนจึง แซ่เตียเปิดร้านชื่อเท่ๆ อย่างรสสัมพันธ์อยู่อย่างเงียบๆ มา 50 กว่าปีแล้ว

“คนตลาดกับคนข้างนอกแยกกันไม่ออกหรอก ใครไปใครมา อยู่บ้านไหน รู้จักกันหมด ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้” ระหว่างลวกก๋วยเตี๋ยวให้ขาประจำจากท่าวุ้ง แกว่าเอากับสิ่งที่เรียกว่าความสัมพันธ์ ซึ่งมันเป็นเช่นนี้กับคนย่านตลาดมาเนิ่นนาน

ตลอดบ่ายเราเห็นภาพเล็กๆ อันเป็นจริงเป็นจังเช่นนี้กลางการหมุนเหวี่ยงของวันเวลาที่นอกร้าน ลูกค้าที่มาเยือนตลาดท่าโพธิ์เป็นต้องแวะทั้งดั๊ชให้ดีและหาก๋วยเตี๋ยวหมูอร่อย ๆ ของเจ๊ง่วนจึงติดกลับไป และส่วนใหญ่บทสนทนาก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของซื้อขาย หากมักปนเอาบรรยากาศของชีวิตประจำวันเข้าไปเสมอ ใครเป็นอะไร พ่อแม่คนไหนป่วยหรือสบายดีไหม

เป็นความรู้สึกที่บอกว่า พื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็น “บ้าน” ของพวกเขา และความรู้สึกแบบญาติพี่น้องก็ยังคงชัดเจนเกินกว่าจะลบเลือนมันไปในโลกตัวใครตัวมันอย่างทุกวันนี้

ผ่านพ้นยามบ่ายไปกับวัดวาอารามและโบราณสถานหลากหลายในลพบุรี และเมื่อยามเย็นมาเยือน ผมก็พบว่า เมื่อพาตัวเองกลับมาอยู่ในตลาดบนเมือง ไม่ไกลกันกับสองตลาดเมื่อเช้า โลกของการค้าขายและพึ่งพากันนั้นมีคุณค่ากับหลายคนที่นี่อย่างน่าชื่นชม

เดินเข้าไปในบรรยากาศของการ “ซื้อขาย” ที่นำพาเอาชีวิตรายรอบทั้งเรือกสวน แม่น้ำ และเรือนครัว ออกมาวางไว้ตรงหน้า ผักปลาสดๆ จากหย่อมย่านการเกษตรและแม่น้ำลำคลองเรียงรายอยู่อย่างเลือกไม่ถูกสำหรับคนรักการปรุงอาหาร ร้านส้มฟักสมพรคนมุงแน่น ยังมีปลาร้าสับทรงเครื่อง ปลาส้ม และหมูส้มอีกมากหลาย การแปรรูปปลาไปสู่อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคกลางเช่นนี้ดูจะไม่มีวันหายสูญตราบเท่าที่วัฒนธรรมการกินของคนลพบุรียังเป็นเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อน

ยิ่งลึกเข้ามา ตลาดบนเมืองก็เป็นตลาดที่แท้จริง ผู้คนหิ้วตะกร้ามาจับจ่ายไม่ใช่ถือกล้องดิจิตอล เสียงพูดคุยไถ่ถามปนอยู่ในการต่อรอง ผลผลิตตรงหน้าราคาเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่

เลาะลงมานั่งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีที่วันนี้เหลือเพียงเรือนแพไม่กี่หลัง นานๆ เจ้าของจะออกมายกดูยอสักที โมงยามเช่นนั้น ผมนึกถึง“ตลาด” และ “บ้าน” ของพวกเขา

ถนนสายสั้นและตลาดสองสามแห่งซุกซ่อนรายละเอียดอันแสนเปราะบางไว้ในความขวักไขว่ของตลาด ความเก่าแก่ของบ้านเรือน และการต่อยอดชีวิตของหลายต่อหลายคน มันอาจปนเปทับซ้อน บางอย่างตกหล่นไปตามร่องรอยเวลา ทว่าก็ไม่มีใครโหยหาอาวรณ์

การมีอยู่ของคืนวันนั้นมีค่ากับการใช้ชีวิตเกินกว่าที่เราจะมานั่งโหยหาถึงสิ่งที่ล่วงเลย

เมืองเล็กๆ ของลุ่มภาคกลาง