ลับแล...ชีวิตในขุนเขา

ลับแล...ชีวิตในขุนเขา

บางนาทีที่เราเลือกเส้นทางสู่อำเภอลับแล ห้วงยามอันหอมหวานของผลไม้และวิถีชีวิตที่นั่นก็ล้วนบอกเล่าอีกใบหน้าของอุตรดิตถ์อันแสนรื่นรมย์

เช้าอันเงียบเชียบหลังฝนพรำค่อยๆ เริ่มเคลื่อนไหว ตลาดศรีพนมมาศดารดาษด้วยของกินและพืชผักท้องถิ่นอย่างผักขี้กาปะปนอยู่กับเมี่ยงหวาน รอยยิ้มโดดเด่นกว่าคำพูดทักทาย การมีอยู่ของทุเรียนหลงลับแลฉุดรั้งให้หลายคนเข้าไปเลือกซื้ออยู่นาน ต้นฤดูเช่นนี้ สำหรับดินแดนต้นกำเนิดของมัน ราคายังเป็นเรื่องจับต้องซื้อหากันได้ แต่หากเป็นไม่กี่อาทิตย์ถัดไป ผู้คนแห่งขุนเขาแสนสงบล้วนดื่มด่ำกับผลผลิตราคาแพงลิบ

ถนนมุ่งไปหาขุนเขา ลัดเลาะไปตามทางแอสฟัลต์ที่ค่อยๆ เล็กลงตามความห่างไกลและองศาสูงชัน เรือกสวนร่มรื่นจากตีนดอยไล่ไปตามไหล่เขา หนทางเริ่มกลายเป็นดินลูกรัง ซึ่งพร้อมจะลื่นชันและเป็นหล่มโคลนหากฝนกระหน่ำ บางคราวเราแอบรถคันเล็กลงริมหุบ ดูสายลวดสลิงที่โยงข้ามระหว่างภูเขา เข่งที่เต็มแน่นทุเรียนถูกชักรอกไปมา นำมาสู่การก่ายกองของทั้งหลงลับแลและหมอนทองที่ติดลูกส่งกลิ่นหอมไปทั้งราวป่า 

ลมเย็นโลมไล้หน้าตาพร้อมวิวกระจ่างเมื่อเราขึ้นมาถึงจุดชมวิวเขาห้วยเฮีย รอยต่อของสามจังหวัด คืออุตรดิตถ์ แพร่ และสุโขทัย ผสานกลืนไปด้วยผืนสีเขียวของป่าและสวนผลไม้ มองเห็นแนวหมากผู้หมากเมียปลูกเป็นแนวยาวตรงกัน เรากำลังอยู่ในแนวสันปันน้ำ หากเดินลงไปคือเขตของอำเภอศรีสัชนาลัยของสุโขทัย

ดอกผลของภูเขาส่งมอบออกมาทางรอยยิ้มและมิตรภาพน้ำใจ บ้านเรือนใต้ถุนสะอาดโล่ง กระจ่างตาเบื้องหน้าคือสวนผลไม้โบราณและทิวดอยสูดลูกหูลูกตา

ลงจากดอยเอาเกือบเย็น หลังไปเยือนน้ำตกแม่พูลที่หลอมรวมสายน้ำป่าเขารอบลับแล ปรากฏเป็นธารน้ำฉ่ำชื่น ผสานกับการก่อเทปูนเพิ่มเชิงชั้น เด็กๆ และนักท่องเที่ยวผุดดำว่ายเล่น พ่อแม่นั่งมองด้วยดวงตาอ่อนละมุน เราขึ้นไปที่ม่อนอารักษ์ สำนักสงฆ์เล็กๆ เงียบสงบร่มรื่น เบื้องล่างคือหมู่บ้านแถบบ้านฝายหลวงย้อมแดดเย็นของฤดูฝน ควันไฟครัวลอยนิ่งเป็นเส้นสาย ลับแลคล้ายเงียบสงบหลังมอเตอร์ไซค์คันท้ายๆ ลงทุเรียนก่ายกองจนตะแกรงว่างเปล่า

หากโลกตรงหน้าคือภาพอุดมคติของภูเขาสักลูก ที่ชัดยิ่งอยู่ด้วยพืชพรรณ ผู้คน และการใช้ชีวิตอันเปี่ยมด้วยความหวัง ... คนของลับแลก็รู้จักโลกใบนี้มานับร้อยปี

ถนนเล็กๆ ไม่กี่สายที่ขีดคั่นพื้นที่ราบเล็กๆ ราว 117 ตารางกิโลเมตรของลับแลให้เป็นกลุ่มบ้านเรือนซุกซ่อนมิติทางความเป็นอยู่อันมีเอกลักษณ์ของคนที่นี่ไว้อย่างรื่นรมย์

จากหน้าองค์การบริหารตำบลศรีพนมมาศ เราเลือกจักรยานสีเขียว - เหลือง อันสื่อถึงสีประจำอำเภอลับแล ออกแรงขาพาตัวเองออกไปเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขารายรอบคือรอยยิ้มและภาพผ่านทางอันแช่มช้า มีความหมาย

บนถนนเขาน้ำตก เลาะเข้าไปแถบบ้านฝายหลวง ข้าวแค่บคลี่แผ่นแป้งข้าวเจ้าบางบนแนวแผงหญ้าคา จากรสเค็มโรยงาที่หากอยากลองต้องเข้าไปตามหมู่บ้าน สู่การเติบโตที่สองฟากถนน แผงขายข้าวแค่บทั้งแบบรสเผ็ด ผสมสีสวย เรียงตั้งเป็นแนวให้คนนอกได้ทำความรู้จักอาหารที่ทั้งกินเล่นและกินจริงกับมื้อใหญ่ของพวกเขา

ลัดเลาะเข้าไปที่วัดดอนสัก ใครสักคนเดินผ่านความสงบร่มรื่นไปที่วิหารเก่าแก่จากสมัยกรุงศรีอยุธยา บานประตูแกะสลักไม้งดงามละเอียดลออ เชิงช่างโบราณตกทอดเป็นลายกนกก้านขดไขว้ สลักลงร่องลึก ทั้งสองบานแตกต่างกันด้วยลวดลาย แต่เมื่อปิดสนิทแนบ กลับลงตัวดูราวกับผืนเดียวกัน

 เหมือนเส้นทางจะยาวไกล แต่ต้นฝนกลับทำให้สองการปั่นเวียนสัมผัสลับแลเป็นเรื่องเพลิดเพลิน เราผ่านจุดแวะสักการะสถานที่บรรจุอัฐิพระศรีพนมมาศ เจ้าถิ่นสักคนชวนแวะร้านก๋วยเตี๋ยวรักไอติม สั่งก๋วยเตี๋ยวหมูรสดั้งเดิมมารองท้อง พร้อมขนมหวาน และไอศกรีมสารพันเครื่องเคียง ผู้คนลับแลปนเปยิ้มหัวไปกับคนแปลกถิ่นอย่างเรา เรียกรอยยิ้มและคามห่วงใยในเมืองไกลบ้านอย่างรื่นรมย์

ข้ามลัดผ่านวัดป่ายาง ถนนเล็กๆ ฉีกเลียบพาเราไปเป็นส่วนหนึ่งของนาข้าวที่กำลังไถพรวน นาทีเช่นนี้ยากจะปฏิเสธว่ามันงดงาม จุดแวะพักจักรยานน่านั่งทอดตามองโลกเกษตรกรรมของคนลับแล ป้ายบอกเส้นทางอันชัดเจนพาเราไปสู่สิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบขึ้นเป็น “บ้าน” ของพวกเขา

หลังเวียนกลับออกสู่ถนนอินใจมี ลอดซุ้มประตูเมืองที่มีประติมากรรมสะท้อนตำนานเมืองแม่หม้ายของลับแล เราแยกเข้าสู่ถนนราษฎ์อุทิศ อาหารของคนลับแลเรียงรายจนหลายคนเรียกถนนเล็กๆ สายนี้ว่าถนนกินได้

‘ข้าวพันพักร้านป้าตอ’ เนืองแน่นผู้คนทั้งท้องถิ่นและผู้ผ่านพาตัวเองมาทำความรู้จัก หน้าหม้อดินกรุ่นเตาไฟแรง ผ้าข้าวบางรองรับเนื้อแป้งที่พร้อมจะห่อสารพัดผักไว้ข้างใน พลิกห่อเป็นก้อนเหลี่ยม หยิบยกมาให้ลิ้มลองภายใต้เรือนไม้โบราณ เมื่อมาถึงรุ่นลูกหลาน พวกเขาเชื้อเชิญให้ลูกค้าขีดเขียนถ้อยคำ รูปภาพ ลงเป็นที่ระลึกในทุกส่วนของบ้าน ติดปากคนที่นี่ว่าร้านอินดี้ ทว่ากับรสชาติที่ส่งผ่าน ราวกับมันไม่เคยจางคลาย

เยื้องกันคือหมี่พันป้าหว่าง ในบ้านไม้ร่มเย็นเรียงรายด้วยแป้งแผ่นข้าวแค่บซ้อนตั้ง และหมี่ผัดในถาด ที่ป้าว่าเคล็ดลับอยู่ที่การเลือกปรุงรสหมี่ให้กลมกล่อมและเข้ากันกับแป้งข้าวแค่บที่ใช้ ไม่ใช่ปรุงเท่ากันหมด

ข้ามตลาดไปสู่ถนนศรีพนมมาศ ผ่านวัดเสาหินทางซ้ายมือ เมื่อถึงบ้านหนอง ถนนสายเล็กเชื้อเชิญให้แยกขวา เมื่อผ่านพ้นและจอดตรงจุดพักจักรยาน เรือนไม้โบราณของพิพิธภัณฑ์ผ้าร้อยปีก็วางตัวอยู่อย่างอบอุ่น ชายร่างผอมบางเจือมาดคนทรงภูมิรู้ค่อยๆ แง้มบานประตูสู่โลกอันเป็นสุขของเขา

พาเราเข้าสู่ห้องหับที่รายเรียงด้วยผ้าทอของคนไทยยวน มันประดับประดาง่ายๆ แต่ที่ยากยิ่งและต้องการการทำความเข้าใจและจดจำ คือลวดลายอันวิจิตรของผ้าตีนจก แต่เดิมหญิงไทยยวนในลับแลทอผ้าเป็นทุกคน ผ้าทอปะปนอยู่ในชีวิต ทั้งงานพิธี ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น ทั้งงานบุญหรือในชีวิตประจำวัน พื้นผิวและเส้นไหมส่วนของตีนจกกระด้างตามกาลเวลา แต่คุณค่าเหมือนไม่ตกหล่นเลือนหาย

หลายวันที่ลับแล ผมคล้ายพบเจอห้วงยามแห่งความอบอุ่นที่ไหลเวียนอยู่อย่างไม่ต้องตีโพยตีพายเรียกร้อง ในตลาดเช้า ผู้คนซื้อขายกันเงียบๆ สะอาดสะอ้าน ปะปนด้วยพืชพรรณและน้ำใจผ่านการยิ้มทัก ไร้พิธีรีตอง ในวงล้อมของขุนเขาที่ผสานกลืนทุกมิติ และในที่สุด อาจเป็นโลกใบเดียวอันสงบเงียบ นิ่งช้า และมีค่าเท่าที่ผู้คนที่หายใจอยู่ ณ ที่นี่ยังคงใช้ชีวิตก้าวเดิน 

How to Go?

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32ผ่านอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท จนถึงนครสวรรค์แยกเข้าเส้นทางหมายเลข 117 ถึงพิษณุโลก แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 11 จนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นต่อไปอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 102 แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 1041 ราว 9 กิโลเมตร

ลับแลเมืองสงบงามด้วยม่านน้ำและทิวเขาโอบล้อม