อิ๊ก บรรณ บริบูรณ์

อิ๊ก บรรณ บริบูรณ์

นั่นอาจเป็นแนวทางหนึ่ง แต่คงไม่เสมอไป เพราะเชฟคนที่เรากำลังแนะนำคนนี้ เขาคือหนุ่มที่ดูเผินๆ น่าจะพบได้ตามสยามสแควร์เสียมากกว่า ด้วยการแต่งตัวเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ ทรงผมแบบแนวๆ แต่เขากลับเป็นเชฟสอนทำอาหารที่มาแรงที่สุดคนหนึ่งในช่วงเวลานี้ เขาชื่อ อิ๊ก บรรณ บริบูรณ์

เขาจบการศึกษาปริญญาตรีด้านการตลาด แต่ด้วยใจรักในการทำอาหาร เขาจึงเข้าไปเรียนเพิ่มที่มหาวิทยาลัย James Cook ที่ประเทศออสเตรเลีย จนในที่สุดก็ก้าวสู่การเป็น Menu Designer และ Head Chef ด้วยวัยเพียงยี่สิบกว่าๆ เท่านั้น หลังจากกลับมาเมืองไทย เขามีโอกาสได้ทำงานที่เขาไม่คาดคิดเมื่อมีโอกาสหยิบยื่นมาให้ นั่นคือการเป็นพิธีกรสอนทำอาหารในรายการครัวอินดี้

“รายการครัวอินดี้เขาเห็นว่าผมเป็นอินดี้ที่เป็นวัยรุ่น ไม่เหมือนเชฟคนอื่นๆ ผมก็พรีเซ้นต์ว่าผมทำอาหาร แต่เวลาว่างผมก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป มันก็เป็นอะไรที่ทำให้คนได้เห็นอาชีพเชฟที่ต่างกันออกไป เพราะเราทำอาหารเพื่อเป็นแรงบันดาลใจมากกว่า 
เราไม่ได้โชว์ฝีมือในการแกะสลักยากๆ เราเน้นว่าง่ายๆ คุณทำได้ แล้วก็อร่อย

“ผมอาจจะได้ความสด เพราะใหม่กว่า เพิ่งเข้ามาทำรายการ เราเป็นเด็กเจนเนอเรชั่นใหม่ เราอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลง รายการอาหารเป็นอะไรที่ตันง่าย เพราะรูปแบบมันก็คือปรุงอาหารให้คนดู แต่จะทำให้มันน่าตื่นเต้นได้มันต้องใส่คอนเท้นต์เข้าไป ต้องสร้างสถานการณ์แปลกๆ ผมก็เลยต้องเปลี่ยนคอนเท้นต์ไปเรื่อยๆ”

เรื่องของการทำอาหารนั้น ความใส่ใจในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่สายตาผู้ชมเป็นเรื่องไม่ง่าย เขาจึงต้องพยายามหาวิธีที่ดีที่สุดในการนำเสนอออกมาให้ตรงใจผู้ชม

“ผมจะพยายามพรีเซ้นต์เรื่องอาหารให้คนรุ่นใหม่แบบที่ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอย เชฟบางท่านอาจมีการทำที่มีเรื่องราวเยอะ แต่ผมจะทำให้เข้าใจง่าย เหมือนเป็นการย่อยง่ายๆ คนดูสามารถดูแล้วทำได้ เมนูไม่ต้องมีเครื่องเยอะ แต่ตกแต่งออกมาแล้วเมนูสวย จริงๆ แล้วผมทำได้ทุกอย่างเพราะที่ผมเรียนเขาสอนกว้าง แบบทอด ลวก ย่าง ปิ้ง ที่ไม่ได้เป็นเมนู เพราะฉะนั้นเราก็เลยพอมีประสบการณ์มาจากที่เรียนที่เมืองนอกมาแล้ว”

นอกจากจะเป็นเชฟสอนทำอาหารทางหน้าจอทีวีแล้ว ล่าสุดหนุ่มคนนี้ยังมีหนังสือออกมาใช้ชื่อว่า “อร่อยง่ายๆ สไตล์อิ๊ก Food that IK likes” เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตของหนุ่มคนนี้ที่ผูกพันกับการทำอาหารมามากมาย โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ตอนเด็ก ช่วงที่ไปเรียนเมืองนอก และช่วงที่กลับมา มีอาหารทั้งไทยและฝรั่งมากกว่า 50 เมนู ทั้งหมดล้วนเป็นเมนูง่ายๆ

“เราทำรายการสอนทำอาหารมาเกือบจะ 3 ปีแล้ว เริ่มมีคนรู้จักเรา หนังสือก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งว่าถ้าทำอาหารต้องมีหนังสือ มันคือตำราอาหาร แล้วที่สำคัญคือมันมีองค์ประกอบค่อนข้างเยอะ “ส่วน 50 สูตรนั้นก็เป็นอาหารที่เรามาประยุกต์ คือเราเคยกินอะไร เราก็เอามาประยุกต์ เพราะฉะนั้นก็จะได้เจอสูตรแปลกๆ ที่ไม่ได้เจอที่อื่นเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่หาง่าย อย่างแกงเขียวหวานมันอาจจะดูไม่เหมือนแกงเขียวหวานทั่วไป ไก่ก็จะมีการทอดให้หนังกรอบสไตล์ฝรั่ง แต่เราจะราดซอสแกงเขียวหวานเข้าไป มันไม่ใช่หนังสือทำอาหารที่ยากครับ รับรองมีประโยชน์แน่นอน”

หลังจากหนังสือเล่มนี้ออกมาแล้ว เขายังมีโครงการทำร้านอาหารที่เราอาจจะได้เห็นในไม่ช้า เขาเล่าว่าไอเดียการเปิดร้านอาหารนั้นมาจากการที่เขามักจะถูกถามเรื่องอาหารว่าทำอร่อยจริงหรือไม่ เขาจึงคิดว่าน่าจะต้องเปิดร้าน ใครที่อยากรู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อยจะได้มาพิสูจน์ด้วยตัวเอง โดยอาหารที่เขาเน้นจะออกแนว สวย อร่อย ราคาไม่แพง

ในฐานะที่เขาเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ทำอาชีพเชฟ มีประสบการณ์มาพอสมควร เขาจึงมีคำแนะนำดีๆ เกี่ยวเส้นทางสายนี้มาฝากเผื่อว่าจะมีวัยรุ่นสนใจที่จะก้าวเข้ามาทำอาชีพนี้เหมือนกับเขา

“สำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นเชฟก็พยายามทำอาหารนอกเวลา คือบ้านไหนที่พ่อแม่สนับสนุนถือว่าโชคดี แล้วก็ควรหาประสบการณ์ในการทำงาน ถามว่าต้องเรียนมั้ย ไม่ต้องเรียนครับ อย่างผมเองจบปริญญาตรีทางด้านมาร์เก็ตติ้ง แต่ผมก็สามารถทำอาชีพนี้ได้เพราะทำงานมาตลอด คนที่ไม่ได้เรียนทำอาหารแต่ได้ทำงาน จะต้องได้เป็นลูกมือเขาก่อน แต่เราก็จะได้ประสบการณ์ดีๆ

“เราไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนที่แพงๆ เวลาสมัครงาน เจ้าของร้านจะดูว่าคนที่เรียนมาเยอะ แต่ไม่มีประสบการณ์ กับคนที่มีประสบการณ์ 10 ปีแต่ไม่เคยเรียน เขาต้องรับคนประเภทหลังอย่างแน่นอน แต่ถึงผมจะบอกว่าการเรียนเชฟในสถาบันแพงๆ อาจไม่จำเป็น แต่ถ้ามีโอกาสเรียนได้ก็ควรจะเรียนดีกว่า เพราะไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใด แต่เรายังต้องเรียนรู้จากคนอื่นๆ ได้เสมอ แล้วห้ามหยุด อย่าปิดตัวเอง และที่สำคัญต้องอดทนครับ”

Know Him

• เขาเคยได้รับตำแหน่ง The Most Fresh Face Bachelor 2007 จากการประกวด CLEO’S Most Eligible Bachelor 2007

• เขาเป็นคอลัมนิสต์เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับอาหารให้กับนิตยสาร CLEO และนิตยสาร FRAME

• เขาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ สำหรับลงเผยแพร่ในวารสารของ Tops Supermarket

เชฟที่ปรุงอาหารอร่อยควรมีลักษณะอย่างไร?