กมล ทัพคัลไลย

กมล ทัพคัลไลย

จากดินถิ่นชนบท

ภาพความทรงจำเมื่อครั้งได้ยินเสียงโฆษกประกาศเรียกผู้ชม เขากับน้องชายผลัดกันเข้าไปดูหนังโรงหนังข้างบ้านเสียงเพลงเรียกแขกดังเข้ามากระตุ้นโสตประสาทอีกครั้ง แม้ภาพเหล่านั้นจะซีดจางไปตามกาลเวลาที่พาให้เป็นไป แต่ความอบอุ่นก็ยังคงอบอวลอยู่เสมอในทุกวัน

“ผมเกิดมาในโลกของศิลปะ เพราะคุณพ่อผมเป็นช่างหล่อพระอยู่ที่อยุธยา นอกจากนั้นท่านก็ยังเป็นช่างแกะสลักไม้ทำลำโพงวิทยุ ทำภูเขามอ (ภูเขาย่อส่วน) แต่ในเส้นทางของเพลงที่ผมมาเกี่ยวข้องนี้ มันเริ่มมาจากด้วยความที่บ้านผมอยู่ติดกับโรงหนัง ซึ่งโรงหนังสมัยก่อน เขาจะต้องมีการโฆษณาเวลาที่หนังเข้ามาฉาย บางทีก็มีการแห่สามล้อแห่เรือจ้างอะไรกันไป ก่อนจะถึงรอบฉายหนัง ก็จะมีคนมาประกาศเรียกผู้ชม แล้วก็มีแตรวง มีมโหรีอยู่หน้าโรงหนังหรือไม่ก็เปิดเพลงเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงค่าน้ำนม กลิ่นโคลนสาบควาย เพลงมันก็เลยซึมซับ จนผมเกิดความชอบ 

“มาเริ่มชัดเจนเมื่อซักประมาณ ป.4 ได้ ผมเริ่มสะสมเพลง หาสมุดมานั่งจดเนื้อเพลงใส่ไว้เป็นเล่มๆ มันก็เลยเป็นทางที่ทำให้ต่อมาผมได้มาทำหนังสือดาราไทย ผมก็เลยสามารถจัดคอลัมน์เพลงได้สบายมากเลย เพราะนอกจากจะมีเนื้อเพลงฮิตๆ รายสัปดาห์แล้ว ผมยังเขียนโน้ตเพลงเองด้วย เขียนด้วยลายมือนี่เลย แล้วก็จะมีการเซ็นชื่อเล็กๆ ไว้ทุกอัน

“ชีวิตของผมนอกจากจะผูกพันกับหนัง เพลง และศิลปะแล้ว ยังผูกพันกับน้องชายคือคุณกำธร ทัพคัลไลย เพราะเขาเองก็ได้รับอิทธิพลจากหนังเหมือนกัน เขาจะได้ดูหนังฟรีเสมอๆ เพราะความที่บ้านอยู่ใกล้นั่นแหละ ยิ่งสมัยก่อนเขาจะมีดารามาโชว์ตัวหน้าโรงด้วยก่อนหนังจะฉาย มาร้องเพลงสลับหน้าม่านอะไรแบบนั้น เมื่อเขาได้ซึมซับ ต่อมาเขาจึงได้เดินตามเส้นทางภาพยนตร์มาโดยตลอด

“เมื่อผมได้มีโอกาสทำงานให้กับท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล) ผมได้นำเขาไปฝากฝังไว้กับท่านมุ้ย ให้เริ่มเล่นหนังกับท่าน จนได้รู้จักกับคนในวงการมากมายไม่ว่าจะเป็น สรพงษ์ ชาตรี เพราะเป็นคนอยุธยาด้วยกัน หรืออย่างต่อมาเมื่อได้รู้จักกับคุณปิยะมาศ โมนยะกุล ก็เลยเกิดประทับใจแล้วก็เลยเริ่มจีบกันแต่นั้นมา 

“เมื่อพอเริ่มมีความรัก มันเลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาคิดอยากจะสร้างหนังของตัวเองขึ้นมา เขาเลยสร้างหนังเรื่องแรก ‘ทายาทป๋องแป๋ง’ ซึ่งก็ถือได้ว่าได้รับการตอบรับที่ดี เป็นที่นิยม ดังเลยก็ว่าได้ เมื่อเขาเริ่มมีแฟนๆ หนังติดตามผลงานเรื่องต่อมาจึงค่อยๆ ออกฉายเรื่อยๆ 

“พอนึกถึงอดีตของตัวเองทีไรมันก็มักจะมีเงาของน้องชายคนเดียวคนนี้อยู่เสมอ เพราะเราผูกพันกันมากครับ” 

เส้นทางที่ถูกเลือก

ด้วยอิทธิพลจากเสียงเพลงและศิลปะที่มีที่มาจากพื้นฐานของถิ่นกำเนิด ได้หล่อหลอมให้สิ่งเหล่านี้ซึมซับจนกลายเป็นองค์ประกอบหลักของจิตวิญญาณแห่งศิลปิน ‘ทางเลือกมักเป็นอีกหนึ่งบททดสอบ’ ดังนั้นการตัดสินใจครั้งสำคัญกับเส้นทางที่จะเลือกเดิน จึงกลายเป็นคำตอบของทุกวันนี้

“พอผมเรียนหนังสือจบชั้นต้นที่โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ ก็ได้มาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ผมเรียนที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แต่ด้วยความที่มีใจรักในด้านศิลปะ จึงได้สอบเข้าโรงเรียนศิลปศึกษา เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ในปัจจุบัน) ผมเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับคุณชวน หลีกภัย และอาจารย์แนบโสตถิพันธุ์ ไปไหนไปกันตลอด 

“เมื่อปี พ.ศ.2501 ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนศิลปศึกษานั้น ผมก็ได้มีโอกาสพบกับครูสมาน กาญจนะผลิน ที่โรงละครศรีอยุธยา ท่านจึงฝากให้ผมไปฝึกร้องเพลงกับครูไสล ไกรเลิศ จากนั้นผมจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์และติดตามครูสมานเรื่อยมา การได้คลุกคลีอยู่กับบรมครูเพลงหลายท่านนี่เองที่ทำให้ผมซึมซับเอาทักษะ และพัฒนาการทางด้านการดนตรีเข้ามา

“ผมเรียนสองปีแล้วก็เข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เพราะมีความคิดได้ว่าไม่อยากจะเป็นอาร์ตติสท์เซอร์ๆ ก็ปรึกษากับคุณชวน (ชวน หลีกภัย) ว่าจะเอาอย่างไรกันดี ท่านเองก็ได้เบนเข็มไปเรียนธรรมศาสตร์ ผมก็ไปเรียนเพาะช่าง แต่เลือกเรียนประโยคครูเพื่อที่จบมาแล้วจะได้เป็นครู ก็จะได้ประโยคครูมัธยมการช่างเขียน ผมจบพร้อมกับ ดร.กมล ทัศนาญชลี (ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540 สาขาทัศนศิลป์) 

“จากนั้นผมก็ได้ไปสอบเข้ากระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นอาจารย์ที่เพาะช่าง แต่ว่าได้บรรจุที่กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องด้วยลายมือสวยก็เลยมีโอกาสได้เขียนใบประกาศนียบัตรนักเรียนอาชีวะศึกษา  เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องพิมพ์ ก็จะใช้ลายมือนี่แหละ จากนั้นผมก็ได้รับการทาบทามไปเขียนใบประกาศเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต่อมาก็ได้ขั้นชั้นตรี แล้วจึงเข้าไปสอนที่เพาะช่างจนได้ชั้นโท

“จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดที่จะเข้ารับราชการเสียทีเดียวนะ อยากที่จะเป็นคนทำงานศิลปะมากกว่า เพียงแต่ว่ามาคิดได้ว่าถ้าเป็นอาร์ตติสท์ คงจะไส้แห้งแน่แท้ ซึ่งในตอนนั้นมันก็ไส้แห้งกันจริงๆ เพื่อนร่วมรุ่นกันกับผมนี่เขียนรูปไปก็ไม่มีคนซื้อ ขนาดอาจารย์แนบยังขายรูปไม่ได้เลย 

“ตอนนั้นผมคิดหนัก เพราะสำคัญมากกับการตัดสินใจ สุดท้ายก็เลยเลือกเอาทางหลักไว้ก่อน ซึ่งถึงจะเบนมาทางครูแต่ก็ยังอยู่ในสายของศิลปะอยู่ ได้เข้ามาอยู่เพาะช่างซึ่งถือว่าเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา ก็ถือว่าได้มาถูกทางแล้ว ถ้าให้รับราชการที่อื่นก็คงไม่เอาเหมือนกัน เพราะว่าเรามีความรักมีความรู้ในด้านศิลปะ ผมก็อยากจะถ่ายทอดให้กับศิษย์รุ่นต่อไป และข้อดีของการเป็นครูอีกอย่างหนึ่งคือผมสามารถมีเวลาที่จะใช้จินตนาการ สร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ ของผมได้อีก เช่น การแต่งเพลง เขียนรูป  หรือศิลปะด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นผมรับราชการจนถึงเกษียณมานี้ ผมได้ทำงานที่รักหลายอย่าง ทั้งสอน ทั้งทำหนังสือ เขียนคอลัมน์ แต่งเพลง และอีกมากมาย   

แรงบันดาลใจแห่งความฝัน

เมื่อครั้งได้ออกไปที่หาดสวนสน ประจวบคีรีขันธ์กับเพื่อนคู่หู นอกจากผลงานทัศนศิลป์ที่ได้แล้ว ทิวทัศน์รอบด้านความสวยงามรอบๆ ก่อตัวเป็นจิ๊กซอว์ให้เขาจับมาร้อยเรียงจนกลายเป็นเพลงแรกเพลงรัก สร้างชื่อเสียงให้ได้กลายเป็น
ครูเพลงมาจนถึงทุกวันนี้

“ปี พ.ศ.2502 ที่ผมเริ่มแต่งเพลงนั้น ผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ ก็แต่งไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้มากมายอะไร มาแต่งจริงๆ จังๆ ก็เมื่อเรียนจบแล้ว ซึ่งผมเองก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของครูสมาน กาญจนผลิน (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.2531) ตอนเรียนปี 1 ผมอยากเป็นนักร้อง ท่านก็ลองให้ผมร้อง ตอนนั้นผมร้องเพลง‘เหมือนไม่เคย’ แต่มันคงไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไหร่ ท่านก็เลยบอกว่าเอางี้ ไปเรียนร้องเพลงกับครูไสล ไกรเลิศ ดีกว่า

“จากนั้นผมก็ติดสอยห้อยตามครูไสลมาตลอด ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ยังคงเรียนรู้ด้านการแต่งเพลงจากครูสมานอยู่เสมอ จนต่อมาครูสมานท่านก็เอ็นดู ชวนผมไปอยู่กับท่าน เพราะเห็นว่าไม่ได้มีที่อยู่อะไร เมื่อได้มาอยู่ก็ได้ใกล้ชิดกับท่านเต็มที่ เรียนรู้การเรียนเขียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ผมได้นั้นเยอะมาก ได้รู้จักการแต่งเพลงว่าแท้จริงเขาแต่งกันอย่างไร สุดท้ายก็คิดว่าด้านการร้องนั้นคงไม่ใช่ทางของเราแน่นอน ผมเลยมาแต่งเพลงอย่างจริงจัง 

“ตอนที่แต่งเพลง ‘สวนสน’ ซึ่งเป็นเพลงแรกนั้น ครูสมานก็ไม่รู้นะ ผมแอบแต่งจนเสร็จทั้งทำนองและเนื้อร้อง วันหนึ่งพอผมเห็นว่าครูสมานว่างๆ อยู่ก็เลยเข้าไปหาแล้วบอกว่า ‘น้าครับ ผมแต่งเพลงขึ้นมาเพลงนึง ช่วยดูให้ผมหน่อย’ท่านก็ดูแล้วก็บอกว่าใช้ได้ จากนั้นผมก็แต่งอีกเพลงหนึ่งชื่อเพลง ‘ดอกเอื้อง’ ท่านก็เลยแนะนำให้ผมไปหาครูสง่าอารัมภีร 

“ตอนนั้นครูสง่าท่านทำงานอยู่แผนกแผ่นเสียงของบริษัท กมลศุโกศล จำกัด ท่านก็ช่วยซื้อเพลงของผมทั้งสองเพลงตอนนั้นได้เพลงละ 1,000 บาท แต่ก็ต้องจ่ายค่านักดนตรีอีก 50 บาท ค่านักร้องอีก 200 บาทด้วย ซึ่งก็ได้คุณชรินทร์ นันทนาคร เป็นนักร้องที่ร้องเพลงแรกที่ผมแต่งในครั้งนั้น ส่วนเพลงดอกเอื้องได้คุณสุเทพ วงศ์กำแหง มาร้องนั่นจึงถือได้ว่าเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่อาชีพนักแต่งเพลงของผม

 “ส่วนเทคนิคผมก็ใช้วิธีครูพักลักจำเอา ครูสมานท่านเก่งดนตรี ทำนอง เรียบเรียงอะไรแบบนั้น ส่วนครูชาลี ครูเกษม ท่านเก่งคำร้อง เวลาครูเหล่านี้ท่านมารวมตัวกัน เราก็อาศัยศึกษาจากการคลุกคลีนี่แหละ 

“หลังจากนั้น 2-3 ปี ก็มีเพลงดังๆ ออกมาเยอะ แต่ที่ดังเปรี้ยงเลย ก็เมื่อผมมาแต่งให้กับ The Hot Pepper Singer ร้อง ชื่อเพลง ‘ยากจะหักใจลืม’ ประมาณปี พ.ศ.2523-2524 หลังจากนั้นก็มีเพลงออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้ขาด เรียกว่าเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้”  

ศิลปะ ดนตรี ชีวิต

นอกจากจะเป็นครูเพลงแล้ว เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวงการภาพยนตร์ที่สำคัญๆ หลายเรื่อง โดยได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านมุ้ยตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “เทพธิดาโรงแรม” ในการทำด้านกราฟฟิก ไตเติล และแต่งเพลงประกอบ เรียกได้ว่าทุกด้านที่เกี่ยวกับศิลปะ ไม่มีแขนงใดไม่เคยผ่านสองมือคู่นี้ของเขามาก่อนเลยก็ว่าได้

“ระหว่างงานศิลปะและงานแต่งเพลง ผมรักงานทั้งสองอย่างพอๆ กันเลย งานเขียนรูปที่จริงมันต้องใช้สมาธิและเวลามาก ตอนแรกเลยไม่ค่อยได้เขียนเท่าไหร่ แต่ก็พอจะมีงานแสดงภาพอยู่บ้าง โดยผมจะร่วมแสดงงานกับประธานมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร ปลายปีนี้ก็จะมีงานแสดงภาพเขียนอีกเช่นกัน ส่วนงานเพลงนั้นมันสามารถจับเอาทุกอย่างรอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจได้ จะแต่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ อย่างเพลงของผมนี่เชื่อไหม ส่วนใหญ่จะแต่งได้ในรถนะเพราะขับรถไป เราก็ฮัมไปเรื่อย นึกขึ้นได้ ก็จอดข้างทาง จดเนื้อก็มี 

“ทุกเพลงที่ผมแต่งขึ้นจะมีการกำหนดเลยว่าเพลงนี้ ท่วงทำนองแบบนี้ เหมาะกับเนื้อเสียงหรือสไตล์ของนักร้องคนไหน จึงไม่มีใครที่จะเป็นนักร้องคู่บุญของผมโดยเฉพาะ และเพลงของผมเก้าสิบเปอร์เซ็นต์มีที่มาจากตัวเอง แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่ผมประสบเองทั้งนั้น เวลาไปไหน พบเจอใครก็หยิบจับมาเป็นแรงบันดาลใจได้หมด 

“อย่างเพลง ‘ก็งามอย่างนี้’ ที่คุณชรินทร์ร้องก็มีที่มาจากผมไปเดินเที่ยว พบเจอหญิงสาวที่ถูกใจก็มาเขียนเพลงชมเขา หรืออย่างเพลงที่เกี่ยวกับความผิดหวังก็มาจากความรู้สึกผมทั้งนั้น งานมันจึงออกมาดี แต่ถ้าเราไปเอาที่เขาเล่ามาเขียน มันก็จะไม่ได้ตรงความรู้สึกว่ามันเจ็บมันปวดอย่างไร แต่ถ้าเป็นความรู้สึกของเราเองมันจะบรรยายออกมาได้ดีกว่าไปฟังจากคนอื่นมา

“เมื่อก่อนเขาก็ไม่ได้เรียกเพลงลูกกรุงอะไรหรอก จริงๆ แล้วเพลงในสมัยก่อนจะไม่มีการแยกประเภทอะไรทั้งนั้น ไม่มีคำเรียกว่าเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือเพลงเพื่อชีวิต เพลงที่ออกมามันก็เลยเหมือนๆ กันไปหมด พอระยะหลังในช่วงปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา ใครชอบเพลงแนวไหนก็มักจะติดตามแนวนั้น เช่นฟัง คุณทูล ทองใจ ก็เพราะชอบเพลงลูกทุ่ง ส่วนลูกกรุงก็จะเป็น สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธ์ 

“จนมาถึงปี พ.ศ.2507 คุณประกอบ ชัยวิพัทธ์ (นักแสดงช่อง 4 บางขุนพรหม) ท่านก็ชอบเพลงเหมือนกัน เลยเสนอให้หัวหน้าฝ่ายรายการอย่างคุณจำนง รังสิกุล ให้จัดรายการเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุงทางทีวี เพราะช่วงนั้นเริ่มได้รับอิทธิพลการฟังเพลงมาจากฝั่งประเทศแถบตะวันตกบ้างแล้ว ก็เลยเริ่มมีการใช้เสียงโห่เหมือนคาวบอย อินเดียนแดงมาใช้ในเพลงบ้านเรา แล้วเราเรียกว่าเป็นเพลงลูกทุ่งเหมือนของบ้านเขา 

“ทีนี้พอมีงานประกวดแผ่นเสียงทองคำที่ผมเองก็เป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ก็เลยต้องมาเริ่มคิดแล้วว่านักร้องคนไหนร้องเพลงแนวไหน เป็นลูกทุ่งหรือลูกกรุง ถ้าเป็นเพลงลูกกรุงก็จะต้องเป็นแนวคร่ำครวญ เพ้อฝัน แอบมอง แอบคิดออกแนวบทกวี มีคำหรือวลีที่สวยงาม แต่เพลงลูกทุ่งจะเป็นแนวสื่อความหมายตรงๆ เช่น ฉันชอบเธอก็บอกเลยว่าชอบ เพราะฉะนั้นเพลงลูกทุ่งจึงเริ่มติดตลาดมากกว่า เพราะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่กับชนบทได้ดีกว่า เพลงลูกกรุงหรือเพลงสุนทราภรณ์ก็จะเป็นแค่เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 

“แล้วพอตอนหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ได้เกิดเพลงเพื่อชีวิต เพื่ออุดมการณ์ขึ้นมา จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งก็จะได้แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่นั่นเอง”

ดนตรีคือความอมตะ

หลายคนมองว่าการเติบโตของสิ่งใหม่ๆ อาจจะทำให้สิ่งเก่าๆ จางหายไป เช่นเดียวกับเสียงเพลงลูกกรุงที่ค่อยๆเลือนหายไปจากสังคมไทย แล้วถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมแห่งความต่างของยุคสมัย ที่แทบไม่มีวันมาบรรจบกันอีกครั้ง 

“เพลงลูกกรุงทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีการสร้างใหม่เท่านั้นเอง ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรมา 30-40 กว่าปีแล้ว เพียงแต่เอาของเก่ามาทำใหม่ เปลี่ยนนักร้อง เปลี่ยนดนตรีเท่านั้น อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ให้การยอมรับหรือสนับสนุนเท่าไหร่ ก็เลยไม่มีตลาดรองรับ ที่สำคัญบุคลากรของวงการเพลงลูกกรุงก็ยังไม่มีใครสืบทอด รุ่นเก่าๆ ก็ล้มหายตายจากกันไปหมด 

“ครูเพลงรุ่นเก่าๆ นั้นมีสิ่งหนึ่งที่สมัยนี้หาได้ยากก็คืออุดมการณ์ ถ้าสิ่งที่ทำมันไม่มีคุณค่า ขาดความสละสลวย ตามแบบฉบับ เขาก็ยอมที่จะไม่ทำ ผมมองว่าเพลงมันไม่ใช่แค่เพลง แต่มันคือกาพย์กลอนด้วย หัวใจของการแต่งเพลงคือความรอบรู้ในเรื่องดนตรี นักแต่งเพลงควรจะรู้เรื่องดนตรี เรื่องตัวโน้ต เพื่อจะได้สามารถฮัมทำนองในการแต่งเนื้อร้องได้ด้วย แต่บางคนก็อาจจะแต่งเนื้อร้องได้เพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ในความคิดผมเมื่อมันคือผลงานของเรา มันก็ควรจะผ่านทุกขั้นตอนกระบวนการจากเรา แล้วมันก็จะเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอย่างชัดเจนด้วย

“ณ ตอนนี้มันก็ยังไม่ถึงกับยุคอวสานของเพลงลูกกรุงหรอก ยังมีรายการเพลงที่ยังนำเสนออยู่บ้าง เพียงแต่ไม่มีการสร้างสรรค์ใหม่ขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่ผมก็อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องปกติของโลกที่เปลี่ยนไป อย่างเพลงลูกทุ่งเขายังอยู่ ภาษาอาจยังเหมือนเดิม แต่ลีลาอะไรก็เปลี่ยนไปมาก คนฟังที่ยังเหลืออยู่ก็เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่แก่เฒ่ากันหมดแล้วรายการทางวิทยุก็ค่อยๆ ห่างหายกันไปตามผู้ฟังด้วยส่วนหนึ่ง 

“ถึงกับมีบางคนบอกว่าการผูกขาดเพลงกับค่าย นักจัดและรายการก็ทำให้เกิดคำนิยาม ‘เพลงละพัน วันละเพลง’ ขึ้นมา จากนั้นการเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อรายการเพลงถูกซื้อจากค่ายเพลง แล้วค่ายเพลงก็เข้าซื้อสถานี พื้นที่ของเราก็เลยค่อยๆ หายไปเรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรคงต้องอยู่ที่ ผู้อ่านตัดสินใจเอง

“แต่เมื่อมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้น ก็พอจะมีเพลงลูกกรุงเล็ดลอดมาให้ได้ฟังบ้างนิดหน่อยเท่านั้น สื่อทางโทรทัศน์เองก็ยิ่งหายไป แต่เมื่อเกิดมีช่องสัญญาณดาวเทียม ช่องรายการเพลงลูกกรุงก็กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

“ผมก็อยากจะฝากไว้เพียงความทรงจำเก่าๆ ที่คนรุ่นผมได้สร้างกันมา ว่าพวกเราชาวเพลงลูกกรุง ครูเพลง หวังว่าจะมีผู้ดำเนินงานด้านต่างๆ หรือผู้จัดรายการทางสถานี ไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์ให้หันมาจัดการประกวดหรือส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเพลงลูกกรุง เสมือนเป็นการกระตุ้นให้เขามองเห็นคุณค่าและความสำคัญ เมื่อเกิดคลื่นลูกใหม่ ก็จะได้มีการสร้างเพลงขึ้นใหม่ เพื่อเกิดการสืบสานกันต่อไป

“ผมเองเชื่อว่าเพลงลูกกรุงนั้นเป็นแบบฉบับที่ดีที่สุดของเพลงบ้านเรา เหมือนกับของเก่าลายคราม ชามเบญจรงค์ ถึงมันจะเก่าแค่ไหน แต่คุณค่าของมันนั้นมหาศาล เพลงลูกกรุงก็เช่นกัน มันจะมีความเป็นอมตะตลอดไป”

ว่ากันว่าเพลงคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุข นอกจากผู้สร้างสรรค์บทเพลงแล้ว ความสุขนั้นยังสามารถเกิดแก่บุคคลอื่นๆ ได้ด้วย พร้อมกันนั้นศิลปะเองก็คือสิ่งจรรโลงใจ จรรโลงชีวิตทำให้คนได้มองเห็นความงามทางด้านจิตใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเกิดการจารึกเพลงนั้นๆ ให้อยู่ยืนยาวนานยิ่งกว่าชีวิตของใครสักคน 

เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตสั้น แต่ศิลปะนั้นยืนยาว” ไม่มีผิดเพี้ยนเลยแม้แต่น้อย

กมล ทัพคัลไลย ครูเพลงแห่งสยาม ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมากมายหลายแขนง