สมดุลแห่งชีวิต สร้างกายใจจิตที่สมบูรณ์ MiX Wellness

สมดุลแห่งชีวิต สร้างกายใจจิตที่สมบูรณ์ MiX Wellness

ปัจจุบันเทรนในเรื่องสุขภาพกำลังมาแรง หลายคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่อง Wellness ที่ไม่ใช่ เพียงแค่สุขภาพดีท่านั้น แต่เป็นสภาวะโดยรวมของการมีสุขภาพกายใจจิต ที่ดี ครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตที่สมดุล MiX Magazine ฉบับที่ 191 จึงนำเสนอเรื่องของ Wellness ให้หลายคนได้รู้จักมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้ริเริ่มนำเอาเรื่องของ Wellness มารวมกับเวทีการประกวดนางงาม ที่ไม่ใช่การประกวดความสวยงามและสุขภาพดีเท่านั้น แต่ Miss Wellness World Thailand 2024 จะเป็นสื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ “เมืองหลวงสุขสภาพโลก” (World Wellness Capital) ในอนาคตอีกด้วย

เราได้ยินชื่อของ Wellness มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเมื่อก่อนการใช้ชีวิตของมนุษย์มุ่งเน้นไปในเรื่องของเศรษฐกิจ และความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของการกินการอยู่รวมถึงสุขภาพมากนัก แต่ปัจจุบันเรื่องของ Wellness ได้เข้ามามีบทบาทในสังคม ครอบคลุมการดูแลสุขภาพทั้งร่างกาย ใจ จิต เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขที่ยาวนาน

สมดุลแห่งชีวิต สร้างกายใจจิตที่สมบูรณ์ MiX Wellness

Wellness คือความสมดุลในหลายมิติของบุคคลโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวเนื่องในเรื่องต่อไปนี้

สุขภาพร่างกาย (Physical) คือการดูแลร่างกายให้แข็งแรง ตั้งแต่เรื่องของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอการบริโภคอาหารที่เหมาะสมการหลีกเลี่ยงสารพิษ เช่น บุหรี่สุรา ฯลฯ และที่สำคัญคือการพักผ่อนให้เพียงพอ

สุขภาพจิต (Mental) การมีสุขภาพดีนั้นร่างกายแข็งแรงอาจไม่เพียงพอ เพราะทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกันสภาวะทางจิตใจที่มีความสุข การจัดการกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาการคิดเชิงบวกตรงนี้เองทำให้เกิดความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ

สุขภาพทางอารมณ์ (Emotional) สุขภาพทางอารมณ์ส่งผลต่อสุขภาพได้โดยตรง เรื่องของอารมณ์นับว่าเป็นทักษะสำคัญของชีวิต เพราะเกี่ยวข้องกับตัวเอง และสังคมภายนอกที่ต้องอยู่รวมกันกับผู้อื่น สุขภาวะทางอารมณ์ครอบคลุมถึงการยอมรับตนเอง การดูแลตนเอง และความสามารถในการรับมือกับความท้าทายในชีวิตที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual) หมายถึงการค้นหาความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิต การพัฒนาตัวเอง การมีความหวังและเป้าหมาย โดยยึดหลักความดีความงามความเชื่อมั่นและศรัทธาความสงบภายใน ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนาก็ได้

สุขภาพทางสังคม (Social) เกี่ยวข้องกับการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี และเครือข่ายทางสังคมรวมถึงการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การโต้ตอบด้วยความเคารพ การทำงานร่วมกัน การเอาใจใส่ ความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนกัน

สุขภาวะในการทำงาน (Occupational) คือความพึงพอใจ และความสำเร็จในการทำงานเกี่ยวข้องกับการมีจุดมุ่งหมายในชีวิตการทำงาน การรักษาสมดุลชีวิตการทำงานที่ดี การมุ่งมั่นเพื่อการเติบโตและการพัฒนาตนเองในอาชีพ

สมดุลแห่งชีวิต สร้างกายใจจิตที่สมบูรณ์ MiX Wellness

สุขสภาพ ยุทธศาสตร์ พัฒนาประเทศ

ในทางทฤษฎี Wellness (สุขภาพ) เป็นเรื่องที่เกิดจากแนวคิดแบบองค์รวมการบูรณาการของมิติต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตมีความเชื่อมโยงกันด้วยการปรับใช้แนวทางเชิงรุกและสมดุลเพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีสุขภาพที่ดีอย่างครบทุกมิติ

ในเรื่องของ Wellness นี้เองได้ไปสอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ท่านสนใจนำมาพัฒนาต่อยอดในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของพัฒนาประเทศ ท่านได้บัญญัติศัพท์ Wellness เป็นภาษาไทย และได้ให้ความหมายว่า “สุขสภาพ” หมายถึง สภาพ (state) ที่มนุษย์มีชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข เป็นสภาพที่เกิดจากการบูรณาการขององค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด ความจดจ่อ จิตวิญญาณ รวมถึง พฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก” 

โดย ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ ได้วิเคราะห์เรื่องของ Wellness “สุขสภาพ” มีการเสนอเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขสภาพเพื่อการสร้างชาติออกมา เราขอนำแนวคิดดังกล่าวมาให้ผู้อ่านได้รับทราบ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1.พัฒนาดัชนีวัดกิจกรรมสุขสภาพเรื่องของสุขภาพ บางส่วน ไม่ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมอย่างจริงจังจึงควรมีการวัดด้วยดัชนีสุขสภาพ (Wellness Index) วิเคราะห์ วิจัยกิจกรรมสุขสภาพในเชิงคณิตศาสตร์และสถิติได้
2.พัฒนาระบบนิเวศสุขสภาพครอบคลุม ครบวงจรตั้งแต่ ทุกขั้นตอน (Stage) ทุกรูปแบบ (Pattern) ทุกมิติ (Dimension) ทุกกิจกรรม (Activity)
3. จัดตั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสุขสภาพระดับโลก แน่นอนว่าการจะเป็นเลิศในด้านนี้จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นต้นแบบการค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้ของตัวเอง
4.พัฒนามาตรฐานกิจกรรมสุขสภาพปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือ ไม่สามารถต่อยอดให้ไปถึงระดับโลกเนื่องจากยังขาดความเป็นวิทยาศาสตร์ การวิจัยพัฒนา ต่อยอดในเชิงพาณิชย์จึงต้องเน้นการพัฒนาเรื่องวิทยาศาสตร์ในกิจกรรมเพื่อสุขภาพให้มากขึ้นด้วย
5. บูรณาการสุขสภาพกับจุดแกร่งด้านอื่นตั้งแต่เรื่องอาหารเชิงสุขภาพและผู้สูงอายุ ท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ
6. สร้างอุปสงค์ทางสุขสภาพซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมาจากชาวต่างชาติ ประเทศไทยเองควรหันมาสร้างอุปสงค์ในประเทศของตัวเองจะสร้างความมั่นคงให้ตัวเองได้
7.พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขสภาพตามแนวคิด‘สุขสภาพในทุกสิ่ง’ (Wellness of Things) เรียกว่าครบองค์รวมในทุกมิติในเรื่องของ Wellness นั่นเอง

โดยแนวคิดของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์นี้เองได้แพร่กระจายออกไปในวงวิชาการสื่อมวลชน และในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง นับได้ว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถเป็นการนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยในอนาคตได้

สมดุลแห่งชีวิต สร้างกายใจจิตที่สมบูรณ์ MiX Wellness

แผนพัฒนาความสุขสมบูรณ์

ความจริงแล้วในเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์บนโลกนั้น สหประชาชาติมีการกำหนดเป้าหมาย ที่ 3 ใน 17 เป้าหมายในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 คือสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฉบับที่ 13 (2566 - 2570) ซึ่งประกาศใช้วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ คือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนา คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

โดยทั้งสหประชาชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย มีความสอดคล้องกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติส่วนที่ 2 ในบริบทการพัฒนาประเทศ ได้พูดถึงเรื่องของ แนวโน้มมการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Global Megatrends) มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สภาวะสูงวัย การดูแลรักษาสุขภาพและการรักษาพยาบาล ได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาในเรื่อง พฤติกรรมในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลเอาไว้เรียบแล้ว

กลับมาดูในส่วนภาคปฏิบัติจริงคือกระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็มีแผนการพัฒนาของตัวเองเรียกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (Prevention & Promotion Excellence) ประกอบด้วย 4 แผนงาน 12 โครงการ 29 ตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริการเป็นเลิศ (Service Excellence) ประกอบด้วย 6 แผนงาน 23 โครงการ 41 ตัวชี้วัดตาม ยุทธศาสตร์ที่ 3 บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence) ประกอบด้วย 1 แผนงาน 4 โครงการ 8 ตัวชี้วัดตาม ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล (Governance Excellence) ประกอบด้วย 5 แผนงาน 9 โครงการ 18 ตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร

เราจะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Wellness มีความพยายามทำให้มนุษย์มีสุขภาพดีทุกมิติ ตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับประเทศ มีแผนงานมาโดยตลอด แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ต้องมีการลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง โดยอาจเริ่มที่ตัวเราเองพัฒนานาร่างกาย ใจ จิต ให้มีความสุขสมบูรณ์ตามวิถีแห่งชีวิตที่ควรจะเป็นนั่นเอง

สมดุลแห่งชีวิต สร้างกายใจจิตที่สมบูรณ์ MiX Wellness

การใช้ชีวิตของมนุษย์มุ่งเน้นไปในเรื่องของเศรษฐกิจ และความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ