Legend  : ขุนพันธรักษ์ราชเดช

Legend : ขุนพันธรักษ์ราชเดช

จากกระแสของภาพยนตร์ไตรภาค “ขุนพันธ์3” ทำให้ผมอดที่จะเขียนเรื่องราวของท่านไม่ได้จริงๆครับ แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่องราวของท่าน “ขุนพันธ์” นั้น ผมขอกล่าวชื่นชมเรื่องราวของภาพยนตร์จากที่ได้ไปดูมาแล้วในโรงทั้ง 3 ภาค ผมมีความรู้สึกว่าภาค 3 นี้นอกเหนือจากความแฟนตาซีของความขมังเวทย์ ภาคดังกล่าวนี้ยังเป็นภาคที่กล่าวถึงแง่มุมความคิดและบทสรุปของขุนพันธ์ได้ดีที่สุดอีกภาคหนึ่ง เราได้เห็นมุมมองด้านอื่นๆทั้งในเรื่องของสังคม สถานการณ์บ้านเมืองที่สอดคล้องในปัจจุบัน มุมหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยังมีตำรวจดีและเป็นต้นแบบของตำรวจในยุคต่อๆมา รวมถึงฉากเซอร์ไพรซ์ที่ปรากฏให้คนได้เฮลั่นโรง ของคุณ ก้องเกียรติ โขมศิริ ที่ทำให้เรื่องราวของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” จบลงได้อย่างสวยงาม

พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เดิมชื่อบุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446เป็นคนท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช รับราชการเป็นข้าราชการตำรวจจากสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยห้วยจระเข้ (โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐมสำเร็จการศึกษาในปี 2472 บรรจุรับราชการที่แรก ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2473 ก่อนจะย้ายมาประจำที่จังหวัดพัทลุงในปีเดียวกัน

ซึ่งที่จังหวัดพัทลุงแห่งนี้เองเป็นที่ประเดิมชื่อเสียงของ  ร.ต.ต. บุตร พันรักษ์ ด้วยการปราบผู้ร้ายคนสำคัญของท้องที่ เสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรังซึ่งเสือสังมีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมากแถมยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูหนุนหลังเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ขุนพันธ์ก็สามารถปราบปรามลงได้ตั้งแต่ปีแรกที่ย้ายมารับราชการ นอกจากนี้ยังมีการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญในพื้นที่อีกหลายสิบคน จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธรักษ์ราชเดช” ที่เรารู้จักกันมาจนถึงบัดนี้

ข้อมูลที่สำคัญของท่าน “ขุนพันธ์” ก็คือ หลังจากท่านขุนเรียนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยห้วยจระเข้แล้ว ก็ได้ไปเรียนต่อที่สำนักเขาอ้อ ซึ่งสอนวิชาอาคมต่างๆ ตั้งแต่การทำพิธีรับขวัญเด็กที่เพิ่งเกิดลืมตาดูโลก ไปจนถึงพิธีกรรมที่กระทำกับคนตาย อีกทั้งสอนการดูดวงดูฤกษ์ยาม ซึ่งสิ่งที่ได้ติดตัวและสร้างชื่อให้กับขุนพันธ์มากที่สุดคือวิชากำบังตัว, วิชาอยู่ยงคงกระพัน และ วิชาดูฤกษ์ยาม

 

มาถึงตรงนี้ต้องขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า ในภาพยนตร์ “ขุนพันธ์” ทั้งสามภาคนั้น จะมีเรื่องที่โดนล้ออยู่บ่อยๆก็คือ เหล่าลูกน้องตำรวจของขุนพันธ์ส่วนใหญ่มักจะตายหมดไม่รอดสักคน แต่แท้ที่จริงแล้วกลับตรงข้ามครับ หากมีเหตุที่จะต้องปะทะกับโจร หรือรบทัพจับศึกหนัก ขุนพันธ์ ท่านจะดูดวงให้กับลูกน้องก่อนทุกครั้ง หากใครดวงตก ก็จะไม่ให้ติดสอยห้อยตามไป ซึ่งงานสำคัญบางครั้งที่ต้องใช้คนเยอะกลับมีลูกน้องติดตามเพียงแค่ไม่กี่นาย แต่งานกลับสำเร็จได้อย่างอัศจรรย์

ผลงานสร้างชื่อของขุนพันธ์ ที่มีชื่อเสียงและสร้างชื่อให้กับท่านอย่างมากก็คือ การปราบผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส ในปี พ.ศ. 2481 หัวหน้าโจรชื่อ "อะแวสะดอ ตาและ"ซึ่งเป็นผู้ร้ายแบ่งแยกดินแดน และองค์กรของเขายังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็คือต้นแบบของจอมโจร “อัล ฮาวียาลู” ใน “ขุนพันธ์” ภาคแรก นำแสดงโดยพี่ น้อย วงพรู

อะแวสะดอ เป็นโจรที่สำคัญคนหนึ่งและมีอิทธิพลมาก ซึ่งอิทธิพลของเขาแผ่ขยายไปทั่วทั้งเทือกเขาบูโด อีกทั้ง ตั้งตัวเก็บภาษีเสียเอง ใครไม่ให้ก็จะใช้กริชใส่ไปในหลอดลมค่อยๆ หมุนลงไปดึงไส้ขึ้นมาเพื่อเป็นการข่มขวัญคนที่เหลือไม่ให้กระด้างกระเดื่อง สิ่งสำคัญก็คือ แม้ อะแวสะดอ จะเป็นมุสลิม แต่ก็มีคาถาอาคม คงกระพัน ไม่ต่างกันจึงเป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่วทุกหนแห่งในพื้นที่ภาคใต้ แต่สุดท้ายขุนพันธ์ก็สามารถทำการจับกุมจอมโจร “อะแวสะดอ ตาและ” ได้สำเร็จ จากการให้ความร่วมมือของหลายๆคนในพื้นที่ในการแจ้งเบาะแส

จากเหตุการณ์ปราบปรามจอมโจร อะแวสะดอ ตาและ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับขุนพันธ์เป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า "รายอกะจิ"หรือแปลว่า "อัศวินพริกขี้หนู"และนำไปสู่การได้รับโอกาสให้มาดำรงค์ตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร (ยศในขณะนั้น ร้อยตำรวจเอก) และได้ปราบปรามผู้ร้ายสำคัญในเทองพิจิตรได้นั่นคือ “เสือโน้ม” ซึ่งหลังจากการปราบปรามเสือโน้มแล้ว รูปลักษณ์ของ ขุนพันธ์ ได้เปลี่ยนไป จากสะพายปืนยาวกลับกลายมาเป็นสะพายดาบที่ด้านหลังแทน ซึ่งดาบเล่มนี้เป็นอาวุธคู่ใจของขุนพันธ์ ที่ปรากฏในภาพถ่ายประวัติศาสตร์คือท่านนั่งพร้อมกับดาบที่มีผ้าสีแดงพันอยู่รอบๆ โดยดาบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ดาบแดง’

ซึ่งมีตำนานร่ำลือกันว่า คือดาบเล่มเดียวกันกับดาบของพระยาพิชัยดาบหัก แม้ไม่เป็นที่แน่ชัดในการพิสูจน์ว่าเป็นของพระยาพิชัยจริงแท้หรือไม่ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมานั้นเผยว่า ขุนพันธ์ ได้รับดาบเล่มนี้มาจาก หลวงกล้ากลางณรงค์ สกุลเดิม “วิชัยขัทคะ” ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกพระเจ้าตากสินซึ่งขุนพันธ์มีศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมของหลวงกล้าณรงค์ จากการที่ท่านได้ปราบเสือโน้มที่จังหวัดพิจิตรทำให้คุณหลวงได้มอบดาบประจำตระกูลเล่มนี้ให้กับ ขุนพันธ์ ต่อมาขุนพันธ์ได้นำดาบที่ได้มานี้ใส่ในถุงผ้าสีแดงและยึดถือเป็นเครื่องรางประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง จนคนเรียกดาบเล่มนี้ว่า ดาบแดง

อีกนัยหนึ่งของคำว่า “ดาบแดง” ที่กล่าวขวัญถึงคือ ตามคำบอกเล่าของ หลวงพ่อเสือดำ ในวัยชราก็คือ ขุนพันธ์ได้ใช้ดาบตัดคอ พวกโจรเสือร้ายหลังจากวิสามัญ เพื่อเป็นการสะกดวิญญาณ และข่มขวัญเสือร้ายคนอื่นๆให้มอบตัวต่อทางการ ดาบที่เปื้อนเลือดเป็นประจำจึงได้ชื่อว่า “ดาบแดง” แต่นั่นก็เป็นเพียงคำบอกเล่าที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ใดๆ แต่ที่พิสูจน์แน่ชัดแล้วก็คือ หลวงพ่อเสือดำ วัดศรีนวลธรรมวิมล เป็นคนละคนกับเสือดำ แห่ง 4 เสือสุพรรณบุรี

ขุนพันธ์นั้นมีชื่อเสียงในการปราบปรามโจรผู้ร้ายภาคกลางเป็นอย่างมาก ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือหวัด เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้นซึ่งในช่วงเวลานี้วาทะกรรมอมตะก็ได้บังเกิดขึ้นกับคำกล่าวที่ว่า “หากสัญญาว่าจะเลิกเป็นโจร แล้วไปบวชซะ จะจับเป็นพวกเอ็ง” ก็มีเสือหลายรายที่เลิกเป็นโจรไปบวชตามคำสัญญาให้ไว้กับขุนพันธ์ บางส่วนที่คิดสู้ก็ล้วนไม่ตายดี พวกที่คิดสู้บางพวกมีวิชาฟันแทงไม่เข้าก็มักจะตายทรมานกว่าเก่า โดนไม้หลาวแหลมแทงรูทวารทะลุออกปาก มีเสือฝ้ายที่กลับตัวมาช่วยทางการปราบปรามโจรผู้ร้ายกลุ่มอื่นเพราะเกรงขุนพันธ์  และเข้ามอบตัวในที่สุด

ชีวิตของขุนพันธ์ได้กลับไปอยู่ภาคใต้บ้านเกิดอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2491 เหตุด้วยทางพัทลุงมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงท่านขุนพันธ์ฯ นายตำรวจมือปราบ เพราะเคยประจักษ์ฝีมือมาแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอตัวขุนพันธ์ฯ กลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย กรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ขุนพันธ์ฯ จึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่งและรับราชการในพื้นที่ภาคใต้เรื่อยมา เจริญยศตำแหน่งมาเรื่อยตามลำดับ จนถึงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 (เทียบเท่าผู้บัญชาการภาคหรือภูธรในปัจจุบัน)และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลตำรวจตรี หรือ พล.ต.ต. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2504กระทั่งเกษียณอายุใน พ.ศ. 2507และสิ้นอายุขัยอย่างสงบที่บ้านเกิด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 สิริรวมอายุ 103 ปี

อีกหนึ่งเรื่องราวที่ผมเล่าตกค้างไป นั่นคือ มีโจรหนึ่งคนและเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่สามารถหนีการจับกุมจากขุนพันธ์ได้ โดยเสือคนดังกล่าวมีขื่อว่า “เสือกลับ คำทอง” กล่าวกันว่าคนที่จบวิชาอาคมมาจากสำนักเขาอ้อ จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ถ้าไม่เป็นโจร ก็เป็นตำรวจ ซึ่ง “เสือกลับ คำทอง”เป็นอย่างแรก โดยนับตามศักดิ์แล้ว ขุนพันธ์ถือเป็นรุ่นน้องเนื่องจากเสือกลับเข้าเรียนก่อน โดยเสือกลับ เรียนกับอาจารย์เอียด ส่วนขุนพันธรักษ์ราชเดช เรียนกับอาจารย์ทอง โดยมีฤาษีรูจี เป็นต้นตำรับของวิชา

ตามบันทึกเหตุการณ์กล่าวว่า ขุนพันธ์ ได้ไล่จับเสือกลับหลายครั้งสมัยที่ลงมาประจำการเป็นร้อยตำรวจตรีช่วงแรกๆ จะจับได้ก็หลายครั้ง จวนเจียนจะได้ก็หลายหน มีเหตุต่างๆให้ขัดขวางการทำงานอย่างไม่มีสาเหตุก็บ่อยครั้ง ห้ามไม่ให้ลูกน้องลั่นไกยิงเสือกลับ เพื่อจะได้ย่องไปจับ ลูกน้องก็ลั่นไก เสือกลับรู้ตัวก็รีบหนีหายไปแล้ว ซึ่งนับว่า เสือกลับ ถือเป็นโจรคนเดียวที่เล็ดลอดมือของขุนพันธรักษ์ราชเดช ยอดตำรวจมือปราบจอมขมังเวทหากจะกล่าวว่ามาจากสำนักเดียวกัน ทันกันก็ว่าได้ไม่ผิดเพี้ยนนัก

ขอขอบคุณภาพที่มาจาก :  the People , tnews , tumsrivichai และ หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Legend : ขุนพันธรักษ์ราชเดช