ภาษาจีน

ภาษาจีน

เวลาพูดถึงภาษาจีนกลาง โดยทั่วไปแล้วคนจะคิดถึงสำเนียงปักกิ่งมาตรฐาน แต่อันที่จริงแล้ว ภาษาจีนกลางเป็นเพียงภาษาที่อาศัย “เสียงปักกิ่ง”เป็นพื้นฐานการออกเสียง มีรายละเอียดแตกต่างอย่างมากกับภาษาจีนปักกิ่งซึ่งเรียกว่า “เป่ยจิงฮว่า” 北京话

ภาษาจีนที่ใช้ในสังคมจีนนั้นกว่าจะกลายมาเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันได้ทั่วไปในสังคม ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนมาอย่างยาวนาน แต่ละยุคสมัยได้เคยมี “ภาษาทั่วไป หรือ ภาษามวลชน” ที่แตกต่างกัน

ยุคราชวงศ์ถาง 唐朝 (ค.ศ.618-907) ใช้ภาษากวนจง 关中话
ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ 北宋 (ค.ศ.960-1279) ใช้ภาษาเหอหนาน 河南话
ยุคราชวงศ์หยวน 元朝 (ค.ศ.1206-1368 ) ใช้ภาษามองโกเลีย 内蒙话 
ยุคราชวงศ์หมิง 明朝 (ค.ศ.1268-1644 ) เคยใช้ภาษาราชการเฟิ่งหยาง 凤阳官话 และภาษาหนานจิง 南京话    

ภาษาจีนที่ถูกนำมาใช้เป็น ภาษาราชการ หรือ ภาษาทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่
แล้วคือภาษาที่ใช้เป็นหลักในเมืองที่ตั้งเมืองหลวง เมื่อภาษาของเมืองนั้นๆ 
ได้กลายเป็นภาษาราชการไปแล้วก็ค่อยๆ พัฒนากลายเป็น “ภาษาทั่วไป”  คำจีน
ใช้คำว่า “ผู่ทงฮว่า” 普通话 มีความหมายว่า “ภาษาจีนที่ใช้สื่ิอสารทั่วไปในวงกว้าง”

普通 ผู่ทง คือ ทั่วๆ ไป, ธรรมดาๆ  / 话 ฮว่า คือ ภาษา หรือ คำพูด รวมคำแล้ว ผู่ทงฮว่า 普通话 จึงหมายถึงภาษาทั่วไป หรือ ภาษามวลชน  การแปลคำผู่ทงฮว่า 普通话 ว่า “ภาษาราชการ” จึงเป็นการแปลแบบทำความเข้าใจแบบเทียบเคียง มิได้แปลตามเจตนาสื่อสารของถ้อยคำเดิมในภาษาจีน 

ภาษาผู่ทงฮว่ายุคปัจจุบัน 现代普通话 เริ่มในปี 1909 รัฐบาลสมัยปลายราชวงศ์ชิง 清朝末年 ได้ตั้งคณะกรรมการชำระเรียบเรียงภาษากว๋อหวี่ (ภาษาแห่งชาติ) 国语编审委员会 ขึ้น โดยถือเอาภาษาราชการของปักกิ่งในเวลานั้นเป็นภาษาแห่งชาติ (กว๋อหวี่) “国语” โดยผู้เสนอให้ใช้คำว่า “ภาษาแห่งชาติ (กว๋อหวี่) “国语” คือ อู๋หญู่หลุน吴汝纶

ภาษาราชการในเวลานั้นคือ ภาษาแมนจูมองโกลที่ชนชั้นอภิชนในราชสำนักชิงใช้พูดจากัน ซึ่งนั่นหมายความว่าในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ภาษาฮั่นบริสุทธิ์หากแต่คือภาษาฮั่นที่เหล่าอภิชนมองโกลใช้พูดกันเมื่อเข้ายึดครองปักกิ่งได้แล้ว 
มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้คนแถบถิ่นเฮยหลงเจียง (ฮาบิ้น) สามารถพูดภาษาจีนกลาง (ภาษาจีนแบบทางการ) ได้ชัดมากทั้งๆ ที่พวกเขามิได้อาศัยอยู่ในปักกิ่งเลย ทั้งนี้เพราะพื้นที่แถบนั้น รวมทั้งบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นถิ่นฐานที่อยู่เดิมของคนเชื้อสายมองโกล ดังนั้นเมื่อพวกเขาพูดภาษาจีนกลางซึ่งเป็นภาษาจีนที่เจือด้วยสำเนียงวิธีออกเสียงที่คนมองโกลคุ้นเคย จึงทำให้สำเนียงจีนที่พูดออกมาใกล้กับภาษาจีนกลางที่ปักกิ่งมาก 

ภาษาจีน
ภาษาจีน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1913 กระทรวงศึกษาธิการของจีนในขณะนั้นเรียกประชุมวิชาการ “การออกเสียงภาษาจีนมาตรฐาน” 读音统一大会 อ้างอิงจากรายงานเรื่อง “อินอวิ้นฉ่านเวย” (อรรถาธิบายสังเขปเกี่ยวกับเสียง) 音韵阐微 ของหลี่กวัง 李光 ที่ได้ศึกษาคำภาษาจีนที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน ได้มีการกำหนดเสียงอ่านมาตรฐานคำจีนจำนวน 6,500 คำ นี่คือ เสียงมาตรฐานภาษาแห่งชาติแบบเก่า 老国音 ต่อมาในเดือนกันยายน 1919 พจนานุกรมภาษาแห่งชาติฉบับเสียงมาตรฐาน 国音字典 ก็ได้ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ 

ครั้นถึงปี 1920 ก็เกิดกรณี “วิวาทะ” ในประเด็นเสียงมาตรฐานของภาษาจีนจากฝ่ายที่สนับสนุนให้ยึดถือเสียงมาตรฐานแห่งชาติ (แบบเก่า) กับฝ่ายที่สนับสนุนให้ใช้สำเนียงมาตรฐานของภาษาปักกิ่ง (เป่ยจิงฮว่า) จางซื่ออี 张士一 เขียนบทความเสนอความเห็นว่าต้องมีการแก้ไขปรับปรุงวิธีจดเสียงอ่านและการอ่านเสียงมาตรฐานภาษาจีนอย่างจริงจัง โดยให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดความหมายที่ชัดเจนของภาษาจีนขึ้น เพื่อจะได้รับเอามาตรฐานวิธีการพูดออกเสียงของชาวปักกิ่งเป็นมาตรฐานแห่งชาติแต่น้อย แนวความคิดนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมวงกว้าง 

ปี 1932 กระทรวงศึกษาธิการของจีนประกาศใช้ “กลุ่มคำศัพท์ที่ใช้บ่อย” 国音常用字汇 เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของการอ่านออกเสียงภาษาจีนอย่างเป็นทางการขึ้นใหม่ ถือเป็น “เสียงอ่านมาตรฐานแห่งชาติแบบใหม่” 新国音 หลังจากนั้นรัฐบาลกว๋อหมินตั่งหนานจิง 南京国民党政府 อาศัยการให้การศึกษาในระบบโรงเรียน, ภาพยนตร์, วิทยุกระจายเสียง ในการเคลื่อนไหวสนับสนุนเสียงมาตรฐานจีนกลางจนได้ผลอย่างยิ่ง

ปี 1937 เกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น สังคมจีนอยู่ในภาวะระส่ำระสาย การรณรงค์เรื่องเสียงมาตรฐานแห่งชาติของภาษาจีนเกิดการชะงักงัน จากนั้นจีนก็เข้าสู่ยุคสงครามภายในระหว่างกว๋อหมินตั่งกับคอมมิวนิสต์ จนจีนไคเชคและกว๋อหมินตั่งแตกพ่ายไปไต้หวัน และเหมาเจ๋อตงกับคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่

ภายหลังการสถาปนาอำนาจรัฐสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนในปี 1949 แล้ว ในการประชุมวิชาการเรื่องการปฏิรูปตัวอักษรจีน 全国文字改革会议 ปี 1955 จาง ซี ยว่อ 张奚若 ได้เสนอในรายงานของเขาว่า เพื่อแสดงให้
เห็นชัดว่าเราเป็นครอบครัวใหญ่ที่ประกอบด้วยชนหลากหลายเชื้อชาติ ชนเผ่า และแสดงให้เห็นว่าเรามีความเสมอภาคกันทางภาษาในแต่ละชนเผ่า ดังนั้นหลังจากการศึกษาวิจัยในระดับลึกซึ้ง เราจึงกำหนดว่าจะไม่ใช้คำว่า “ภาษาแห่งชาติ” 
(กว๋อหวี่) 国语 ถ้าหากเราใช้คำว่า “ภาษาแห่งชาติ” เป็นเรื่องน่ากังวลว่าจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ว่ามีเจตนาจะให้ภาษาฮั่น (ฮั่นอวี่) 汉语 อยู่เหนือภาษาของชนชาติอื่นๆ ภายในประเทศ 

หลังจากการโต้แย้งอภิปรายได้ข้อสรุปว่าให้ใช้คำว่า “ผู่ทงฮว่า” 普通话 หรือ “ภาษาทั่วไป” หรือ “ภาษามวลชน” ในการเรียกภาษาพูดของประเทศจีน 

ผู่ทงฮว่า