อมก๋อยและพืชพรรณ

อมก๋อยและพืชพรรณ

อาจด้วยมิตรภาพนั้น เป็นเรื่องหอมหวานเสียมากกว่า

 

ที่บ้านกะเหรี่ยงสูงลึกขึ้นไปจากที่ราบของอำเภออมก๋อย ป่าเขายังคงยิ่งใหญ่กว่าความคิดความเชื่อใดๆ จากเบื้องล่าง ห้วยน้ำไหลริน เด็กน้อยเก็บผลกาแฟสีแดงสุก ยื่นให้ผมลองปลิ้นชิมความหวานของเนื้อใน

 

หากใครว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มเสริมสร้างแรงบันดาลใจ หลายวันที่ขึ้นมาอยู่กลางสายลมหนาว ฟ้าใสสด และอากาศกดหนักบนอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ คนที่นี่ต่างก็ทำให้ผมรู้ว่าการก้าวไปข้างหน้าของชีวิตนั้นต้องการแรงบันดาลใจเป็นอย่างยิ่ง

 

อาจไม่ได้มาจากที่ไกลแสนไกล บางคราวเพียงแค่ในแววตาอุ่นของผู้เฒ่าที่กำลังจะจากไป และรอยยิ้มของเด็กน้อยรุ่นใหม่ๆ ที่ลืมตาตื่น ซึ่งต่างก็หลอมรวมอยู่บนผืนดินอันเป็นบ้าน และไม่เคยคิดจะหันหลังออกมาสักครั้ง

 

ผมผ่านความสูงและระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตรขึ้นมาสู่อำเภออมก๋อย เมื่อแดดเย็นเปลี่ยนเมืองไกลแห่งนี้ให้อุ่นตา นาข้าวของพวกเขาอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว มันงดงามราวภาพเขียนอิมเพรสชันนิสม์ของโมเนต์ ไล่โทนสีเหลืองทองขึ้นไปเป็นขั้นบันได และมีทิวเขาโอบรับอยู่ปลายตา น้ำแม่แจ่มยังคงหลากไหลแม้จะผ่านฤดูน้ำมากไปเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา

 

ฤดูนี้ข้าวของคนอมก๋อยกำลังเต็มรวง ไม่ว่าใครต่อใครก็ใช่จ่ายเวลากลางวันไปด้วยแรงงาน โดยเฉพาะพี่น้องกะเหรี่ยง พวกเขาอยู่หุบนาเบื้องล่างมาตั้งแต่รุ่งเช้า และเป็นเช่นนี้มาทุกเมื่อเชื่อวัน

 

เสียงตึ้กตั้กดังชัดขึ้นมาจากนาของพวกเขา และเมื่อผมลงไปหาก็พบว่าข้าวเปลือกที่ก่ายกองอยู่ในนาล้วนผ่านการ “ตีข้าว” มาทั้งวี่วัน มันอาจเพียงพอกับครอบครัวหนึ่งไปอีกหลายเดือน เมื่อพ้นช่วงทำนา “ข้าวของเรามีไว้กิน ไม่ได้ขาย” หนุ่มกะเหรี่ยงสะกอร์พูดถึงข้าวเจ้าของพวกเขาว่าไม่ใช่ข้าวไร่เหมือนพวกที่อาศัยตัวเองอยู่ข้างบนภู

 

อากาศเริ่มกดหนัก ชื้นเย็น แสงสุดท้ายในยามเย็นเหมือนจะหลอมให้นาขั้นบันไดอันไพศาลในที่ราบกลางหุบเขาจมไปกับความมืด และเดือนดาวกำลังมาเยือน

ผ่านค่ำคืนมาจนรุ่งเช้า ผมพบตัวเองอยู่ในไอหมอกและหุบเขาอีกแห่งของอมก๋อย ที่ความสูงกว่า 1,300 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ไกลขึ้นมาจากตัวอำเภอเกือบ 10 กิโลเมตร

 

“เรามาส่งเสริมให้พวกเขารู้ว่า พ้นเรื่องฝิ่นในอดีต ยังมีพืชพรรณที่เหมาะกับบ้านของเขา” สุธาธาร ขัดทอง ผ่านพ้นชีวิตครูดอยมากว่า 10 ปี วันนี้เธออยู่ในไร่กาแฟของบริษัท วีพีพี โปรเกรสซีฟ จำกัด ตำแหน่งผู้จัดการของเธอไม่ใช่เรื่องของการอยู่แต่ในออฟฟิศ หากหมายถึงการบากบั่นขึ้นไปตามบ้านบนภูเขาของคนอมก๋อย ร่วมกับเหมย-สุวรรณ ดีแฮ หนุ่มกะเหรี่ยงคนพื้นที่ และเฟิร์ส-พงศ์เทวินทร์ ศรีปินตา ชายจากลำพูน ทั้ง 3 คนรู้ดีว่างานของพวกเขาไม่ง่าย กว่าจะทำให้คนที่นี่ยอมรับให้เมล็ดพันธุ์ชนิดหนึ่งหยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินอมก๋อย

 

“กาแฟเหมาะกับคนอมก๋อย ทั้งเรื่องสภาพอากาศ ความสูง และปริมาณน้ำฝน” เช้าที่มีอาราบิกาสายพันธุ์ “ดี” มาเป็นอเมริกาโนร้อนๆ เราเฝ้ามองไอหมอกไหลผ่านไร่กาแฟในหุบอย่างเพลินตา

 

เมล็ดพันธุ์ของเครื่องดื่มอันแสนละเอียดอ่อนชนิดนี้เดินทางไกลมาพร้อมกับประวัติศาสตร์มนุษย์ จากถิ่นกำเนิดบนที่ราบสูงอบิสซีเนีย หรือเอธิโอเปีย มันเดินทางข้ามทะเลแดงสู่ดินแดนตะวันออกกลาง และแพร่กระจายออกสู่ยุโรป อเมริกาใต้ ภายใต้เงื่อนไขของระบบการล่าอาณานิคม ตลอดจนการติดต่อเชื่อมโยงกันด้วยการค้าทางทะเล

 

ตำนานเกี่ยวกับการ “เดินทาง” ออกสู่ทั่วโลกของกาแฟดูจะชัดเจนที่สุดในเรื่องของ “คนเลี้ยงแพะ” ของตะวันออกกลาง จากที่เด็กหนุ่มชื่อ “กาลดี” ได้เห็นฝูงแพะที่โลดเต้นอย่างผิดปรกติ ครั้นเขาตามไปบนภูเขาจึงรู้ว่า แพะกินผลสุกของกาแฟเข้าไป เมื่อลองกินดูบ้างก็รู้สึกสดชื่น จากนั้นกาแฟก็แพร่หลายอยู่ในโลกมุสลิมที่เยเมน พัฒนาสู่การ “เข้าถึง” การนำเมล็ดมาคั่วและต้มกินและเมื่อโลกฟากตะวันตกข้ามผ่านเข้ามา กาแฟอาราบิกาถูกนำออกไปปลูกในหลายพื้นที่ เกิดเป็นหลายสายพันธุ์ เช่น คาร์ติมอร์เบอร์บอล บลูเมานท์เทน คาทุยอิ เอสแอล 28 ฯลฯ ซึ่งโลกต่างก็ได้เรียนรู้ว่าพัฒนาการของกาแฟนั้นแตกย่อยออกไปอย่างน่าทึ่ง

 

“ตำนานเกี่ยวกับกาแฟมีอยู่แทบทุกท้องที่ครับ ทิปิกานั่นเป็นสายพันธุ์แรกๆ ที่กาแฟออกมาสู่โลกกว้าง” ระหว่างเดินตามอาจารย์อาภรณ์ ธรรมเขตลงไปดูกาแฟในไร่ เขาว่าไว้คร่าวๆ เช่นนี้ ซึ่งก็ทำให้ผมเองทึ่งในความ “หลากหลาย” และ “เปราะบาง” ของกาแฟ

 

“คนปลูก คนศึกษากาแฟ ต้องยิ่งปลูกยิ่งโง่ครับ ลองผิดลองถูกมาถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่รู้อีกเยอะ” หลายสิบปีชีวิตราชการของกรมวิชาการเกษตร เขาบากบั่นพา “กล้าพันธุ์” หลากหลายไปเพาะไว้ตามแดนดอยภาคเหนือ ส่งต่อขายผลให้กับพี่น้องชาวเขาข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาดูงานถึง “ถิ่น” ของกาแฟ เพื่อที่จะพบว่าชีวิตหลังวัยเกษียณก็ยังแยกออกจากพืชชนิดนี้ไม่ออก

 

“เห็นใครปลูกได้ผมก็ดีใจ อยากเอาพันธุ์ดีๆ มาไว้ให้เขา อย่างที่อมก๋อยนี่น่าดีใจมาก” เราใช้เวลายามเช้าด้วยกันในไร่อีกนาน ไร่กาแฟกว้างใหญ่แห่งนี้ยังฉ่ำชื้นด้วยไอเย็น ถนนดินแดงข้างนอก เสียงกระดึงจากขบวนวัวดังกรุ๋งกริ๋งๆ พร้อมกับชาวบ้านในชุดประจำเผ่าสีแดงขุ่นเดินผ่านไปสู่การงานตามไร่นา

 

“กว่าพวกเขาจะยอมรับกับกาแฟก็นานอยู่ค่ะ อย่างว่าแต่เดิมมันไม่ใช่แค่เรื่องปลูก แต่พวกเขาต้องการรู้ว่ามันขายได้ไหม” นาทีต่อมาผมคุ้นจะเรียกสุธาธารว่าพี่หล้ามากกว่า

 

เวลาอันยาวนานของพี่น้องชาวไทยภูเขาบนอมก๋อย แน่นอนว่าต้องผ่านมาทั้งการล้มลุกคลุกคลานและอุปสรรคนานัปการ ผืนดินถูกพลิกฟื้นครั้งแล้วครั้งเล่า จากไร่ฝิ่นสู่ไร่กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผลไม้เมืองหนาวนานา ซึ่งรวมไปถึงระยะแรกของกาแฟ ซึ่งต่างต้องเผชิญปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพและการขนส่งจากดงดอยอันมากอยู่ด้วยดินโคลน

 

“มีแต่ส่งเสริมให้ปลูก แต่ขายไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์” พี่หล้าเล่าเช่นนี้ไร่กาแฟที่เธอทำงานจึงมาถึงพร้อมกับคำว่า “โตไปด้วยกัน”พี่น้องชาวเขาทั้งที่ราบรวมไปถึงแดนดอยรอบด้าน เมื่อเลือกให้กาแฟได้แทงรากลงในดินอันอุดม นั่นหมายถึงการมีที่รับซื้อประกันราคา ตลอดจนเข้ามาส่งเสริมดูแลในเรื่องคุณภาพการปลูก

 

เราออกจากไร่ บ่ายหน้ารถโฟร์วีลคันแกร่งขึ้นไปตามทางดิน มันโยนตัวอย่างกระด้าง หากเป็นฤดูฝน ไม่ยากที่จะจินตนการถึงความ “ห่างไกล” ที่เพิ่มขึ้นมา

 

ทางบีบแคบ บางช่วงเป็นหุบเหวลึก ขณะที่บางช่วงก็เปิดให้เห็นนาข้าวในหุบเขาของพี่น้องกะเหรี่ยง สายลมสดสะอาดพัดผ่านไร่นาจนดูเหมือนหุบเขาเคลื่อนไหว ในสายลมเจือด้วยกลิ่นหอมของต้นข้าวเจืออยู่บางๆ พี่หล้าและเหมยโบกมือทักทายเป็นระยะ จอดถามสารทุกข์สุกดิบ ที่ถึงแปลไม่ออกก็รู้ได้ถึงความห่วงใยซึ่งกันและกัน

 

ป่าชื่นเย็นเมื่อเราขึ้นมาถึงบ้านพะอัน ธารเล็กๆ อันเป็นหนึ่งในต้นน้ำแม่แจ่มเอื่อยไหลอยู่เคียงข้าง

 

หมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ แห่งนี้แสนเงียบสงบ มีโรงเรียนซึ่งประจำอยู่ด้วยครูดอยวัยหนุ่มเพียงคนเดียว “เราสอนภาษาไทยและวิชาเบื้องต้นครับ ไม่ใช่เพื่อให้ไปไกลๆ แต่หากให้เด็กๆ รุ่นใหม่สื่อสารกับคนข้างล่างได้ดี” บนแคร่เล็กๆ หน้าอาคารหลังเดียวที่เป็นทุกอย่าง เขาว่าอย่างคนที่เข้าใจโลกสองใบอันแตกต่าง

 

อาจารย์อาภรณ์และพี่หล้าเดินตัดธารน้ำเข้าไปในป่าลึก ผมเพลินอยู่กับเด็กๆ และแม่เฒ่าในชุดสะอ้าน เสียงตำข้าวในครกกระเดื่องทุ้มช้าเป็นจังหวะตามเรี่ยวแรงวัยชราของแก

 

ตามพวกเขาขึ้นไปเพื่อรับรู้เรื่อง “ไม้บังร่ม” ที่สำคัญกับการปลูกกาแฟ สวนกาแฟของคนบ้านพะอันถือว่าดีมาก แซมอยู่ในป่าทึบอันเป็นเหมือนสิ่งที่แยกออกจากคนกะเหรี่ยงไม่ได้ “มีป่า มีน้ำ ก็มีกะเหรี่ยง” พ่อพลวงที่เดินตามมาดูบอกผมเช่นนั้น

 

ช่วงฝนอาจเหมือนหมู่บ้านแห่งนี้ถูกตัดขาดจากคนข้างล่าง ทว่าเมื่อกาแฟของคนบ้านพะอันสุกได้ที่ พวกเขาพร้อมที่จะเป๊อะขึ้นหลัง หรือวางท้ายมอเตอร์ไซค์แล้วลงไปสู่ที่ราบ การอยู่กับป่าไม่ได้ลดความเจนจัดและเข้าใจในฤดูกาลสำหรับพวกเขา

 

ผมล่วงลงมาก่อน นั่งมองเด็กๆ ของครูหนุ่มเริงร่า ดูลำธารหลากไหล ควันไฟจากในครัวของเรือนไม้ยกสูงลอยล่อง “ตาบรึ” ผมทักสวัสดีพวกเขาด้วยรอยยิ้มและก็ได้รับไมตรีนั้นกลับมาไม่แตกต่าง และก็ได้รู้ว่าคำๆ นี้ก็ใช้แทนคำว่าขอบคุณได้เช่นกัน

 

ระหว่างพืชพรรณ ป่าเขา และทางดินเล็กๆ ที่ไต่ชันขึ้นมา เรื่องผลผลิตนั้นอาจเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

 

การดูแลซึ่งกันและกันต่างหาก ที่ทำให้รู้ว่ากลางโลกข้างล่างที่หมุนเคลื่อนไปทุกเมื่อเชื่อวัน ชีวิตบนนี้ของพวกเขาก็ไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่กลางป่าลึกแต่เพียงผู้เดียว

 

ยามเย็นที่ตัวอำเภออมก๋อยลานตาไปด้วยเด็กๆ ชาวเขาที่เพิ่งเลิกเรียน ดอยไกลแห่งนี้เป็นบ้านหลังใหญ่ของพี่น้องชาวไทยภูเขาหลายเผ่าพันธุ์ เด็กน้อยชาวกะเหรี่ยง มูเซอ แม้แต่ม้ง ก็ล้วน “ลง” มาหาสิ่งที่เรียกว่าอนาคตกันที่โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม

 

“85 เปอร์เซ็นต์ล่ะครับ เด็กนักเรียนที่อมก๋อยเป็นชาวไทยภูเขา” ผู้อำนวยการพงศ์ชัย คำเมรุ พูดถึงเด็กๆ ของเขา ขณะที่ผมเพลินอยู่ในช่องมองภาพ เสื้อผ้าและเสียงหัวเราะนั้นน่าใส่ใจไม่แตกต่าง

 

กลางยามเย็นที่จะมาเยือน เราไปดู “ผลงาน” ของเด็กๆ ที่นี่ ซึ่งเมื่อไปถึงพื้นที่กว่า 40 ไร่หลังโรงเรียน ไร่กาแฟเขียวครึ้มเย็นตา ก็เบียดแน่น ไม้บังร่มสูงชะลูด และพื้นที่หลังโรงเรียนก็กลายเป็นป่าย่อมๆ

 

บนแดนดอยอมก๋อย การมาถึงของกาแฟแทบจะเปลี่ยนบุคลิกของบ้านแดนดอยให้มีซึ่งความ “พิเศษ” ใช่แต่ผู้ใหญ่ เด็กๆ รุ่นต่อมาก็เห็นในภาพเช่นนั้น

 

“เรามีแบรนด์ของเราเองครับ ทางไร่วีพีพีฯ มาส่งเสริมให้เด็กๆ ปลูก คั่วและบรรจุแพ็กเกจให้” ผอ.พงศ์ชัยเล่าต่อ “เด็กๆ ที่เข้าโครงการต้องมาดูแลกาแฟคนละ 3 ต้น เรามีวิชาไร่กาแฟส่งเสริมคุณธรรม” ฟังดูราวกับเป็นวิชาเล่นๆ ทว่าด้วยการเล่นกับพืชพรรณและผืนแผ่นดิน ณ ทุกวันนี้ โรงเรียนอมก๋อยฯ มีร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ที่หน้าโรงเรียน เปิดขายกาแฟสดหลากหลายเมนูในแบรนด์ “อมก๋อย” ซึ่งนิยามต่อท้ายด้วยว่า “กาแฟสดของหนู โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม”

 

ตรงทางแยกอำเภออมก๋อย ที่ที่ความเจริญต่างๆ เดินทางขึ้นมาถึงแดนดอยแห่งนี้เป็นจุดแรกๆ ทั้งผู้คน ชาวไทยภูเขา นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่คน “เมือง” เองก็ตาม

 

หากหน้าตาของความผูกพันของผืนแผ่นดินและผู้คนเป็นเช่นเดียวกับกาแฟในร้านเล็กๆ หน้าโรงเรียน

 

คือหลอมรวมอยู่ด้วยเรี่ยวแรง ความหวัง และการอาทรดูแลจากทุกผู้คนรอบข้าง

 

ร้านกาแฟตรงทางแยกเล็กๆ แห่งนี้ก็เปี่ยมค่าที่ใครสักคนจะนั่งลงทำความรู้จัก “เมล็ดพันธุ์” ของพวกเขา

 

ไต่ความสูงจากตัวอำเภอขึ้นมาสู่ไร่กาแฟ ผืนนาขั้นบันได และบ้านอยู่เรือนนอนของพี่น้องกะเหรี่ยงเช่นคืนวาน อากาศเย็นกำลังจะมาเยือน ขบวนวัวพร้อมแม่เฒ่าคาบกล้องยาผ่านมาด้านหน้าอย่างไม่จางคลาย ฟ้าสีบลูอมเรื่องราวของแผ่นดินดอยไกลนี้ไว้ในความมืด

 

“กาแฟคือศิลปะ ทุกขั้นตอนล้วนประณีตละเอียดอ่อน ทั้งการปลูก คั่ว ชง ไปจนถึงเทคโนโลยีต่าง” ใครสักคนบอกกับผมยามกระชับกาแฟร้อนหอมกรุ่นไว้กลางค่ำคืน

 

ทว่ากับผู้คนอมก๋อย ท่ามกลางแผ่นดินอันอุดมบนความสูงอันพอเหมาะกับการหยั่งรากฝากวางชีวิต ผมว่าพวกเขาและเมล็ดพันธ์อย่างกาแฟอาจเหมือนกันอยู่บางอย่าง

 

คือมากมายไปด้วยเรื่องราวของการเดินทาง แปรเปลี่ยน เคลื่อนย้าย

 

ทว่าก็ยังคงความชัดเจนเข้มข้นทุกครั้ง เมื่อกะเทาะ “เปลือกนอก” และเคี่ยวกรำจนเห็นสิ่งที่เรียกว่าหัวใจ

 

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอฮอด ผ่านออบหลวง ถึงบริเวณบ้านบ่อหลวง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1099 ไปอีกราว 49 กิโลเมตร ถึงอำเภออมก๋อย รวมระยะทางจากเชียงใหม่ถึงอมก๋อยราว 180 กิโลเมตร

 

มีรถโดยสารออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ สาย เชียงใหม่-ฮอด-อมก๋อย เที่ยวแรกออกเวลาตีห้าครึ่ง มาถึงอมก๋อยก่อนเที่ยง เที่ยวสุดท้ายออกเวลาบ่ายสอง ราคาประมาณ 130-150 บาท ขึ้นรถที่ตลาดประตูเชียงใหม่

 

มาเที่ยวชมชีวิตของคนอมก๋อย ควรขึ้นไปสัมผัสหมู่บ้านกะเหรี่ยงรอบนอก ไปเที่ยวชมผืนนาขั้นบันได ไร่กาแฟ และวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยง มูเซอ รวมถึงการอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานกลางสังคมเกษตรกรรม

 

มีที่พักเล็กๆ ชื่อ “อมก๋อยรีสอร์ท” บรรยากาศดี ติดลำน้ำแม่แจ่ม ให้บริการ โทรศัพท์ (053)467-333, 08-6188-1910เว็บไซต์ www.omkoiresort.com

วันที่เขาหยิบยื่นอาราบิกาคั่วและบดเองให้เรานำกลับ