รักกิจ ควรหาเวช

รักกิจ ควรหาเวช

รักกิจ ควรหาเวช ชายหนุ่มมาดเซอร์ผมยาวฟูคนนี้ คือคนทำกราฟิกที่คนในวงการรู้จักเป็นอย่างดี เขาเคยมีผลงานอวดโฉมในนิตยสารด้านกราฟิกทั้งในและนอกประเทศหลายเล่ม อาทิ Territory Magazine, IdN, CG+ (แถมยังเป็นชาวไทยคนแรกที่มีผลงานลงหน้าปกนิตยสาร Computer Arts จากประเทศอังกฤษในฉบับที่ 100 เมื่อปี ค.ศ.2004  อีกด้วย) เขาเคยเป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์ให้กับนิตยสาร สารกระตุ้น เคยเป็นตัวแทนชาวไทยไปร่วมแสดงในโปรเจ็คท์งานออกแบบกราฟิกระดับนานาชาติ เช่น Tiger Translate ปี 2007 และงาน Bangkok Design

 

เขายังรับงานกราฟิกทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานวาดภาพประกอบ งานออกแบบ อย่างปกซีดีเพลงของศิลปินต่างๆ หรือแม้กระทั่งงานออกแบบชุดตัวอักษรรวมหรือที่เรียกว่า ฟอนท์

 

“เมื่อก่อนภาพประกอบอาจจะต้องวาดด้วยสีน้ำ แต่สมัยนี้ใช้คอมพิวเตอร์ ก็ไม่ต้องไปเพ้นท์บนกระดาษ แต่มาวาดลงในคอมพิวเตอร์แทน ผมมองว่างานอาร์ตที่เรียกว่าป๊อปอาร์ตมันก็ใกล้เคียงกับคำว่ากราฟิกมาก ก็เลยคิดว่าเราไม่ควรจะแบ่งอะไรมากนัก

 

“ผมทำ Graphic Vector ช่วงที่จบมหาวิทยาลัย ก็เริ่มทำ Vector ผมว่ามันดีกว่า Photoshop เพราะนำไปขยายแล้วมันไม่แตก เอาไปขยายเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเป็น Photoshop ถ้าขยายมากๆ แล้วเข้าไปดูใกล้ๆ มันจะไม่ละเอียด เพราะว่าการอ่านค่าของภาพ Vector มันจะดีกว่า ซึ่งมันคงเป็นระบบของมัน Vector ปลายมันก็มาจาก Illustrator ที่ไว้สำหรับสร้างภาพ ส่วนPhotoshop มันจะเอาไว้แต่งภาพ”

 

แม้แนวงาน Vector ที่เขาทำจะบ่งบอกถึงความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะสิ่งที่เขาทำได้ หลายคนในวงการก็พยายามพัฒนาฝีมือตัวเองจนเรียกว่าปัจจุบันเรื่องของเทคนิคไม่ได้เหลื่อมล้ำกันสักเท่าไหร่ เขาจึงต้องหาวิธีใหม่ๆ เข้ามาในการทำงานอยู่เสมอๆ

 

“ยุคนี้ผมว่าเรื่องเทคนิคเริ่มใกล้กันหมดแล้ว ก็เลยไม่เน้นเทคนิคมาก แต่มาเน้นไอเดียว่างานนี้เราต้องการสื่ออะไร เพราะว่าถ้าเรามัวแต่ไปยึดเทคนิค มีแต่วิธีทำ งานเราก็จะไม่มีอะไร มันก็จะทำให้งานของเราดูดรอปลงไป 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากว่างานเราไม่มีอะไรเลย แต่มีไอเดีย งานเราก็จะอัพขึ้น 10 -20 เปอร์เซ็นต์”

 

ไอเดียเหล่านี้เองทำให้เขาได้ร่วมงานกับหลากหลายองค์กร และหนึ่งในนั้นก็คือการทำงานการออกแบบให้กับนิตยสารของประเทศอังกฤษ เขาบอกว่างานกราฟิกของที่นั่นจะมีความเป็นปัจเจก มีเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล หรืออย่างทางฝั่งเอเชียของเรา อาทิ ประเทศญี่ปุ่น งานด้านกราฟิกของที่นี่ก็เป็นที่ชื่นชอบของเขาเช่นกัน เพราะดูมีลูกเล่นเยอะ และถ้าถามถึงที่ประเทศไทยเขาบอกว่าตอนนี้วงการกราฟิกดีไซน์ก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับแล้ว

 

“คำว่ากราฟิกเป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถมีนิทรรศการใหญ่ๆ ให้กับงานกราฟิกได้ แล้วมันเริ่มดันคำว่าดีไซน์ขึ้นมา สมัยก่อนเมืองไทยงานกราฟิกมันน้อยมาก แต่สมัยนี้ก็ไม่ได้เยอะขึ้นนะครับ แค่มีคนรู้จักเยอะขึ้นเท่านั้นเอง แต่ก็ทำให้มีช่องทางการทำงานมากขึ้น

 

“งานรุ่นใหม่ที่ดีก็มีเยอะนะครับ เหมือนมีรุ่นพี่ที่เก่งๆ ปูทางมา แล้วเขาก็ไปสอนรุ่นน้อง ก็ทำให้คนที่จบมาใหม่มีแนวคิด ไม่เหมือนแต่ก่อนที่จบมาก็ต้องเป็นลูกจ้างที่ทำงานอาร์ตเวิร์ก ไม่ค่อยกล้าแสดงออกอะไรมาก เพราะลูกค้าอยากได้ภาพสวย ก็ต้องทำตามเขา แต่ปัจจุบันเด็กเริ่มมีแนวคิดที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น”

 

แม้ว่าเขาจะทำงานมามากมายหลายชิ้น แต่ผลงานของตัวเองที่ทำออกมานานพอสมควรแล้ว นั่นก็คืองานออกแบบปกซีดีของวงอินดี้วงหนึ่ง ซึ่งมีชื่ออัลบั้มว่า I’m not Virgin ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับเซ็กซ์ ตอนนั้นเขากลับไปคิดว่าควรจะทำออกมาอย่างไร ผลสุดท้ายงานก็เป็นที่น่าพอใจ

 

“จุดเด่นคือการได้แหกฎบางอย่างของการขายซีดี ชื่อเพลงใส่แค่ชื่อเดียว เพราะมันครอบคลุมหมดแล้ว โชคดีที่งานนี้ไม่มีสปอนเซอร์ เพราะเขาเป็นวงอินดี้ เราจึงไม่ต้องไปยุ่งกับสินค้า แต่มันมีข้อโต้แย้งนิดหน่อยนะ ความจริงผมไม่อยากโชว์โลโก้หน้าศิลปินผมอยากแหกกฎมันออกมา พอดีปกซีดีอันนี้มันเป็นวงอินดี้ หน้าปกก็เลยไม่รกมาก พอไปดูปกข้างใน เราก็ไม่จำเป็นต้องมีสีสันแบบเพียวๆ เลยไม่มีสีสันอะไรเลย

 

“คือผมได้ทำอะไรที่อยากทำ แล้วความหมายคือผมเปรียบเทียบเสือเป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงทำเหมือนใสบริสุทธิ์แต่จริงๆ มันไม่ใช่แล้วก็จะมีพวกเครื่องจักร พวกสปริง คือเมื่อตอนวัยรุ่นเราจะเห็นสติ๊กเกอร์ที่ติดตามรถจะมีน็อตที่เป็นผู้ชาย และผู้หญิงวิ่งหนีกันมันก็ดูดี คือมันดึงเกี่ยวพวกเซ็กซ์เข้ามาได้”

 

รักกิจบอกว่าอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูง หากใครที่สมาธิสั้น ลุกออกจากโต๊ะทำงานบ่อยๆ ก็จะไม่ได้งานเป็นชิ้นเป็นอัน

 

“ตอนแรกที่ทำก็ต้องอดทนครับ ฝึกฝีมือในการทำให้แน่น บางครั้งมันลำบาก ต้องอยู่ข้ามวันข้ามคืน กระทั่งปวดหัวเป็นไข้ จนไม่อยากอยู่แล้วหน้าคอมแล้ว ก็ท้อนะ แต่ผลงานมันออกมาดี มันก็มีความสุขครับ”

งานกราฟิกดีไซน์ที่บ่งบอกถึงความเป็นศิลปะสมัยใหม่