บึงกาฬ

บึงกาฬ

อีกร่วมร้อยกิโลเมตร ที่ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านพาเราไปในความสวยงามของมัน ถนนสายเล็กเส้นนี้กำลังเติบโต หลายคนรู้สึกได้แม้ปลายทางยังมาไม่ถึง

 

อย่างไรก็ตาม ริมสองข้างทางล้วนคือภาพชัดเจนอันไม่ควรผ่านเลย สวนกล้วยแถบริมน้ำโขงที่ปากคาดและรัตนวาปีกำลังสุกงอม แผงกล้วยหอมริมทางน่าตื่นตา หรือท้องนาเขียวชุ่มยามที่เปี่ยมด้วยแรงงานจากสองมือ กล้าข้าวปักเป็นแถวแนว มีมิติ

 

เมื่อถึงบึงกาฬ เมืองเล็กๆ ที่กำลังสัมผัสคำว่าก้าวไปข้างหน้า เติบโต และเปลี่ยนแปลง เสียงเครื่องรถยนต์สงบนิ่งหลังเดินทางไกลกว่า 715 กิโลเมตร เสียงแม่น้ำโขงยามเปี่ยมน้ำไหลรินอยู่เงียบๆ ในความมืด เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป. ลาว วับแวมแสงไฟเป็นหย่อมดวง นาทีนั้น ผมคล้ายจะรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง

เสียงของความสงบงาม ภาพของสายน้ำ และลมหายใจของผู้คน

 

.............................................................................................................................

 

ด้วยถนนไม่กี่สายที่ขีดแบ่งพื้นที่อำเภอเมืองฯ ของบึงกาฬให้เป็น “เมือง” เราใช้ยามเช้าไปกับการทำความรู้จักที่นี่ผ่านรอยยิ้มในตลาดเช้า แผงปลาจากแม่น้ำโขงหน้าบ้านไม่เคยจางหาย ยิ่งเป็นปลาจากหนองและบึงรายรอบ ว่ากันว่ามีมากมายหลากหลายชนิด

 

“บ้านเฮามีกุดอยู่หลาย ทั้งในเมือง นอกเมือง กุดบึงกาฬ กุดทิง ไกล ๆ โน่นก็โขงหลง” แม่ค้าปลาเล่าเสียงใส คำว่าบ้านของเธอนั้นกินความถึงเรื่องการเป็นอยู่มากกว่าที่หลับที่นอน

 

กายภาพของบึงกาฬที่รายล้อมด้วยภูเขาหินทราย หนองน้ำ และแม่น้ำขนาบด้านหน้า ล้วนนำพาความอุดมของสัตว์น้ำจืดมาชัดเจนอยู่ในตลาดเช้า มันแสนมีชีวิตชีวา ไม่เพียงแต่ปลา หอย หรือแมลงตามฤดูกาล แต่พืชผักพื้นถิ่นล้วนแปลกตาคนมาเยือนอย่างผม พวกเขานำสิ่งรายรอบมายังชีพได้มากมายอย่างน่าชื่นชม

ที่บึงน้ำกว้างใหญ่คู่เคียงบึงกาฬ ทุกเช้านั้นเงียบสงบ ไม่ว่าจะฤดูกาลใด จะว่าไปมันไม่เคยร้างไร้ผู้คน หากแต่การงานของพวกเขาเงียบเชียบ เป็นหนึ่งเดียวกับบึงน้ำที่หล่อเลี้ยงคนในแถบ ‘ตัวเมือง’ ของบึงกาฬรองจากแม่น้ำโขง

 

ผมมานั่งดูพี่ป้าน้าอาที่นี่ยกยอกันแทบทุกเช้า ยิ่งฝนตกใหม่ๆ บางคนว่าเป็นช่วงปลาขึ้น ความชัดเจนนั้นแน่นอยู่ในข้องที่มีปลานับสิบดิ้นขลุกขลักอยู่ข้างใน เด็กๆ เหน็บเบ็ดเล็กเคียงคู่พ่อแม่ หันหน้าลงในความกว้างเบื้องหน้า ฝึกเป็นพรานปลากับหนองน้ำที่ล้อมรอบบ้านของเขาอยู่

 

บึงแห่งนี้คือหนึ่งในที่มาของชื่อบึงกาฬในปัจจุบัน หลังจากที่พื้นที่เล็กๆ ริมแม่น้ำโขงแห่งนี้เคยอยู่ในเขตปกครองของอำเภอไชยบุรี จังหวัดนครพนม จนมาถึง พ.ศ. 2475 เสนาบดีของกระทรวงมหาดไทยที่เดินทางมาตรวจราชการจึงใช้ชื่ออำเภอตามหนองน้ำข้างเมืองแห่งนี้ว่า ‘บึงกาญจน์’

เมืองที่หนองน้ำแห่งหนึ่งนั้นเปรียบดั่งทอง มีค่าเสมอกับชีวิตที่หล่อหลอมและปักหลักอยู่ตรงนั้น

 

ด้วยสีน้ำที่ค่อนข้างคล้ำหรืออย่างไรก็ตาม หน่วยงานจากทางราชการในยุคต่อมาจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอริมโขงแห่งนี้ จากบึงกาญจน์ มาเป็น ‘บึงกาฬ’ แต่กระนั้นก็ตาม ในความรู้สึกของใครหลายคนที่นี่ พวกเขามองเห็นคุณค่าของหนองน้ำที่มีความกว้างราว 160 เมตรแห่งนี้มากไปกว่านั้น

ภาพตลอดเช้าจวบเย็นของผู้คนเล็กๆ ริมบึงนั้นงดงาม ต่อเนื่อง และคงทนมากกว่าสิ่งอื่นใด

 

บนถนน 3 สายหลักอย่าง ถนนบึงกาฬ ถนนมีชัย และถนนชาญสินธุ์ เผยภาพเคลื่อนไหวตั้งแต่ย่ำรุ่ง หลังพระสงฆ์จากวัดบุพราชสโมสรและอีกหลายๆ วัดเดินรับบาตรผ่านย่านผู้คน พวกเขาชัดเจนกับพระพุทธศาสนาที่หล่อหลอมจิตใจ หน้าห้องแถวไม้เก่าที่หลงเหลือไม่กี่หลังอย่างร้านสิริพาณิชย์ปรากกฏภาพสงบงาม แม่เฒ่านบมือไหว้นิ่งงัน หลังหย่อนปั้นข้าวเหนียวลงไปในบาตร ทุกอย่างผ่านพ้นไปเหมือนเช่นเคยในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

 

หากเป็นเช้าวันอังคารและวันศุกร์ แถบที่ถนนบึงกาฬลากผ่านมาใกล้หนองน้ำยิ่งคึกคัก ตลาดนัดไทย-ลาว แผงสินค้าเหยียดยาวไปสองฟากถนนเล็กๆ อย่างน่าสนุก นับเป็นความเคลื่อนไหวอันมีชีวิตชีวา ทุกคนพร้อมออกจากบ้านมาซื้อหาสินค้าประดามีกันเป็นพิเศษ เสียงทักทายคล้ายญาติมิตรราวกับพวกเขามักคุ้นกันเป็นอย่างดีมาเนิ่นนาน

 

แต่เช้ามืด ไม่นับพ่อค้าแม่ขายทางฝั่งบ้านเรา ที่ด่านท่าเรือจะขวักไขว่ไปด้วยพี่น้องจากฝั่งปากซัน พวกเขาหอบหิ้วสินค้าข้าวของต่างๆ ข้ามแม่น้ำโขงมารออยู่ก่อนแล้ว และเมื่อแดดเช้าจับต้องถนนสายเล็ก อาหาร สมุนไพร หรือพืชพรรณจากป่าเขาก็เรียงรายอยู่สองข้างทาง

ผมเดินเล่นไปเหมือนผู้คนที่นี่ หนังควายเค็มมัดเป็นแผง ของกินผสานทั้งวัฒนธรรมไทย ลาว และญวน อย่างไข่ฮ้างฮัง-ไข่ข้าว เปอะเปี๊ยะ บาแก๊ต-ข้าวจี่ รวมไปถึงกะหย่อ หรือแหนมคลุก มีให้เลือกชิมกันไม่หวาดไหว แม่เฒ่าบางคนมาพร้อมกับหวายดิบ ที่ว่าเอาไปแกงก็อร่อยล้ำ

 

 สินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่จากพ่อค้าเร่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมจากคนฟากตรงข้ามเป็นอย่างมาก หลังการซื้อขายแลกเปลี่ยน พวกเขามักหาเวลาพามันกลับไปสู่ลูกหลานและชีวิตที่เติบโตคู่ขนานมากับบึงกาฬอย่างแยกไม่ออก เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งหลายหลายอย่างที่เป็นของ ‘ทันสมัย’ ชีวิตเติบโตและสัมผัสมันได้เท่าเทียม ตราบที่ความเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงยังดำเนินนิยามของมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

เช้าไล่ไปจนสาย จวบจนใกล้เที่ยง ที่ต่างคนต่างปะปนผสมผสานไปกับการอยู่กินตรงพื้นที่ชายแดน สายสัมพันธ์ง่ายๆ พาพวกเขาผ่านพ้นคำว่า ‘พรมแดน’ ด้วยความรู้สึกอุ่นเอื้อ อาทร และพร้อมที่จะเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน

 

“แต่ก่อนที่นี่มันไกลปืนเที่ยง สำหรับพวกราชการนะ เขาเรียกว่าเขต ‘ปลดปล่อย’ ใครโดนย้ายมาก็แย่” ป้าวัชรี ลิ้มศรีมณีรัตน์ หรือที่ต่อมาผมคุ้นจะเรียกแกว่าป้าใหญ่ เล่าเพลิน ๆ หน้าโรงหนังแสงชัยรามา ที่วันนี้ผ่านพ้นตัวเองมา 30 กว่าปี มันโอ่โถง คงรูปทรงคลาสสิก ด้วยการก่อสร้างอย่างดี “แต่ก่อนอยู่ในตลาดน่ะ เป็นไม้ ตอนนั้นบ้านเรามีความขัดแย้งเรื่องไล่คนญวน มีการเผาไล่ที่ เลยย้ายมาก่อสร้างถาวรข้างนอก”

 

พ้นผ่านกาลเวลา ปิดตัว และเปลี่ยนมือสู่คนอีกรุ่น คือป้าแจ่มจันทร์ แสงชัย ที่ขยายธุรกิจการหนังมาจากอุดรธานี วันนี้ป้าทั้งสองจึงยืนคู่กันอยู่หน้าโรงหนังแก่ของบึงกาฬ ที่เปิดฉายหนังใหม่ๆ ห่างเมืองใหญ่ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ “คนที่นี่เน้นหนังไทยค่ะ หนังฝรั่งฮิตๆ ก็ต้องพากย์มาให้ด้วย” ป้าแจ่มจันทร์ยืนอยู่หน้าเคาน์เตอร์ เพดานโปร่งโล่ง ผนังติดโปสเตอร์ภาพยนตร์หลากสีสัน

 

บ้านไกลปืนเที่ยงกับคำคุ้นเคยของคนบึงกาฬนั้นเคียงคู่กันมา เท่าที่การเดินทางด้วยถนนหล่มโคลนในอดีตยังไม่สะดวกเท่าในลำน้ำโขง การไปถึงอุดรฯ สกลนคร หรือนครพนมต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ

 

“บึงกาฬเป็นเมืองค้าขายทางเรือใหญ่มาก่อน มีเรือจากหนองคายล่องไปนครพนม 7 วันโน่น จะถึง คนไทย คนลาว พ่อค้าแม่ขายมาก” ป้าใหญ่เล่าเพลินถึงธุรกิจเดินเรือของพ่อ ว่าเมื่อเรือมาถึงบึงกาฬ ผู้คนและสินค้าล้วนหลากหลาย ที่นี่เป็น ‘ชุมทาง’ ของสินค้าทางบกและทางเรือ ตอนเป็นเด็กนั้น ป้าใหญ่ชอบผ้าตาเสือหรือผ้าปักงิ้ว ซึ่งมักมาพร้อมกับคนม้งจากในแผ่นดินลาว

 

เราเพลิดเพลินไปในโรงหนังพัดลมเก่าแก่ ที่เมื่อก้าวไปข้างใน ที่นั่งซึ่งแต่เดิมเป็นเก้าอี้ไม้ราว 500 ตัว เปลี่ยนสู่เบาะนวม ลดเหลือ 200 กว่าตัว ในยุคของป้าแจ่มจันทร์ แต่ความโปร่งโล่ง โอ่โถง ล้วนคงอยู่ในแสงเทาทึม มันแลดูมี ‘เรื่องราว’ แม้บนจอจะว่างเปล่า ไร้แสงจากเครื่องฉายทอดส่อง

หลายสิ่งของที่นี่เปลี่ยนผ่าน ไม่หยุดนิ่ง และรอวันเติบโต เช่นเดียวกับยามที่ผมเดินเล่นอยู่บ้านไม้โบราณริมแม่น้ำโขงบนถนนชาญสินธุ์ บ้านไม้โบราณแบบชั้นเดียวหลายหลังก็ยังคงภาพเดิม คุณยายกับปลาจากแม่น้ำโขงที่ลูกๆ หาขึ้นมาได้วันต่อวัน ขณะที่บางหลังปรับปรุงโฉมใหม่ คงทนมากขึ้น ลูกหลานเติบใหญ่ มีหน้าที่การงานดีๆ

 

จากเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ที่มีหนองน้ำอันสมบูรณ์เคียงข้าง เชื่อมโยงด้วยสายสัมพันธ์อันยาวนานลึกซึ้ง

วันหนึ่งเมื่อการเติบโตมาถึง ทิศทางข้างหน้าเป็นเช่นไร ดูเหมือนพวกเขาเท่านั้นที่รู้จักมันดี

ผมมาพบความชัดเจนและความผูกพักในชีวิตกับผืนแผ่นดินของพวกเขาเมื่อเราผ่านพ้นการเวียนแวะพื้นที่รอบนอกจนเข้ามาสู่ กุดทิง บึงน้ำกว้างใหญ่ที่ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬเพียง 6 กิโลเมตร แดดบ่ายฉายจับ เมื่อมองจากริมฝั่ง กอสนุ่นไล่เฉดน้ำตาล เขียว สลับกับผืนหญ้าและที่นารายรอบ ราวโลกฝันชั้นดีของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับมัน

ด้วยพื้นที่ตัวบึงราว 16,500 ไร่ ผนวกกับผืนนา เรือกสวน และหมู่บ้านน้อยใหญ่ จนกลายเป็นราว 22,000 ไร่ ทำให้ที่นี่มากไปด้วยความพิเศษอันแสนลึกซึ้ง

 

นักวิชาการเรียกความสมบูรณ์อันเกื้อหนุนระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ พรรณพืช และผู้คนตรงนี้ว่า ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ (Wetland) หรือ แรมซาร์ ไซต์ พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตธรรมชาติที่มนุษย์สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ได้ มีความสำคัญต่อการคมนาคมในท้องถิ่น รวมถึงการเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ อันมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา และการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร

 

อาจฟังดูยากและทำความเข้าใจในเรื่องของการเชื่อมโยงอันแสนลึกซึ้ง แต่กับคนที่นี่ โลกใกล้ตัวดูเหมือนจะชัดเจนและมีค่ากว่านิยามลึกซึ้งใดๆ ตามคำกล่าวอีสานโบราณว่า “อำเภอบึงกาฬนี้ มีกุดทิงบนดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ่อนเหมือนแข่แกงหาง ปลานางบ่อนเหมือนขางฟ้าลั่น จั๊กจั่นฮ้องเหมือนฟ้าล่างบน” นั้นชัดเจนถึงความสมบูรณ์ของกุดทิง ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก หรือ แรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 11 ของประเทศไทย

กับพื้นที่นี้ พวกเขารู้ชัดมานานแล้วว่า ในกุดมีกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด ผืนป่ารอบกุดออกเห็ด หน่อไม้ และพืชผักให้พวกเขาได้เข้าไปเก็บกินทุกเมื่อ วัวควายได้เล็มหญ้าริมบึง นกน้ำและนกอพยพเวียนแวะมาอาศัยหากิน เหล่านี้คล้ายเรื่องเล่าชั้นดีที่พวกเขาหวงแหนการมีอยู่ของมัน

 

“ทั้งปลาทั้งพืชมันหลายนัก เก็บกินกันไม่หมดดอก กุดมันไหลไปต่อน้ำโขง ปลามันถึงกันหมด” ‘ลุงหลาว’ ชายชราเจ้าของเรือลำโตเล่าถึงปลาในแม่น้ำโขงที่พบในกุดทิงอย่างปลาสร้อยปีกแดง ปลาเหล็กใน หรือปลาบู่กุดทิว หลังแกเพิ่งกลับมาเข้าฝั่ง บัวกินสายที่เก็บจากกลางบึงก่ายกอง ปลาเล็กปลาน้อยดีดตัวในเรือ รอเวลาไปรวมกันอยู่ในแกงมื้อเย็น กินแกล้มกับสาหร่ายข้าวเหนียวและผักหลายชนิด ที่เพียบแน่นอยู่ในลำเรือ

 

เรานั่งคุยกันอยู่นาน ยามเย็นในกุดทิงเหมือนสวนสวรรค์ของชาวบ้าน เรือประมงวางข่ายเป็นแนว หลายคนพวงลอบมาเต็มข้างจักรยาน เตรียมล่องเรือออกไปดัก กอ ‘ผือ’ ขึ้นเป็นแนวอยู่ริมตลิ่ง พวกเขาบอกว่านำเปลือกมันไปตากแห้ง สานเป็นเสื่อได้ทนทาน นั่งสบายนัก

 

ว่ากันว่ากุดทิงมากมายไปด้วยพันธุ์ปลากว่า 200 สายพันธุ์ และเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีที่ใดในโลกเกือบ 20 สายพันธุ์ พืชน้ำอีกว่า 200 ชนิด ที่ล้วนเก็บกินหรือนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดชีวิตได้

บางเช้าเรารีบออกมานอกเมืองและล่องลงเรือตามลุงหลาวไปในกุดทิง ถนนในกุดยามหน้าฝนจมหายไปเป็นผืนน้ำ เพียงเพื่อที่จะพบว่า บัวหลวงแผ่เป็นพรมสีแดง ตามสันดอนมีควายเล็มหญ้าอยู่เพลินๆ โลกตรงนี้คือ ‘อาณาจักร’ ของพวกเขา เป็นบ้านหลังอุ่นใกล้เมืองบึงกาฬที่ส่งผลต่อเนื่องถึงความสมบูรณ์อันยาวนาน

 

กลับจากล่องเรือ ยิ้มง่ายๆ และฝักบัวกำโตของลุงเต็มแน่นอยู่ในสองมือ ผมรับมาด้วยเกรงใจ ก่อนจะกลับเข้าเมือง

เมื่อความหมายพื้นที่ มีคุณค่าต่อชีวิตสำหรับคนกลุ่มหนึ่งเสียเหลือเกิน พื้นที่ของคนที่นี่จึงหดแคบ เต็มไปด้วยการหวงแหนดูแล และกินขนาดเท่าเทียมกับพื้นที่ของหัวใจ

และอาจกินความรวมถึงเมืองเล็กๆ แห่งริมน้ำโขงนี้ ที่หลายอย่างตกทอดสั่งสมและก่อเกิดความเป็นตัวตนเด่นชัด แม้การเปลี่ยนแปลงเติบโตจะเคลื่อนดำเนินมาถึงแผ่นดินของพวกเขาในนาทีปัจจุบัน 

จุดชัดเจนของคำว่า “ชายแดน” ในอีสานเหนือ