ลลิสา จงบารมี

ลลิสา จงบารมี

การย่างก้าวเข้าสู่ประตูแกลเลอรี่ ห้องเวอร์ซาเช่ ชั้นล่างภายในดิเอ็มโพเรี่ยม อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของงานศิลปะอารยะธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ชาติ สะท้อนรากเหง้าของตระกูลช่างผู้มากฝีมือ มีทั้งภาพเขียนสีน้ำมัน สีน้ำ สีอะครีลิก ภาพพิมพ์ ภาพสเก็ตซ์ เพนต์ติ้ง ดรอว์อิ้ง ภาพเหมือนจริง งานไม้แกะสลัก งานปั้นหรูหราอ่อนช้อยแต่ทรงพลังของบรรดาเหล่าประติมากร จิตรกรศิลปินชื่อก้องของเมืองไทย ล้วนประเมินค่ามิได้ เมื่อได้ยลด้วยโสตสัมผัส ความอิ่มเอมใจกระปรี้กระเปร่า เคล้าเพลงคลาสสิก
เบาๆ ที่ลึกซึ้งกินใจ

 

บทสนทนาเริ่มก่อตัวเป็นมวลหมู่ การพูดคุยอย่างออกรสและเป็นธรรมชาติ ทำให้รู้ว่าคุณลลิสา จงบารมี ชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเช่นไร ทำไมจึงไปเติบโตที่เมืองลุงแซม สหรัฐอเมริกา คุมบังเหียนหลายสถานภาพ เป็นทั้งทูตวัฒนธรรมประธานโครงการเยาวชนไทย ไปศึกษากับ Walt Disney World เป็นอดีตนายกสมาคม การค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เฮดควอเตอร์จำกัด เป็นประธานกรรมการ อยุธยา บารมี รีสอร์ท เป็นประธานกองทุนรักษ์จิตรกร เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิ สิริวัฒนเกษม และเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ หอศิลป์แห่งชาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลตัวอย่าง ประจำปี 2545

 

ลูกสาวเจ้าสัว...หัวใจติดปีก

เธอเกริ่นเรื่องราวชีวิตเป็นฉากๆ จากปฐมวัย สู่ความเป็นสาวเข้าปัจฉิมวัย แต่ความชราก็ยังไม่กล้ามาชำเลือง ชีวิตเธอเหมือนสายลมที่มองไม่เห็น แต่สามารถสัมผัสได้ นี่คือมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของวรรณกรรมชีวิตฉบับย่อ เริ่มด้วยไตเติ้ลเชิงสังเคราะห์ร่อนเป็นตะกอนจนละเอียด

 

“รากเหง้าเดิมของเราเริ่มจากคุณปู่เป็นคนจีนโพ้นทะเลแผ่นดินใหญ่มาจากซัวเถา ล่องเรือสำเภามาสู่แดนสยามด้วยการเริ่มต้นการตั้งโรงสี ค้าขายข้าว คุณตาก็ค้าข้าวชื่อโรงสีจิตรพงศ์ค้าข้าว เป็นโรงสีขนาดใหญ่มาก พื้นที่ยาวจากท่าราชวงศ์ มาสุดไปถึงโรงแรมริเวอร์ซิตี้ ซึ่งเป็นที่ของครอบครัวเราครอบครัวหนึ่ง คือครอบครัวของธุรกิจน้ำปลาทิพย์รส จากนั้นจึงแบ่งขายที่ ปัจจุบันนี้กลายเป็นโรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัน ติดกับสถานทูตโปรตุเกส เราจึงเติบโตมากับริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

“สมัยคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ เราเห็นท่าเรือ โรงสีข้าว เห็นเรือเอี๊ยมจุ้น เห็นคนงานจับกัง ที่คุณตาคุณยายเลี้ยงเอาไว้ ฟากคุณแม่จะใช้นามสกุลแซ่ลิ้ม ฟากคุณปู่จะใช้แซ่ตั๋ง เรามาฟากคุณพ่อ มีชื่อภาษาจีนกลางชื่อว่า เฉินหมีนา คุณแม่จะเรียกว่าหนูนา คุณแม่เป็นผู้หญิงที่งดงามมาก เมื่อมาแต่งงานกับคุณพ่อที่มีกิจการค้าข้าวที่ท่าราชวงศ์ ด้วยความสวยงามของคุณแม่ทำให้ผู้คนในย่านนั้นเรียกว่านางงามราชวงศ์บ้าง นางงามทรงวาดบ้าง แม้แม่จะไม่เคยผ่านการประกวดนางงามมาก่อนก็ตาม

 

“การอยู่ย่านนั้นทำให้ซึมซับวิถีชีวิตไทย จากการอยู่กับธรรมชาติได้เห็นชีวิตการเป็นเจ้าสัวของคุณตาและเห็นชีวิตของคนที่เป็นลูกจ้าง พวกจับกังแบกข้าวสาร จนกระทั่งคุณแม่มาด่วนจากพวกเราไป คุณตาคุณยายจึงรับมาเลี้ยง ทำให้นึกถึงชีวิตของอาหมวยน้อย เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งหลานอากงเถ้าแก่โรงสี วิ่งเล่นเป็นที่ซุกซน จับกังยังชวนกินแมลงสาบสีขาวที่อยู่บนกองข้าวนำมาเสียบไม้ 4-5 ตัว ปิ้งสดๆ กินมาแล้ว หอมยิ่งกว่าปลาหมึกย่างเสียอีก (หัวเราะ)

 

“พี่น้องมีด้วยกันทั้งหมด 3 คน จบอินเตอร์หมด พี่สาวคนโตจบมาแตร์เดอี ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ พี่ชายคนที่ 2 จบที่วาศิษย์เทวีในสายคาทอลิก ส่วนเราซึ่งเป็นน้องสาวคนเล็กจบโรงเรียนเรยินา (กุหลาบวิทยาลัย) ทั้งหมดอยู่ในสายมาแตร์เดอีคุณแม่ต้องการให้ลูกแต่ละคนสร้างเพื่อนในแต่ละรั้วโรงเรียน สร้างสังคมที่แตกต่างกัน นั่นคือปรัชญาของคุณแม่ที่ต้องยกนิ้วให้ในการวางแผนที่ดี ทำให้มีสังคมกว้างขึ้น แทนที่จะให้ลูกๆ เรียนโรงเรียนเดียวกันหมด ท่านเคยบอกว่า สังคมบนโลกใบนี้นั้นมันใหญ่มากนัก ลูกอยู่ในถิ่นเดียวกันได้เพื่อนรั้วเดียวกัน ลูกจะไม่เห็นโลกใบที่ 2 และใบที่ 3 แล้วก็จริงของท่าน วันหนึ่งพี่สาวพาเพื่อนมาที่บ้าน ทำให้เราก็ได้เพื่อนเพิ่มอีกคนหนึ่ง

 

“จากนั้นเมื่อจบออกมา คุณพ่อส่งให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ คนโตไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ พี่ชายไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เราก็อยากตามพี่ชายไปอยู่ด้วย เพื่อให้พี่ชายเป็นพ่อคนที่สองดูแลเรา ก็เลยไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่ซาน เกเบลียต ไฮสกูล รัฐแคลิฟอร์เนีย จบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัย หลุยส์เซียน่า สเต็ท ยูนิเวอร์ซิตี้ สหรัฐอเมริกา

 

“ช่วงนั้นเป็นความสุขของวัยรุ่น ไปเช่าอพาร์ตเม้นต์อยู่กับพี่ชายที่วู้ดเวอร์รี่ ระหว่างพี่ชายทำปริญญาโทต่อ ช่วงที่เรียนไฮสกูล ปีสุดท้าย จะถูกตอกย้ำในเรื่องของภาษา ก็ต้องปรับพื้นฐานของภาษาและอะไรต่างๆ อีกหลายเรื่อง ตอนนั้นถือว่ามีชีวิตที่ลำบากมาก เจตนาของคุณพ่อเพื่อต้องการสอนเราให้รู้จักการใช้ชีวิตที่ลำบาก ท่านใช้กฎเกณฑ์ของคนในสมัยก่อน เพื่อต้องการให้เรียนรู้รสชาติของการช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งน่าจะทำให้ลูกแข็งแกร่งขึ้น

 

“ปีแรกเราต้องนั่งรถเมล์ไปเรียน ไม่เหมือนตอนอยู่กรุงเทพฯ เป็นคุณหนู มีคนขับรถไปรับไปส่งที่โรงเรียน ชีวิตมันเปลี่ยนไปหมดความเป็นคุณหนูหมดไปแล้ว ยอมรับว่าไม่สนุกอย่างที่คิด ต้องช่วยเหลือตัวเองตลอดได้เรียนรู้โลกภายนอกเยอะขึ้น แต่ด้วยพลังของพวกเราที่เป็นเด็กดี จึงส่งผลการเรียนไปให้คุณพ่อดูว่าเราเรียนดี ทำให้คุณพ่อสนับสนุนด้านการเรียนมาโดยตลอด ตอนนั้นพี่ชายอายุ 22 ปี ตัวเองอายุ 19 ปี มันเป็นชีวิตแห่งการเรียนรู้จริงๆ ว่าการอยากมาสหรัฐอเมริกานั้นมันไม่ใช่เมืองสวรรค์ อย่างที่หลายคนคิด แล้วเราจะไปเป็นคุณหนูไม่ได้ เราต้องช่วยเหลือตัวเอง

 

“วิธีคิดของคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่คือการเลี้ยงลูก ต้องไว้วางใจเขา อย่าเห็นเขาเป็นคุณหนูตลอด อย่ามองว่าลูกเราช่วยตัวเองไม่ได้และอย่าคิดว่าลูกเราต้องการเราตลอดชีวิต วันหนึ่งเมื่อไม่มีเรา อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อไหร่ที่ให้เขาไปอยู่เมืองนอกแล้วไม่ใช่ปล่อยเขานะ แต่จงเชื่อมั่นในตัวเขา ห่วงใยอยู่ข้างในลึกๆ แต่ไว้วางใจเท่านั้น เมื่อเขาติดปีกไปแล้วเขาจะช่วยตัวเองได้ เราให้คำมั่นสัญญากับคุณพ่อว่าเราจะเป็นเด็กดี และภูมิใจที่พ่อไว้วางใจให้เราไป แต่เมื่อไหร่พ่อแม่ขาดความไว้วางใจลูก เมื่อไหร่คิดว่าเขายังเด็ก ไม่เชื่อว่าเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่ตลอด มันก็จะไปไม่รอด”

 

ชดใช้หนี้...แผ่นดินแม่

 อิสตรีผู้นี้อยู่คู่กับความสวยงาม หลงใหลในงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อไหร่นั้น เธอสาธยายผ่านรอยยิ้มว่า

 

“เราคิดอยู่ในใจตลอดเวลาว่าอยากจะเรียนในด้านอินทีเรีย การเรียนในด้านการค้าขาย บริหารจัดการอยู่ในคอร์สอยู่แล้ว จึงอยากเรียนด้านการตกแต่งภายใน โดยเฉพาะภาพศิลปะก็มีส่วนซึมซับจิตใจ เพราะเราเรียนอยู่ในแคลิฟอร์เนีย มีแกลเลอรี่เยอะเมื่อเดินดูแล้ว เกิดความรู้สึกว่าทำไมรูปมันสวยงามจัง ทุกภาพมันสวยจนต้องหยุดยืนดู แม้จะไม่ได้เรียนมาทางอาร์ตหรือพวกไฟน์อาร์ตนี่ไม่ได้คิดถึงเลย ที่หยุดยืนดูโดยที่รู้ว่าตัวเองนั้นซื้อภาพเหล่านั้นไม่ได้ก็ตาม ก็ได้แต่ชอบอาร์ตมาโดยตลอด มันจึงซึมซับมาด้วยการเห็น ก็ได้แต่ดูอย่างเดียว เจ้าของอพาร์ตเม้นต์ที่เราเช่าเขาอยู่ก็มีรูปศิลปะติดอยู่เต็มไปหมด เป็นคอลเล็คชั่น เรายืนดูเหมือนต้องมนต์สะกด มันสวยงามมาก รูปก็สวย บ้านก็งาม คิดเองคนเดียว พี่ชายก็ไม่เคลิ้มด้วย เราเคลิ้มไปคนเดียว(หัวเราะ)

 

“มีอยู่วันหนึ่งไปดูมิวเซียม ไปดูฝรั่งเขาจัดงานแสดงศิลปะ ตามหอศิลป์ในดาวน์ทาวน์ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีได้ดื่มด่ำกับงานศิลปะมาโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นยังแอบซื้อรูปมาเก็บไว้ที่บ้านที่ซานเดเอโก้เป็นร้อยๆ ใบ ซื้อมาตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แต่ไม่ใช่รูปศิลปินไทย เป็นรูปของศิลปินฝรั่งราคาตั้งแต่ 10 เหรียญไป 15 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซื้อมาจากหลายถิ่น ที่เราเดินท่องไปในอเมริกา ซื้อรูปอิงค์เจ็ต รูปก็อบปี้ไว้เยอะ ประเภทนัมเบอร์ที่ 1/200, 2/200, 3/300 พวกรูปมาร์คสเกล มันเป็นความชอบ เหมือนผู้ชายชอบสะสมนาฬิกา ไฟแช็ค แว่นตา ปากกา เราชอบเดินซื้อรูปคนเดียว ต่อรองเองเหมือนเด็กๆ บางภาพเป็นของฝรั่งฮิปปี้ เขาวาดรูปนำมาวางขายกับพื้นดิน กรอบมีหรือไม่มีไม่สำคัญ

 

“คนทำงานศิลปะโดยเฉพาะคนที่เป็นศิลปินนั้น เขาจะเขียนได้ทุกรูปแบบไม่จำเป็นต้องเขียนแนวตั้งเสมอไป การเขียนงานศิลปะเพื่อนำมาแสดง จะวางพื้นที่ไหนตรงไหนก็ได้ คุณค่าของงานศิลปะมันอยู่ที่อายุในการเขียน ศิลปะซื้อ 100บาทไม่เคยขายชิ้นละ50 บาท งานศิลปะยิ่งนาน ยิ่งแก่ ยิ่งแพง ยิ่งศิลปินที่มีชื่อเสียงวายชนม์ไปแล้ว มูลค่ายิ่งสูงเพราะเขาไม่มีผลงานออกมาอีกแล้วนั่นคือมูลค่าของงานเขียน ไม่ใช่การจัดแสดงที่พื้นแล้วถือว่าไม่ให้เกียรติกัน มันต่างกับศิลปินของคนฝรั่งต่างประเทศ ของเรามีวัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์มาตามกาลเวลา

 

“การวางรูปกับพื้นไม่ใช่หมายถึงฉันไม่เคารพคุณ ไม่ใช่รูปของคุณไม่มีมูลค่า ราคาก็มี คุณค่าก็มี ฝีมือก็บอกเอาไว้ แล้วฉันใดต้องอยู่เหนือหัวด้วย อะไรที่บอกฝีมือ ผลงานของคุณตำแหน่งหน้าที่ไม่ได้บอกว่าวางข้างล่าง 100 บาท วางข้างบน 1,000 บาทค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน คำนี้ยังใช้ได้ ถ้าคุณไปมิวเซียมที่นั่นเขาจะดิสเพลย์ จุดยืนจะมีสตอปไว้เลย ภาพนี้ใหญ่เท่านี้ ต้องยืนดูตรงนี้ มันจะมีจุดไว้เลย ในไทยยังเรียนไม่ถึงจุดนั้น อย่างงานอินทีเรีย ก็ออกแบบ แมชชิ่ง ดูเรื่องเฟอร์นิเจอร์ ดูแม้กระทั่งการย่อมุมเสา ดูตำแหน่งการวางภาพ เราต้องทำทุกอย่าง เพราะตอนเรียนเขาให้เราสร้างโมเดล ทุกคนต้องทำโมเดลเล็กๆ ต้องมานั่งตัดต่อเอง

 

“อยู่ที่นั่นเริ่มสะสมของเก่าด้วย กระทั่งกลับมาเมืองไทย พ่อมาเห็น พ่อตกใจมากเพราะมีของติดเรือมามาก ต้องเสียเงินภาษีนำเข้าเยอะมาก กลับมาเมืองไทยทำอินทีเรียให้กับเพื่อนที่รักกันอยู่ 2 หลัง ปัจจุบันนี้พี่ยังเป็นที่ปรึกษาด้านนี้อยู่ ทำด้วยความสนุกมากกว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็น

 

“ด้วยความที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา สร้างครอบครัวที่นั่น มีบุตรสาว 1 คน เรียนแล้วแต่งงานอยู่ที่นั่นถึง 31 ปี การที่เติบโตในสหรัฐอเมริกามากกว่าในเมืองไทย ทำให้เราไม่ค่อยเหมือนคนไทย ทางด้านความคิด ดูเหมือนการกลับมาเมืองไทยในครั้งนี้เป็นการกลับมาเพื่อชดใช้หนี้ของแผ่นดินแม่มากกว่า กลับมาเร็วกว่าที่แปลนไว้ว่าจะกลับมาตอนอายุ 60ปี แต่กลับมาเมื่อปีค.ศ.1996 ตอนอายุ 51 ปี ช่วงนั้นแบงก์ปิดเกือบหมด เพื่อนๆ หลายคนมีปัญหาเรื่องธุรกิจของไฟแนนซ์ รวมทั้งพี่ชายคนโตเป็น1 ใน 56 ไฟแนนซ์ที่ปิด ครอบครัวทุกคนอยู่ในนั้นหมด”

 

ทูตวัฒนธรรม

การเป็นทูตประสานงานและวัฒนธรรมไทย ของวอลท์ ดิสนีย์ เวิลด์ ประจำประเทศไทย มีความเป็นมาอย่างไรนั้น กุนซืออารมณ์ศิลป์ หยุดจิบกาแฟผ่อนคลายพลางเล่าเรื่องราวให้หายสงสัย

 

“เพื่อนๆ ของสามี เป็นข้าราชการระดับสูง บางคนเป็นนายกเทศมนตรี ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ของพลเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียทำให้เรารู้จักกับลูกท่านทูตหลายคน มีทั้งนักบริหารระดับแนวหน้า การที่เราอยู่ในสังคม เวลาเราเติบโตเราจะมีเพื่อนๆ อยู่ในแวดวงของผู้ว่าการรัฐฯ นายกเทศมนตรี เป็นสังคมอีกระดับหนึ่งที่อยู่ที่นั่น ก่อนกลับมาเมืองไทย เพื่อนสามี คือคุณไมเคิล เขาเป็นเบอร์ 2 รองจากบอสของ วอลท์ ดิสนีย์ เวิลด์ ที่รัฐฟลอริด้า อันนี้เป็นเฮดออฟฟิศ เป็นบริษัทแม่ที่ใหญ่มาก เพื่อนสามีที่จบจากมหาวิทยาลัยด้วยกันไปเป็นรองประธาน เขาบินมาทั่วเอเชีย มาจีน เนปาล อินเดีย ญี่ปุ่น แล้วมาที่เมืองไทย เผอิญเรากลับมาเมืองไทยพอดี จึงมีโอกาสโทรศัพท์คุยกัน แล้วนัดเจอกับเขา

 

“เขากำลังจะไปคุยกับรัฐบาลมาเลเซีย รัฐบาลเนปาลและสิงคโปร์ เขาจะเข้าไปช่วยประเทศที่มีปัญหาด้านทุนการศึกษา อยากช่วยนักศึกษาโดยรัฐบาลของเขาจะส่งเสริมให้เยาวชนเรียนฟรี โดยที่กระทรวงศึกษาธิการหรือทบวงมหาวิทยาลัยไม่สามารถจะช่วยให้เด็กเหล่านี้เข้าไปเรียนฟรีได้ แล้วทาง วอลท์ ดิสนีย์ มีโครงการช่วยเหลือในแถบเอเชียทั้งหมด 10 กว่าประเทศ ประเทศหนึ่งมีโควตา 60-100 คน เพื่อไปเรียนที่วอลท์ ดิสนีย์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่มาก เด็กพวกนี้จะเข้าไปทำงานในวอลท์ ดิสนีย์ จะคล้ายโครงการนักเรียนทุน AFS ได้ทุนไปเรียนฟรี

 

“ทีนี้มันเป็น Living Learning เด็กในโครงการที่จะไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เขาทำสำเร็จไปหลายประเทศ ก็มานั่งคุยกัน เขาก็สงสัยว่าทำไมประเทศไทยไม่มีตัวแทนส่งไปบ้าง ทั้งๆ ที่ตรงนี้มันเป็นโอกาส เขาก็คุมวีซ่า คุมปริมาณของเด็ก พอที่จะแบ่งโควตาให้คนไทยได้ ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยไม่มีโควตา แต่ทางวอลท์ ดิสนีย์ ไม่ได้เห็นประเทศไทยเลยว่าจะช่วยตรงนี้ เนื่องจากตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีภาครัฐบาลหรือกระทรวงอะไรเลยที่จะรับผิดชอบตรงนี้ อีกอย่างเมื่อเขาส่งข่าวมาทางสถานทูตแล้วรัฐบาลไทยเองก็ไม่เคยติดต่อกลับไปทางวอลท์ ดิสนีย์ ที่จะขอโควตาเด็กไปศึกษาต่อเลย และวอลท์ ดิสนีย์ เองก็ไม่รู้จักใครในประเทศไทย เผอิญพี่เป็นคนไทยที่ไปเติบโตอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่าคุณน่าจะทำ

 

“หลังจากที่ไปเยี่ยมพ่อเสร็จแล้ว ก็กลับไปอเมริกา เขาก็เชิญไปฟลอริด้า เพื่อเข้าไปศึกษาดูงานและร่วมประชุม 1คืนกับอีก 2วัน ต้องนอนโรงแรมภายในวอลท์ ดิสนีย์ ปรากฏว่าประเทศจีนส่งเยาวชนมามากที่สุด รองลงมาเป็นญี่ปุ่น เข้าไปเรียนกัน เราจึงเข้าไปดูวิธีการที่เด็กเขาเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย ของเขาใหญ่ทั้งเมือง เหมือนแดนเนรมิตบ้านเราในอดีต แต่แดนเนรมิตของเราเล็กนิดเดียว แต่ของเขาใหญ่โตมาก รูปแบบการทำงานในนั้น คุณจะเป็นเจ้าหญิงนิทรา คุณจะเป็นมิกกี้เมาส์ เป็นไมตี้เมาส์หรือเป็นอะไรในเมืองแห่งเทพนิยายของตัวแสดงต่างๆ ให้ไปทำมาเพื่อความบันเทิง

 

“เราจะเห็นขบวนพาเหรดของเหล่าการ์ตูนดิสนีย์ เขาจะสอนตัวนั้นอย่างไร ต้องศึกษาอย่างไร ทั้งวิธีต้อนการรับแขก วิธีเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของธีมปาร์คคืออะไร เหมือนกับการที่คุณเป็นคนไทย อยากจะเป็นเจ้าของแดนเนรมิต คุณทำธุรกิจนี้ได้ คุณต้องมีพื้นฐาน คุณจะฝึกเด็กอย่างไร ทั้งการแสดงบนเวที หลังฉากของวิธีการแสดงเป็นอย่างไร การจัดไฟ ห้องการเตรียมตัวแสดง อะไรต่างๆ เหล่านี้ เด็กพวกนี้ที่ไปจะมีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งหน้าเวทีและหลังเวที รวมถึงการแสดงเป็นตัวละคร การบริการที่ร้านแม็คโดนัลด์ วันนี้อาจจะถูกให้ไปขายไอศกรีม คุณต้องกดไอศกรีมเป็น บางคนไปขายหมวก หรือบูธขายของที่ระลึก เด็กทุกคนที่ไปจากทุกประเทศราว 6,000 คนจะได้รับการเรียนรู้ การบริการเป็นธีมปาร์คว่าหัวใจของวอลท์ ดิสนีย์ นั้นคืออะไร

 

“เราจึงบอกกับคุณไมเคิลไปว่า ถ้าจะให้ทำอย่างนั้นประเทศไทยคงไม่เข้าใจหรอก ถ้าจะให้ทำคุณต้องเตรียมเอกสารให้เสร็จ โดยจะเป็นอาสาสมัครให้ เขาจึงให้เราไปที่ฟลอริด้าเพื่อให้ไปเห็นของจริง เราเป็นตัวแทนที่จะเข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลไทย โดยทางสหรัฐอเมริกาเขาแต่งตั้งให้เป็นทูตประสานงานและวัฒนธรรมไทยของวอลท์ ดิสนีย์ ประจำประเทศไทย เขาตั้งขึ้นทันที หลังจากประชุมใหญ่เสร็จโดยมีประธานบอร์ดให้การยอมรับ สามีเราก็เป็นคนที่นี่และก็เป็นวิศวกรด้วย

 

“เมื่อเราไปคุยกับรัฐบาลไทยเสร็จแล้ว เขาก็จะเจียดโควตามาให้จากทั่วโลก ก็ขอคืนประเทศละ 10 คนมาแบ่งให้กับเด็กคนไทย65 คน ถือว่าเป็นประเทศเดียวที่เขาแต่งตั้งให้เป็นทูต ที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศอื่นๆ รัฐบาลเขาส่งเสริมหมด จากนั้นทางวอลท์ ดิสนีย์ ก็ทำคิว ทำวีซ่าให้เสร็จหมด เราไม่ต้องมานั่งเหนื่อย เราทำเพียงอย่างเดียวคือการคัดสรรเด็กที่เราต้องสัมภาษณ์เองทั้งหมด จากเด็กที่สมัครมาเป็นพันคน คัดเหลือ 65 คน

 

“เขาเชื่อมั่นว่าเรามีวิจารณญาณในการเลือกเด็ก ที่พร้อมจะออกมาต่อสู้กับโลกกว้างได้ โดยเด็กที่ไปจะมีโอกาสเลือกชั่วโมงที่จะเรียนใน ดิสนีย์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ภายในมีตึกกิจกรรม มีสนามเทนนิส สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอลให้เด็กได้เล่น วอลท์ ดิสนีย์ ออร์แลนโดมันไม่ใช่ใหญ่แค่อำเภอลาดพร้าวหรือสุขุมวิทเท่านั้น แต่มันใหญ่เท่าๆ กับกรุงเทพฯ จังหวัดเดียว เรียกว่าวอลท์ ดิสนีย์เวิลด์ ไม่ใช่วอลท์ ดิสนีย์แลนด์ นะ อันนั้นอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย จะเล็กลงมาหน่อย แต่ดิสนีย์เวิลด์ มันใหญ่ทั้งเมืองออร์แลนโด ขับรถเที่ยว 4 วันยังเที่ยวไม่หมดเลย

 

“มันน่าอัศจรรย์เห็นแล้วทึ่ง ซึ่งดิสนีย์เวิลด์ มันเป็นองค์กรที่รัฐบาลเขาส่งเสริมให้การสนับสนุน ส่วนกำไรของ วอลท์ ดิสนีย์ ที่ได้มานั้น นำไปช่วยพัฒนาชุมชน สร้างโรงเรียน ช่วยโรงพยาบาล ส่งเสริมเรื่องทุนการศึกษา เป็นการส่งเสริมไปทั่วโลก ทุกประเทศถึงยินดีที่จะทำให้ เพราะมันเป็นการดีดกลับมาจากผลกำไร สู่สังคม ตอนนั้นปี ค.ศ.1996-1997 ทำไปถึงปี ค.ศ.2000 เราได้รับโควตารับเด็กเพื่อไปทำงานแล้วเรียนฟรี เพื่อหนึ่ง ให้เด็กไปหาประสบการณ์ด้วยการทำงานกับวอลท์ ดิสนีย์ อาทิตย์ละ 30ชั่วโมง ตามกฎหมายแรงงานเพราะเป็นเด็กต่างชาติ สอง วีซา เราทำให้เสร็จเรียบร้อย สาม ทำงาน 1 ชั่วโมงได้ 5 เหรียญ 25เซนต์ ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่เลยในด้านการเงิน เรารับเด็กอายุ 16-26 ปี เด็กส่วนมากอยู่ในช่วงปลายๆ ไฮสกูลแล้ว กำลังเรียนอยู่หรือจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว มีประสบการณ์ 2 ปี

 

“สมัยที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกา พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นท่านชอบสูบซิการ์ ชื่นชมในการทำงานของท่านมาก พอมาทำโครงการนี้ เราต้องไปรายงานตัวเกือบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทำให้นึกถึงพลเอกชาติชาย เวลาทำงาน ท่านทำเร็ว ประสานงานเก่ง

 

“สมัยนั้นเราต้องไปกราบคุณชวน หลีกภัย ตอนนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ไปกราบคุณกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปกราบคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกือบทุกรัฐมนตรี ก็ว่าได้ เพื่อรายงานตัวแนะนำตัวกับ ฯพณฯ ท่าน ในฐานะที่เราเป็นประธานโครงการเยาวชนไทยไปศึกษากับวอลท์ ดิสนีย์ เวิลด์ ทำให้สนิทกับท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ สนิทกับอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่เป็นผู้ที่ให้พลังกับเรามาตลอด

 

“ตอนที่เป็นทูตนั้น เราส่งเด็กไทยไปศึกษากับวอลท์ ดิสนีย์ เวิลด์ ทั้งหมด 360 ชีวิต เด็กมหาวิทยาลัยไปเยอะมาก จากยอดสมัคร 6,000-7,000 คน รับเพียง 65 คนเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสหมด อย่าให้เขาขาดโอกาส ปีแรกทำแบบมวยวัด วันเดียวรับสมัคร 698 คน พอมาปีที่ 2 จึงขออาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอแบค ส่งกรรมการมาช่วย ตอนนั้นลูกชายของพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เป็นคณบดี ที่นั่น จึงเชิญกรรมการมาทั้งหมด 50 คน มาจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากกระทรวงการต่างประเทศ มาจากอธิบดีต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง สัมภาษณ์เด็กพร้อมๆ กัน 700-800 คน อันนี้มันเป็นการส่งเสริมพื้นฐานให้แก่เด็กไทยได้ไปเรียนรู้โลกกว้างให้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว” 

 

สาสน์ศิลป์สู่...โขลงช้างเผือก

ช้างเผือกมักจะอยู่ในป่าลึก ยากที่ผู้คนจะได้ยลโฉม หากไม่เข้าไปค้นหา นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขานำช้างเผือกออกจากป่ามาโชว์ตัวในเมืองหลวง กลางโรงแรมดังหรือห้างหรูมีระดับ ด้วยการขัดสีฉวีวรรณ แต่งเนื้อแต่งตัวประแป้ง ทาปาก แปลงโฉมเสียใหม่ อีกทั้งการเรียนรู้วงการศิลปะพร้อมกับเริ่มสะสมงานศิลป์ในเมืองไทยไปด้วย

 

“หลังประสบผลสำเร็จ จบจากการเป็นทูตฯ แล้ว เราก็กลับไปทำงานที่สหรัฐฯ ต่อ แต่เรื่องรูปมันยังฝังรากลึกตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน เดินผ่านแกลเลอรีต่างๆ ก็ไม่มีปัญญาเข้าไป เพราะกลัว แต่ก็แอบซื้อภาพพิมพ์ที่ดาวน์ทาวน์มาสร้างความแตกต่าง ซื้อมาโดยไม่รู้ รู้แต่ว่าชอบภาพนี้มาก ไม่ได้ชอบที่ตัวศิลปิน จะชอบเนื้องานมากกว่า อย่างการมองงาน เราก็ไม่รู้ว่าใครเขียน เรารู้จักปิกัสโซ โกแกง โมเนต์ มาเป็นสิบๆ ปี ก่อนที่จะเข้าไปมาศึกษา เราซื้อเพราะผลงาน ซื้อเพราะความชอบ

 

“การยืนดูรูปแต่ละรูปต้องใช้เวลา ไม่ใช่ดูเพียงแค่ 5 นาทีแล้วซื้อเลย เราต้องมองนานๆ มันจะเสพแบบซึมซับ ไม่ได้เสพเพื่อหาคำถาม ไม่ได้เสพเพื่อหาข้อผิดพลาด แต่เสพเหมือนมันดูดเข้าไป มันมีทางเลือกให้ มันมีสมาธิอยู่ในรูป เราจะได้สมาธิจากการเขียนรูป ตอนที่มาเป็นทูตวัฒนธรรม เราเริ่มรู้จักกับศิลปินไทย เริ่มจากคุณแนบ โสตถิพันธ์ ไปเยี่ยมถึงบ้านท่านเลย จากนั้นจึงเชิญท่านมาเป็นครูสอนวาดรูป พี่ไปดูหอศิลป์จามจุรี, หอศิลป์เจ้าฟ้า, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, หอศิลป์ศิลปากร, หอศิลป์เพาะช่าง, หอศิลป์ช่างศิลป์ ฯลฯ ช่างศิลป์จัดงานเอาท์ดอร์แบกะดิน ก็แอบไปซุ่มๆ ดูโดยไม่ต้องบอกว่าเราเป็นใคร แต่งตัวเรียบๆ ไม่ต้องสวมหมวก สาเหตุที่สวมหมวกเสมอจนเป็นเอกลักษณ์เพราะบ้านพี่อยู่บนภูเขา ติดกับทะเลลมมันแรง ลมมันจะตีหน้าจึงต้องสวมหมวก จึงติดมาถึงที่เมืองไทย สวมเพื่อปกป้องตัวเองมากกว่า ที่ออฟฟิศมีอยู่ 40 ใบ ที่บ้านอีก 100 กว่าใบ

 

“ศิลปินอีกท่านหนึ่งที่ชื่นชอบก็คืออาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ เราซื้อผลงานของท่านตั้งแต่ยังไม่รู้จักตัวท่านเลย สีน้ำเป็นสิ่งที่วาดยังไม่เป็น ซื้อแม้กระทั่งภาพของเด็กเพาะช่างกับพวกเด็กช่างศิลป์ที่เขาจัดงานที่มหาวิทยาลัย เด็กใหม่ๆ อย่างคุณรวิชญ์ เทิดวงส์แม่ของเขาก็เป็นเพื่อนกันกับเรา อาจารย์ทวี รัชนีกร อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อาจารย์อินสนธ์ วงศ์สาม ก็เป็นกรรมการอยู่ที่นี่

 

“ผลงานประติมากรรมไม้แกะสลักของอาจารย์อินสนธ์ที่ไม่ค่อยมีใครได้ แต่มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร เราเชื่อว่าฟ้าเปิดเพราะจิตเรามุ่งมั่นในการทำงาน เราไม่ใช่เป็นคนที่จัดงานศิลปะได้ด้วยสายอาชีพเหมือนการสะสมงานศิลปะของใคร เราไม่ได้สะสมเพราะชื่อเสียง เราสะสมเพราะชอบอย่างเดียว ถ้าไม่ชอบถึงคุณจะเป็นใครเราก็ไม่เอา ชื่อคุณไม่ได้บอกงานศิลป์คุณ แต่ผลงานเป็นตัวบ่งบอกว่าเราอยากได้ การจะซื้อรูปเราไม่ได้อ่านชื่อคน แต่จะดูที่ผลงานคุณ ดูตัวตนของเขาว่าอยู่ที่ไหน งานของคุณคืองานที่ฉันชอบ แล้วจะมาศึกษาคุณทีหลัง ว่าคุณเป็นใคร ตัวตนคุณจริงๆ เป็นใคร เอกลักษณ์ในการเขียนงานแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำ, สีน้ำมัน, ลายเส้น, เครยอง, สีอะครีลิก ฯลฯ มันบ่งบอกถึงตัวตนคุณอยู่ตรงไหน แต่งานคุณต้องมาก่อน เนื้องานคุณ ผลงานของคุณ สิ่งที่ฉันเห็นคือสิ่งที่ฉันชอบ แล้วมันจึงใช่

 

“นี่คือการเริ่มต้นของการซื้องานศิลปะ พี่ซื้องานศิลปะของศิลปินจนมารู้จักกับศิลปินเมืองไทยแล้วถึงเรียนรู้ว่า สิ่งที่เราสะสมงานศิลปะไว้ที่บ้านในต่างประเทศเกือบ 200 ชิ้นนั้น มันยังไม่ใช่สิ่งที่ชอบที่สุด จนกระทั่งเมื่อมาเจองานของศิลปินไทยที่นี่ พี่เห็นคุณค่า ไม่เข้าใจคำว่ามูลค่า เขาว่าซื้อรูปนี้เพราะคุณค่า คุณค่าของศิลปินไทยถูกมองข้าม การให้เกียรติยกย่องศิลปินไทยแทบจะไม่ค่อยมี มันถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด เพราะแค่ได้ยินชื่อคนเหล่านั้น

 
สีสันของชีวิต ความงามของจิตใจ