สุกรี เจริญสุข

สุกรี เจริญสุข

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งที่ประณีต งดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภท ต่างมีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป”

 

ลำน้ำนิ่งในสระสะท้อนอาคารทรงโมเดิร์นสไตล์ ปะทะเสียงเพลงโอเปร่าอันไพเราะลอยลมมา ประสานมิตรภาพ อัธยาศัยของผู้คน ทำให้เกิดความอิ่มเอมกับบรรยากาศรสนิยม เมื่อมาสัมผัสตัวตนของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข 
ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักปฏิรูปการศึกษาวิชาดนตรี ทำให้เข้าถึงแนวความคิดอรรถรสของดนตรีเป็นทวีคูณ

 

อาจารย์สุกรี เจริญสุข หรือ ดร.แซ็ก เกิดที่อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดามีอาชีพครูเป็นนักเลงเพลงบอก หรือศิลปิน ดนตรีพื้นเมืองของภาคใต้ อีกทั้งเป็นกวี เป็นนักเขียน สิ่งเหล่านี้เป็นจินตนาการในชีวิตที่ทำให้มีชีวิตชีวา จึงทำให้เขามีความคุ้นเคยกับดนตรีมาตั้งแต่วัยเยาว์ จากนั้นก็ดั้นด้นเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์ในอำเภอเมือง และเริ่มเล่นดนตรีกับวงโยธวาทิตของโรงเรียนจนได้เป็นหัวหน้าวง

 

เมื่อจบชั้นมัธยมก็มาเรียนต่อวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ จนกระทั่งดีกรีของความเป็นปราชญ์เริ่มเปล่งประกาย จึงศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จังหวัดสงขลา หลังจากเรียนจบราว ปี พ.ศ.2518 เขาก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม และใช้เวลาว่างเล่นดนตรีตามร้านอาหารย่านพัฒน์พงศ์และพัทยาในเวลากลางคืนเพื่อหาปัจจัยมาเป็นทุนเล่าเรียนหนังสือ โดยชื่นชอบการเล่นแซ็กโซโฟนเป็นพิเศษ

 

หลังจากเก็บหอมรอมริบได้ทุนทรัพย์พอสมควรจึงลัดฟ้าไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์ทโคโลราโดประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2521 และจบปริญญาเอกสาขาการเล่นและสอนแซ็กโซโฟน ในปี พ.ศ.2528 จากนั้นก็หันมาทำนิตยสารเกี่ยวกับดนตรี ชื่อ “ถนนดนตรี” เขายังเคยจัดรายการดนตรีคล้าสสิกทางสถานีวิทยุจุฬาฯ เปิดร้านซ่อมเครื่องดนตรีและโรงเรียนสอนดนตรีชื่อ Dr.Sax ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์

 

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยาลัยดนตรีแห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมดนตรี (ม.4-ม.6) จนถึงระดับปริญญาเอก มีอาจารย์จากต่างประเทศที่ชำนาญในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดโดยเฉพาะ จึงเป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนทั้งด้านแนวเพลงไทยและเพลงสากลทำให้เกิดมีความเข้มข้นของวัฒนธรรมอันกล้าแกร่ง

 

เต้นกินรำกิน

“ผมเป็นครูสอนดนตรี สอนปรัชญา สอนความคิดนักเรียน ผมเป็นครูสอนดนตรี ผมไม่เคยคาดหวังลูกศิษย์ว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงเขาเป็นอย่างที่เขาเป็น ผมเองก็อยากจะเป็นอย่างที่ผมอยากเป็น และผมอยากทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ผมอยากทำอย่างนี้ ผมถึงได้มาอย่างนี้ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ผมก็ไม่ทำ ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำ ผมเกิดมาในอาชีพข้างถนนเต้นกินรำกิน 

 

“แล้วทำไมอาชีพเรามันต่ำต้อยด้อยค่า ผมคิดว่ามันอยู่ที่คน คนในอาชีพเหล่านั้นจะทำให้อาชีพสูงหรืออาชีพต่ำ อยู่ที่คน ฉะนั้นอาชีพดนตรีในสมัยก่อนถูกมองว่าเป็นวิชาข้างถนน เต้นกินรำกิน เพราะคนในอาชีพเห็นว่าดนตรีมันเป็นของข้างถนน เต้นกินรำกินมีหน้าที่รับใช้เหมือนหนังสือในวรรณคดีไทยที่ว่า ‘อันดนตรีปี่พาทย์ตะโกนเพลง เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง แม้พวกกูผู้หญิงที่ในวัง มันก็ยังเรียนล้ำไปทำงาน’ เพราะฉะนั้น อาชีพดนตรีมันจึงเป็นอาชีพที่กระจอกๆ เหมือนไม่ต้องไปเรียนหนังสือหรอก

 

“แต่ขณะเดียวกัน ‘อันดนตรีมีคุณที่ข้อไหน ฤาใช้ได้ข้างแต่เที่ยวเกี้ยวผู้หญิง ยังสงสัยในจิตคิดระวิง จงแจ้งจริงให้สว่างกระจ่างใจ’สามพรานถามพระอภัยมณี พระอภัยมณีจึงตอบว่า ‘อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์’ แต่ถ้ามันดีจริงประเทศไทยมันคงมีความเจริญทางดนตรีไปนานแล้ว มันอาจจะไม่จริง มันอาจจะเป็นอุดมคติของสุนทรภู่ สุนทรภู่เป็นนักปราชญ์นักปรัชญาก็จริง แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี มันก็เป็นอุดมคติ

 

“เราหรือสุนทรภู่เป็นคนทำให้อุดมคติเหล่านั้นเป็นความจริง ผมว่าคนในอาชีพต่างหาก ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว อาชีพดนตรีมันสูงเพราะว่านักดนตรีทำตัวในอาชีพให้สูง ทำไมนักดนตรีฝรั่ง เวลามันไปไหน ทำไมมันเท่เป็นบ้าเลย เพราะค่าตัวมันแพงแล้วทำไมนักดนตรีไทย ค่าตัวมันกระจอกมาก ผมว่าอยู่ที่คนของอาชีพนั้น

 

สามัญสำนึกที่ถูกลืม

“สมมุติผมอยากจะไปกู้เงินที่ธนาคาร คนที่รู้จักผมไปกู้เงินมา เขาบอกว่าได้ จะกู้เท่าไรก็บอกไป แต่อาจารย์ต้องเอาทะเบียนบ้านทะเบียนสมรส เอาสูติบัตร แล้วหาข้าราชการซี 6 มาค้ำประกัน แล้วเอาที่ดินมาค้ำประกันอีก แค่นี้อาจารย์ก็กู้เงินได้ นี่แสดงว่าผมเป็นคนมีเกียรติ แต่เชื่อถือไม่ได้ ต้องเอาเอกสารมาค้ำประกัน แต่ถ้าผมมีอาชีพเป็นหมอ คุณหมอจะกู้เท่าไร ได้เลย อาชีพของหมอค้ำประกันตัวเองได้ มีเกียรติและเชื่อถือได้ แสดงว่าอาชีพดนตรีมีเกียรติ แต่เชื่อถือไม่ได้ มีคนปรบมือ แต่เขาไม่เชื่อมันต้องสร้างสิ่งเหล่านี้

 

“มีคนถามว่าคนไทยเก่งหรือเปล่า บางคนบอกว่าเก่ง บางคนก็บอกว่าไม่เก่ง ถามว่าแล้วนักดนตรีที่เล่นอยู่ในโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศไทย 200-300 โรงแรม ระดับ 5 ดาว พวกนี้ใครเป็นคนเข้าไปเล่น คำตอบคือฝรั่งชาวต่างชาติ แล้วเงินเดือนเท่าไร ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อเดือนต่อคน ไม่รวมค่าที่พัก ค่าซักรีด ค่าอาหารการกิน แล้วทำไมเขาไม่จ้างคนไทย 100,000 บาทมีนักดนตรีจากต่างประเทศที่กรมจัดหางานให้ใบประกอบวิชาชีพ มี 30,000 คน มีนักดนตรีที่เล่นได้เงินเดือนคนละ 100,000บาท ถ้า 30,000 คน ก็เท่ากับ 3,000 ล้านบาท

 

“ยุคประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ สำหรับฝรั่งประชาธิปไตยของเขาคือการทำให้เสรีภาพของคนมีขอบเขต คนไทยมีเสรีภาพที่ไม่มีขอบเขต ยกตัวอย่างเช่น ไฟเขียวไฟแดงของฝรั่ง ไฟเขียวคือไป ไฟเหลืองคือเตรียมตัวหยุดไฟแดงคือหยุด ไฟเขียวแบบไทยๆ แปลว่าไป ไฟเหลืองแปลว่าให้รีบๆ ไป ไฟแดงของไทยคือใครอยากไปก็ไป (หัวเราะ) เราก็เอาไฟเขียวไฟแดงมาเป็นแบบประชาธิปไตย แต่ใช้กับคนไทยไม่ได้ ที่ผมพูดมาทั้งหมดมันเป็นสามัญสำนึกของคนไทย แม้แต่สามัญมันก็ยังไม่สามารถสำนึกได้

 

“เมื่อปี พ.ศ.2532 ผมตั้งวงบางกอกแซ็กโซโฟน เล่นข้างถนน บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม ตรงข้ามสนามหลวง ทุกวันอาทิตย์มีนักข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งมาสัมภาษณ์ผม ถามว่าทำไมอาจารย์มาเล่นดนตรีอยู่ข้างถนน อ้าว แล้วทำไมเล่นไม่ได้ล่ะ เขาบอกว่าแปลก ผมก็บอกว่าคุณนั่นแหละแปลก คุณเป็นตัวแทนของสังคมไทยที่เห็นสิ่งที่ดีๆ ว่าแปลก แสดงว่าเห็นของไม่ดีเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับรถชนคนตายข้างถนน ไม่มีใครสนใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคุณลองไปสนใจเขาดู คุณจะเป็นคนแปลกขึ้นมาทันที

 

“อีกอย่างคนไทยบางคนไม่เคยภาคภูมิใจกับอาชีพของตนเองเลย ทำให้สังคมไทยทุกวันนี้วิ่งหาแต่สวรรค์กันหมด ถือกระเป๋าเจมส์บอนด์เพื่อไปทำงานที่อื่น แล้วทำไมไม่สร้างคนไทยให้พอใจทำงานตัวเอง สมมุติว่าที่นี่เป็นนรก ทำไมเราไม่สร้างนรกให้เป็นสวรรค์ล่ะ เราวิ่งหาสวรรค์ทั้งนั้น วิ่งจากนรกไปสวรรค์ แล้วที่นี่เป็นนรกแล้ว ถ้าผมไปด้วยล่ะ ผมก็ไปหาสวรรค์ ทั้งที่จริงผมไปหานรกใหม่ก็ได้ ถ้าที่นี่เป็นนรก เราก็ควรอยู่ที่นี่ เพื่อสร้างนรกให้เป็นสวรรค์”

 

คุณค่าแห่งความอบอุ่น 

“เมื่อก่อนเราคิดว่าชีวิตเราต้องการเงิน ต้องการเกียรติ ต้องการอำนาจ แล้วต้องการจบปริญญา วันหนึ่งเราไม่เคยมีเงิน แต่พออีกวันหนึ่ง เรามีเงิน ได้เงินเดือนเดือนละ 3,000 เหรียญ ราวปี พ.ศ.2526 เงินมันเยอะมาก ตอนนั้นเหรียญละ 25 บาท คนมันเคยจน แต่พอมันรวย เราทำตัวไม่ถูก แล้วเรารู้ว่ามันไม่ใช่เราแน่นอน แล้วเราจะไปจ่ายฟุ่มเฟือย ก็ไม่รู้จะไปจ่ายอะไร หกโมงเย็นเมืองมันปิดแล้ว เป็นเมืองเล็กๆ อยู่ที่รัฐไวโอมิง เมืองเอเวอร์ตัน เขตอินเดียนแดง คล้ายผีตองเหลืองบ้านเรา เหมือนไปสอนพวกระเหรี่ยงคอยาว ไม่มีใครอยากไป แต่รัฐบาลของอเมริกาเขาจ้างผมไป

 

“ผมคิดว่าอินเดียนแดงสอนผมเยอะมาก หนึ่ง อินเดียนแดงมีอาชีพทำลูก ลูก 1 คนรัฐบาลให้ 500 เหรียญต่อเดือน มีลูกเยอะได้เงินเยอะ เป็นรัฐสวัสดิการ เสร็จแล้วพวกนี้บางคนได้เงินมาก็จะเมาเหล้าทุกวัน หนังสือเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี ไม่ต้องมีอาชีพอะไรแล้ว คุณมีลูก 3 คน คุณได้ 1,500 เหรียญต่อเดือน ไหนจะตัวเอง ผัวหรือเมียก็ได้อีก อันนี้คือการทำลายเผ่าอินเดียนแดงทางอ้อม วงดนตรีผมที่นั่นมี 25 คน มันเมากันทั้งวง (หัวเราะ) ถามว่าผมอยู่เพื่อเขา หรือเขาอยู่เพื่อผม ผมมีความหมายแค่ไหน อายุผม 31-32 ปี จบปริญญาเอก มีเงิน มีงาน แต่ไม่มีความหมายกับชีวิตเลย

 

“ผมประทับใจอินเดียนแดง เขาสอนผมให้คิดได้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต สมัยผมเด็กๆ ผมหาครูดนตรีไม่ได้ ผมกลับไปเป็นครูดนตรีดีกว่า ผมคิดว่าผมยังมีความหมายต่อชีวิตผม มีความหมายต่อชีวิตเด็กๆ จึงกลับบ้านเลย คนจนอยู่อย่างจน ก็จะรวย คนรวยอยู่อย่างรวย ก็จะจน ความจนความรวย ความสำคัญอยู่ที่ไหน เรามีหัวใจ สมอง สองมือ จิตวิญญาณและเงิน ประเทศไทยให้ความสำคัญเงินมากกว่าสิ่งอื่นใด เงินเป็นพระเจ้า บางครั้งเงินเป็นพ่อของพระเจ้าด้วยซ้ำ เราลืมหัวใจ ลืมสมอง ลืมจิตวิญญาณหมด เราไม่เคยให้คุณค่าสิ่งเหล่านั้นเลย แล้วเอาทุกอย่างไปอยู่ที่เงิน

 

“ในที่สุดหาเงินได้ ได้เงินมา มันมีความหมายอะไร ไม่มีหัวใจ ไม่มีสมอง ไม่มีจิตวิญญาณ น่าเสียดายมาก ชีวิตผมกลับมาเป็นครูสอนโรงเรียนอนุบาลก็ได้ ผมอยากสร้างคน เราควรเอาพลังเราที่มีไปทำงาน ไม่ควรไปวิจารณ์คน ผมตัดสินใจเป็นครูที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ ผมเคยสอนที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม 4 ปีก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ พอมาสอนที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ อยู่มา 1 ปี 6 เดือน ผมทะเลาะตั้งแต่ภารโรงยันอธิการบดี

 

“ผมมาคิดว่าชีวิตเรา มันสมองเรา หัวใจเรา ไม่มีหน้าที่ไปทะเลาะกับคน เอาพลังเหล่านี้ไปสร้างงาน มีคนชวนไปอยู่จุฬาฯ ผมไม่ไปดีกว่า ผมอยู่บ้านสมเด็จฯ มันก็มีค่าไม่ต่างกับจุฬาฯ เป็นโรงเรียนเก่า เขามีบ้านของเขา ผมไปรื้อบ้านเขา รื้อเสร็จ ผมก็หมดแรง ระหว่างรื้อ ตะปูตำขาเป็นบาดทะยักตายคาที่ หรือระหว่างรื้อ เขาทะเลาะกับผม เขาแทงผมตายคาที่ มันก็มีแต่ตายกับตายเราควรจะเซฟพลังเรา ก็เลยไปทำงานที่มหิดลดีกว่า

 

“ถ้าเราไม่แน่จริง เราอาจจะสร้างอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราแน่จริง เราอาจจะสร้างได้ก็ได้ ฉะนั้นการมาอยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ผมเชื่อว่าหมอเป็นคนฉลาด อยู่กับความเป็นความตายของมนุษย์ หมอมีหัวใจ มีเมตตา มีคุณธรรม หมอตัดสินใจสุดยอด หากตัดสินใจผิดคือลงหลุม หมอตัดสินเฉียบขาดและตัดสินเดี๋ยวนั้น ไม่ได้ตัดสินด้วยความรู้ ด้วยอารมณ์ แต่หมอตัดสินใจด้วยหัวใจ ไม่ได้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยจะมีสตางค์หรือเปล่า ไม่มีบริบทสิ่งแวดล้อมเลย แต่ว่าจะอยู่ได้หรือไม่ได้ อยู่ที่มือผมแล้ว ไม่ใช่อยู่ที่มือหมอ

 

“การมาอยู่ที่นี่ หนึ่ง หมอมหาวิทยาลัยแพทย์มีเงินมากกว่าเพื่อน สอง หมอจิตใจดี สาม ตัดสินใจวิเศษ หมอลงทุนแพง ดนตรีก็ลงทุนแพง แต่เป็นการลงทุนแพงของโลกอนาคต คนมองไม่เห็น อาชีพหมอในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการซ่อมสุขภาพ ลงทุนสูง หากผมไปโรงพยาบาลซ่อมสุขภาพมาแล้ว อย่างเก่งก็ได้เพียง 99% ไม่มีสิทธิ์ได้ 100%

 

“เหมือนรถเสีย ซ่อมอย่างไรก็ไม่ได้100% มหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศทุกมหาวิทยาลัย ต้องการเปิดคณะแพทย์ เพราะเงินเยอะ และอาชีพหมอเป็นอาชีพความเป็นความตายของมนุษย์ คุณไปซ่อมสุขภาพ หมอบอก 10 บาท คุณก็ต้องจ่าย 10 บาทคุณไม่มีสิทธิ์โต้เถียงต่อรอง เพราะเป็นอาชีพมีเกียรติ เชื่อถือได้ มีอำนาจในการนำสูงมาก แล้วคนลงทุนชีวิตให้กับหมอ เพราะเป็นเรื่องอนาคตของชีวิต

 

“การเล่นดนตรีนั้นมีคนชื่นชอบจำนวนมาก เสียงปรบมือให้กำลังใจว่าเล่นดีจังเลย แต่มันไม่มีอนาคต แต่ให้ความอบอุ่น ไม่มีใครให้คุณค่ากับความอบอุ่นใจบริสุทธิ์ แต่ว่าเวลาเขาลงทุนเรื่องหมอเรียนหนังสือต่อหัวต่อคน 350,000-400,000 บาทที่รัฐบาลลงทุน แล้วสังคมศาสตร์หรือมนุษย์ศาสตร์ที่เป็นดนตรี เขาลงทุนอย่างมาก 70,000 บาท อย่างต่ำ 30,000 บาทต่อหัวต่อคนเมื่อการลงทุนต่างกันแล้ว พวกสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ มันเป็นปัจจุบันกับเป็นอนาคตไหม หมอนี่เป็นอดีต เราลงทุนกับอดีตสูงที่สุดในการศึกษา ไม่ลงทุนกับปัจจุบัน และลงทุนน้อยที่สุดกับอนาคต ในที่สุดประเทศก็อยู่กับอดีต

 

“เรามีอนาคตไหม ไม่มี เพราะคนที่เรียนไม่เก่งมาเรียนสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ คนฉลาดไปเรียนเรื่องโลกอดีต วิชั่นหรือจินตนาการจึงไม่มีเลย หน้าที่ผมก็คือทำอย่างไรถึงจะช่วงชิงคนฉลาดให้หันมาเรียนดนตรี ทำอย่างไรให้ดนตรีเป็นวิชาที่มีเกียรติเชื่อถือได้ ทำอย่างไรให้ดนตรีเป็นวิชาของนักปราชญ์ มันไม่ง่าย สมมุติว่าปัญหาของคน 99% คนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ 99%อยู่ในพื้นที่ของปัญหา เพื่อจะไปแก้ปัญหา รดน้ำพรวนดิน ให้ข้าว ให้น้ำ ปัญหามันถึงเติบโตไม่มีที่สิ้นสุด 99% มันโตขึ้นเรื่อยๆแต่มันมี 99 ส่วนตลอดเวลา เพราะคุณให้ความสำคัญกับปัญหามากเกินไป แต่ผมปล่อยปัญหาให้มันเหี่ยวแห้งอับเฉาไปเอง มันจะมีอยู่ 1% ผมไปอยู่ที่ 1% ที่ไม่มีปัญหา คุณหาเจอไหม ผมมายืนอยู่ที่ 1% ที่คุณเห็นในปัจจุบัน คือที่ๆ ไม่มีปัญหา เพราะผมอยู่ในที่ๆ ไม่มีปัญหา เมื่อไรก็ตามที่คุณหาที่ 1% ของคุณได้ คุณทำตรงนั้น แล้วผมเอาพลังของผมทั้งหมดลงไปสร้างงานมหาวิทยาลัยไทยสร้างคนออกไปหางาน มันจึงตกงาน สร้างคนออกไปหางานก็คืออยู่ในโลกอดีต เพราะงานมันมีอยู่แล้ว

 

“มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยอยู่ในโลกอนาคต ไม่เคยนำสังคมเลย เขาควรจะเปลี่ยนวิธีคิดว่าต้องสร้างคน ออกไปสร้างงาน เราต้องคุยกับคนที่เขาให้คุณ คนที่เขาชอบคุณ ผมไม่คุยกับคนที่มีปัญหา ผมจะคุยกับคนที่ชอบพอกันกับเราก็เหมือนกับห้องสมุด เมื่อห้องสมุดมีหนังสือเต็มไปหมด แต่ไม่มีหนังสือที่เราอยากได้ เราผิดหวังนะ เป็นความผิดของมหาวิทยาลัย ที่ไม่มีหนังสือ แต่มหาวิทยาลัยนั้นเมื่อมีหนังสือในห้องสมุดเยอะ แต่คนไม่ไป นั่นก็เป็นความผิดของคน

 

“ที่ผมสร้างวงซิมโฟนีออเคสตราขึ้นที่นี่ มีคนบอกว่าอาจารย์สร้างทำไม ผมก็บอกว่ามันเรื่องของผม คุณจะมาดูก็เรื่องของคุณ คุณไม่มาก็เรื่องของคุณ ผมทำวงซิมโฟนีไม่มีคนมาดู ผมวิเศษสุดนะ ผมนั่งดูคนเดียว มีที่ไหนในโลกที่มีซิมโฟนีส่วนตัวดู แต่ถ้าพวกคุณมาชมแล้วผิดหวัง นั่นเป็นความผิดของผมนะ คุณไม่มา เป็นความผิดของคุณ ผมทำดีแล้ว ถ้าเราของจริง เขาก็จะมา ถ้าเราของไม่จริงเขาไม่มาหรอก เราของปลอมของปลอมก็จะมาหาเรา เราของจริง ของจริงก็จะมาหาเรา เมื่ออยากทำ ตัดสินใจทำต้องทำด้วยความพยาม ความมุ่งมั่น ความพ่ายแพ้ ไม่มีใครทำให้เราพ่ายแพ้ได้ นอกจากเราแพ้เอง”

 

น้ำตาอาบแซ็กโซโฟน

 “มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนนั้นผมเข้าไปของบประมาณเพื่อสร้างตึก 158 ล้าน น้องๆ ที่เขาอยู่ในนั้น เขาเคยเห็นผมเล่นดนตรี เขาโทรมาบอกว่า ‘อาจารย์ เขาตัดงบประมาณสร้างตึกอาคารภูมิพลสังคีต อาจารย์ต้องทำอะไรสักอย่าง’ ผมจึงมาชวน อาจารย์สงัดภูเขาทอง ครูดนตรีไทย อายุ 72 ปี ซึ่งตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ผมชวนท่านไปสำนักงบประมาณด้วยกัน ผมหิ้วแซ็กโซโฟนไปด้วย เคาะประตูเดินเข้าไปในห้องผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เป็นกระจกบานเกล็ด ผมบอกกับท่านว่าผมจะเป่าเพลงให้ท่านฟังสักเพลง เขามองมาที่ผม แล้วถามว่า ‘คุณเป็นใคร’ ‘อย่าไปสนใจเลยว่าผมเป็นใคร ผมเป็นแค่ครูกระจอกๆ คนหนึ่ง

 

“เขาไม่รู้ว่าผมเป็นใคร แต่ผมรู้ว่าเขาเป็นคนตัดงบประมาณ ผมอธิบายชื่อเพลงพร้อมที่มาจากภาพยนตร์เรื่องอะไร เพลงที่ผมเป่าวันนั้น ผมร้องไห้ใส่แซ็กโซโฟน น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นเสียงแซ็กโซโฟน ผู้คนมายืนมุงดูเต็มไปหมด พอเป่าเสร็จ ผมก็บอกว่า‘ได้ข่าวว่าท่านตัดงบประมาณสร้างอาคารภูมิพลสังคีต’ ท่านบอกว่า ‘เปล่าค่ะ’ ‘ขอบคุณครับ ผมกลับแล้วครับ’ เป็นวิธีการของบประมาณที่ไม่เหมือนใคร (หัวเราะ)

 

สถาบันดนตรีของโลก

“ประเทศที่เน่าอยู่ในปัจจุบันเพราะคนมันไม่ดี การศึกษามันไม่ดี เราต้องสร้างคนดี ไม่มีวิธีอื่น ความรู้ของมหาวิทยาลัยไทยสถาบันการศึกษาของไทย กับความรู้ในมหาวิทยาลัยสถาบันของต่างประเทศต่างกันไหม ความรู้มันไม่ต่างกัน อะไรคือความต่างมันคือรสนิยมของดี บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไทยจืดชืด เชย ไม่มีเสน่ห์ ฉะนั้นคนในสังคมไทย จึงเป็นคนจืดๆ เชยๆ ไม่มีเสน่ห์

 

“เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเอง สังคมไทยบอกว่าเราดีขึ้นนะ เดี๋ยวนี้เราก็ดีขึ้นนะ อีกกลุ่มหนึ่งบอกเราดีกว่าที่นั่นที่นี่ อีกคนหนึ่งบอกว่าเราดีที่สุด ผมว่าดีขึ้นดีกว่า ดีที่สุดใช้ไม่ได้ ทำอย่างไรจะให้มีความรู้สึกว่าดีจังเลย ไม่ไปเบียดเบียนใคร เป็นความรู้สึกที่เป็นมิตรไม่ต้องไปสมานฉันท์หรือปรองดอง

 

“สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันสร้าง ความสำเร็จหรือชัยชนะ มันไม่ได้มาเพราะความสามารถและฝีมือ แต่มันขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจด้วย หัวใจคนมันไม่เท่ากัน การแพ้ชนะมันอยู่ที่ใจ คุณไม่ให้ผม คุณทนได้ทนไป แต่ผมไม่ยอมไม่คิดว่าต้องได้คือต้องได้ ไม่มีใครทำให้ผมแพ้ นอกจากผมยอมแพ้ อย่างเก่งก็ยืนฟุตเวิร์คเต้นต่อไป (หัวเราะ) ผมเคยทะเลาะกับการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลให้ทำนั่นทำนี่ ผมไม่ยอมทำ ผมชวนน้องที่คณะไปคุยกับเขา หากวันนี้ ถ้าเราเป็นมวย โดนชกนับ 8 ถึง 2 ครั้งหากน้องเป็นพี่เลี้ยงห้ามโยนผ้านะ ข้าจะยืนพิงที่มุมเชือก รอเสียงระฆังแค่นั้น ในที่สุดพวกนั้น เข้ามาแล้วไป มาแล้วออกไป 
เราต่างหากที่อยู่ อธิการบดีมาแล้วก็ไป เราต่างหากที่ยังอยู่ เราไม่อยากขึ้น เราไม่อยากลง แล้วเราก็อยู่เฉยๆ

 

“ในแง่ของดนตรี ผมคิดว่าที่นี่เป็นโรงเรียนดนตรีที่มีความสมบูรณ์ โรงเรียนหนึ่งของเอเชียและของโลก เด็กของเรามีศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์ไทย สามารถไปแข่งขันได้เหรียญทองรางวัลที่ 1 มาแล้ว ทุกปีทุกเทอม ทุกเดือน เด็กที่นี่ไปสอบเข้าที่ไหน คนเชิญให้คุณไปทั้งอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ยุโรป เยอรมนี แสดงว่าศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์เราสร้างได้ เมื่อก่อนเราไปเรียนดนตรี ดนตรีเราไม่พร้อม ภาษาเราไม่พร้อม เงินเราไม่มี วันนี้ดนตรีเราพร้อม ภาษาเราได้ เทคโนโลยีเราได้ เงินเรามี เราไม่กลัวใครบนเวทีโลก แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยมีอะไรที่สุดยอด ผมว่าสุดยอดทุกอย่าง ยกเว้นมีคนไทยบางจำพวกอยู่

 

“เรากำลังสร้างมิวสิกมิวเซียม ประมาณ 19,000 ตารางเมตร มิวสิกมิวเซียมเป็นตักศิลาของการศึกษาดนตรี ผมกำลังยึดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คนลาว เขมร พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ มาเรียนที่นี่ ซึ่งเขาก็มาแล้ว จีน คอสตาริก้าอเมริกา ก็มาเรียนที่นี่ เขามาหาความเป็นออริจินัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมิวสิกมิวเซียมเสร็จ ผมจะเปิดวิชาเวิลด์มิวสิกลาวมิวสิก ผมก็จะนำเอาโปรดิวเซอร์ลาว นำเอานักดนตรีลาวมาสาธิต เล่นให้ฟัง 10 วัน ผมให้นักเรียนทั้งโลก ลงทะเบียนเรียน100 คน หน่วยกิตละ 500 ยูโร 3 หน่วยกิต 1,500 ยูโรต่อ 1 วิชา หาที่อยู่ที่กินกันเอง เราก็จะมี 150,000 ยูโร ผมจะมีเงิน6-7 ล้านบาททันที 10 วัน ผมจ่ายให้โปรดิวเซอร์ลาวไปสัก 1 ล้านบาท ผมว่าเขารักเราตายเลย ภายใน 10 วัน เราไม่ต้องเซ็นMOU กับมหาวิทยาลัยใดเลย คุณอยากส่งนักเรียนมาเรียน มาเลย

 

“เราพยายามทำเรื่องกระจอกๆ ให้โลกรู้จัก เราเปิดวิชาดนตรี เขมรหรือประเทศอื่นๆ มาเลย เราเอาโปรดิวเซอร์เขามาสอน เราไม่ต้องไปแคร์ว่ามันจะยอมรับเรา หรือไม่ยอมรับเรา อย่าไปสนใจมัน คนยอมรับเท่านั้นที่จะมา คนไม่ยอมรับ ก็ช่างมัน เราทำในสิ่งที่ดีที่สุดของเรา แล้วคุณไปสนใจมันทำไมกับคนไม่ยอมรับ คุณไปให้ความสนใจบุคคลเหล่านั้นมากเกินไป มันจึงสำคัญ หากคุณไม่ให้ความสำคัญ มันก็ไม่มีความสำคัญ ผมสนใจสิ่งที่ผมทำ ผมสนใจคนที่มาชอบผม คนที่เห็นเราเป็นผ้าขี้ริ้ว เราก็เป็นผ้าขี้ริ้ววันยังค่ำ จะไปเปลี่ยนเขาทำไม จะมาบอกว่าเราเป็นพรมนะ มันไม่จริง การที่จะมองว่าเป็นผ้าขี้ริ้วหรือเป็นพรม อยู่ที่ทัศนคติทุกคนเราเปลี่ยนเขาไม่ได้ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ แล้วคุณไปสนใจคนชังทำไม โอกาสอยู่ที่คุณ

 

ดนตรีคือชีวิต

“ผมอยู่ที่นี่ ผมให้ทุกคนทำในสิ่งที่ชอบ ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่คุณชอบ ผมจะต้องชอบด้วย แต่ต้องไปในทิศทางและ เป้าหมายเดียวกันคุณทำเลย ผมคิดว่ามนุษย์ไม่เคยเกษียณจากงาน เกษียณก็ตาย เหมือนกับผักปลา คนบางคนนอนให้น้ำเกลือ ตายเลยดีกว่า ผมคิดว่ามนุษย์มีค่าอยู่ที่การสร้างงาน หากคนอยู่แล้วไม่สร้างงาน ก็เป็นภาระ ไม่มีประโยชน์

 

“ผมเองไม่มีความหวังว่าจะสร้างโน้น สร้างนี่ เพราะสิ่งที่ได้อยู่มันเกินความคาดหวังไปแล้ว ที่เป็นอยู่ปัจจุบันอันนี้ เป็นบวกหมดชีวิตผมในฐานะลูกชาวนา คนจน เรียนจบระดับปริญญาตรี ก็เกินความคาดหวังแล้ว ผมดีใจที่พ่อผมจน ความจนมันเป็นพลัง ผมต้องทำงานแลก เวลาทำงาน เหงื่อทุกหยดมันเป็นพลังมหาศาล มันมีเงิน มีหัวใจ มีสมอง สองแขนและจิตวิญญาณ 5 อย่าง&

ป่ายืนต้นสลับภูมิทัศน์ประติมากรรม มหาวิทยาลัยมหิดล