รณิษฐา จริตกุล

รณิษฐา จริตกุล

รณิษฐา จริตกุล ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์และผู้ก่อตั้ง อัลลัวร์ ฟิล์ม (Allure Film) บริษัทด้านโปรดักชั่นที่มีผลงานออกสู่ตลาดวงการสื่อในต่างประเทศมากมาย เธอคือผู้ได้รับความหมายของธรรมในชีวิต จากคนที่มองเห็นโลกแบบสุดโต่ง ใช้ชีวิตแบบไม่มีวันพรุ่งนี้ ความสุขคือสิ่งที่ขาดหาย แม้จะไขว่คว้าสักเท่าไหร่ ความสำเร็จที่ได้มาจึงไม่เคยพอ

 

“ตลอดมา เรามักจะถามตัวเองว่าความสุขคืออะไร เพราะสิ่งที่ได้มันว่างเปล่า จวบจนกระทั่งได้มารู้จักกับท่านแม่ชีศันสนีย์ (แห่งเสถียรธรรมสถาน) ตอนนี้ก็ 3 ปีมาแล้ว โดยเริ่มแรกเมื่อได้มีโอกาสได้สัมผัสกับท่านก็คิดว่าอยากทำอะไรให้ที่นี่ ท่านก็ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราก็บอกว่าเรามีความถนัดด้านศิลปะ ก็เลยกลายเป็นศิลปะบำบัดร่วมกับเด็กๆ นี่คือความสุขแรกเมื่อเราได้ร่วมบำเพ็ญประโยชน์ จากนั้นจึงเริ่มมีการจัดคอนเสิร์ต ‘ตั้งใจดี’ ร่วมกับ ป็อด โมเดิร์นด็อก และ นพ ภรชำนิ เพื่อสร้างห้องสมุดไอทีขึ้นมา”

 

นี่คือจุดเริ่มต้นในชีวิตอีกด้านของเธอที่เริ่มจากความสงสัยในหลักธรรม และต้องการที่จะหนีจากสังคมเดิมที่เป็นอยู่ จากเพียงแค่ต้องการพักใจ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือชีวิตใหม่ เธอเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่เคยฝังชิพของชีวิตไว้ว่า “ถ้าอยากจะมีความสุข 
เราควรจะต้องมีบ้าน มีรถ มีหน้าที่การงานดีๆ มีเงินอยู่ในธนาคารเป็นสิบๆ ล้าน” แต่แท้จริงแล้วก็กลับไม่มีความสุข จนได้มาค้นพบการไม่ยึดติดกับอะไร การเข้าใจชีวิตอย่างที่มันเป็น นั่นคือสิ่งที่เติมคุณค่าและสิ่งที่ขาดหายให้กับเธออย่างแท้จริง

 

“เรารู้ในความสามารถของตัวเอง รู้มาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นเวลาที่คิดจะทำอะไร ก็จะเต็มที่และสุดๆ กับมัน แล้วตัวตนเราจะใหญ่มากและมันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เข้าใจในธรรมะ ในช่วงแรกก็เลยมีปัญหาในเรื่องการทำงานกับคนอื่นๆ อยู่เหมือนกัน เพราะความเชื่อมั่นในความคิดในฝีมือของตัวเองมากเกินไป มันส่งผลให้ทำงานร่วมกับคนอื่นลำบาก บางครั้งก็มีความผิดพลาดที่เกิดมาจากความมั่นใจตัวเองเกินไป สิ่งที่ได้ก็คือการวิตกจริต ความคิดที่เปลี่ยนไป เพราะคนจะดูเราจากวิธีการทำงาน ผลของงาน บางทีเราไม่ต้องบอกตัวตนอะไรของเรามาก คนก็จะเรียนรู้เราจากสิ่งเหล่านี้ เมื่อธรรมให้นิ่งเท่านี้ก็จบแล้ว”

 

เธอเชื่อว่าในการทำงานทุกอย่างทำต้องมี Passion หรือ ความหลงใหล ความที่เธอหลงรักในเสน่ห์ของงานศิลปะมาตั้งแต่เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ แม้อายุเพียงแค่ 14 ปี แต่เธอก็ชัดเจนในความฝันและดึงดันที่จะเรียนรู้ในสาขาวิชาดังกล่าวในระดับปริญญาตรี จนถึงขั้นคุณพ่อของเธอเลิกพูดถึงเธอไป 3 ปีเต็มๆ แต่เธอก็มุ่งมั่นด้วยการยังคงใช้เวลาในการเรียนให้เต็มที่ ทำงานให้สุดๆ เดินหน้าสร้างผลงานด้านแอนิเมชั่นและภาพยนตร์ขึ้นมา จนวันที่ผลงาน Visual Graphic ของเธอถูกตัดสินให้ชนะเลิศจนได้รับทุนจากรัฐบาลของนิวซีแลนด์ในการทำหนังสั้น แล้วหนังสั้นที่ทำก็ได้รับรางวัลอีก

 

“หลังจากหนังสั้นที่เราทำไว้ได้รับหลายรางวัลขึ้น ก็เริ่มมีโพรไฟล์ มีคนสนใจงานเรามากขึ้น งานจึงมีเข้ามาเรื่อยๆ จนกลับมาเมืองไทย ดิฉันได้มีโอกาสได้ร่วมงานโปรดักชั่นในภาพยนตร์ของสตีเว่น ซีกัล ในตำแหน่งผู้ช่วยโพรดิ๊วเซ่อร์ถึงสองเรื่อง ได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท เมซอง ฟิล์ม แอนด์ โปรดักชั่น จำกัด มาโดยตลอด จึงได้ต่อยอดมาทำ อัลลัวร์ ฟิล์ม ขึ้นมาเพื่อรวมกลุ่มคนทำงานที่มีมุมมองและวิสัยทัศน์คล้ายกันมาร่วมกันสร้างสรรค์งานดีๆ

 

“สไตล์งานของเราส่วนใหญ่จะเป็นแนว Abstract และ Emotional จะออกเพี้ยนๆ ติสท์ๆ หน่อย ถามว่าทำไมถึงรับงานแต่ของเมืองนอกนั่นก็เพราะแนวงานสไตล์งานของเรานั้นเมืองไทยยังไม่เปิดกว้างพอ แม้ส่วนใหญ่สิ่งที่ได้มาคือพวก Consumer Products แต่เราก็ยังสามารถแฝง Art Direction ได้บ้าง แต่ใจจริงก็อยากทำเพียวๆ นะ เพราะคนดูจะได้เสพอะไรเยอะกว่าการรับรู้ว่าเราขายของ และยังเป็นการเปิดมุมมองให้งานศิลปะแขนงนี้กว้างมากขึ้นด้วย

 

“สำหรับหนังสั้นเรื่อง April ที่เราส่งเข้าประกวด แล้วได้ฉายเป็น Premier Life ที่คานส์เมื่อปีที่แล้วนั้น แม้จะไม่ได้รับรางวัลแต่ก็ถือว่าประทับใจมากๆ มันเป็นงานทุนต่ำที่ได้ถ่ายทำที่ลอนดอน ประสบการณ์ที่ได้จากงานชิ้นนี้มันให้อะไรกับชีวิตเราเยอะมากเป็นธรรมดาที่แรกเริ่มในการทำอะไรเราก็ย่อมคาดหวัง ถ้าไม่เป็นตามนั้น เมื่อก่อนเราอาจจะจิตตก แต่จริงๆ ความสุขเราเกิดแล้วจากสิ่งที่ทำ ดังนั้นเมื่อได้คิดและได้ทำ (ธรรม) แล้ว แค่นี้ก็อิ่มแล้วล่ะค่ะ แต่ก็ไม่ได้จะหยุดแค่นี้ เพราะเราคือกลุ่มคนคิดนอกกรอบ เรามีอิสระทางความคิดเยอะ เรามีลูกบ้า เรามองเห็นกรอบขอบเขตของงานศิลป์และผู้บริโภค แต่ก็พยายามที่จะเจาะกรอบแคบๆ ของเมืองไทยให้ทะลุให้ได้ แม้มันจะยากก็ตาม

 

“ถ้าให้นึกถึงเมื่อก่อน ถือว่าตอนนี้มีความสุขนะคะ ไม่ใช่เรื่องเงินทองหรือชื่อเสียงหรอก แต่เพราะเรารู้ว่าความสุขมันคืออะไร เราได้เปลี่ยนไป มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย เมื่อได้สัมผัสถึงธรรมะที่สอนให้เราเติบโตขึ้นทางความคิด เราทำดี คิดดี พูดดี เท่านี้ก็พอแล้วมันคือสิ่งที่ทำให้เราไม่ไหลไปตามกระแส ส่วนตัวมองว่าใครที่ยังหาตัวตนของตัวเองไม่เจอไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราจะเลือกทางไหนเพื่อไปสู้จุดหมายของเรานั่นล่ะคือสิ่งที่สำคัญ”

 

Know Her

• ด้วยความรักในศิลปะ เธอจึงมุมานะศึกษาจนจบปริญญาตรีด้านภาพยนตร์และมัลติมีเดีย ที่  Otago School of Art จากประเทศนิวซีแลนด์

• หลังจากได้รับทุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ เธอได้สร้างหนังสั้นขึ้น 2 เรื่องคือ Teleprompter และ The Cloud Forest ซึ่งทั้ง 2 เรื่องก็ได้รับรางวัลที่ 2 ถึงสองปีติดกันใน Otago Film Festival ปี2001-2002 ได้ออกฉายในอีกหลายประเทศ

• เธอเคยร่วมงานกับทีมงานของ สตีเว่น ซีกัล ในภาพยนตร์เรื่อง “Belly of the Beast” ใน ปี 2003 และ “Into the Sun” ปี 2004

• แม้ อัลลัวร์ ฟิล์ม จะเป็นบริษัทน้องใหม่ แต่ด้วยความสามารถของทีมงาน ทำให้เธอได้มี โอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทโฆษณาชั้นนำอย่าง Lowe Worldwide และ Ogilvy & Mather

• เธอได้มีโอกาสโชว์ผลงานหนังสั้นทุนต่ำชื่อเรื่อง April ที่เมืองคานส์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553

ดังนั้นเบญจเพสจึงอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป