ขาวผ่อง สิทธิชูชัย

ขาวผ่อง สิทธิชูชัย

1.

28 ปีที่แล้วเขาคืออดีตนักมวยสากลสมัครเล่นของประเทศไทยที่คว้าความฝันด้วยการเป็นเจ้าของเหรียญเงินคนแรกจากการแข่งขันชกมวยในโอลิมปิก ครั้งที่ 23 ที่นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2527 เขาคือความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศในสมัยนั้น 

“พ่อผมเป็นคนที่ชอบมวยมาก แต่พอผมขึ้น ป.4 ท่านก็เสียชีวิต จากเริ่มแรกที่ผมไม่ชอบมวยเลย พอท่านเสียชีวิตก็เริ่มลำบากแล้ว ขาดเสาหลัก แม่มีลูก 6 คน ผมเป็นคนที่ 3 พี่น้องก็เริ่มไปคนละทางเพื่อดิ้นรนหาทางหาเงิน เวลาผมไปโรงเรียน ถ้าไปถึงก่อนก็ไม่กล้าเข้าแถว ต้องรอเขาเข้าห้องกันก่อน ต้องแอบ ไม่อยากไปยืนชักธงชาติ ผมอายที่เสื้อมันขาด มันคือภาพที่ผมจำแม่นเลย แล้วก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมคิดว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตมันดีขึ้นกว่านี้ ก็เลยคิดว่ามวยนี่แหละคือทางออก”    

ขาวผ่องเกิดมาจากมวยไทย แม้ว่าการเข้าไปอยู่ในโลกของวงการมวยครั้งแรกๆ เขาจะได้รับการฝึกซ้อมกันแบบตามมีตามเกิดจากการขึ้นชกครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปีในเวทีของงานวัดใกล้บ้าน ที่จังหวัดระยอง ในชื่อ ทวีศักดิ์ ลูก ฝ.ล. (มาจากชื่อหมู่บ้านฝากลิง) เมื่อชกครั้งแรกเขาสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ อาจเป็นเพราะความไม่พร้อมของคู่ชกที่ทำให้เป็นลมล้มพับไปเองก็ตามแต่นั่นก็เท่ากับฟ้าลิขิตให้เขาได้กลายเป็นผู้ชนะในอาชีพนักมวยไปแล้ว  

“หลังจากครั้งนั้นก็ติดใจว่าชกมวยนี่มันดีนะ เจ็บก็ไม่เจ็บ เหนื่อยก็ไม่เหนื่อย ได้เงินอีกต่างหาก ตอนนั้นผมชนะได้เงินมา 90 บาทดีใจมาก ให้แม่ 70 บาท เก็บไว้ใช้เอง 20 บาท กำเงินไว้ในมือจนแบงค์เปียกเลย ไม่อยากใช้

“พอติดใจก็เริ่มชกอีกครั้งในงานวัดอีก ก็เริ่มใช้ชื่อ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย เพราะเข้ามาอยู่ค่ายสิทธิชูชัยของครูชีพ ชูชีพ ชัยมงคลเนื่องจากครูคนเก่าของผมท่านไปบวช ส่วนที่มาของชื่อขาวผ่องนั้น ก็เพราะช่วงนั้นมีนักมวยของบางแสนตัวดำกว่าผมอีก แต่เขาชื่อขาวนวล ครูท่านก็เลยตั้งชื่อให้ผมว่า ‘ขาวผ่อง’

“สไตล์การชกของผม ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเป็นสายบู๊ ที่ชกดุเดือด ถอยหลังไม่เป็น ชกแล้วคนดู เซียนมวยชอบ ชก 20 ครั้งแรกผมชนะน็อก 19 ครั้ง ชนะคะแนนแค่เพียง 1 ครั้ง ทั้งหมดเป็นการชกในงานวัดของจังหวัดระยองเท่านั้น ตอนนั้นผมเป็นดาวรุ่งเริ่มมีนักมวยมาท้าชกเดิมพันกับผมพอสมควร เดิมพันมากที่สุดในสมัยนั้นก็ข้างละ 2 แสนบาท ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงปี 2517 ผมชกกับชาญน้อย รุ่งฤทธิ์ สรุปว่าเขาแพ้ ผมก็เลยมีชื่อติดอันดับ 10 ในตารางแชมป์ของเวทีมวยลุมพินี 

“จากนั้นผมก็เข้ากรุงเทพฯ เพื่อชกครั้งแรกในปี 2518 ชกกับสิงห์ศึก ส.รูปสวย นั่นคือการแพ้ครั้งแรกในชีวิตของผม เพราะผมหมดแรงเนื่องจากต้องเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ-ระยองตลอดทั้งอาทิตย์ก่อนขึ้นชก ถ่ายรูปบ้าง แถลงข่าวบ้าง แล้วก็กลับไปซ้อมที่ระยอง ทำให้ผมเหนื่อยกับการเดินทางมาก 

“หลังจากนั้นผมเริ่มปรับตัว ก็ชกชนะไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้แชมป์ของเวทีมวยลุมพินีเมื่อปี 2521 และได้เป็นรองแชมป์อันดับ 1ของเวทีมวยราชดำเนิน ผมสามารถเอาชนะคนที่เป็นดาวรุ่งและเป็นแชมป์ในสมัยนั้นได้หลายๆ คน”  

2.

จากการชกครั้งแรกที่ได้ 90 บาท เรื่อยมาจนได้เงินพันเงินหมื่น เงินแสน เหมือนขึ้นหลังเสือแล้วจะลงเป็นเรื่องยาก ยังไม่นับว่ารางวัลที่ได้ก็สามารถเติมเต็มความสุขของครอบครัวได้ พอได้ค่าตัวมากขึ้น เขาจึงเริ่มคืนกลับสู่ความกตัญญูต่อมารดา เปลี่ยนฝาบ้านจากทางมะพร้าว หลังคาสังกะสีโบราณ กลายมาเป็นไม้และวัสดุที่มั่นคง

“พอชกกับหนองคาย ส.ประภัสสร ได้ค่าตัว 1.2 แสน แบ่งกับทางค่ายก็เหลือ 6 หมื่น ซึ่งมันมหาศาลสำหรับผมสมัยนั้น ผมก็เอาเงินมาทำบ้านให้แม่ ต่อมาหลังจากได้แชมป์ปี 2521 ค่านิยมของคนดูก็เริ่มไม่นิยมดูมวยใหญ่แล้ว เพราะเขาว่าต่อยกันไม่สนุก ผมก็เลยคิดว่าเราคงถึงเวลาเบนเข็มตัวเองแล้ว 

“ช่วงนั้นผมยังอยู่ระยอง ได้เห็นเครื่องบินที่มันบินผ่านไปลงอู่ตะเภาบ่อยๆ ก็มีความฝันว่าทำอย่างไรถึงจะได้นั่งเครื่องบิน จะให้ซื้อตั๋วนั่งนั้นมันจิ๊บๆ เกินไป ถ้าจะได้นั่งมันต้องนั่งในนามตัวแทนของประเทศไทย มีธงไตรรงค์ติดอก อย่างนั้นมันคงจะโก้น่าดู 

“ผมจึงหันมาต่อยมวยสากลสมัครเล่น จนมาขึ้นชกชิงแชมป์มวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 ขึ้นชกในนามโอสถสภาแต่ครั้งนั้นไม่ได้เหรียญทอง แพ้รอบตัดเชือกกับประทีป บุญถม แพ้เพราะหัวชนกันแตก แต่มวยสากลฯ มันไม่มีเสมอ ผมจึงแพ้ก็หยุดไปปีหนึ่ง 

“จนกระทั่งปี 2524 มีการชิงแชมป์มวยไทยสากลฯ ครั้งที่ 8 ผมขึ้นชกแล้วชนะติดต่อกันถึงสามสมัยรวด ปี 2525 ผมเองก็ได้สิทธิไปแข่งชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นการขึ้นเครื่องบินครั้งแรกในนามของตัวแทนประเทศไทยอย่างที่เคยฝันไว้ทำเอา 3 คืนก่อนหน้านั้นผมนอนไม่หลับเลย ตื่นเต้นมาก 

“พอไปถึงก็ได้ชกจนเข้าชิงชนะเลิศ กับ คิม ดอง คิม เจ้าภาพ ผมจำได้แม่น เพราะคนนี้ผมชิงกับเขาสามครั้งก็แพ้ทั้งสามครั้ง ผมโดนต่อยนับห้าครั้ง ผมไม่กลัวนะ แต่สู้แรงเขาไม่ได้ ฝีมือไม่แพ้ แต่แพ้แรง แพ้เรื่องการฝึกซ้อม วิทยาศาสตร์การกีฬาเราไม่มี”

3.

ทุกครั้งที่มีโอกาส เขาจะพูดว่าวงการมวยบ้านเราควรได้รับการสนับสนุนในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อที่จะได้มีทักษะที่ถูกต้อง เพราะแค่มีแรง เตะเป็น ต่อยเป็น แค่นั้นไม่พอ นักมวยต้องรู้ว่าการซ้อมเตะเป้าหรือการซ้อมต่อยกระสอบนั้นจะได้อะไรบ้าง เหมือนอย่างต่างประเทศที่เอาจริงเอาจังและพัฒนาอยู่เสมอ 

“ความยากของการก้าวไปสู่การเป็นสุดยอดนักมวยไทยก็คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักมวย การเตรียมตัวให้พร้อม เราต้องทำสองอย่างนี้ให้ได้ มันยาก แต่มันชนะได้ถ้าหัวใจเราสู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมชกมวยคิดอย่างเดียวว่า คู่ต่อสู้หน้าตาไม่เหมือนพ่อเราเราไม่กลัวใครทั้งนั้น ส่วนการก้าวไปสู่นักมวยเหรียญเงินโอลิมปิกก็คือ นอกจากเรามีเป้าหมายของเราแล้ว เราก็ต้องมีความฝันของเราด้วย ไม่ว่าจะวิธีการอะไร เราก็ต้องตามฝันนั้นไปให้ได้ นักกีฬาคนอื่นอาจไม่เหมือนผม แต่ฝันของผมคือ หมู่บ้านนักกีฬา

“คนอาจไม่รู้ว่ามันดีอย่างไร ที่โอลิมปิกพอเข้าไปแล้วไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาจากไหนก็เท่าเทียมกันหมด ไม่มีแบ่งชนชั้น เชื้อชาติและด้วยความเป็นนักกีฬาเขาจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีน้ำใจต่อกันมาก มันแตกต่างกับคนทั่วไปภายนอกที่คอยเอารัดเอาเปรียบกัน มันสมบูรณ์แบบมาก บรรยากาศเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นเฉพาะกับโอลิมปิกเท่านั้น เพราะมันเป็นการรวบรวมนักกีฬามากที่สุดจากทั่วโลก เราได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง มันเป็นมิตรภาพที่ดีงามมากที่สุดที่เคยเจอมา     

“อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปก็ต้องบอกว่าผมเกือบไม่ได้ไปโอลิมปิก ทั้งที่เคยผ่านซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์อะไรมาหมดแล้วก็ตามเพราะมันเป็นเรื่องของระบบพวกพ้องในสมัยนั้น ผมมารู้ทีหลังว่าเขาไม่อยากเอาผมไป เพราะคิดว่าผมคงสู้พวกยุโรป พวกอเมริกาไม่ได้ ถ้าผมไปกลัวจะเสียโควต้าคนติดตาม 

“ช่วงนั้นที่รู้ว่าจะได้ไป ผมเก็บตัวฝึกซ้อมหนักมาก อยู่ที่เขาสามมุข หนักมากจนเรียกได้ว่าเห็นลิงยังมองว่าสวยได้เลย เก็บตัวอยู่3-4 เดือนมีข่าวว่าสมาคมไม่เอาผม จะเอานักมวยอีกคนหนึ่งไป ผมก็เกิดน้อยใจ กลับบ้านเลย ตอนนั้นอายุ 25 ปีพอดี กลับบ้านบอกแม่ว่าเลิกแล้วมวย บวชดีกว่า จะได้แต่งงาน แม่ก็ดีใจที่ลูกชายจะบวชให้ ก็จัดงานอะไรเตรียมพร้อม 

“อยู่บ้านได้เกือบ 10 วัน ก็ได้รับโทรเลขจากป๋าไหน (ร.ท.ไฉน ผ่องสุภา) ว่า ‘ขาวผ่อง กลับกรุงเทพฯ ไปโอลิมปิก’ เท่านั้นก็บอกแม่ว่าจะต้องไปแล้ว เข้าใจความรู้สึกแม่นะ ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร ให้ไปชกเสียก่อน ผมซึ้งน้ำใจท่านมาก เพราะทราบดีว่าท่านไม่ชอบให้ชกมวย แต่ท่านก็ไม่เคยห้าม นี่พอจะบวชก็ไม่ได้บวชอีก

“จากนั้นก็มารู้ทีหลังว่าเบื้องหลังนั้นป๋าไหนได้ต่อสู้เพื่อเรียกสิทธิผมกลับคืนมาให้ได้ทุกอย่าง จนในที่สุดสมาคมก็ยอมแพ้ เรียกได้ว่าตอนนั้นใครก็หาว่าผมไปในฐานะตัวประกอบ เขาจะมีโควต้าว่านักกีฬาไปกี่คน เจ้าหน้าที่ติดตามได้กี่คน ผมไปเพื่อเติมเต็มในการเอาเจ้าหน้าที่ไปให้ได้มากที่สุด 

“พอผมชกครั้งแรกชนะอินเดีย ครั้งที่สองผมชนะเคนย่า สมัยนั้นผลคะแนนจะอยู่ที่ปากกา นักมวยเคนย่าชกยากที่สุด เพราะเขาจะกลิ่นตัวแรงมาก ผมคลุกวงในไม่ได้ ผมก็แก้โดยการเอาน้ำมันมวยทาตัว เอากลิ่นกลบ จนชนะได้ คนก็เริ่มหันมาสนใจผมมากขึ้น” 

4.

ก่อนหน้านั้นเขาได้พบเจอกับหลากคำที่สะเทือนใจ แต่กลับเลือกที่จะเก็บถ้อยคำเหล่านั้นเป็นเชื้อไฟไว้คอยโหมกระพือให้แรงบันดาลใจลุกโชติช่วง นอกจากคำว่า “ไม่แพ้” ที่เขาจะต้องท่องไว้ในใจ อีกหนึ่งคำที่ทำให้เขาไม่ลืมก็คือ ‘นักมวยตัวประกอบ’ 

“มีหนังสือฉบับหนึ่งเขียนว่า ‘นักกีฬาไทยที่จะหวังได้ก็มีมวยสากลสมัครเล่นเท่านั้น และนักกีฬามวยสากลฯ ที่จะหวังได้ก็มีแต่...นอกนั้นคือตัวประกอบ’ ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในรายชื่อของตัวเก็ง ผมตัดคำนี้เก็บไว้เลย เพื่อเตือนใจตัวเอง พอผมชนะอังกฤษผมก็เอากระดาษแผ่นนี้นี่แหละออกมาเลยแล้วบอกหัวหน้าตอนนั้นว่า ‘หัวหน้าครับ ใครเคยบอกไว้ว่าผมเป็นตัวประกอบ คอยดูนะผมจะกลายเป็นดี๋ ดอกมะดันให้ได้’ (ช่วงนั้น ดี๋ ดอกมะดัน ได้รางวัลตุ๊กตาทอง ตัวประกอบยอดเยี่ยมพอดี) 

“หลังจากนั้นผมก็ต่อยกับเปอโตริโก้ ถือว่าเป็นไฟท์ที่กดดันมากที่สุด ตอนนั้นยอมรับว่าผมต้องแบกภาระความรู้สึก ความหวังอะไรไว้เยอะมาก แต่พอผลออกมาชนะ ทุกอย่างมันก็โล่งมาก

“พอมารอบตัดเชือกมาเจอโรมาเนียก็ชนะมาเจอเจอร์รี่ เพจ จากอเมริกาเจ้าภาพ ตอนแรกผมคิดว่าเขาไม่เท่าไหร่ ใครๆ ก็คิดว่าผมชนะแน่นอน ความกดดันเริ่มมาอีกแล้ว พอจะเริ่มชก ซึ่งเป็นวันที่ 11 สิงหาคม ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของที่นี่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารได้ติดต่อไปยังทีมงานของเราว่าต้องเอาเหรียญทองกลับไปให้ได้ เป็นที่ปลาบปลื้มใจและเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง 

“พอสิ้นเสียงระฆัง ผมเดินหน้ารัว สาวหมัดใส่อย่างเดียวเลย แต่ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ด้วยแรงเชียร์จากฝ่ายเจ้าภาพรอบสนาม ด้วยความรู้สึกหลายๆ อย่าง ปรากฏว่าผมแพ้ แต่ผมก็ยังภูมิใจนะว่าจากร้อยยี่สิบกว่าของโลก เราได้ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สามสิบสามของโลก ตอนรับเหรียญเงิน มันตื้นตัน มันเต็มไปทุกความรู้สึกที่อธิบายได้ยาก 

“ตอนนั้นมันเหมือนฝันนะ ผมได้ไปออกรายการโทรทัศน์เกือบทุกรายการ ได้เป็นพระเอกหนัง ได้รับโล่รางวัล เกียรติยศต่างๆชีวิตช่วงนั้นมันวุ่นวายมาก แต่ต้องยอมรับว่าเงินอัดฉีดอะไรนั้นไม่เหมือนสมัยนี้หรอก ถ้าเทียบกันนักกีฬาสมัยนี้ได้อัดฉีดกันเยอะมาก ตอนนั้นผมได้รางวัลเป็น บ้าน 1 หลัง เงิน 1 ล้าน  ช่วงนั้นสาวๆ ตรึม ใช้เงินเยอะมาก ลืมตัว ใช้ชีวิตเสเพลสุดๆ 

“ผมใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ 5 ปี คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ก็ให้โอกาสผมเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริษัท โอสถสภา จำกัดในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำแผนกกิจกรรมพิเศษ ผมเริ่มคิดได้ว่าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เมื่อรู้ตัว ผมก็ลด ละ เลิก ชีวิตก็เริ่มดีขึ้น แล้วเมื่อมาเจอภรรยาผม ก็ยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตครอบครัวผมมีความสุขมาก เราส่งเสริมซึ่งกันและกันจนถึงทุกวันนี้ 

“ปัจจุบันหน้าที่หลักๆ ของผมก็คือฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด บริษัทโอสถสภา จำกัด และเป็นผู้บริหารทีมฟุตบอลของบริษัทด้วย คือ ทีมโอสถสภา แม้จะไม่ได้มาจากความถนัดเริ่มแรก แต่ผมก็พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนา เพราะเมื่อผมมาอยู่ตรงนี้อาจมีมุมมองต่างๆ จากลูกน้องที่ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในความสามารถ ซึ่งผมก็ต้องพิสูจน์ให้พวกเขาเห็น เพราะเขาจบปริญญาตรี กับผมที่จบแค่ ป.7 เท่านั้น

“อยากฝากถึงนักมวยทุกคนว่าต้องมีสติ ให้รู้เท่าทันต่อสิ่งยั่วยุ ลาภ ยศ สรรเสริญ สังคม ต่างวิ่งเข้าหาเราเมื่อเรามี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหมด มักจะมองหาใครไม่เจอจริงๆ ผมเจอมาแล้ว 28 ปีที่ผ่านมาเวลาทุกนาทีมันมีค่าตรงที่ได้สอนอะไรผมมาเยอะมาก” 

จากเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีเรื่องราวฝังใจ