นนทรีย์ นิมิบุตร

นนทรีย์ นิมิบุตร

“สำหรับผม หนังมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือหนังที่เข้าไปหาคนดู คือนั่งสบายๆ ยิ้มหัวเราะ อย่าง หนูหิ่น อีกประเภทหนึ่งคือหนังที่รอเราเข้าไปหา อย่างของคุณ เป็นเอก รัตนเรือง หรือ คุณ เจ้ย (อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล) คือคุณต้องคิดตามแต่ถ้าคุณนั่งอยู่เฉยๆ มันจะไม่สนุก แต่หนังของผมเป็นประเภทที่ 3 คือเป็นการผสมกัน คุณต้องสนใจมันด้วย หรือนั่งอยู่เฉยๆ เป็นการติดต่อสื่อสารทั้งสองทาง หนังของผมจึงเป็นลักษณะนี้

 

“สิ่งที่โชคดีที่ผมได้อยู่ในวงการภาพยนตร์ก็คือการได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่เคยมีใครบอกว่าไปทำหนังโป๊เรื่องนี้มาหน่อยแล้วให้เงินมา คือไม่เคยมีใครให้ใบสั่งแบบนี้ หนังทุกเรื่องจึงเกิดจากการอยากรู้อยากเห็นให้มันออกมาบนแผ่นฟิล์ม”

 

การได้ผ่านประสบการณ์คนทำหนังมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้วันนี้เขามองหนังไทยในอีกมุมมองหนึ่งว่า เริ่มเข้าสู่ภาวะสุญญากาศที่จะกลับไปเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยจะมีคนทำหนังขนาดเล็กที่ใช้งบประมาณน้อยมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของงานลดลงด้วย

 

“ภาวการณ์ของหนังไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา มันไม่นิ่ง ทำให้ความเสี่ยงของคนทำหนังสูงมาก เพราะเราไม่ใช่ปัจจัยที่ 5เราเป็นปัจจัยที่ 100 ถึง 200 คือคุณต้องมีเงิน มีอารมณ์ มีเวลาว่าง แล้วที่ผ่านมาต้นปีถึงปีนี้เราจะเห็นหนังผี ตลก และหนังเกย์3 อย่างครองเมืองอยู่ มันไม่ใช่เรื่องผิดถูก เพราะมีหนังที่เดินตามความสำเร็จของคนอื่นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่พอมันเริ่มซ้ำ มันก็เริ่มอิ่ม ลองสังเกตดูว่าหนังผีและหนังตลกช่วงหลังก็ไม่ทำเงินนะ ผมเองรู้สึกว่ามันกำลังจะกลับไปเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว คนทำหนังน้อยลง อัตราเสี่ยงสูงขึ้น

 

“หลายคนทำหนังไปเสนอนายทุนแล้วบอกว่าหนังผมต้องใช้ 25 ล้านบาท พอไปเสนอนายทุนเขาก็บอกกลับมาว่า 10 ล้านบาททำได้มั้ย คือเขาก็ไม่อยากทำ เพราะมันทำแล้วไม่ได้เงินคืน คือเราวัดกับตัวเองได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน โทษทีนะ บางเรื่องผมไม่กล้าดู แล้วคนดูเขาจะเป็นยังไง ความคาดหวังมันไม่เท่ากันก็จริง แต่พูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์มันต้องมีความหลากหลาย

 

“ทุกวันนี้มันไม่มีหนังสำหรับคนอย่างผมจะดู คนทำหนังก็พยายามเจาะกลุ่มของเขาอยู่ ก็เลยไม่มีหนังให้คนทำงาน คนแก่ หรือเด็กดู มันควรจะมีหนังทุกประเภท”

 

การทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องของคุณอุ๋ยนั้น เขาคิดว่าแต่ละเรื่องที่ทำอาจเป็นเรื่องสุดท้ายชีวิตเสมอ ทำให้งานที่ออกมาเป็นสิ่งที่มาจากความทุ่มเททั้งสิ้น ภาพยนตร์แต่ละเรื่องจึงบอกไม่ได้ว่าชิ้นไหนสำคัญมากกว่ากัน เพราะแต่ละเรื่องมีจุดเด่น หนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง “ปืนใหญ่จอมสลัด” ในแนวแอ็คชั่นแฟนตาซี เป็นอีกหนึ่งผลงานที่เขาคิดว่าสุดยอดที่สุดในตอนนี้ เพราะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ งบประมาณสูง และใช้นักแสดงชั้นแนวหน้าของเมืองไทยอย่างคับคั่ง รวมถึงยังได้คุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนดับเบิ้ลซีไรท์ มาเขียนบทภาพยนตร์ให้อีกด้วย

 

“คือตอนแรกเราอยากทำหนังเรื่องตะรุเตา แต่พอดีเราไปได้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราชินีที่มีการปกครองเมือง พอได้ข้อมูลเหล่านี้มาก็นั่งนึกว่าใครจะเป็นคนเขียนเรื่องนี้ดี เราไม่อยากให้เป็นหนังประวัติศาสตร์อยากให้เป็นแนวแฟนตาซี แล้วผมก็มานึกถึงนักเขียนคนโปรดของผมคือคุณวินทร์ เลียววาริณ ผมรู้สึกว่าเขาเป็นนักเขียนที่เป็นครีเอทีฟที่ไม่ได้บันทึกเรื่องราวลงไปในหนังสือเฉยๆ แกสร้างสรรค์ มีมุมคิดอีกแบบ ผมก็เลยชวนมาเขียนบท”

 

“ในเมืองไทยมันยากมากนะที่จะค้นเรื่องราวเกี่ยวประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร ทุกอย่างต้องรีเสิร์ช ในเมืองไทย มลายูทั้งหมดเอามาดูว่าอะไรที่เป็นไปได้บ้าง แม้กระทั่งเรื่องของวัฒนธรรม ศิลปะ รวมทั้งการคำนับ การกินอยู่ ความยากจะอยู่ตรงข้อมูลที่เราต้องกลั่นกรอง แม้ว่าเราจะได้แค่สามสี่บรรทัดในหนังสือเล่มหนึ่ง เราต้องเอามารวมๆ กัน ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา

 

“แล้วผมก็มีเรื่องราวชาวเผ่าๆ หนึ่งที่ผมชอบมากคือ พวกดูหลำ เป็นชาวน้ำที่ใช้วิชาของเขาหาปลา ตัวเขาเป็นเหมือนเรดาห์เลยว่ามีปลาขนาดไหน จำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อที่จะให้ชาวประมงออกไปจับปลา ผมก็เลยเอาข้อมูลตรงนี้มาเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อความสนุกมากขึ้น

 

“ในหนังเรื่องนี้เราแค่ขอยืมตัวละครในประวัติศาสตร์มาเท่านั้น เราไม่ได้แตะตัวประวัติศาสตร์เลย แต่ในความเป็นหนังไทยผมก็ไม่รู้ว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก สำหรับคนไทยก็คอยดูกัน ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนดูต้องการอะไรที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ”

 

นอกจากเนื้อหาที่ต้องสมบูรณ์แล้ว การทำภาพเหนือจินตนาการโดยคอมพิวเตอร์กราฟิกหรือที่เรียกสั้นๆ ว่าซีจีนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อย

 

“คอมพิวเตอร์จะเข้ามาก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่ผมถ่ายไม่ได้ อย่างสัตว์ใต้ทะเลทุกชนิดที่อยู่ในหนัง เราใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเยอะจริงแต่ไม่ใช่จุดขาย ถ้าคนดูดูหนังจบแล้วบอกว่าซีจีมีไม่กี่จุดเองผมจะแฮปปี้มากๆ คือมันเข้ามาเพื่อที่ทำให้ภาพนั้นสมบูรณ์

 

“ผมรู้สึกว่าบริษัทที่ผมเลือกใช้ในการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกเขาเก่งในระดับหนึ่ง แต่ที่เขาแสดงให้ผมเห็นก็คือ เขาสามารถนำงานกราฟฟิกของเขามารวมกับงานของผมได้อย่างสนิท ตรงนั้นสำคัญที่สุด”

 

นอกจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องปืนใหญ่จอมสลัดที่จะเข้าฉายในวันที่ 23 ตุลาคมนี้แล้ว ภาพยนตร์เรื่องต่อไปที่เขาอยากทำก็คือภาพยนตร์แนวสงคราม

 

“คือมันมีที่ปฏิบัติการห้วยโกร๋นในช่วงปี พ.ศ.2516 มีคน 11 คนถูกส่งไปเป็นแนวหน้า ผมอยากรู้ว่า 11 คนนั้นไปทำอะไรกันในหนังมันต้องมีจิตวิทยา มันต้องมีคนที่ขี้กลัวมากๆ หรือที่กล้ามากๆ อย่างเมื่อก่อนผมมีเพื่อนเป็น ตชด.เยอะ ทุกครั้งที่เขากลับมาบ้านเขาก็จะมาเล่าให้ฟัง หน้าที่ของเพื่อนคนนี้จะเก็บพระของคนที่ตาย ทุกวันก็จะได้เป็นกะละมัง เขาเป็นคนที่ขี้กลัวจึงรอดมาได้ทุกวันนี้ ย้อนกลับมาเรื่องหนังเราก็อยากรู้ว่าคน 11 คนนี้เขามีอาการอะไรเมื่ออยู่ใต้วงล้อมของข้าศึก เราจะพูดถึงเรื่องเล็กๆในสงครามใหญ่

 

“อีกเรื่องหนึ่งที่อยากทำ ก็คือหนังอีโรติก บทเสร็จแล้ว แต่หาผู้กำกับอยู่ ไม่อยากทำเอง จริงๆ แล้วไม่อยากทำหนังซ้ำของตัวเองถ้าเกิดมันมีเรื่องที่น่าสนใจที่ไม่มีอีโรติกมาก มันก็น่าทำ

 

“ทุกวันนี้ผมทำหนัง ผมไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะผมได้ทำในสิ่งที่ผมรัก ผมอยากเห็นหนังที่สมบูรณ์พร้อม เพราะมันหมายถึงชีวิตของคุณที่จะมอบให้กับมัน ผมไม่เคยได้เงินจากหนัง ผมเสียเงินจากหนังทุกเรื่อง ผมไม่เคยได้เงินจากการทำหนัง นี่กล้าพูดได้เลยค่าตัวโปรดิวเซอร์ไม่เคยได้ มันกลับไปที่หนังหมด สิ่งที่ผมทำได้คือให้กับหนังอย่างเดียว ให้ใจ ให้ชีวิต ให้เวลา ให้เงิน ให้แรงกายแรงใจกับมัน คุณต้องมีแรงบันดาลใจที่อยากจะเห็นมันอย่างมหาศาลถึงจะทำหนังได้”

“2499 อันธพาลครองเมือง” ถูกฉายสู่สายตาประประชาชน