สวัสดิ์ ตันติสุข

สวัสดิ์ ตันติสุข

ด้วยบุคลิกที่นุ่มนวล โอบอ้อม อ่อนโยนทำให้ศิลปินรุ่นใหญ่ท่านนี้เป็นที่รักและได้รับการยกย่องยอมรับนับถือจากทุกสถานะ ท่านถือกำเนิดเติบโตในบ้านเรือนไทยหลังคาแฝด เนื้อที่ 7 ไร่ ริมคลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี จึงซึมซับวิถีไทยตั้งแต่วัยเยาว์ เขาเป็นลูกคนกลางในบรรดาพี่น้องชายล้วน 3 คน บิดาชื่อ ป๋าคิ่ว มารดาชื่อ แม้น ก๋งเป็นจีนไหหลำชื่อ ซิ แซ่ด่าน มีอาชีพทำสวน มีรายได้จากการนำพืชไร่ในสวนใส่เรือล่องไปขายตามละแวกคลองภาษีเจริญเรื่อยไปจนถึงหนองแขมได้กำไรจากค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นทุนส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ลูกๆ ในวัยเด็ก จนกระทั่งจบการศึกษาระดับอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามลำดับ

ราวปี พ.ศ. 2499-2503 เขาได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันวิจิตรศิลปะ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประสบการณ์ครั้งนั้นช่วยเพิ่มพูนทักษะ มีโอกาสแสดงความสามารถอันโดดเด่นให้เป็นที่ประจักษ์ ที่นี่เขาเริ่มเข้าใจคุณค่าศิลปะยุโรปเชิงนามธรรมและเริ่มปฏิบัติงานในแนวทางรูปธรรมสู่นามธรรม ด้วยเทคนิคสีน้ำมันในเวลาต่อมา ระหว่างศึกษาและก่อนกลับประเทศไทย ในปีพ.ศ.2503 เขาได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดงานศิลปะระดับเยาวชนหลายรางวัล ครั้งสำคัญได้แก่ การประกวดที่เมืองราเวนนาและการประกวดระดับชาติทั่วประเทศอิตาลี ทางสภาวัฒนธรรมอิตาลีแห่งภาคตะวันออกไกล หรือ Is.MEO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อุปถัมภ์ทุนให้ได้จัดนิทรรศการพิเศษสำหรับเขาขึ้นทั้งในกรุงโรมและเมืองมิลาน สร้างชื่อศิลปินไทยให้เป็นที่ยอมรับในแดนมักกะโรนี

ด้วยความที่เป็นศิลปินที่มีทักษะความชำนาญในการใช้สีน้ำหาตัวจับยากคนหนึ่ง ความช่างสังเกต ความบังเอิญและโชค จึงมักจะปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันในบางจังหวะชีวิต ด้วยอาศัยธรรมชาติเป็นครูใหญ่ จึงเป็นที่มาของคำว่า “พระพรหมลิขิตชีวิต และเทวดาช่วยวาด” บ่อยครั้งที่ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิดผลงานที่ทำให้เขาหลงรักและหวงแหนหลายภาพคว้าหลายรางวัลใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางครั้งเขาตัดสินใจขายภาพที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองแดง งานศิลปกรรมแห่งชาติไปในราคา 400บาท เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว แต่การสะสมประสบการณ์สร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องไม่ย่อท้อ ส่งผลให้เกียรติประวัติอยู่แถวหน้าของผู้มากด้วยคณานุประการต่อวงการศิลปะของไทย เขาเป็นทั้งศิลปินชั้นเยี่ยมราชบัณฑิต ได้รับเกียรติเป็นดุษฎีกิตติมศักดิ์สาขาจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะเป็นอาจารย์ วิทยากร กรรมการร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมจากการรับราชการในแผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรมในกรมศิลปากรในปี พ.ศ.2497 อีก 7 ปีต่อมาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปากรอีก 14 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2528 ในตำแหน่งช่างศิลป์ระดับ 9 กว่า 66 ปีที่เขาอุทิศชีวิตให้กับศิลปะ ผลงานและเกียรติประวัติของเขาได้รับการถ่ายทอดสู่สาธารณชนและนักสะสมภาพไม่เสื่อมคลาย

เนื่องในโอกาสที่ปีพ.ศ.2552 ท่านจะครบวาระ 7 รอบ เราจึงใคร่ขอเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส สวัสดิ์ ตันติสุข ด้วยการเสนอผลงานจากถ้อยคำที่ถ่ายทอดประสบการณ์อย่างหมดเปลือก

เชื่อมต่อรอยอดีต

“ผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นแรก ปีพ.ศ. 2486 มีพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรและเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นครู รุ่นผมที่ยังมีชีวิตอยู่คือบรรจบ พระยาวงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง สมัยก่อนเพาะช่างสอนศิลปะก่อนสถาบันอื่นๆ เขาเรียกว่า หัตถกรรมการช่าง ประเภทครูพักลักจำเพราะครูส่วนมากเป็นนายช่างที่มีฝีมือในอดีต ไม่เคยใช้คำว่าศิลปะ คำว่าศิลปะถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ.2456 แทนคำว่าช่างฝีมือ คือการช่างในรั้วในวัง คนที่ทำงานช่างมีสิทธ์ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง เป็นพระยา ฯลฯ จะรับงานทำโบสถ์ วัดวาอาราม จิตรกรรมฝาผนัง หล่อ ปั้นพระพุทธรูปฯลฯ เรียกว่าศิลปะไทยแบบประเพณีสืบต่อกันเป็นรุ่นมาเรื่อยๆ สมัยนั้นมีพระเทวานฤมิต พระพรหมวิจิตร ฯลฯ ที่เป็นอาจารย์สอนผม เมื่อผมจบจากเพาะช่างจึงไปเรียนต่อที่ศิลปากรและศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม

“ผมได้รับความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของงานศิลปะเพิ่มมากขึ้นจากวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของศิลปินไทยและต่างประเทศ นำมาซึ่งความรู้ประสบการณ์เพื่อการศึกษาสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ได้ค้นคว้าทดลองปฏิบัติงานทั้งสีน้ำ สีชอล์ก สีฝุ่น ดรอว์อิ้ง สีน้ำมัน ฯลฯ ผมเคยใช้กระดาษห่อของสีน้ำตาลเขียนวาดภาพลายเส้นภาพคน เขียนระบายสีน้ำบนกระดาษซับหมึกสีขาว สร้างงานจิตรกรรมสีน้ำมันโดยทำการรองพื้นไว้ก่อน การขึ้นรูป การทำโครงสร้าง มวลหมู่ ปริมาตร และส่วนละเอียด เคยได้นำอุปกรณ์สีน้ำไปนั่งเขียนบนสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ในฤดูหนาว มีหมอกลง เห็นเรือแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาและวิวทิวทัศน์ทั้งสองฝั่ง เป็นการเรียนนอกบทเรียนเพื่อนำไปส่งอาจารย์ศิลป์ ท่านแนะนำให้การติชม ซึ่งท่านพอใจและให้การสนับสนุนส่งเสริมด้วยดี

“ผมสอบได้ชั้นปีที่ 3 ได้รับอนุปริญญาบัณฑิตเป็น 1 ใน 8 คนของรุ่นแรกในปี พ.ศ.2488 สอบผ่านชั้นปีที่ 4 ในปี พ.ศ.2489เมื่อจบมา อาจารย์ศิลป์ได้ฝากผมเข้ารับราชการในแผนกช่างตรี แผนกหัตถะศิลปะ กองสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร ในวันที่ 1ตุลาคม พ.ศ.2491 ได้ทำการสอนทฤษฎีสีและจิตรกรรมแก่นักศึกษารุ่นน้อง อย่างอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ผมได้อยู่ใกล้ชิดอาจารย์ศิลป์และเรียนรู้การปฏิบัติราชการเข้าใจวิถีชีวิตในวงราชการและสังคมมากขึ้น ฉะนั้นงานศิลปะจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงาม ความดีความพอใจ มีคุณค่าแก่จิตใจมนุษย์ มีคุณประโยชน์

“งานศิลปะที่เรียนในขณะนั้นต้องมาเบอร์ 1 เรามีฝีมือ ต้องแสดงออก อย่างงานวิจิตศิลป์ทั้ง 5 ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรมสถาปัตยกรรม วรรณกรรมและนาฏดุริยางค์กรรม หากมีฝีมือ เป็นคนเก่ง ช่างหลวงก็จะรับ เพื่อไปรับราชการมีบรรดาศักดิ์ เราเรียกว่าวิจิตรศิลป์ทำเพื่อความงามที่เป็นประโยชน์มีทั้งการตกแต่งสวนข้างนอก ตกแต่งภายใน การทำเฟอร์นิเจอร์ ควรใช้สีอย่างไร ที่เราเรียกว่าช่างฝีมือนั้นมันมาบัญญัติในตอนหลัง ส่วนการประยุกต์ศิลป์ก็เพื่อประดับตกแต่งให้สวยงาม วัสดุมีค่าเท่าไรฝีมือต้องเนี๊ยบ เช่น ช่างทอผ้า สมัยโบราณ ช่างทำเครื่องเขิน ช่างปั้นชามสังคโลก ฯลฯ มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร”

ทำด้วยใจ...ไปด้วยมือ

“อาจารย์ศิลป์ท่านพูดกับผมเป็นเคล็ดว่า นายดูก่อน ก่อนนายจะลงสี หรี่ตาดูก่อน ก่อนจะเขียนหุ่นนิ่งหรือวิวทิวทัศน์เราจะเห็นโครงสร้างมวลหมู่ปริมาตรบรรยากาศและอื่นๆ เข้มข้น ชัดเจนขึ้นกว่าดูด้วยตาเปล่า ได้เห็นคุณค่าความงามอันประทับใจได้มากกว่าในขณะที่มองเห็นส่วนละเอียดให้ความสำคัญน้อยลงไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานตามขั้นตอน เกิดความลงตัวพอดีในเรื่องเอกภาพด้วย เวลากลางคืนเมื่อมีแสงไฟหรี่ตาดู แสงไฟมันจะวูบขึ้นมา เอียงซ้าย เอียงขวา มันจะสวยกว่าปกติ นี่คือแนวทางปฏิบัติที่ท่านพูดอีกว่า ‘นายทำงานจิตรกรรมอย่าทาสี จงระบายสี’ ท่านแนะนำในการปฏิบัติงานให้เล่นและแสดงความรู้สึกอันแน่ใจของตนเองออกมา ดีกว่าที่จะลอกเลียนให้เหมือนของจริงที่เขียนไม่ว่าจะเป็นภาพหุ่นนิ่ง หรือภาพวิวทิวทัศน์ท่านอธิบายให้รู้ถึงคุณค่าความประทับใจและการแสดงออก ในงานศิลปะของผู้สร้างสรรค์ท่านใช้คำว่า สมอง ที่หมายถึงความคิด กับมือ ที่หมายถึงฝีมือ ต้องไปด้วยกัน หากเขียนเหมือนมาก มันก็จะเป็นพาณิชยศิลป์ไป ท่านพูดว่า ‘ให้รูปนั้นบอกเรานะ ให้งานศิลปะมันพูดกับเราทั้งบวกทั้งลบ’ นี่คือการวิเคราะห์คุณค่าของงาน โดยเราไม่มีอคติของใครทั้งหมดแล้วปล่อยให้รูปมันพูดกับเราว่าเรารับได้แค่ไหน เรามีประสบการณ์มากเท่าไร เราก็จะเห็นคุณค่าของงานมากเท่านั้น ต้องคิดก่อนทำ ทำด้วยใจ ไปด้วยมือ

“ความคิดเป็นความสำคัญอันดับแรก ควรคิดวิเคราะห์ถึงความประทับใจและการแสดงออกว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดผลดี รับได้ก่อนลงมือปฏิบัติ ต้องคิดแหวกแนว ไม่เหมือนใคร ทดลองปฏิบัติเช่นเขียนประกายน้ำ สี ความเคลื่อนไหวมีส่วนสำคัญในการแสดงออกให้เห็น ไม่ควรลอกเลียนแบบให้เหมือนรูปถ่ายของจริงนัก อาจเล่นสีด้วยการสลัดสีลงบนกระดาษ แตะแต้ม จุด ขีดให้สนุกตามที่รู้สึก ทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ พร้อมกับมือด้วยการแสดงฝีมือไปด้วยกันจนเสร็จสิ้นงานแต่ละชิ้น”

นำ Abstract สู่สยาม

“เมื่อปี พ.ศ.2499 ผมไปเรียนที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เรียน Abstract ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่ออกมาเป็นการแสดงความรู้สึกของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานต่อสิ่งที่เขาพบเห็น ไม่ได้เป็นรูปร่างเหมือนจริง ของสิ่งนั้นๆ ออกแนวนามธรรม เกี่ยวไปทางความคิดมากกว่าจะเป็นสิ่งที่เห็นหรือจับต้องได้ ตอนแรกผมไปเรียนแล้วไม่เข้าใจสามเหลี่ยมที่ขีดเส้นใต้เมื่อถามอาจารย์ว่านี่คือรูปอะไร ทั้งๆ ที่เคยเรียนสมัยมัธยมมาแล้วจึงรู้ว่า Abstract คือนามธรรมไม่ใช่ Realistic คนละอย่างกัน มันขึ้นต้นด้วย “ความ” และ “การ” เช่นการต่อสู้ มันมีฟิลลิ่งอย่างเดียว แต่ถ้าเราไม่ร่างรูปอันนี้โดยเฉพาะเรื่องสี ทำให้คนอื่นเขาเห็นว่ามันต่อสู้กัน ต้องมีสีสัน มีน้ำหนักเด่นชัด ตัดกันอย่างแรง แล้วขยับอย่างมีพลัง เราจะเห็นภาพการต่อสู้ ส่วนการเขียนเรื่องความสงบ เราอาจเล่นสีให้มันมีความนุ่มนวลกลมกลืนกัน ดูแล้วสบายตา สงบไม่ต้องวาดรูปก็ยังได้

“ตอนนั้นผมเดินทางไปถึงประเทศอิตาลี เขามีการประกวดงานระดับชาติ ผมส่งประกวดด้วย เป็นรูปที่ผมได้รับรางวัลแห่งชาติที่นั่นเป็นภาพนามธรรมแต่ให้มองเป็นรูปธรรม เขียนด้วยเกรียง เส้นสีเปื้อนๆ มองดูได้ 6 ด้าน ดูแล้วมีพลัง มีชีวิตที่เราปฏิเสธไม่ได้

“สมัยเมื่อ 50 กว่าปีก่อนนั้นศิลปะนามธรรมยังไม่มีใครรู้จักและยังไม่เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ผมเป็นคนนำเข้ามา เป็นผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ก็ว่าได้ ฉะนั้นความคิดพิเรนทร์ของผมจึงไม่เหมือนใคร นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมใช้คำว่าพิเรนทร์คือไม่ปกติ แต่ถึงนาทีนี้ผมคิดว่าพิเรนทร์นั้นผมหยิบยกผิด ควรใช้คำว่าแหวกแนวน่าจะดีกว่า เพราะความคิดทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมหรือรายงาน ความคิดแหวกแนวต้องมาก่อน ไม่ใช่ลอกเลียนผู้อื่น เลียนก็ต้องเลียน แต่ต้องเป็นของตัวเองให้มากที่สุด แต่ถ้าถูกฝึกให้มากๆ มันอาจจะเป็นอัจฉริยะไปเลย นี่คือคุณค่าของความวิจิตร”

จินตนาการลุ่มลึก

“ในโลกของงานศิลปะนอกจากอารมณ์ ความงามของงานศิลปะที่ดีแล้ว ยังต้องมีอารมณ์ร่วมเป็นโครงสร้างของจิตใจ เป็นแบบฉบับไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ถ้าผิดจะรู้ว่าขัดนัยน์ตา ศิลปะไม่ใช่ 2+2 เท่ากับ 4 อย่างคณิตศาสตร์ หมายถึงศิลปะนั้นมีมุมมองในการประเมินคุณค่าได้หลายอย่าง มีอิสระในความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ในงานศิลปะจึงใช่คำว่า ‘ควร’ มากกว่า ‘ต้อง’ที่จะวิเคราะห์คุณค่าในงานอันเป็นสุนทรียะโดยเฉพาะงานจิตรกรรม เป็นงานที่แสดงออกซึ่งความรู้สึกทางอารมณ์ สื่อให้ผู้ชมได้รับด้วยจากความงามความมีชีวิตมีพลัง มีลักษณะเป็นตัวตนมากที่สุดคือ เป็นต้นแบบ ถูกต้องตามทฤษฏีศิลป์ ดูแล้วไม่ขัดตา มีประสานสัมพันธ์กันอย่างดี เป็นเอกภาพ เกิดความลงตัวพอดี ไม่มากไม่น้อยและแสดงออกอย่างเรียบง่าย แต่ดูลึกซึ้ง ประเทืองปัญญาทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ชมเข้า

“กับวิถีชีวิตใหม่ของเราในปัจจุบัน ซึ่งต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่าในอดีต ทั่วโลกในปัจจุบันนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ก่อนเราจะอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้สร้างสรรค์งาน เจ้าของความงามต้องมาจากธรรมชาติ ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งมันเปลี่ยนไปจากอดีต ความสำคัญของงานศิลปะต้องงามจากฝีมือ งามอย่างประณีต งามบรรยากาศงามรูปร่าง งามทางอารมณ์และเป็นเอกภาพ ทฤษฏีกับศิลปะมีความสัมพันธ์กัน

“สมัยเมื่อผมเรียนเพาะช่าง เพาะช่างให้อะไรกับผมเยอะ เพาะช่างให้ความรู้กับผมมาก โดยเฉพาะจงเขียนด้วยตาเห็น เห็นตามที่ตาเห็น ต้องฝึกฝีมือก่อน เมื่อฝีมือได้ระดับหนึ่ง จึงเอาใจใส่เข้าไปประกอบ เหมือนกับเขียนดอกไม้อย่าเอาแค่เหมือน ให้เขียนแล้วรู้สึกว่ามันหอมบริสุทธิ์ สะอาดด้วย นี่คือการเอาใจเราบวกเข้าไป ถ้าถามผมว่า ผมชอบสีน้ำหรือสีน้ำมันมากกว่ากัน ผมต้องพูดแบบกันเอง เดี๋ยวจะกลายเป็นไปว่าคนอื่นเขา เมื่อเริ่มต้นเราเรียนสีน้ำก่อน จากนั้นไปสีฝุ่น สีชอล์ก สีน้ำมัน เราจะเห็นว่า 80 % ของคนทำงานศิลป์ เมื่อผ่านมาแล้วจะหยุดเลยไม่เอาแล้วสีน้ำ แต่สำหรับผม ผมทำมาถึงทุกวันนี้เพราะผมเห็นคุณค่า ผมชอบใจอะไรผมเขียนไว้หมด เหมือนผมอยู่กับสมุดบันทึก เมื่อกลับมาถึงบ้านผมจะเขียนเพิ่มเติม

“เมื่อก่อนผมหยุดเขียนไป 10 กว่าปี จากนั้นได้ไปทะเลไปหาอะไรแปลกๆ นำมาเขียน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าที่พัก เพราะว่ามันสนุกได้พักผ่อน ได้กำลัง มีความสบายใจอีกด้วย วันหนึ่งผมรู้ว่าตรงที่ผมมองไปนั่นมีเรืออับปางจมอยู่ ผมรู้ว่ามันมีเก๋งโผล่พ้นน้ำมาบ้าง ก็เดินผ่านไปเรื่อยๆ ไม่สนใจ เย็นแล้วกำลังจะกลับบ้านแต่ในใจเราไม่อยากเขียน อีกใจหนึ่งก็อยากจะเขียนสักครั้ง แต่ความพอดีมันเกิดขึ้น เมื่อวันนั้นน้ำมันลดลงมามาก เรามองเห็นเก๋งเรือ โครงสร้างของมันโดนน้ำทะเลซัด โดนคลื่นกระหน่ำแล้วจมไม่รู้เรื่องเลย คือเรือล่มแล้ว คลื่นมาก็ตีออกไปอีก วันนั้นเพียง 5 นาทีผมรองพื้นสีน้ำมันไว้ พอพื้นแห้ง ผมร่างรูปเรือเล็ก ที่มันกำลังจะออกไปจากชีวิตเราแล้วไปไกลตามแรงของลม พาคลื่นใหญ่สีขาวมา โอโห สนุกมาก ชื่อภาพ ‘อกแตก’ ตอนแรกผมตั้งชื่อภาพ ‘อกแตกแหลกสลาย’ แต่อาจารย์ปริญญา ลูกชายบอกว่าชื่อลิเกไป (หัวเราะ)

“เมื่อเรานำมาผูกกับชีวิตเราในจิตใจ เราเกิดการสร้างสรรค์ ณ วันนั้น ถ้าน้ำไม่ลดมาเราก็มองไม่เห็น มันจะเหลือแต่ยอดไม้ เมื่อช่วงที่เรามาเพียงแค่ 5 นาที เรากลับมาเจอ มันก็ออกมา การเขียนกับธรรมชาติมันอดก็อบปี้ไม่ได้ แต่การเขียนเมื่อกลับมาแล้วมันอยู่ในหัวเรา มันมีคุณค่ามากกว่า อีกรูปหนึ่งผมไปตกปลากับลูกศิษย์ เขาอยู่ที่นั่น ตอนไปไม่รู้สึกอะไร เพราะดีใจที่ได้ไปตกปลา ขากลับ มองไปข้างบนขาวไปหมด ใบไม้ก็มีไม่มาก เราเขียนของจริงไม่ได้ในตอนนั้น มาถึงบ้านจึงลงมือเขียนจากที่เราจำมาหลายๆ อย่าง ชื่อภาพว่า ‘น้ำตกคลองลาน’ เขียนสีน้ำมันด้วยการใช้เกรียงและพู่กัน

“ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับผมในช่วงแรกๆ มาจากที่ผมเรียนในห้องก่อน คือภาพหุ่นนิ่ง เอาดอกไม้มาปักแจกันภาพที่เก่าที่สุดชื่อภาพ “สิงห์คู่” สมัยเรียนอยู่ปี 3 ศิลปากรมีสิงห์ 2 คู่และมีตัวอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ หมามันชอบรื้อผมนำไปไว้บนหิ้งพระ ผมจึงขออนุญาตท่านนำมาจัดหุ่นเขียนเอง คือให้บทเรียนแก่ตนเองเริ่มจากร่างเขียนด้วยตัวเองไม่ใช่ในห้องเรียนที่แข่งกันกับเพื่อร่วมชั้นแล้ว มันแข่งกับตัวเอง มันจำเป็นสำหรับผู้ที่จะสร้างงานศิลปะ มันได้ผลมาก”

จุดเปลี่ยน...หันมาเล่นสี

“สิ่งที่ผมประทับใจผมอยากเล่าย้อนไป เมื่อปี พ.ศ.2482 สมัยอยู่เพาะช่างปี 1 พี่ชายอยู่ปี 2 วันเสาร์เรียนครึ่งวัน มีรุ่นพี่ 7-8คนชวนไปเขียนภาพที่วัดโพธิ์ แต่มันค่อนข้างยากเขียนภาพวัด เขียนทิวทัศน์ ผมเริ่มบทเรียนแรกด้วยการระบายสีดอกพังพวยขาว แต่ร่างยังไม่เป็นจึงไม่เห็นความงามไม่ละเอียดอ่อนในจิตใจ รุ่นพี่เขาจะแนะนำให้ร่างรูปให้ถูกเสียก่อนด้วยการลงแรเงาแล้วจึงลงสีเดียวกัน แทนที่จะลงหลายสี ผมทำกี่ครั้งผิดหมด จนกระทั่งครั้งที่ 8 ผมไม่ฟังแล้ว ผมจะเล่นสีของผมเอง ล้างจานสีอย่างเดียวแล้วไปนั่งห่างๆ จากรุ่นพี่ที่เขาเขียนกันอยู่ ถ้าอยู่ใกล้เขาจะว่าเอาว่าอย่าทำนะ ต้องทำตามที่ครูบอก ผมมานั่งวิเคราะห์ นี่คือจุดแรกของผมที่ทำงานศิลปะอย่างมีคุณค่า เพราะวัดโพธิ์มีสีสันแพรวพราวสวยงาม โดยเฉพาะเจดีย์ใหญ่ การเล่นสีของผมคือทางออก เขาห้ามเราเขียนแต่เราไม่ฟังในวันนั้น เราสนุกที่ได้ระบาย แต่ไม่กล้าให้ใครเห็น ผมใช้แม่สี 3 สี จะหนักหรือจะเบาไม่เข้าใจหมวดแสง หมวดเงาจะเล่นแม่สีอย่างเดียวใช้พู่กันระบาย ป้าย แตะ แต้ม จุดเล่นสีบนกระดาษวาดเขียน

“ผมโกรธตัวเองที่ผมสอบได้ที่ 1 มาตลอด แต่ทำไมเขียนไม่ได้ การเล่นสีในงานจิตรกรรมจึงเข้ากับการเล่นสีในงานศิลปะหลายแขนง ถ้าเราไม่เล่นให้สนุกในระหว่างเรียนหนังสือ มันก็ไม่สนุก มันก็ดูเก้งก้างแข็งทื่อ คำว่าเล่นสี ผมเล่นเพราะผมคิดเอง แต่ตอนนั้นยังไม่รู้คุณค่า รู้เพียงอย่างเดียวอยากจะมีฝีมือแบบรุ่นพี่ ถ้าไม่มีวัดโพธิ์ให้ผมเล่นสี ผมคงไม่มีวันนี้ นั่นคือทางออก แต่มาตอนหลังผมมาทำหุ่นนิ่ง มีสีสันหนักเบามากขึ้นมีความขัดแย้งมากขึ้น จนขึ้นปีที่ 2 ได้เรียนภาพทิวทัศน์กับครูแนบ บังคม ถ้าไม่มีครูแนบ ผมก็ไม่มีวันนี้อีกเหมือนกัน ท่านให้กำลังใจส่งเสริมให้ผมเล่นสีต่อ โดยให้คะแนน 6 ใน 10 นำไปโชว์หน้าชั้นและบอกว่าสีของผมแปลกกว่าคนอื่น ท่านให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องสี น้ำหนัก แสงเงา ให้เกิดปริมาตรและระยะใกล้ไกล รวมทั้งสีของบรรยากาศ ฤดูกาลเพิ่มคุณค่าความงามของงานที่ทำขึ้น ผมเรียนวิชานี้ได้คะแนน 9/10 ในปลายปีในโรงเรียนเพาะช่าง มีห้องแสดงงานศิลปะเป็นงานของครู อาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่มีคุณค่าติดตั้งไว้เราเรียกว่าห้องโชว์ เมื่อผมขึ้นชั้นปีที่ 3 ปีพ.ศ.2485 ได้ 1 เทอม ได้ข่าวดีในชีวิตคือทางราชการสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น ให้การศึกษาในคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ผมสอบได้ที่ 5 ในจำนวนหญิงชาย 71 คนจึงมีสิทธิ์เข้าเรียนที่ศิลปากรรุ่นแรกโดยไม่ต้องสอบเข้าเมื่อปีพ.ศ.2486”

ถวายภาพ Duomo Milano

เมื่อจังหวะชีวิตลงตัว อาจารย์สวัสดิ์ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโรมโดยเข้าเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์ Franco Gentilini ศิลปินผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ชาวอิตาลี ราวเดือนกันยายนปีพ.ศ.2499 ได้สู้ชีวิตอยู่ 4 ปี เขาได้สะสมประสบการณ์ชีวิตและพัฒนาการทำงานจนสามารถพิสูจน์ให้ได้ประจักษ์จากรางวัลชนะเลิศระดับเยาวชนหลายรางวัล อันเป็นผลทำให้มีการจัดแสดงผลงานเดี่ยวเป็นเกียรติให้ก่อนเดินทางกลับ ระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสยุโรปรวมทั้งประเทศอิตาลี แต่เนื่องจากเขาได้รับมอบหมายจากอาจารย์ เขียน ยิ้มศิริ ให้เป็นตัวแทนศิลปินไทย เข้าประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จึงไม่ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จ

“อาจารย์ศิลปะ พีระศรีและอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ บินมาจากประเทศไทยไปเจอกันที่โน่น ตอนนั้นภาพที่ผมส่งประกวดประกาศผลรางวัลที่ 1 แล้วชื่อภาพ Duomo Milano เป็นภาพศาสนโบราณสถานของเมืองมิลาน ถึงแม้ผมไม่มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จฯด้วยตนเอง แต่ผมได้มอบให้ ฯพณฯ ไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรมในเวลานั้น ให้ท่านเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายแทนเมื่อปี พ.ศ.2503 หลังจากจากนั้นในปี พ.ศ.2522 เมื่อได้ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าโครงการ ปั้นขยายภาพลวดลายองค์พระธาตุพนมช่วงกลาง ผมได้ปฏิบัติงานสีน้ำมันองค์พระธาตุพนม ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่ เพราะของเก่าล้มลงเมื่อปีพ.ศ.2518 ผมได้ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพระราชพิธียกยอดฉัตรและประดิษฐ์ฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเป็นงานสำคัญของชาติงานหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจมากในชีวิต

“อย่างไรก็ตาม นอกจากอาจารย์ศิลป์จะให้ความรู้ทางด้านวิชาการด้านฝีมือแล้ว ลูกศิษย์ของท่านทุกคนยังมีความผูกพันกับท่านซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตส่วนใหญ่ อาจารย์ศิลป์จะสั่งสอนให้เรามีความรู้มากขึ้นดุจพระบิดาศิลปะ ท่านสอนทั้งประวัติศาสตร์ศิลป์ ประวัติศิลปิน ลูกศิษย์ทุกคนในภาคปฏิบัติเป็นอาจารย์พิเศษท่านจะให้ความรู้หมด พระสาโรจน์จบสถาปัตยกรรม ต้องมาสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ พระเทวานฤมิต มาสอนลายไทย พระพรหมวิจิตรมาสอน สถาปัตยกรรม ท่านเป็นคนน่าเกรงขาม ถ้าไม่พอใจ มีอยู่วันหนึ่งบังเอิญท่านไปเจอลูกศิษย์คนหนึ่ง ออกจากโรงหนังในเวลาราชการ วันรุ่งขึ้นท่านเรียกลูกศิษย์คนนั้นมาหา แล้วถามว่าทำไมนายออกจากโรงหนัง เมื่อวานไม่ได้เรียน ถ้าไม่อยากเรียนให้หยุด 7 วัน อาจารย์ศิลปะจะไม่ตีลูกศิษย์ ท่านเป็นฝรั่งร่างใหญ่ลูกศิษย์ทั้งกลัวทั้งเกรง”

พระพรหมสร้าง..เทวดาเสริม

“อยากจะฝากข้อคิดให้คนรุ่นหลังในฐานะนักเรียน นักศึกษา หรือศิลปิน ขอให้ท่านได้คิด จงเชื่อเคารพครูบาอาจารย์เพราะเขาเรียนมาก่อน มีประสบการณ์มาก่อนท่านและจงทำงานนอกบทเรียนเพื่อประโยชน์ของตัวเอง คิดอะไรที่เป็นอิสระ งานจะได้ประโยชน์สูงสุด นอกจากกล้าทำแล้ว ควรจะให้ความบังเอิญไว้ใช้ในการสร้างสรรค์ เพราะเมื่อเราเล่นกับงานศิลปะเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดอย่างอิสระและสนุกไม่เกร็ง จะได้สิ่งที่มีคุณค่าพิเศษโดยไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน

“ในการเขียนสีน้ำ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าสีน้ำมัน บางโอกาสธรรมชาติหรือเทพเทวดาช่วยเราด้วยในการปฏิบัติงานเช่นในฤดูฝน จะมีฝนตกลงมา ละอองฝนอาจตก แตะแต้มเป็นดอกดวง ทำให้เกิดคุณค่าทางความงามได้ ถ้าเราใช้ความพยายามที่จะหลบเข้ามาไม่ถึงกับทำให้เสียรูปแล้ว ประคอง ป้าย แต่ง เติมลงไปในภาพสีน้ำจะดูนุ่มนวล ชุ่มฉ่ำมีเสน่ห์ เพราะธรรมชาติคือครูใหญ่ ในการศึกษาเรียนรู้ สัมผัส โดยเฉพาะผมซึ่งเขียนรูปวิวทิวทัศน์เป็นส่วนใหญ่ ในงานวาดเส้น สีน้ำ สีน้ำมันและอื่นๆ ธรรมชาติมีทั้งท้องฟ้า ในท้องฟ้ามีเมฆ มีพายุ ลม ฝน ฯลฯ ผืนน้ำ มีเรือต่างๆ บนผิวน้ำมีปลา สัตว์ใต้น้ำ ปะการัง แผ่นดินมีที่ราบ ภูเขา เนิน มีต้นไม้ และสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น มนุษย์อาศัยอยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติมีความงามและความสำคัญหลากหลายต่อมนุษย์

“ผมมีความเชื่อว่า ชีวิตผมมีพระพรหมท่านลิขิตไว้แล้ว ประกอบกับมีจังหวะชีวิตที่ดีส่งเสริม เติมให้เต็มขึ้นด้วยตนเอง ต่อเนื่องมาจึงเรียนรู้ได้มีศิลปะเป็นวิชาชีพ ได้รับอุปถัมภ์ ช่วยเหลือดีมีคุณค่าจากทางราชการ องค์กรและบุคคลสำคัญตลอดมาด้วยดี

“ผลงานของผมหลายชิ้นทาง สวช.และองค์กรอื่นๆ มาขออนุญาตนำไปทำส.ค.ส.และปฏิทินด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาไว้ให้นักเรียน นักศึกษา และศิลปินว่าควรทำอย่างไร ส่วนงานผมส่วนมากมีนักสะสมงานของผมเยอะมากเพราะในบรรดาศิลปินทั้งหลาย รูปของผมมีราคาต่ำกว่าศิลปินท่านอื่นๆ ผมมีเหตุผลของผม ผมขายรูปแรกราคา 400 บาท เป็นภาพที่ได้รับรางวัลที่ 3เหรียญทองแดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ตอนนั้นปี พ.ศ.2492 ผมรับราชการอยู่กรมศิลปากร รูปนี้นายแพทย์ท่านหนึ่งซื้อไปในราคา 400 บาท ผมดีใจมาก เพราะเงินเดือนผมสมัยนั้นได้เดือนละ 393 บาท เป็นภาพท้องนาในยามเย็น ชื่อภาพ ‘ทุ่งทอง’ หรือ ทุ่งสีทอง ความจริงเขาเกี่ยวข้าวแล้วเหลือแต่ซังข้าวเหลือง ผมไปเขียนตอนเย็น

“ก่อนไปอิตาลี ราคาภาพของผมภาพหนึ่งขึ้นไปถึง 1,500 บาท หลังกลับจากอิตาลี ราคาภาพขยับขึ้นเป็น 2,500 บาท มันขึ้นอยู่กับจังหวะ เวลา คุณค่าของงาน หลายคนนำรูปผมไปขาย เขาจ่ายผม 800 บาท แต่เขาไปขาย 1,500 บาทเขาได้กำไรแล้วนี่คือหลักการของผมที่ทำให้รูปกระจายไปมาก ส่วนราคาที่ผมขายได้สูงที่สุดคือ 350,000 บาท

“ผมยังอยากทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง เพราะมือยังใช้ได้ ความคิดยังมี”

บั้นปลายชีวิต แม้จะอยู่ในวัยของศิลปินอาวุโส อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ก็ยังคงมีความสุขกับการวาดภาพ ท่านยังให้ความสนใจและมีบทบาทในวงการศิลปะอยู่อย่างสม่ำเสมอในฐานะสมาชิกสมาคมจิตรกรรมสีน้ำอาเซียนและสมาคมศิลปะในประเทศ ท่านกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าฟังก่อนร่ำลาไว้ว่า

“เราควรแบ่งเวลาให้เหมาะสม ฝึกฝนหลากเทคนิค อย่าตั้งใจเกินไป ปล่อยใจเล่นสนุกอย่างเสรีและไม่ควรท้อถอย หากทำได้เมื่อใจมี ไม่ช้าฝีมือจะมาเอง”

จากเด็กชายชาวสวนละแวกบางแค