นพิน มัณฑะจิตร

นพิน มัณฑะจิตร

นพิน มัณฑะจิตร ฟรีแลนซ์ดีไซเนอร์ บัณฑิตมัณฑนศิลป์รั้วศิลปากร ที่พ่วงดีกรีปริญญาโท Graphic Design จากUniversity Of Art and Design Helsinki ประเทศฟินแลนด์ คือคนที่จะมายืนยันทฤษฏีที่บอกว่าเราควรตัดสินหนังสือจากหน้าปก

 

นักออกแบบอิสระซึ่งควบบทบาทการเป็นอาจารย์พิเศษในหลายมหาวิทยาลัยย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งเรียนในต่างแดน และตัวตนของเขาก็ใช่จะเปลี่ยนตามการดำเนินชีวิตที่ต่างออกไป

 

“ความเป็นคนไทยหรือคาร์แร็กเตอร์แบบนี้มันอยู่ในตัวเรา มันเปลี่ยนได้ไม่หมดหรอก แต่ความรู้สึกมันเหมือนกับเราได้กลับไปเรียนปริญญาตรี ความเฟรชมันกลับมา ทำให้รู้สึกว่าไม่ควรลืมพื้นฐานหรือเบสิคที่เคยเรียน ที่นั้นเขาเปิดกว้างให้เลือกเรียนได้ว่าอยากไปทางไหน ผมก็เลยเน้นปฏิบัติมากกว่า ผมเรียนเกี่ยวการใช้มือในการทำงานมากขึ้น ทั้ง Drawing, Print Making และGraphic Design ก็เอามาผสมกัน

 

“ตอนนี้ผมเป็นฟรีแลนซ์ดีไซเนอร์ งานส่วนใหญ่ช่วงนี้จะเป็นงานออกแบบปกพ็อกเก็ตบุ๊ก ฟรีก็อปปี้แมกกาซีนบ้าง แล้วก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือ วิธีการออกแบบปกหนังสือของผมก็ต้องอ่านเนื้อหาทั้งเล่มให้เข้าใจ พออ่านเสร็จก็จะตีความออกมาว่านักเขียนต้องการจะพูดอะไรเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น พยายามเอาแก่นมันออกมา แล้วค่อยมาถึงขั้นตอนการดีไซน์

 

“ผมชอบทำงานเกี่ยวกับตัวหนังสือครับ เห็นได้ว่างานปกจะเป็นตัวหนังสือซะเยอะ เป็นการเขียนตัวหนังสือเฉพาะใน Visual นั้นๆอย่างเล่มนี้ (ปรากฏการรู้ทันความทุกข์) ก็เขียนคำว่า ‘สุข’ กับ ‘ทุกข์’ ในคำเดียว ผมพยายามคิดแค่ว่าเมื่อมีความทุกข์มันจะมีความสุขอยู่คู่กันเสมอ ก็เลยตีความเป็นอย่างนั้น”

 

ขณะเดียวกันผลงานซีรี่ส์ที่เป็น Masterpiece ดีไซเนอร์ผู้นี้เลือกหยิบหนังสือหลายต่อหลายเล่มออกมาวางบนโต๊ะให้ยลโฉมกันระหว่างนั่งพูดคุย

 

“อย่าง Happiness is all around (เมื่อความสุขอยู่รอบตัวเรา) ก็เป็นงานทดลองที่ทำออกไปแล้วบังเอิญว่าลูกค้าชอบ มันจะต่างกับปกหนังสือในปัจจุบันที่มันจะเป็นรูปเดียวใหญ่ๆ แล้วมีตัวหนังสือพาด ผมไม่เชื่อว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอด ถ้าปกจะทำงาน มันก็จะทำงานของมันไป ไม่ว่ารูปจะเป็นอย่างไร ดังนั้นผมก็เลยวาดเป็นลายเส้นขาวดำ ตัวหนังสือไม่ต้องใหญ่มาก ให้มันดึงดูดด้วยตัวมันเอง

 

“ส่วนอีกชุดก็เป็นซีรี่ส์หนังสือท่องเที่ยว ที่เราเห็นทั่วไปบนปกจะมีรูปสถานที่เยอะๆ หรือไม่ก็รูปเดียวสวยๆ ผมรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ก็เลยพรีเซ้นท์ด้วยกราฟิก มีไอคอนที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนั้นๆ อยู่ข้างบน แล้วก็เพิ่มลูกเล่นตรงสันปกด้วยการหยิบเอาจุดเด่นของเมืองนั้นมาใช้ เวลาวางก็จะเห็นชัดว่าเป็นซีรี่ส์

 

“หรืออย่างเล่มนี้ ธรรมะนับหนึ่ง พออ่านเนื้อหาก็รู้ว่าแกนหลักพูดถึงเรื่องการสลายอัตตา สลายความเป็นตัวตน นั่นคือสิ่งที่ผมคิด”

 

ถ้าลองสังเกตผลงานของเขา จะรู้สึกได้ว่าทุกชิ้นงานล้วนสะท้อนความเป็น Minimal อย่างชัดเจน

 

“ผมพยายามย่อยทุกอย่างให้มันง่ายที่สุด แต่ว่าก็ยังนำเสนอในความหมายเดิม เพราะเชื่อว่ามันทำงานได้ดีถึงแม้ว่าจะดูน้อยก็ตาม”

 

เมื่อถามถึงปรัชญาในการทำงานออกแบบ เขาตอบพร้อมน้ำเสียงที่ฟังเป็นกันเองว่า

 

“ก็คงเหมือนดีไซเนอร์หลายๆ คนคือพยายามทดลองวิธีการใหม่อยู่เรื่อย แล้วนำสิ่งที่ลูกค้าต้องการมาประกอบกัน เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นเจ้าของเงิน ย่อมอยากได้ในสิ่งที่คิดที่วางไว้ ผมก็ต้องหาจุดสมดุลในสิ่งที่คิดกับสิ่งที่ลูกค้าอยากได้

 

“ที่สำคัญ ดีไซเนอร์ต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ตัวเองผลิต อย่างน้อยๆ ก็ต้องไม่ก๊อปปี้ใครมา อาจจะมี Inspiration ได้บ้างซึ่งนั่นไม่ใช่การก๊อปปี้ อีกอย่างก็คืองานต้องมีความสดตลอดเวลา และงานทุกชิ้นไม่ว่าจะเงินน้อยเงินมาก เราก็ต้องทำออกมาให้เต็มที่ ผมเชื่อแบบนี้ครับ”

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนถูกดีไซน์จนดึงดูดสายตา