สัญญา วงศ์อร่าม

สัญญา วงศ์อร่าม

รองศาสตราจารย์สัญญา พื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เป็นญาติห่างๆ กับอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม ท่านชื่นชอบงานปั้นดินเหนียว ชอบขีดเขียนมาตั้งแต่เยาว์วัย ตามแบบคุณย่าและพ่อที่ลงมือปั้นตัวสัตว์ขายป้าเคยเอาอาจารย์ไปฝากกับช่างที่เคยเขียนผนังวัดพระแก้ว ชื่อนายหล่อ ย่านเสาชิงช้า โดยช่างจะมารวมตัวกันทำของที่ระลึกเช่น เรือหงส์จำลอง ปิดทองย่อส่วน ท่านเลยได้รับใช้ วิ่งซื้อของ ช่วยทาสี หัดเขียนหัดปั้น หัดแกะไม้ จนได้วิชามา

ช่วงจบประถมศึกษาท่านได้มาอาศัยอยู่กับป้าที่เปิดหอพักผู้หญิงชื่อ ทวีสุข อยู่ที่หน้าเทศบาลนครกรุงเทพฯ จากนั้นจึงไปเรียนต่อที่ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์ ประสานมิตร รุ่นที่ 2 สมัยมุงหลังคาด้วยจาก และได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเมื่อชนะการประกวด ท่านได้รับรางวัลงานศิลปะในงานศิลปหัตถกรรมหลายครั้ง หลังจากนั้นจึงมาเรียนต่อที่โรงเรียนศิลปศึกษาซึ่งต่อมาก็คือโรงเรียนช่างศิลป์และวิทยาลัยช่างศิลป์ในปัจจุบัน เป็นโรงเรียนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เปิดไว้เพื่อจะเป็นพื้นฐานให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร

อาจารย์เคยได้รับรางวัลที่ 1 ลายไทย รางวัลที่ 1 จิตรกรรมไทยและเขียนภาพคน รางวัลที่ 2 จนเป็นที่พูดถึงของรุ่นพี่ที่ศิลปากรต้องมาดูตัว จากนั้นก็ได้ไปสอบเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนเช้า สอบดรอว์อิ้ง ตอนบ่ายสอบคอมโพสิชั่น เมื่อสอบเสร็จ อาจารย์ลาวัลย์ ดาวราย (อุปอินทร์) ถึงกับมาขอดูตัวว่าใครคือนายสัญญา เพราะเป็นคนเขียนดรอว์อิ้งได้คะแนนเต็ม เป็นที่ฮือฮามาก และเมื่อตอนรับน้องใหม่ที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เกือบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อโดนรุ่นพี่เผาทั้งเป็น ด้วยการจับโยนเข้ากองไฟ แต่ก็หลุดรอดออกมาได้ เป็นที่สนุกสนานตามประสาวัยคะนอง

อาจารย์สัญญาเคยได้รับรางวัลระดับชาติ จึงถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการศิลปะไทย ท่านเป็นหนึ่งในนักศึกษาศิลปากร สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งมีศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ปรมาจารย์ด้านภาพพิมพ์เป็นคณบดีศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาอย่างเคี่ยวกร่ำจนเป็น 1 ใน 4 ของรุ่นที่จบออกมาในยุคนั้นท่านเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ ทวน ธีระพิจิตร, ถกล ปรียาคณิตพงษ์ และพงษ์ศักดิ์ ภู่อารีย์

การก้าวสู่วงการด้านภาพพิมพ์ของอาจารย์สัญญา เริ่มตั้งแต่การที่ท่านสอบได้คะแนนสูง ทั้งด้านประติมากรรมและภาพพิมพ์ อาจารย์ชลูดเห็นแววจึงให้เรียนด้านภาพพิมพ์ ทำให้ท่านได้รับชื่อเสียงในขณะที่เป็นนักศึกษาโดยได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากการส่งภาพพิมพ์แกะไม้ขนาดใหญ่ที่สุดชื่อ “โลกใหม่” เข้าประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ อีกทั้งอาจารย์ชลูดมีแนวความคิดให้นักศึกษารุ่นแรกในสายภาพพิมพ์ที่จบออกไปมาเป็นอาจารย์ เพื่อวางรากฐานในการเผยแพร่ความรู้ที่เข้มข้นทางด้านภาพพิมพ์แก่อนุชนรุ่นหลังๆ ต่อไป อาจารย์สัญญาได้รับการติดต่อจากท่านศาสตราจารย์เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงนั้นท่านจึงทำหน้าที่เป็นครูและศิลปินคู่ขนานกันไป พร้อมกับจัดแสดงผลงานทางด้านภาพพิมพ์ ดรอว์อิ้ง เพ้นติ้ง และงานประติมากรรมอยู่บ่อยครั้ง

บทบาทของการเป็นอาจารย์และศิลปินของท่านสุกงอมอิ่มเอมอยู่เสมอ จึงได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แสดงให้เห็นได้จากการที่รัฐบาลฮอลแลนด์ให้รับทุนของกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ ไปศึกษาต่อทางด้านภาพพิมพ์ที่ รีทเฟล อะคาเดมี เมืองอัมสเตอร์ดัม ระหว่างนั้นจึงมีโอกาสได้แสดงงานศิลปะ จนชื่อเสียงหอมหวน รัฐบาลฮอลแลนด์จึงรับซื้อผลงานหลายชิ้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาที่นั่น ท่านจึงตัดสินใจกลับมาเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ครุศิลป์ในรั้วจามจุรีต่อไปจนถึงปัจจุบัน ผลงานการแสดงเดี่ยว “สัญญา” ที่สร้างชื่อเสียงตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นเครื่องหมายการค้าได้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่เป็นผลงานศิลปะภาพพิมพ์เทคนิคต่างๆ ตามแนวคิดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาพพิมพ์แกะไม้ขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวของศิลปะ สังคม วัฒนธรรม การเมืองในแต่ละยุค นำมาผสมผสานกัน ทำให้เกิดแรงเสริมขับเคลื่อนจินตนาการอันแก่กล้าของศิลปิน

ภาพพิมพ์แกะไม้ที่ชื่อชุด “ไฟใต้” เป็นอีกชุดหนึ่งที่ท่านเพิ่งจัดแสดงผลงานเมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์บอกว่าเริ่มทำงานชุดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ การเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยม รุนแรง โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ ชีวิตผู้คนซึ่งต้องรับเคราะห์กรรม ความตาย ความพิการ ความพลัดพรากเกิดขึ้นโดยไม่ทราบมาก่อน ไม่ว่าราชการจะหาหนทางแก้ไขอย่างไร ก็ไม่ดีขึ้นและไม่ทราบว่าจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยเมื่อไร การสร้างผลงานภาพพิมพ์จะต้องมีการคัดเลือกวัสดุให้ตรงกับเรื่องราวและแนวความคิด แล้วนำมาสร้างเป็นแม่พิมพ์ โดยคงไว้ซึ่งความงามจากพื้นผิวของธรรมชาติ สี สัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนความรู้สึก อารมณ์ ความสะเทือนใจ ออกมาในรูปแบบของศิลปะภาพพิมพ์ไม้ ตอนนี้ผลงานดังกล่าวถูกจัดแสดงที่เมืองสตุตการ์ต ประเทศเยอรมนี

ความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างสรรค์ “ภาพพญาครุฑ” ในงานจิตรกรรม ชั้นปีที่ 1 ขณะเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ เมื่อปี พ.ศ.2504 เป็นภาพครุฑรูปแรกที่อาจารย์สัญญาสร้างสรรค์ ท่านมีความชื่นชอบเป็นพิเศษจึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการวาดรูปครุฑรูปนี้ขึ้นมาจากนั้นอาจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม อาจารย์ผู้สอนศิลปะไทยให้กับคณะจิตรกรรมและประติมากรรมและเป็นผู้ออกแบบเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้อาจารย์ปั้นครุฑที่เมืองโบราณ เพื่อติดไว้ที่หน้าบัน พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท เป็นครุฑแบบสมัยอยุธยา ที่อาจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม เป็นผู้ออกแบบครุฑองค์นี้ จึงเสมือนเป็นครุฑองค์แรกของอาจารย์สัญญาที่ลงมือปั้นเมื่อเรียนอยู่ปีที่ 3 คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี พ.ศ.2510 ราวกับสวรรค์เบื้องบนเป็นผู้กำหนดให้อาจารย์สัญญาต้องมาปั้นครุฑ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

เทพแห่งปักษี

ณ ท้องฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างไกล นกคือผู้ครอบครองน่านฟ้าเหนือสัตว์ใดๆ ในโลกหล้า สองปีกที่โผผินบินอยู่บนท้องฟากฟ้าอย่างอิสระ ได้สร้างให้เกิดความประทับใจให้แก่มนุษย์ที่เฝ้ามองจากเบื้องล่างมาอย่างช้านาน หากว่าท้องฟ้าที่กว้างไกลสุดขอบเขตและไร้ที่สิ้นสุดคือบ้านของนก ย่อมเป็นที่ปรารถนาจากจิตใจของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจให้มนุษย์เกิดความคิดและจินตนาการที่เกี่ยวกับนก ผู้เป็นเจ้าแห่งนภาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด “ครุฑ” พญานกผู้มีอิทธิฤทธิ์ มีรูปกายกึ่งมนุษย์กึ่งพญาอินทรี มีบางความเชื่อที่สร้างจินตนาการเกี่ยวกับครุฑในลักษณะของพญาอินทรีทั้งตัวว่ามีลักษณะแบบเหยี่ยว

“การปั้นครุฑถือเป็นประติมากรรมชั้นสูง เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยมาอย่างยาวนาน ครุฑไทยจัดเป็นครุฑที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสง่าราศีและแสดงถึงความองอาจ น่าเกรงขาม เพราะครุฑเป็นของสูงสำหรับความเชื่อของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนดั่งสัญลักษณ์แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยให้ความศรัทธา ดังนั้นการปั้นครุฑจึงต้องให้ความเคารพและมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลาในการปั้น แต่ทว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้ข้อมูลและกระบวนการเหล่านี้

“ครุฑจึงหมายถึงนกขนาดใหญ่หรือเทพแห่งปักษีที่มีรูปร่างดั่งนก มีฤทธานุภาพและพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ ปีกทั้งสองข้างมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และสามารถโบยบินได้อย่างรวดเร็วบนนภากาศ มีสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดและมีความอ่อนน้อม ถ่อมตน มีความกล้าหาญและกตัญญู เรื่องราวของครุฑนั้นมีปรากฏอยู่ในสองศาสนาคือตำนานของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาทั้งหินยานและมหายานนิกาย”

มีอะไรมาดลใจให้อาจารย์ไปชอบครุฑหรือผูกพันกับครุฑเป็นพิเศษ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุบังเอิญ มันเหมือนฟ้ากำหนดให้มาปั้น เราจึงถามคำถามอาจารย์ด้วยคำถามนี้

“มันเป็นเรื่องที่แปลก ผมสนใจครุฑมาตั้งแต่ผมเรียนปี 1 ที่โรงเรียนศิลปศึกษา ต่อมาเมื่อผมเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อนจะจบปี พ.ศ.2512 ผมปั้นครุฑขนาดใหญ่สูงถึง 9 เมตร ตอนจะติดตั้งต้องทำพิธีทางพราหมณ์และพิธีทางศาสนา ที่ผมชอบครุฑ ผมชอบที่ความสง่างามของพญานกอยู่แล้ว เหมือนบางคนที่ชอบมังกร ผมชอบเขียนรูปครุฑเป็นพิเศษก็ตอนมาเรียนกับหลวงพิศาลศิลปกรรม ชั้นปี 3 ท่านไปสอนการทำโบสถ์ ท่านเห็นว่าผมมีฝีมือจึงชวนไปปั้นครุฑให้พระที่นั่ง สรรเพชรปราสาทเมืองโบราณ ท่านก็ให้ผมปั้นครุฑ

“จากนั้นมาก็เริ่มปั้นครุฑมาตลอด ทำมาเรื่อยๆ ทั้งที่ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ ผมมักจะทำขนาดใหญ่ๆ รวมถึงอาคารสำนักงานเอกชนสูง 9 เมตรบ้าง 7 เมตรบ้าง 6 เมตรบ้าง ก็ทำมาเรื่อยๆ อีกอย่างตามคติความเชื่อ ครุฑถือว่าเป็นพญานกยักษ์ที่มีพลัง ตัวเป็นคน หน้าเป็นนก เป็นเทพองค์หนึ่งที่มีพลังมาก ความเชื่อของอินโดนิเชีย ทิเบต ภูฏาน จีน ญี่ปุ่น ก็จะคล้ายๆ กัน”

ศิลปินดุจวีรบุรุษ

“เมื่อผมไปเรียนภาพพิมพ์ ผมก็สามารถมีชื่อเสียงและได้ทุนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ราวปี พ.ศ.2516 เป็นทุนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ รุ่นพี่ที่ไปก่อนหน้านี้มีพี่ถวัลย์ ดัชนีกับพี่ชวลิต เสริมปรุงสุข เขาไปเรียนที่รอยัลอะคาเดมี ส่วนผมเรียนที่รีทเฟล อะคาเดมี เพราะผมจบมาทางกราฟิกอาร์ต นับว่าท่านมีพระคุณกับผมอย่างสูง

“ปีแรกได้ทุนดูงาน เมื่อสอบได้คะแนนดีก็ได้ทุนเรียนต่อไปอีกปีกว่า ในระหว่างเรียน ผมอยากจะอยู่ที่นี่อย่างพี่ชวลิต ผมก็ส่งผลงานไปให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์คัดเลือก รัฐบาลเขาซื้อผลงานของผมที่ชื่อ BORGER รวมทั้งรัฐบาลและเอกชนก็ขอซื้อทั้งหมดการที่ได้รับการสนับสนุนซื้อผลงานจากรัฐบาลเขา เพราะเราขายงานได้แล้วทำให้มีความหวังว่าเราสามารถอยู่ที่นี่ได้ ระหว่างนั้นเองทางสถานทูตไทย ก็เรียกตัวกลับ จึงไม่ได้อยู่ที่นี่ ที่ผมอยากอยู่ที่นี่เพราะบ้านเมืองของเขามีความสวยงาม อนุสาวรีย์ของเขาเป็นอนุสาวรีย์ของศิลปินทั้งนั้นเลย แล้วรัฐบาลที่นี่เขาให้เกียรติเลี้ยงดูศิลปินอย่างดี

“ผมเคยคุยกับศิลปินชาวดัชท์เขาบอกว่า ในอดีตนั้นเนเธอร์แลนด์เคยทอดทิ้งศิลปินอย่างแวนโก๊ะและใครต่อใครให้ตายอย่างยากลำบากยากจน ปล่อยให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาซื้องานไปหมด อย่างเช่นประเทศรัสเซียมีงานของแวนโก๊ะหลายชิ้น เวลาที่นี่จะแสดงงานจะต้องไปขอยืมจากรัสเซีย บางครั้งต้องไปประมูลมาในราคาสูงมาก เลยทำให้เขาคิดว่าตอนนั้นทำไมถึงไม่ดูแลศิลปินที่ยากจน ปล่อยให้พวกเขาต้องอดๆ อยากๆ มาถึงตอนนี้เขาจึงจัดสรรงบประมาณให้มีเงินช่วยเหลือดูแลคนที่จะเป็นศิลปิน เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นมา จะได้ไม่ผิดพลาดเหมือนในอดีต

“เขายังบอกอีกว่า วีรบุรุษของยุโรปไม่ใช่นักรบ แต่เป็นศิลปิน ส่วนประเทศอิตาลีเขาบอกว่า วีรบุรุษของพวกเขาคือ ลีโอนาโด ดาวินชี ไมเคิล แองเจโล เพราะฉะนั้นเขาจะให้ความสำคัญกับศิลปิน มีสตูดิโอให้ทำงาน มีเงินทุนและเงินอุดหนุนซื้อผลงาน มันทำให้ผมอยากอยู่ที่นี่ บรรยากาศก็ดี ผู้คนของเขาให้ความเชื่อถือในตัวศิลปิน ไปไหนมาไหนก็มีคนยกย่อง และมิวเซียมที่นี่ก็เยอะแยะไปหมด แต่ที่บ้านเรากลับไม่ค่อยจะมี รัฐบาลเขาให้การสนับสนุนมาก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ ความคิดของความงามที่จรรโลงใจ”

“ในเมื่อมันมีวัตถุเยอะแยะอยู่แล้ว มันต้องหันเข้ามาหาทางจิตใจ แม้แต่หมอยังต้องเรียนศิลปะเลย สมัยก่อน ระดับผู้นำหรือคนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ต้องเรียนศิลปะเพื่อให้จิตใจดีมีสุนทรีย์ อ่อนไหว อ่อนโยน ยกตัวอย่างผู้นำประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วเวลาเกิดสงครามเขาจะไม่ทำลายศิลปะ อย่างดูโอโม่ ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ช่วงสงครามโลก ทหารเยอรมันเวลาขับเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่อิตาลี เขาจะไม่ทิ้งระเบิดที่นี่ ไม่ทิ้งระเบิดที่โบสถ์ที่วัด เขาจะเว้นไว้ จุดต่างๆ ที่สวยงามเขาจะไม่ทำลายกัน แต่บ้านเรายังไม่เจริญ ดูอย่างสงครามในสมัยพระนครศรีอยุธยา เวลาพม่ามารบกับเรา เขาเผาวัดวาอารามราบคราบไปหมดเลย แต่ที่นั่นเขาจะเก็บรักษาเอาไว้ เขาคิดว่าศิลปะทำให้พลเมืองของเขาอ่อนโยน มีความรักสวยรักงาม มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจที่ดีมีรสนิยม มันช่วยจรรโลงใจ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศ ที่จะดื่มด่ำกับศิลปะ

“การสร้างชาตินั้นต้องสร้างศิลปินด้วย ศิลปินมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ประเทศชาติสวยงาม สร้างงานศิลปะทำให้มีวัดวาอารามศิลปะแสดงความเป็นเอกลักษณ์ บ้านเราเป็นไทยขึ้นมาได้ เราจะเห็นว่าลักษณะของศิลปะไทยไม่เหมือนศิลปะชาติอื่นๆ ของเรามีลายประจำชาติ แสดงว่าลายไทยกว่าจะมาเป็นลายประจำชาติ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 400-500 ปี แสดงว่าเราเป็นไทยมีความเจริญมานานมาก ประเทศอเมริกาเพิ่งจะมาเป็นชาติเมื่อ 200-300 ปีนี่เอง ฉะนั้นประเทศของเราจะเก่าแก่กว่า น่าภาคภูมิใจที่มีศิลปะประจำชาติ แล้วก็พัฒนามาเป็นเอกลักษณ์ อันนี้คือสิ่งที่พวกเราภาคภูมิใจในความเก่าแก่ มีอารยะธรรมมีความเจริญทางด้านจิตใจของคนไทย”

ปาฏิหาริย์แห่งองค์ครุฑ

“ผมสร้างสรรค์งานศิลปะมาเยอะมาก แต่ผมเป็นคนไม่มีอัตลักษณ์ (หัวเราะ) ผมชอบทำงานศิลปะทุกอย่าง มันจะชอบไปหมดผมไม่ไปทางใดทางหนึ่ง ลายไทยผมก็ชอบ ประติกรรม งานปั้นผมก็ชอบ เพ้นท์ติ้งหรือภาพพิมพ์ผมก็ชอบ ที่จริงศิลปินมันต้องทำเพียงอย่างเดียวให้มันเด่นไปเลย แต่ของผมทำไปหมด ชอบอะไรก็ทำอันนั้น สบายๆ งานปั้นองค์ครุฑที่ผมทำอาจจะเป็นที่โดดเด่นกว่า งานชุดล่าสุด ผมทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ศูนย์แพทย์พัฒนาซึ่งเป็นของในหลวง พระองค์ทรงตั้งศูนย์แพทย์พัฒนาขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้รักษาคนยากคนจน เก็บค่ารักษาพยาบาลแต่พอสมควร ผมจึงทำองค์ครุฑอย่างสุดชีวิต เอาแบบมองแล้วลอยขึ้นมา เป็นองค์ที่ทำเต็มที่สุดๆ

“ผมกับคณาจารย์ยังทำตำราเกี่ยวกับครุฑจำหน่ายด้วย เพราะคนไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับครุฑ ธรรมดาคนที่จะให้ผมปั้นครุฑเป็นบริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้นที่ติดต่อมา มีทั้งบริษัทโค้ก เป๊ปซี่ ชินวัตร ซีพี คิง เพาเวอร์ ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไปหลายแห่งเพราะเขาต้องการเร็ว คนที่จะได้พระบรมราชานุญาต ได้ตราครุฑ ส่วนมากจะมาติดต่อให้ผมปั้น เวลาผมทำครุฑองค์หนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นปี อย่างเร็วราว 6 เดือน เพราะผมเป็นข้าราชการด้วย ต้องใช้เวลานาน บางบริษัทขอพระบรมราชานุญาตครุฑ ต้องใช้เวลาถึง 35 ปีก็มีกว่าจะได้ เมื่อผมปั้นองค์ครุฑ ผมต้องทำให้ดี ต้องใช้วัสดุที่ดีใช้เวลาและทำเต็มที่ มีบริษัทหนึ่งมาขอให้ปั้นครุฑดูจะให้ความสำคัญเรื่องราคามาก ผมเลยบอกให้ไปซื้อที่จตุจักร

“การปั้นครุฑเป็นศิลปะชั้นสูง ต้องปั้นใหม่ทุกครั้ง เป็นศิลปะแบบประเพณีประจำชาติมาแต่โบราณ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลานาน การปั้นรูปลักษณะจึงต้องมีความละเอียดลออ แม่นยำ ผิดพลาดไม่ได้ ฉะนั้นการรับใช้เบื้องยุคลบาทนับเป็นมงคลกับชีวิตผมจริงๆหากจะเปรียบเทียบ ครุฑโบราณเขาจะแกะด้วยไม้กัน ตอนหลังก็มาหล่อทองแดงบ้าง ปัจจุบันนี้หล่อไฟเบอร์กลาสกันหมด องค์ครุฑที่ผมปั้นให้กับไทยพาณิชย์ฯมีความสูงปีกต่อปีกยาว 9 เมตร นั่นก็หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ส่วนพระนารายณ์ประทับอยู่เหนือครุฑในเรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 อันนั้นแกะด้วยไม้ เขาต้องหาช่างดีมีฝีมือมาแกะ นอกจากนั้นผมยังมีงานปั้นมากเช่น อนุสาวรีย์พระเจ้ากาวีละ สูง 190 เซนติเมตร ทองแดงรมดำ ปั้นอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ปั้นพระพิฆเณศให้คณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ

“การปั้นองค์ครุฑนั้น เมื่อมีปัญหาเราก็จะแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยติดขัดอะไร ส่วนปาฏิหาริย์นั้นพูดแล้วเหมือนนิยาย ตอนที่ผมปั้นองค์ครุฑอยู่ที่บริเวณบ้านย่านลำลูกกา ก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ต่อมาผมย้ายไปปั้นย่านเพชรเกษม เป็นบ้านพรรคพวกชื่อตาแม็คที่ๆ เราไปใช้ปั้น เป็นสนามตระกร้อ มีพื้นที่กว้าง ตอนนั้นผมไปปั้นองค์ครุฑให้กับไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย ขณะเดียวกันอีกองค์ก็ปั้นให้กับศูนย์แพทย์พัฒนา ก็จะนำมาหล่อที่นี่ แล้วมีอยู่วันหนึ่ง เจ้าของบ้านก็มาถามตาแม็ค ที่เป็นช่างสี ช่างหล่อไฟเบอร์กลาสลูกมือของผม ว่า เอ๊ะ อาจารย์สัญญาเขาเอาไก่หรือนำเอานกมาเลี้ยงไว้ที่นี่เหรอ บางคืนได้ยินเสียงตีปีกพรึบๆๆ บางคืนก็ได้ยินเสียงครางในลำคอ เมื่อไปชะโงกหน้าดู ก็ไม่เห็นจะมีนกหรืออะไร เมื่อกลับเข้าบ้านมานั่งในบ้าน ก็ได้ยินเสียงครางครืดๆในลำคอ คล้ายสัตว์ขนาดใหญ่แล้วได้ยินเสียงตีปีกสลับกันไป เขาเกิดความกลัว จึงพากันเข้านอนกันหมด ตอนเช้าเขาจึงมาถามผม ผมก็บอกว่าไม่รู้

“เสร็จแล้วผมก็นำเรื่องนี้ไปเล่าให้กับภรรยาผมฟัง ภรรยาผมก็ได้ยินเสียงพรึบๆ คล้ายตีปีกขณะนอนหลับ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรกับครุฑที่ผมปั้นหรือเปล่า เพราะที่บ้านผม ผมก็ปั้นครุฑองค์เล็กๆ ไว้ มีคนเจอเหตุการณ์แปลกๆ หลายเหตุการณ์ ขณะผมปั้นครุฑ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปจ้างบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อนำองค์ครุฑไปติดตั้ง ตอนจะยกครุฑเขาก็จุดธูปบอกกล่าวเจ้าที่ เมื่อนำรถเข้าไปยกครุฑใส่รถเสร็จแล้ว รถถอยออกมาไม่ได้ ติดหล่ม ทำอย่างไรก็ถอยไม่ออก พวกนั้นมือไม้สั่นไปหมด ผู้รับเหมาจึงต้องจุดธูปกำใหญ่ เพื่อนำมาไหว้ ขอขมา จากนั้นจึงถอยรถออกมาได้ในที่สุด

“หรืออย่างตอนที่ผมจะเริ่มปั้นองค์ครุฑให้กับธนาคารกรุงเทพฯ สำนักงานใหญ่ ผมก็ต้องจุดธูปบอกเจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์และองค์ครุฑ เมื่อช่างจะมายกแม่พิมพ์ไปทำไฟเบอร์ พวกช่างต้องมีการจุดธูป ก็จะจุดธูป เทียน มีการไหว้ ถวายหัวหมู บายศรี เพื่อบอกกล่าวขออนุญาต แล้วจึงยกขึ้นเพื่อนำไปหล่อไฟเบอร์กลาสที่โรงงานได้ มันก็เป็นเรื่องที่แปลก ต่อมาขณะทำสีปิดทอง สีเกิดไม่แห้งต้องทำพิธีอีก จากนั้นก็นำไปติดตั้งที่สีลมสำนักงานใหญ่ทันตามกำหนด หรือการปั้นแม่ทัพอลองคยี แม่ทัพพม่าเพื่อนำไปตั้งไว้ที่ยอร์ชคลับ จังหวัดนนทบุรี ก็ต้องทำพิธีขอขมาเจ้าที่ เจ้าทาง ดวงวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ไม่มีอุปสรรคและเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง

“เวลาใส่หัวใจครุฑ ก่อนจะปั้นครุฑ นั่นก็คือการเสริมพลังให้เรา โดยนำดอกไม้ธูปเทียนมาไหว้ ทำกันเองโดยเฉพาะตำแหน่งการวางหัวใจครุฑ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างองค์ครุฑ ภายหลังการขึ้นโครงไม้แล้ว เราจะนำดินที่ใช้ในการปั้นมาก้อนหนึ่ง ปั้นดินให้มีลักษณะเป็นรูปหัวใจครุฑ วางลง ณ ตำแหน่งทรวงอกด้านซ้ายโครงไม้ เชื่อว่าจะดลบันดาลให้องค์ครุฑคงความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยให้ผู้ปั้น เกิดความมั่นใจ อบอุ่นใจ การลงมือปั้นภายหลังจากวางหัวใจครุฑแล้ว จะต้องขอขมาลาโทษเจ้าที่ เจ้าทาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์และขออภัยองค์ครุฑ หากการปั้นมีการล่วงเกินใดๆ และอาราธนาองค์ครุฑ เพื่อโปรดอนุญาตในการปั้น ตลอดจนขอให้ทรงปกป้องคุ้มครองให้การปั้นครั้งนี้สัมฤทธิ์ผล เวลาจะติดตั้งทางเจ้าภาพ จะต้องเซ่นสรวงบูชาตามแบบอย่างธรรมเนียมคติแบบพราหมณ์ เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ทำให้รู้สึกสบายใจ นอกจากนี้ในระหว่างประกอบพิธีกรรมอันเชิญองค์ครุฑพราหมณ์จะทำพิธีเบิกเนตรให้แก่องค์ครุฑก่อนยกขึ้นติดตั้งด้วย”

บนเส้นสายปลายศิลป์ 

“ผมอยากจะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาเรียนศิลปะหรืออยากเป็นศิลปิน เดี๋ยวนี้มีสถาบันสอนศิลปะเยอะ แล้วคนก็อยากเข้ามาเรียนกันมาก ผู้ที่จะเดินบนถนนสายนี้ จึงจำเป็นต้องจริงจังทุ่มเท เมื่อทำงานต้องทำอย่างเต็มที่อดทน ไม่ท้อถอย อุปสรรคต่างๆ มันจะผ่านไปได้ ถ้าเราทุ่มเททุกอย่าง ทำอะไรจริงๆ จังๆ ผมคิดว่าเราจะประสบผลสำเร็จ นอกจากความพยายามแล้ว เราต้องมีใจรักที่จะทำงานศิลปะ

“ที่ผมอยากจะเตือนคือเรื่องอารมณ์ ในเรื่องศิลปะ เพราะคนที่มาติดต่อกับศิลปิน มักจะมาพูดคุยให้ฟังในเรื่องการไม่เป็นเวลา เจ้าอารมณ์ ไม่มีระเบียบ การไม่ตรงต่อเวลาของศิลปิน การทำงานศิลปะเราไม่ต้องรออารมณ์ บางคนไม่มีอารมณ์จะไม่ทำงาน ผมไม่เห็นจะต้องใช้อารมณ์เลย ผมยังทำงานออกมาได้ดี งานเข้ามาเมื่อไรผมทำได้หมด ขอให้มีใจรัก มีความมุ่งมั่น มันสามารถทำได้เลยแต่มักจะกลับกลายเป็นว่า ศิลปินมักเป็นอย่างนี้ คนเขาก็เลยเข้าใจศิลปินผิด คิดว่าศิลปินต้องไว้ผมยาว ต้องแต่งตัวประหลาดต้องพูดจามันๆ มันเป็นภาพลักษณ์ที่คนอื่นเขามองว่า ศิลปินเป็นคนเช่นนั้น จึงมีแต่ข้อเสีย

“ที่จริงคนที่ศิลปินจริงๆ เขาทุ่มเท จริงจัง ตรงต่อเวลา ผมไปเห็นอนุสาวรีย์ไมเคิลแองเจโล ที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี ผมเข้าไปไหว้เลยแล้วบอกว่าโอ้โห คุณพ่อครับ ผมมาสวัสดี (หัวเราะ) จะให้ไม่ไหว้ได้อย่างไร ตอนอายุ 25 ปีแกะสลักหินอ่อน ปิเอตต้า ที่วาติกันอายุ 30 ปีกว่าแกะสลักรูปปั้นเดวิด ท่านเป็นเทพจริงๆ สมกับคำพูดที่ว่า วีรบุรุษของคนยุโรป ไม่ใช่นักรบ แต่เป็นศิลปิน จึงมีอนุสาวรีย์ศิลปินมากมาย

“คนเป็นศิลปินในสมัยก่อน มันต้องมีความพร้อม มีความเฉลียวฉลาด สมองเยี่ยมไม่ใช่ใครจะมาเป็นศิลปินก็ได้ อย่าง ลีโอนาโดคิดค้นออกแบบเครื่องบิน คิดรถถัง เรือดำน้ำ ท่านเป็นทั้งหมอและนักวิทยาศาสตร์ อยู่ในตัวเต็มไปหมด ส่วนไมเคิลแองเจโลเป็นสถาปนิก เป็นนักแกะสลัก เป็นช่างในด้านต่างๆ ทั้งคู่จะมีอะไรคล้ายๆ กัน ฉะนั้นคนเก่งในสมัยก่อน เมื่อขึ้นมาเป็นศิลปินประเทศชาติมันถึงได้เจริญ

“ศิลปินที่ทำงานมาหนักและยาวนานเพื่อประโยชน์กับประเทศชาติ เขาก็จะมอบศิลปินแห่งชาติให้ ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการยกย่องคนที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิตให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องขยันมาก ทำงานอย่างจริงจังและทุ่มเท ผมเองก็ดีใจที่ทางรัฐบาลเขาอุ้มชูศิลปินแห่งชาติ เพราะเขาทำงานหนักมาตลอดชีวิต น่าจะได้มีคนมาดูแลยามแก่เฒ่า เขาจะได้มีกำลังใจ มันจะได้มีคนที่มีฝีมือมากขึ้น ประเทศชาติ จึงจะเจริญก้าวหน้าต่อไป”

ชายร่างเล็กท่านนี้ที่จบจากรั้วศิลปากร