อินสนธิ์ วงศ์สาม

อินสนธิ์ วงศ์สาม

อาจารย์อินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปีพ.ศ.2542 ลูกศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รุ่นแรกๆ เป็นบุตรของแม่เปา ช่างทอผ้าและเจ้าหนานหมื่น วงศ์สาม บิดาผู้มีเชื้อสายเจ้าเมืองยองอพยพย้ายถิ่นจากแคว้นสิบสองปันนา ในมณฑลยูนานตอนใต้ของประเทศจีน เนื่องจากสภาวะสงครามในอดีต จนได้เข้ามาสู่ตอนเหนือของประเทศไทยเมื่อราวร้อยกว่าปี เจ้าหนานหมื่นเป็นช่างผู้มีฝีมือชั้นสูง สืบมรดกความรู้ทักษะทางช่าง เป็นนักสร้างชุมชนของคนยองขึ้นมาใหม่ สร้างวัด กุฏิวิหาร สุสาน ตลาด ฯลฯ ของคนยองบ้านป่าซาง ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมี อาจารย์อินสนธิ์เป็นหน่อเนื้อเชื้อไข รับมรดกถ่ายทอดให้กับเขานำไปเป็นอาชีพ ช่างเงิน ช่างทองพื้นบ้าน สร้างอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของเขาเพื่อเติบโตภายใต้บริบทของวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง

ความคิดเรื่องท่องเที่ยวเพื่อบันทึกการเดินทางด้วยงานศิลปะนั้นได้ก่อตัวขึ้นเมื่อเขาจบจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ.2504 อันเป็นช่วงเดียวกับการรวมตัวกันของศิลปินกลุ่มมักกะสัน Bangkok Art Center ซึ่งมีดำรง วงศ์อุปราช, ทวี รัชนีกร, เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ ฯลฯ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ พร้อมกับมอบเงินให้ 800 บาทและหาสปอนเซอร์ให้ เพื่อเป็นทุนในการเดินทางไปเขียนรูปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นเวลา 1 ปี มีผลงานกว่า 70 ชิ้น ถูกบันทึกด้วยภาพสเกตซ์ วาดเส้น จิตรกรรมสีฝุ่น สีน้ำ ภาพพิมพ์ Woodcut สร้างความปีติยินดีเป็นที่ชื่นชอบของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยิ่งนัก

จากนั้นเมื่อได้รับแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าจากอาจารย์ศิลป์ จึงคิดอยากจะเดินทางไปรอบโลก โดยจุดหมายอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี สถานที่เกิดของอาจารย์ศิลป์ จึงได้รับการแนะนำจากอาจารย์ศิลป์ให้ไปหาเพื่อนท่าน โดยใช้รถสกู๊ตเตอร์ที่ผลิตในประเทศอิตาลี พร้อมทำโครงการเสนอที่ Berli Jucker Company ซึ่งเป็นดีลเลอร์ของ Lambretta จนได้รถมาหนึ่งคัน บริษัทเอสโซ่ให้ทุนเป็นค่าน้ำมันมาส่วนหนึ่ง เงินที่เก็บสะสมได้จากการประมูลผลงานอีกเล็กน้อย พอที่จะติดปีกบินได้ จึงเตรียมอุปกรณ์ทำอาหาร ถุงนอน เสื้อผ้า หยูกยา เครื่องไม้ เครื่องมือ ถูกติดตั้งด้านหน้า ด้านหลังรถ ส่วนด้านข้างเป็นที่เก็บงานศิลป์ที่พับม้วนกว่า 200 ภาพ นอนสงบอยู่ในกล่องเก็บแพ็คกันน้ำอย่างดี ในกระเป๋าหนัง อีกทั้งอุปกรณ์ซ่อมบำรุงรถกำหนดการเดินทางผจญภัยรอบโลกตั้งต้นเพียง 16 เดือน ค่ำไหนนอนนั่น ทั้งวัด โบสถ์ ริมภูเขา กลางทะเลทราย และราวป่าฯลฯ ผ่านร้อน ผ่านหนาว และความหิวโหย ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ต่างภาษาวัฒนธรรม ประเพณี เลาะตะเข็บพรมแดนไทย-พม่าข้ามมหาสมุทรอินเดีย ผ่านปากีสถาน อิหร่าน ตะวันออกกลาง โผล่ตุรกี กรีก อิตาลี ท่องไปทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา โดยทำงานศิลปะตลอดทางที่ผ่านไป เพื่อนำไปแสดงและจำหน่าย หาเงินเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างทาง

ชีวิตที่คลุกฝุ่น เดินทางไกลขยายเวลายาวนานถึง 12 ปีในต่างแดน เพื่อใช้ชีวิตให้คุ้มค่า เมื่ออิ่มเอมอารมณ์ จึงตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน จังหวัดลำพูนในปี พ.ศ.2517 ดำรงชีวิตที่สมถะเรียบง่าย เขายังคงสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2542 อาจารย์อินสนธิ์ และวนิดา วงศ์สาม ภรรยา จึงได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิอุทยานธรรมะและสวนมรดกในเนื้อที่ 16 ไร่ ภายในบ้านเป็นโครงการวัฒนธรรมเพื่อสันติศึกษาของยูเนสโก้ เป็นสถานที่ให้ผู้คนพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาจิตสำนึกที่ดี เพื่อท้องถิ่นในรูปแบบของการสร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์ ที่จังหวัดลำพูน

งานประติมากรรมของเขามักมีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ผลงานยุคแรกทำด้วยโลหะ ทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ระบายสีฉูดฉาดตามสไตล์ของศิลปะอเมริกาสมัยใหม่ จากนั้นค่อยๆ พัฒนามาสู่ความเป็นตัวของตัวเอง โดยทิ้งรูปทรงเรขาคณิต หันมาให้ความสำคัญกับรูปทรงที่จินตนาการขึ้นมาใหม่ จากสภาวะจิตที่เขาได้สัมผัส โดยเฉพาะวัสดุก็เปลี่ยนมาใช้ไม้แกะสลัก สกัด เจาะแล้วขัดแต่งแทน จนพื้นผิวของงานมีความประสานกลมกลืนกันอย่างสวยงาม เพื่อจงใจโชว์ให้เห็นถึงแก่นแท้ ลวดลายของเนื้อไม้ตามธรรมชาติ แลดูมีชีวิตชีวา เขาไม่ได้เข้าไปควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงไม้ให้เป็นรูปทรงอื่น หากแต่สลักเสลา ขัดเกลารูปทรงเดิมด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเชิดชู ส่งเสริมคุณค่า คืนชีวิตให้กับเหล่ารากเหง้าไม้ โดยการนำคุณสมบัติเหล่านั้นออกมาให้ปรากฏ “เขาแกะไม้ให้เห็นไม้” จึงเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง เขาไม่ได้แกะไม้เป็น ช้าง ม้า เสือ สิงห์ ฯลฯ

วิถีธารอันรื่นรมย์

การเดินทางผจญภัยโดดเดี่ยวเดียวดายในโลกกว้าง ที่ต้องใช้เวลาระหกระเหินกว่าทศวรรษ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาสามารถเข้าใจภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา และได้หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่เปิดใจ องอาจ กล้าหาญ รื่นเริง เข้าใจโลกและความเป็นมนุษย์ปุถุชนอย่างสมบูรณ์ หลังจากเขาจัดนิทรรศการศิลปะ “สุดขอบฟ้า” เมื่อปีกลายที่ผ่านมา ด้วยวัย 76 ปี การพูดคุยอย่างออกรสถึงเรื่องราวในอดีต ดูเหมือนเหตุการณ์เหล่านั้นยังคงหอมกรุ่น ราวกับเพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน

“ผมหยุดอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนแล้ว สมัยที่ผมยังหนุ่มๆ ผมโลดแล่นไปไกลมาก มันเป็นชีวิตที่อิสระ อยากรู้ อยากเห็น เมื่อได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านเล่าเรื่องราวศิลปะ ประวัติศาสตร์ ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ให้ฟังจึงเกิดความประทับใจ การเดินทางด้วยรถสกูตเตอร์ครั้งนั้น เพราะเราตั้งใจที่จะไปแสดงงาน แล้วไปศึกษา พร้อมกับเขียนรูปไปด้วย มันเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง เมื่อถึงประเทศไหน ก็จะเขียนภาพวิวทิวทัศน์ ภาพสีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมันบ้าง ถ้าไม่มีแรงจูงใจจากพ่อและอาจารย์ศิลป์ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไรบ้าง

“พ่อได้แนะนำการทำงาน และสอนให้เดินตามท่าน เพราะผมเป็นลูกชายคนโต จะได้เป็นตัวอย่างแก่น้องๆ ท่านเป็นคนชอบโหราศาสตร์ ซึ่งท่านก็สอนผมด้วย ทำให้ผมดูลักษณะของคน เวลาเราคุยกัน ว่าเขามาอย่างไร เขาไปอย่างไร เวลาเราคบกับใครในต่างประเทศ เราก็จะรู้ว่าจะทำอย่างไร เราถึงจะอยู่ได้ ผมจะดูว่าใครชอบศิลปะ สมัยนั้นพ่อให้ผมวาดรูป 12 นักษัตรใช้ประกอบภาพร่างในปฏิทิน เกี่ยวกับการพยากรณ์เพื่อนำไปขาย ผมมีโอกาสได้ช่วยงานด้านหัตถกรรม เกี่ยวกับประติมากรรม งานไม้ แกะสลัก เครื่องเซรามิค

“หลังจากสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผมอยากจะเรียนต่อด้านศิลปะ จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบกับรุ่นพี่ที่ชื่อ ทวี นันทขว้าง เขาเรียนที่ศิลปากรในกรุงเทพฯ เขาจึงแนะนำให้ผมเรียนที่โรงเรียนเตรียมศิลป์ (วิทยาลัยช่างศิลป์) ก่อนจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อตอนอายุ 18 ปี โชคดีที่ผมได้เรียนกับท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงหล่อหลอมให้ผมมีความชอบหลงใหลในศิลปะ ผมจะสนใจในเรื่องการท่องเที่ยว ชอบอิสระ ไม่ชอบรับผิดชอบใครต่อใคร จึงไม่คิดมีครอบครัว ถ้ามีแฟน เราก็ต้องรับผิดชอบ ต้องหาเงินสนับสนุน ต้องมีครอบครัว ต้องทำอะไรต่างๆ เราจะไม่มีเวลาที่จะทำงานศิลปะ ผมจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตที่อิสระอยู่นาน โดยไม่สนใจเรื่องผู้หญิงมากมายนัก กลัวว่าจะหลงรักใครต่อใคร แล้วมันก็จะไม่ได้ทำงานศิลปะ

“อาจารย์ศิลป์เคยบอกกับผมว่า ‘ถ้านายจะเป็นศิลปิน นายอย่ามีครอบครัว’ ท่านยกตัวอย่างไมเคิลแองเจโล ดาร์วินชี ก็ไม่มีครอบครัว ผมจึงดำเนินตามท่านบอก ท่านสอนให้ผมรู้จักการใช้ชีวิต คนเรียนศิลปะต้องเป็นคนดี มีความรับผิดชอบ ต้องทำงานหนัก ท่านเหมือนพ่อผมอีกคนหนึ่ง ท่านจำลูกศิษย์ของท่านแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ และรู้ด้วยว่าลูกศิษย์คนนี้ควรจะไปทำงานอะไร จะไปทางไหน เมื่อเราไม่รู้ท่านจะสอนให้รู้ สอนให้เรามีประสบการณ์ สอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ทำงานอย่างเดียว ท่านจะมองคนทำงานออกว่าคนนี้เรียนศิลปะได้ บางทีวิชาอื่นนักศึกษาทำไม่ได้ ท่านก็จะช่วยบอกกับอาจารย์ท่านอื่นให้สอบผ่านได้บางคนอายุมาก แล้วมาหาเพื่อจะมาเรียนกับท่าน ท่านก็ช่วยให้เข้าได้ อย่างอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านก็จะดูออก ว่าชอบงานศิลปะ แม้อาจารย์เฟื้อจะไม่ได้จบอะไรมาเลย ท่านก็เอามาช่วยสอนลูกศิษย์ และส่งเสริมให้ไปเรียนต่อที่ประเทศอิตาลี

“ระหว่างที่เรียนกับท่าน ผมก็มีการถกเถียงกันนิดหน่อยกับอาจารย์ศิลป์ ซึ่งท่านรับฟังแล้ว ก็ไม่ได้ว่าอะไรผม ท่านไม่โกรธสามารถพูดโต้เถียงกันได้ อย่างท่านนำเอางานศิลปะสมัยใหม่มาให้ดู แล้วบอกว่างานนี้ดี ผมก็บอกว่าไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย แต่ส่วนมากลูกศิษย์ไม่ค่อยเถียงท่าน ผมสนใจและอยากจะได้ความรู้จากท่าน ผมจึงบอกว่า งานที่อาจารย์นำมาให้ดูนั้น ไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่บอกว่าไม่ดีเฉยๆ มันมีเหตุผลเข้ามาสนับสนุน แต่พอผมไปถึงเมืองอิตาลี ไปเจอของจริง ถึงได้บอกว่างานที่อาจารย์นำมาให้ผมดูครั้งนั้นมันดีจริงๆ (หัวเราะ)”

แรงจูงใจใฝ่ทะยาน

“ท่านนำศิลปะสมัยใหม่ของยุโรปมาเผยแพร่ ท่านมักจะบอกว่างานของท่านเป็นทอง ผมก็จะบอกว่างานของอาจารย์เป็นทองแดงไม่ใช่ทองคำ (หัวเราะ) ท่านไม่ได้โกรธอะไร ตอนนั้นผมเกือบจะถูกไล่ออกจากศิลปากรหลายครั้ง เพราะอาจารย์ท่านอื่นให้ออกแต่อาจารย์ศิลป์รั้งเอาไว้ทุกครั้ง ท่านบอกว่างานของผมดี จะให้ออกไปทำไม งานของผมที่ออกมาตลอด เพราะผมเชื่อท่าน ผมจึงต้องทำงานหนักมาตลอดเวลา ไม่ได้ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ได้ไปเป็นครูสอนที่ไหน ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่ศิลปินท่านอื่นๆ บางคน อาจจะสนใจเรื่องการเมืองบ้าง แต่โดยเนื้อแท้เขาจะมองการเมืองเหล่านั้นไปที่ ความดี ความงามและความยุติธรรม ศิลปะจะเป็นตัวผลักดันชีวิตให้เป็นคนทำความดี มีความยุติธรรม แรงผลักดัน ที่ทำให้ผมต้องเดินทางไปบ้านอาจารย์ศิลป์ เพราะท่านสอนเรื่องเมืองฟลอเรนซ์ โรม อิตาลี ยุโรป ประวัติศาสตร์ศิลป์เกี่ยวกับกษัตริย์คนโน้น คนนี้ สร้างสรรค์หรือทำอะไรบ้างและเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์ตั้งแต่ยุคสมัยไหน ใครเป็นคนเริ่มต้น ใครครองเมืองในอดีต ใครสนับสนุนงานศิลปะ

“ก่อนหน้านั้น ผมเดินทางไปทั่วประเทศไทยทุกจังหวัด ได้รับการสนับสนุนขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของ อสท. เพื่อเขียนรูปกลับมา ผมมาจัดงานแสดงที่ประสบกับความสำเร็จ มีผู้ให้ความสนใจในผลงานมาก จึงแสดงนิทรรศการชุดนี้ภายใต้ชื่อThailand Panorama งานของผมขายได้ เพราะผมเริ่มมีชื่อเสียงแล้ว”

“นิทรรศการครั้งนั้น อาจารย์ศิลป์ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในบทนำสูจิบัตรให้ด้วย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2504 พูดทุกครั้งก็จะรู้สึกสะเทือนใจที่อาจารย์ศิลป์ได้เขียนให้ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ได้เสียชีวิต ผมจึงอยากไปเมืองเกิดของอาจารย์ศิลป์ ที่เมืองฟลอเรนซ์ เป็นการระลึกถึงท่านด้วยการขับรถสกูตเตอร์ คราวนี้ผลงานที่ผมแสดงยังเหลืออยู่ ผมจึงฝากฝรั่งที่อยู่คริสเตียนเซ็นเตอร์ ให้เขาช่วยสนับสนุนประมูลให้ ก่อนผมจะเดินทางไปรอบโลกและก็ให้ศิลปินเขาช่วยประมูลคนละชิ้น สมัยนั้นผมได้เงินมาตั้ง 30,000 กว่าบาท สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไป-กลับประเทศอิตาลีได้สบาย แต่ผมไม่ทำ ผมนำเงินเป็นค่าเดินทางด้วยรถสกูตเตอร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2505 ตอนนั้นอายุ 28 ปี การเดินทางครั้งนี้ เพื่อผมจะได้เห็นสภาพชีวิตผู้คนในแต่ละชาติมากกว่าผมอยากรู้ความรู้สึกของเขาว่ารู้สึกอย่างไร การไปในครั้งนี้อาจจะไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกก็ได้ มันเหมือนตายไปครึ่งตัว

“ระหว่างที่เดินทางไป ผมได้สร้างสรรค์งานศิลปะไปด้วย และนำไปแสดงในทุกประเทศที่ผ่าน ผมสร้างสรรค์งานมาทั้งหมดแล้ว ก็จะจัดแสดงผลงานทั้งหมด 10 กว่าประเทศ สามารถขายได้ด้วย ไปถึงบางประเทศ เงินหมด ต้องอดข้าวไม่มีเงินเติมน้ำมันบ้างอย่างในประเทศอิหร่าน อากาศในทะเลทรายแปรปรวนมาก ทั้งกลางวัน กลางคืน มันเหมือนอยู่คนละโลก ที่ผมต้องผ่านมันไปให้ได้ ผมต้องไปขอความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก้ และได้รับความช่วยเหลือโดยเข้าทำงานที่การท่องเที่ยวของอิหร่าน ผมท่องเที่ยวไปยังโบราณสถานที่ต่างๆ จากนั้น ผมได้รับงานอออกแบบโปสเตอร์การท่องเที่ยว ผมเสนองานด้วยภาพพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเขาเองก็พอใจมาก อยากให้ผมนำเสนองานรูปแบบอื่นๆ อีก แต่ผมปฏิเสธ เพราะยังคงรักษาคำมั่นที่จะต้องเดินทางให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยมุ่งหน้าสู่ตุรกี ตอนนั้น สุกิจ นิมานเหมินทร์ เขาได้ข่าวจากทางหนังสือพิมพ์ว่าผมจัดแสดงผลงานที่นั่น เขาเลยบินมาร่วมงาน และช่วยเหลือผมด้วยการซื้อรูป 2 รูปที่ประเทศอิหร่าน เพื่อนำไปติดที่สถานทูต จากนั้นส่งรูปกลับมาเมืองไทยเอามาประมูล กว่าผมจะได้เงิน ผมก็อยู่ประเทศตุรกีแล้ว ผมได้เงินมา 200 เหรียญ”

ประติมากรรมล้ำลึก

“มีคนเดินทางอย่างผมเยอะแยะในโลกนี้ แต่เขาไม่ได้แสดงงานอย่างที่ผมทำ การเดินทางของผมจะแตกต่างกับพวกยิปซีเร่ร่อนเพราะพวกนี้จะเล่นดนตรีและขายของ แต่สำหรับผมนั้นมีจุดมุ่งหมายไปตามวิถีชีวิต การผจญภัยไปเรื่อยๆ เพื่อแสดงผลงาน จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่ออยากจะหาประสบการณ์ชีวิต อยากรู้อยากเห็น มีความตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ มีความสุข มีความทุกข์ แต่ผมทุกข์มากกว่า อารมณ์ตรงนั้นมันถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะได้ เวลามันเศร้า งานมันจะถ่ายทอดความรู้สึกออกมา อารมณ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนมอง แต่ผมมีความสุขใจทุกครั้งที่ได้ทำ เมื่องานศิลปะมันออกมา คนอาจจะมองได้ว่ามนุษย์มันไม่มีความสุขนั่นคือสัจธรรม เพราะมนุษย์มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ยุติธรรม คนจนเป็นอีกอย่าง คนรวยก็อีกอย่าง เราอยากแสดงให้คนจนเขาให้รับรู้ รู้สึกตัว

“ผมถูกสอนเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นพ่อผมจับผมมัดขาไว้ แล้วสอนเรื่องธรรมะ ก่อนที่จะสอน ผมจึงมีการซึมซับ ที่พ่อทำอย่างนั้นเพราะหาคนฟังไม่ได้ เลยเอาลูกมาเป็นคนฟัง (หัวเราะ) ผมเดินทางครั้งนี้ผมไม่ได้คิดในเรื่องความทุกข์ หรือความสุขอะไร ผมอยากจะเห็นบ้านเมืองของคนอื่นเขาว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งถึงบ้านอาจารย์ศิลป์ แผ่นดินเกิดของท่านสมใจใช้เวลาถึง2 ปี ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากมาย แต่ผมยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ขณะที่สกูตเตอร์เริ่มอ่อนล้าเต็มทน ส่งเสียงดัง สมควรปลดระวาง ถือว่ามันเสร็จสิ้นภารกิจการรับใช้ ผมจึงมอบสกูตเตอร์ไว้กับสถานทูตไทยในกรุงโรม แล้วเดินทางต่อโดยรถไฟไปยังเวียนนา ออสเตรีย ซูริก สวิสเซอร์แลนด์

“ผมท่องไปทั่วยุโรปและทวีปอเมริกา ตอนที่ผมอยู่นิวยอร์ก ผมก็เอาวิชาของพ่อไปทำเครื่องประดับขาย ทำจนประสบผลสำเร็จสามารถซื้อบ้านอยู่ได้ ผมทำเครื่องประดับและก็ทำเกี่ยวกับประติมากรรมจำลองกว่า 400 ชิ้น สร้างขึ้นด้วยโลหะขนาดเล็ก และทำประติมากรรมใต้น้ำ ผมทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใต้น้ำ ที่มีผลการทบต่อโลกและมนุษย์ ถ้าหากทะเลสกปรกทั้งโลก แล้วปลาตาย อีกหน่อยคนก็จะตายหมด มันเป็นความสุขที่อยากจะช่วยปลาให้อยู่ได้ โดยใช้เครื่องยนต์กลไก เหมือนกับเรือล่มลงไปในทะเล ปลามันก็ชอบ เพราะมันมีที่อยู่ ผมจึงทำประติมากรรม เมื่อปีค.ศ.1966 ราว 30 ปีที่ผ่านมา วันนี้เพิ่งมาตื่นตัว ทำปะการังเทียม (หัวเราะ) ผมทำประติมากรรมเพื่อให้ปลาได้มีที่อยู่

“ผมคิดถึงการแสดงงานประติมากรรม การท่องบนอวกาศ พวกนิวเคลียร์ นิยายวิทยาศาสตร์ ด้วย แต่ยังไม่ได้ทำ เราสามารถทำได้บนอวกาศ แล้วมองด้วยจอ ตอนนี้ผมทำสเกตซ์แล้ว เคยทำร่วมกันกับประติมากรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในปีเดียวกัน ทำมาแล้วแต่ไม่มีคนสนใจ ผมเคยขอทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา 7,000 ล้านเหรียญ เพื่อทำงานนี้ แต่เขาไม่ตอบกลับ (หัวเราะ)

“ผมใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์กถึง 8 ปี จนกระทั่งผมท่องไปที่เมืองปารีส ฝรั่งเศส จึงไปมีแฟนที่นั่น เขามาเป็นแบบให้ผมวาด เขาชอบงานศิลปะและสนับสนุนผม ผมมีครอบครัวอยู่ที่นั่น ไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วยกัน ตอนนี้ลูกชายคนเดียวของผมเป็นสถาปนิกเขาช่วยเหลือตัวเองมาตลอด เพราะแม่เขาเสียชีวิตตอนที่เขาอายุ 14 ปี จากนั้นเขาก็ไปเรียนจบปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรมและออกแบบของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก

“หลังจากนั้นผมแต่งงานใหม่กับศิลปินชาวอเมริกา สร้างชีวิตใหม่ในนิวยอร์ก แต่มรสุมพัดพาให้แยกทางกันอีก ผมจึงกลับป่าซางลำพูน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับผมคือภาพพิมพ์ ที่โด่งดังที่สุด ก็เรื่องประติมากรรมไม้แกะสลัก เพราะไม้ผมได้มาฟรีจากห้วยไฟ มีตอไม้เต็มไปหมด เมื่อชาวบ้านเขาไถดิน จะมีตอไม้ขนาดใหญ่มาก ถูกทิ้งไว้ ผมเห็นแล้วเสียดายไม้ จึงนำมาทำประติมกรรม เพื่อให้มันมีชีวิตขึ้นมา ก็เลยทำมาเรื่อยกว่า 30 ปี ผมก็เลยทิ้งงานโลหะ ตอนหลังผมนำงานโลหะมาขยายใหญ่ขึ้น

“ผมสร้างสรรค์งานได้หลายอย่าง ฉะนั้นอัตลักษณ์สำหรับผมจึงไม่มี ผมสร้างสรรค์ไปก็ทิ้งไปทุกประเทศก็ว่าได้ อย่างประติมากรรมใต้น้ำ บนผิวน้ำ ผมทำมา 6 ปีแล้วตอนที่อยู่นิวยอร์ก ผมหากินด้วยการทำเครื่องประดับผู้หญิงอย่างละชิ้นสองชิ้นทำมาทั้งหมด 400 ชิ้น แล้วนำมาจัดแสดง ตอนนั้นผมโหมงานหนักมาก ชีวิตคู่ผมล้มเหลว ผมคิดมาก ดื่มเหล้ามาก กินมากด้วยความเครียด จึงถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าถึง 3 เดือน (หัวเราะ) เงินที่ผมเก็บสะสมไว้หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ผมรู้ตัวเองมาตลอด งานศิลปะก็ถือว่าเป็นการช่วยบำบัดได้เยอะในเรื่องอารมณ์ความสุนทรี แต่ตอนนี้ผมคุยรู้เรื่อง ไม่ได้บ้านะ (หัวเราะ)”

เมื่อเจ้ามีปีกอันกล้าแกร่ง เจ้าจงบินไปให้สุดขอบฟ้า