พอล ศรีตระกูล

พอล ศรีตระกูล

“งานหลักของผมดูทั้งภาพลักษณ์ เซลล์ และมาร์เก็ตติ้งทุกเรื่องที่เกี่ยวกับนาฬิกาแต่ละแบรนด์ จะมีจุดเด่นของตัวเอง ผมจะไม่ดึงเอาแบรนด์ที่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันเข้ามาในประเทศไทย เพราะจะแย่งตลาดกันเอง เราพยายามดึงแบรนด์ที่ไม่ค่อยมี
ในท้องตลาด เพราะฉะนั้นแต่ละกลุ่มเป้าหมายของนาฬิกาแต่ละยี่ห้อจะไม่เหมือนกัน”

 

ความสามารถของเขาไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่ได้มาจากความเป็นตัวตนของเขาเองล้วนๆ เริ่มจากวัยเด็กแทนที่จะใช้ชีวิตสบายๆ เหมือนเด็กทั่วไป แต่กลับมีแนวคิดที่ว่าอยากจะให้ตัวเองมีการพัฒนาทางด้านภาษาและความรับผิดชอบ จึงตัดสินใจไป
ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอรินาสเตท สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาที่ใหม่มากในสมัยนั้น นั่นคือ Small Business Management and Entrepreneurship

 

“ผมเลือกเรียนอะไรที่มันเป็นกลาง อย่างการจัดการบุคคลเป็นอย่างไร เราเข้าใจ แต่ SME มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เขาสอนให้เราคิด เริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สาขานี้เขาสอนให้คิดสร้างธุรกิจขึ้นมาแล้วก็ขายทิ้ง ซึ่งมันก็จับอะไรได้ใหม่ๆ ตลอดเวลา”

 

เมื่อเรียนจบ ด้วยความสนใจในด้านอาหาร เขาจึงเข้าเรียนต่อที่สถาบันสอนทำอาหารในเครือ Le Cordon Bleu Paris ซึ่งในสมัยนั้นสถาบันนี้ยังไม่ได้มาทำการเปิดสอนในประเทศไทย จึงมีให้เรียนที่ต่างประเทศอย่างเดียว

 

“การเรียนที่เมืองนอกมันยาก ขนาดที่คนเข้าครึ่งหนึ่ง ออกครึ่งหนึ่ง คือการเข้าเรียนใครๆ ก็เข้าได้ ถ้าคะแนนถึง นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียน คือต้องฝึกฝีมือ ต้องฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ มันยากตรงนี้ แต่ข้อดีของการเป็นคนไทยคือการได้ลิ้มลองรสชาติที่หลากหลายมากกว่าเชฟต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากจะได้ เพราะเราชิมรสเปรี้ยวหวานมันเค็ม พอเราไปชิมอาหารฝรั่ง ทำไมมันจืดจังเลย ความกว้างของเขาจะสั้นกว่าเรา เมื่อเรารู้รสชาติแล้วเราก็เอามาปรับใช้กับการทำอาหารของเราได้”

 

หลังจากกลับมาเมืองไทยได้ไม่นาน ด้วยโอกาสในการทำงานในด้านอื่นอำนวย เขาจึงต้องวางความฝันของตัวเองเอาไว้ก่อน และก้าวเข้ามาสู่วงการนาฬิกา โดยได้ร่วมงานกับ Chanel และต่อมาก็ได้รับงานบริหารให้กับ Bvlgari

 

“ผมว่าผมชอบทำหลายอย่าง ผมว่าเป็นข้อที่ไม่ดีนะ พอไม่เคยรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ก็เลยอยากที่จะเข้าไปทำ ไปๆ มาๆ ก็ติดพันจนถึงปัจจุบัน จริงๆ เราสนใจทางนาฬิกาอยู่แล้ว พอสนใจมากขึ้นก็มีโอกาสได้ไปดูงานที่สวิสเซอร์แลนด์ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าชอบเพราะกว่าจะมีนาฬิกาออกมาแต่ละเรือน เขาต้องเสียเวลาในการทำ รวบรวมทั้งแรงกายแรงใจมากมาย”

 

“ที่ผมดูแลก็มี Armand Nicole เป็นแบรนด์เก่าแก่ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่รวมถึงนักสะสม เพราะฉะนั้นเขาอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง TechnoMarine เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจ พยายามสร้างสรรค์แบรนด์ให้มันเปลี่ยนแปลงไป หลังจากปี 2010 จะเห็นคอลเล็คชั่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เรามีสินค้าที่ดีแล้ว เพียงแต่เราจะทำการตลาดให้คนหมู่มากได้รู้จักและเห็นว่าแบรนด์นี้มันดีอย่างไร ส่วน GAGA MILANO เป็นแบรนด์ใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรปอย่างสูง การดีไซน์จะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนยุโรป พอกลับมาเมืองไทย เราพยายามจะเน้นไปทางยุโรปคือดีไซน์ อาร์ตและแฟชั่นเอามาผสมผสานกัน เราพยายามจะเน้นกลุ่มคนสมัยใหม่ ก็คิดว่าคงต้องทำงานหนักมาก เพราะเป็นแบรนด์ที่ใหม่มากของโลกเลย”

 

เขาเล่าต่อว่านิสัยการใช้จ่ายเรื่องนาฬิกาของคนไทยอาจไม่เหมือนกับที่เมืองนอก เพราะฉะนั้นในการโน้มน้าวให้คนซื้อนาฬิกาแบรนด์ที่ไม่รู้จักจะทำได้ยากกว่า เพราะจะยึดติดกับแบรนด์ยอดนิยมในอดีต

 

“แต่ปัจจุบันเมื่อโลกมีการติดต่อถึงกันมากขึ้น ค่านิยมตรงนั้นก็ลดลงเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการที่นาฬิการะดับกลางเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น แล้วยอดขายส่วนใหญ่ของนาฬิกาเมืองไทยก็มาจากกลุ่มคนชั้นกลาง เมื่อก่อนเวลาเดินเข้าไปในห้าง อาจจะเจอกับแบรนด์เดิมๆ แต่ตอนนี้จะเจอแบรนด์แปลกใหม่มากขึ้น ฉะนั้นทางด้านการแข่งขันจะต้องมีการแข่งขันกับแบรนด์ที่เขามีอยู่แล้ว”

 

การทำงานไม่ว่าอะไรก็ตามมักจะต้องพบกับปัญหาที่ตามมาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แต่ในมุมมองของคุณพอลดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้สักเท่าไหร่

 

“ปัญหาของการทำงานในวงการนาฬิกา เมื่อเปรียบเทียบกับวงการอาหารที่ผมเคยทำมาถือว่าเรื่องของวงการนาฬิกาที่ทำอยู่ยังมีปัญหาน้อยกว่ามาก อย่างปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางด้านการเมือง มันเป็นปัญหารอบนอกที่เราต้องแก้ไป คือการจัดการปัญหาแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เราต้องใช้ประสบการณ์ที่ได้รับการสั่งสมมา ตัวเลือกไหนที่เราจะนำมาจัดการกับปัญหาได้ ก็คงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแก่ทุกฝ่าย แล้วเราทำงานเกี่ยวกับคน การบริการต้องดีมันเป็นผลที่เขาสอนให้มองคน ปัญหาเรื่องคนสำหรับผมทั้งชีวิตมันเป็นปัญหาที่มากที่สุด แต่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด”

 

“ช่วงเวลาต่อจากนี้คงอยากเห็นนาฬิกาที่คิดว่าเป็นลูกของตัวเองประสบความสำเร็จ เพราะเราก็คลุกคลีมาทั้งกายและใจ ก็อยากให้โต เราใช้ความสามารถที่เรามีอยู่มาพัฒนาปรับปรุงการที่เรามองภาพรวมแล้วเราเห็นว่าเราสามารถที่จะบริหารได้ เมื่อเรามองว่าเป็นลูก เราก็จะทุ่มเท ให้การฟูมฟักอย่างดี เพราะไม่อยากให้ลูกเราเสีย เราอยากให้คนมาสนใจว่าลูกเราน่ารักอย่างไร ถ้าเรามองอย่างนั้นก็ไม่รู้สึกว่าทำงาน พอเราตื่นขึ้นมาเราจะรู้สึกว่าชอบ แล้วเราก็จะทำได้ดี”

 

Know Him!

• เขาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา ทั้งเรียนและทำงานอยู่ถึง 10 ปีเต็ม

• เขาจบการศึกษาจาก Le Cordon Bleu โดยได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เพราะฉะนั้นนอกจากเรื่องของการบริหารงานในออฟฟิศแล้ว คุณพอลยังเป็นเชฟ ฝีมือดีอีกด้วย

• ความฝันของเขาที่อยากทำคือ การมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง

นาฬิกาข้อมือสำหรับชายหนุ่มนอกจากเป็นเครื่องมือบอกเวลา