คลองสวน

คลองสวน

พรุ่งนี้วันเสาร์ หากเป็นเมื่อก่อน ไม่ต้องถึงขนาดเป็นร้อยปีอย่างที่ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมา เอาแค่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ห้องแถวไม้เรียงรายคงเต็มอยู่ด้วยลูกหลานที่กลับมาเยี่ยมบ้าน หลังจากผันชีวิตไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ปิดเงียบ ปล่อยให้คราบฝุ่นจับบานประตูเหมือนอีกหลายต่อหลายหลัง

 

หากแต่พรุ่งนี้ของนาทีปัจจุบัน จะเป็นวันที่ทางเดินหน้าบ้านกลางตลาดของพวกเขาเนืองแน่นอยู่ด้วยผู้คน เสียงจ้อกแจ้กจอแจรอยยิ้มปนหัวเราะ สายตาซอกแซกกวาดมองไปแทบทุกเหลี่ยมมุม

 

ดูเหมือนพรุ่งนี้สำหรับคนที่นี่อาจไม่ใช่แค่วันหยุดสุดสัปดาห์

 

แต่เป็นวันที่บ้านเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และมีค่าพอจะทำให้ใครสักคนไม่ทิ้งร้างจากจร

 

วันกลางสัปดาห์ที่มีแดดร้อนเร่าผิดฤดูกาลยิ่งทำให้ร้านกาแฟของตลาดคลองสวนกลายเป็นแหล่งรวมของชาวบ้าน ทางเดินหน้าห้องแถวริมคลองประเวศบุรีรมย์ไม่ได้เนืองแน่นไปด้วยผู้คน ไม่นับเรา จะมีหลงเข้ามาบ้างก็เพียงสองสามกลุ่ม มันไม่ได้ทำให้ภาพที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันของคลองสวนเปลี่ยนไปเท่าไรนัก

 

ริมท่าน้ำเป็นที่เล่นของเด็กๆ ลูกหลานจีน สภากาแฟ วงหมากรุก ขณะที่ในห้องแถวไม้คร่ำกาลเวลาก็เต็มไปด้วยสินค้าและผู้เป็นเจ้าของที่เติบโตมาควบคู่กัน นั่งเอนหลังดูทีวีอย่างสบายอารมณ์ นานๆ จะมีลูกค้ามาซื้อของสักที บทสนทนาหลังซื้อขายมักหนีไม่พ้นเรื่องราวประจำวันของการอยู่ร่วม

 

“ตลาดนี่จริงๆ มันมีสองฝั่ง บางบ่อ สมุทรปราการ กับบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา แต่เราไม่ได้คิดแบ่งอย่างเขาหรอก” ป้ากิมเอ็ง แซ่เจ็งยกถาดขนมชั้นสีสวยวางหน้าร้าน ไล่เลยไปมีขนมอีกไม่กี่อย่าง เท่าที่ผมเห็นก็เพียงขนมเปียกปูน ซึ่งชวนกินและขนมตาลอีกไม่น่าจะเกิน 60 ลูก “วันธรรมดาแค่นี้ก็พอแล้ว” วางถาดลงป้าแกก็ออกมานั่งยิ้มอยู่บนเก้าอี้ไม้ตัวเก่า พเยิดหน้าให้กับลูกค้าเจ้าประจำ

 

“แต่เดิมแถวนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทั้งแถบ เสาทำจากไม้ต้นตาลที่เรียกกันว่าหลาวชะโอน ทางเดินก็เป็นดินหมด” วงของเราใหญ่ขึ้น แม่ค้าเป็ดพะโล้เจ้าดังเดินเข้ามาร่วมคุย

 

ตลาดคลองสวนนั้นสร้างมาก่อน พ.ศ.2444 โดยกลุ่มชาวจีน ในยุคแรกนั้นใช้ชื่อว่าตลาดสามพี่น้อง และมาสร้างเป็นสองชั้นราวปี พ.ศ.2477 “ชื่อคลองสวนหรือ ลื้อก็ดูสิ คลองย่อยออกไปอีกหลายสาย เรือมาสวนกันตรงแถบนี้แหละ อย่างว่า แต่เดิมที่นี่ไม่นับรถไฟ เรือเป็นทางเดียวในการไปไหนมาไหนเลยล่ะ”

 

เรือที่ป้าทั้งสองว่านั่นก็คือเรือเมล์ขาวของนายเลิศที่มีอยู่เพียงลำเดียว แล่นขึ้นล่องระหว่างคลองแสนแสบ ผ่านวังสระประทุม มาถึงประตูน้ำท่าถั่ว ที่ฉะเชิงเทรา “ข้าวของหายากจากกรุงเทพฯ คนคลองสวนรู้จักหมดล่ะ ขึ้นล่องค้าขาย เอาของทางโน้นมาขายที่นี่ ของเราอย่างจากนี่หอบหิ้วกันไปเป็นตับๆ”

 

คลองยังคงอยู่ อาจขอดแห้งตื้นเขิน แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของคนที่นี่ “เด็กๆ แต่เดิมมันสนุกจะตาย เกาะเรือโยงข้าว ท่าโน้นไปท่านี้ ปล่อยลอยคอตามน้ำ แต่เดิมที่นี่มันแหล่งรวมเลยนะ โรงเลื่อยไม้ โรงหีบอ้อย โรงสีไฟ บางทีน้ำขึ้น เรือจากฝั่งทะเลยังเข้ามาบรรทุกของกันถึงที่นี่”

 

ว่ากันถึงสองฝั่งของตลาดคลองสวน แต่เดิมคนเก่าแก่เล่ากันว่าเป็นของคหบดีแซ่แต้กับแซ่เบ๊ “โอ๊ย รุ่นอาม่าฉันนะ สองฝั่งนี่ไม่ถูกกันเลย มาดีกันอย่างไรรู้ไหม ลูกชายลูกสาวอีรักกันน่ะ” ผลพวงจากความปรองดองง่ายๆ แต่แสนยิ่งใหญ่นี่เอง ที่ทำให้ตลาดคลองสวนยิ่งเจริญก้าวหน้า พัฒนาไปควบคู่กับวันเวลา

 

“ใครมาเช่ามาอยู่ รุ่นต่อมาเขาเลือกนะ อย่างฝั่งบ้านโพธิ์นี่ คุณป้าบุญสวน แสนเจริญ ท่านเรียกป้าเข้าไปหา บอกอั๊วะเห็นลื้อขยันเป้นคนดี ลื้ออยู่ตึกนี้ละช่วยกันพัฒนาตลาด” จากสาวลูกจ้างในวันนั้น ป้ากิมเอ็งนอนหลับในตึกไม้เก่าแก่ห้องนี้มาร่วมหกสิบกว่าปี

 

ลูกค้าขาจรมาพอดี ป้ากิมเอ็งเดินไปขายขนมคู่ชีพ “เดี๋ยวลื้อมากินนะ” อย่างเกรงใจในความอารี ผมเลาะตลาดฝั่งบ้านโพธิ์ในวันธรรมดา ตลาดร่มครึ้มด้วยหลังคาตลอดทาง ที่แสงพอลอดลงมาได้ก็กลับทำให้บรรยากาศไม้ๆ ยิ่งเปี่ยมเสน่ห์น่าหลงใหล

 

แต่ละห้องที่เรียงรายนั้นคือชีวิตจริงอันไม่ได้จัดฉาก มีทั้งของสด ร้านขายทอง ร้านขายเสื้อผ้า อุปกรณ์การตัดเย็บ ร้านตัดผมร้านขายยาโบราณ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้านขายอะไหล่รถและเรือ ร้านขายปุ๋ยและเครื่องมือการเกษตร เครื่องมือหาปลา บางร้านที่ผมไปหยุดดูนานๆ มักมีคำถามทำนองว่า “จะซื้ออะไร?” แว่วกลับมา เมื่อเห็นว่าเราเป็นเพียงผู้มาเยือน อากงอาม่าบางคนก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรานัก ทีวียามบ่ายยังคงดึงดูดเสียมากกว่า

 

เช่นนี้เอง ป้ายร้าน ข้าวของ ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่พากันไปยู่ในเฟรมภาพของแต่ละคนจึงไม่ได้สำคัญไปกว่าการที่ใครสักคนจะนั่งลงฟังสิ่งที่พวกเขาอยากเล่า อยากให้รู้ ในวันที่พวกเขาเลือกเปิดบ้านเพื่อการมาถึงของหลายต่อหลายคน

 

“ผมก็สนุกเหมือนทุกวันล่ะ แต่เดี๋ยวนี้โดนแฟลชมากก็ไม่ไหว” แป๊ะหลี แซ่แต้ ยืนอยู่หน้าตึกไม้ห้องเล็กกว่าของแม่กิมเอ็ง บ่ายวันนี้คนไม่แน่นเหมือนเสาร์อาทิตย์ ป้ายร้านแต้เซ่งเฮงเหนือขึ้นไปเต็มไปด้วยริ้วฝุ่น เหมือนบอกถึงการเปิดมายาวนานถึง 67 ปี

 

อารมณ์ดีในวัย 84 ปีของชายร่างเล็กซ่อนอยู่ใต้แว่นตาสีกระเรือนโต โต๊ะเช็กโกสี่ห้าตัวเรียงลึกเข้าไปในร้านทึมๆ รูปขาวดำจากตากล้องอาชีพที่แวะเวียนมาถ่ายและส่งให้ยิ่งทำให้ร้านของแป๊ะดูเป็นตัวของตัวเอง ใครเลยจะคิดว่าคนที่ทำอดีตหล่นหายและมาตามหาจะจริงจังได้ถึงขนาดนี้

 

“สมัยก่อนนั่งเรือเมล์ขาวเกือบทั้งวันไปซื้อเมล็ดกาแฟดิบที่กรุงเทพฯ มาคั่ว ตอนนั้นยังคั่วกาแฟไม่เป็นเลย ดิบบ้าง สุกเกินไปบ้างต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองกว่าคนจะติด โอ้ยนาน” ตลาดนั้นอยู่คู่ร้านกาแฟมาตลอด และก็ไม่ได้มีเพียงร้านเดียว แป๊ะหลีในวัยหนุ่มไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะเปิดร้านยืดยาวมาจนวันนี้

 

กาแฟของแป๊ะของแป๊ะเริ่มที่แก้วละ 3 สตางค์ “ช่วงนั้นถือว่าแพงเหมือนกัน เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เราใช้ของดีขายเรื่อยมาจนถึงวันนี้แก้วละ 10 บาทแล้ว”

 

 ตลาดเป็นที่รวมคน ยิ่งเป็นแถบที่มีคนหลายเชื้อชาติ ทั้งจีน ไทย มุสลิม อยู่ร่วมกันต่อยอดจากริมคลองออกไปสู่ไร่นาอย่างคลองสวน ใครๆ ก็ต้องมุ่งมาที่นี่กันเป็นหลัก “แต่ก่อนคนมาตลาดกันทุกวัยล่ะ หนุ่มสาวก็มาเจอกันที่โรงลิเก โรงงิ้ว เราเรียกกันว่าวิกโรงฝิ่น คนจีนสมัยนั้นสูบฝิ่นเยอะ คนแก่ๆ ก็นั่งกันตามร้านกาแฟ งิ้ว ลิเก เล่นสลับกันไป ช่วงงานศาลเจ้านี่ไม่ต้องห่วง ขายดิบขายดีเทียวละ” แป๊ะหลีหมายถึงงานเทศกาลศาลเจ้าพ่อคลองสวน ซึ่งว่ากันว่าคึกคัก นักเลงต่างถิ่นนิยมมาเที่ยว คลองสวนกลายเป็นแหล่งรวมคนจากบ้านจากตำบลต่างๆ มากมาย

 

ความคึกคักของตลาดและเรื่องราวตามคลองประเวศฯ เริ่มห่างหายไปจากผู้คนเมื่อถนนจากลาดกระบังเชื่อมแปดริ้วตัดมาถึง “คนซบไปเยอะ อาตี๋อาหมวยไปร่ำเรียนหาเงินในเมืองกันหมด”

 

เป็นอันว่าภาพคึกคักที่หลายต่อหลายคนพูดถึงได้หลอมเลือนไปกับการห่างหายของคนรุ่นถัดมาของตลาด บางหลังเปลี่ยนมือขณะที่บางหลังก็กลายเป็นที่อาศัยของเด็กกับผู้เฒ่า “ปล่อยร้างปิดตายไปก็มาก คืนเจ้าของเขาไปก็เยอะ” ย้ายออกมานั่งหน้าบ้าน แป๊ะปาดเหงื่อหยดท้ายๆ ของวัน หลังให้ลูกจ้างหนุ่มช่วยเก็บร้าน กากกาแฟในผ้าขาวบางก่ายกอง

 

จะว่าด้วยโชคก็ไม่ใช่ ที่เกิดการรวมตัวของหลายต่อหลายฝ่าย ทั้งเทศบาล ทั้งหน่วยงานส่งเสริมของจังหวัด มุ่งฟื้นฟูชีวิตชีวาของคนคลองสวนกลับมา “ทำเป็นท่องเที่ยวก็ดี คนเข้ามาหามาดู แต่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปนี่” แป๊ะเก๊า มิตรขายกาแฟฝั่งบางบ่อข้ามสะพานไม้มาสมทบ เสียงเฮฮาตามแบบฉบับชายชรานึกถึงคืนวันเก่าๆ ลั่นขรมอยู่ในยามเย็น

 

เกือบสิบปีทีผ่านมา ด้วยการรวมตัวของพวกเขาเอง ห้องแถวแต่ละห้องไม่เพียงดูสะอาดสะอ้าน แต่ความมีชีวิตชีวาที่ซ่อนอยู่หลังบานเฟี้ยมสีไม้สวย หรือฝังอยู่ในแววตาคนแก่ที่เริ่มฝ้าฟาง ต่างก็เริ่มปรากฏออกมาง่ายๆ บางคนก็ลงไปอยู่ในอาหารการกินหลากหลาย ในก๋วยเตี๋ยวหมูสูตรเฉพาะอันเก่าแก่เลี้ยงคนรุ่นต่อรุ่น ในของเล่นขนมนมเนยที่เคยเป็น “อดีต” ของใครบางคน อย่างหมากฝรั่งบุหรี่ตราแมวดำ ลูกอมโคลา ขนมโก๋แถมแหวน

 

“คนเข้ามาเยอะสิดี ลูกหลานมันจะได้เห็นว่าที่นี่อยู่ได้” กับคำถามไม่เข้าท่าของผมเกี่ยวกับเรื่องคนนอกคนใน เจ๊เจงที่ยืนขายก๋วยเตี๋ยวหมูอยู่ริมคลองประเวศฯ และตลาดคลองสวนมากว่าสี่สิบปี ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเท่าไรนัก

 

“ก็เรายังอยู่ที่นี่ ค้าขายกินอยู่กันแบบนี้ ไม่ได้ให้ใครมาเปลี่ยนนี่”

 

นาทีนั้นผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาขายสินค้าอาหาร ไม่ได้ขายวิญาณของอดีต

 

วันนี้วันศุกร์ ฝั่งตรงข้ามที่มัสยิดอัลวะต้อนียะห์เต็มไปด้วยพี่น้องมุสลิมกว่า 76 บ้านที่มาพร้อมกัน เตรียมเข้าสู่ความสงบของพิธีกรรมที่พวกเขาศรัทธา “ซึลามมาเลกุม” อิหม่ามสมาน แย้มอุทัย ยื่นมือมาจับสองมือของผม ขอให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครอง

 

เมื่อได้รับโอกาสโอกาสเข้าไปนั่งนิ่งอยู่ในสุเหร่า สดับเสียงสวดขอพรจากพระอัลเลาะห์ที่ดูเหมือนจะกังวานเข้าไปในหัวใจ ฟังคำสอน ข้อประพฤติ ตลอดจนการอยู่ร่วมกันในสังคม นาทีนั้นราวกับโลกในนั้นของพวกเขาเป็นหนึ่งเดียว

 

“เราอยู่กันมานาน คนสองฟากคลอง ไร่นา ตลาดคนจีน คนพุทธ คนมุสลิม” อิหม่ามบอกกับผมเมื่อเราอยู่บนสะพานที่ผมนึกเอาเองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยง

 

พรุ่งนี้วันเสาร์ สุดสัปดาห์ที่หลายคนคงเดินทางมาเที่ยวคลองสวน

 

เข้ามาเห็น มาสัมผัสสิ่งที่พวกเขาคิดว่าตกหล่นไปกับวันเวลาและพยายามค้นหา เก็บจำ คล้ายภาพถ่ายโบราณสักใบหนึ่ง

 

ที่คลองสวน ภาพเก่าแก่ที่คล้ายจะชืดจางเหล่านี้ยังคงเคลื่อนไหว มีเสียงหัวเราะร่ำไห้ให้กับโชคชะตากรรมและสิ่งที่ตนเลือกไม่ใช่ในฉากละคร แต่คือชีวิตอันจริงจังที่ผูกอยู่กับปฏิทินปัจจุบัน

 

และอาจไม่มีใครสามารถย้อนทวนคืนวันเพื่อเก็บไว้เฝ้ามองแต่เพียงด้านเดียว

 

How to Go

เที่ยวฉะเชิงเทราหรือเมืองแปดริ้วด้วยรถไฟ ดูจะเป็นการท่องเที่ยวที่ให้ชีวิตชีวาและน่าสนใจอีกทางหนึ่ง คุณสามารถแวะเที่ยวตลาดคลองสวน ที่อำเภอบ้านโพธิ์ ก่อนถึงตัวเมืองฉะเชิงเทราได้ เหมารถสองแถวไปเที่ยวตลาดคลองสวน ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศเก่าแบบตลาดริมน้ำโบราณ เลือกชิมอาหารและของฝากหลากหลาย โดยสามารถกลับมาขึ้นรถได้ตามเวลารถไฟที่สถานีรายทางอย่าง สถานีคลองบางพระและสถานีเปรง มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปฉะเชิงเทราทุกวัน วันละ 12 เที่ยวขบวน เที่ยวแรกตั้งแต่เวลา 5.00 นาฬิกา เที่ยวสุดท้ายเวลา 18.05 นาฬิกา

 

จากนั้นต่อรถไฟเข้าเมืองแปดริ้ว อาจเหมาสามล้อที่หน้าสถานีรถไฟ หรือขึ้นรถโยสารเก (สองแถว) ไปเที่ยวตลาดบ้านใหม่ เดินกินเดินเที่ยว อีกหนึ่งตลาดของชุมชนจีนอันน่ารื่นรมย์ ของกินอร่อยอย่างร้านสามแม่ครัว (เตาฟืน) ก็เก่าแก่คงความอรอ่ย หรือจะเลือกซื้อขนมหวานนานาชนิดติดกลับบ้านก็ดูเป็นเรื่องเข้าที

 

จากนั้นกลับมาที่สถานีรถไฟฉะเชิงเทราให้ทันเวลาเย็น จับรถไฟกลับกรุงเทพฯ ก็ถือเป็นการเที่ยวผ่อนคลายใกล้ๆ เมืองที่ให้ความประทับใจได้เป็นอย่างดี

ตลาดคลองสวนที่ตั้งอยู่ตรงรอยต่อของอำเภอบ้านโพธิ์