แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์

แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์

หลงใหลในดนตรี กวีขับกล่อม

ในวัยเด็กของแม่ขวัญจิตนั้น ล้วนดำเนินไปอย่างเด็กที่กระหายการเรียนรู้ หนังสือและความบันเทิงจากวิทยุคือแหล่งความรู้ชั้นดีของเด็กผู้หญิงที่ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนขณะนั้น ที่สำคัญความที่เป็นคนช่างสังเกต สงสัยและเฝ้าไถ่ถาม ทำให้ความเป็นคนช่างจินตนาการยิ่งผลักดันให้โลกภายนอกนั้นช่างน่าค้นหา

“ตอนเด็กๆ แม่ได้อ่านหนังสือหรือฟังวิทยุ ดูละคร แม่ก็นั่งนึกนั่งจินตนาการตามว่า ไอ้สิ่งนั้นสิ่งนี้มันเป็นยังไง ยิ่งพอเห็นเขาร้องเขารำก็นั่งนึกว่าตัวเรานี่ท่าจะร้องรำได้ดีกว่าเป็นไหนๆ (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ไอ้ละคร การร้องรำนี่มันเป็นยังไง เขาทำยังไงกันก็ไม่รู้นะ ตอนนั้นก็รู้จักแต่รำวง เห็นเขารำก็อยากรำบ้าง ไปดูลิเก ก็อยากจะร้องลิเก มันนึกคิดไปหมดว่าเรานี่ท่าทางจะชอบในด้านการแสดงอะไรแบบนี้นะ

“อย่างเพลงอีแซวนี้ก็เคยได้ยินแม่ร้องเวลาเกี่ยวข้าวเสมอๆ แต่ก็ไม่ได้รู้จักอะไร อยู่ชั้น ป.4 ก็ไปช่วยงานร้านทำผมแถวโรงเรียนนิดๆ หน่อยๆ จนออกจากโรงเรียนก็เลยได้เรียนทำผมอยู่ที่นั่น ทีนี้ก็ได้ฟังวิทยุอยู่ทั้งวัน เพราะเขาชอบเปิดฟังละครกัน เราก็เฝ้าจินตนาการไปตามเรื่องราว พอดีมีโอกาสได้ไปร้องหาเสียงให้กับผู้ใหญ่ มันก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ทำให้เริ่มกล้าแสดงออกนะ ตอนนั้นก็ยังเรียนทำผมอยู่ เรียนจนพอเริ่มออกทำให้ลูกค้าตามบ้านได้บ้างแล้ว ก็ปั่นจักรยานไป ทีนี้มีครู (แม่บัวผัน จันทร์ศรี) เขาจะเอาน้องไปหัดเพลง ไอ้เราเห็นก็อยากไปบ้าง เลยตามไปบ้านเขาคอยดูแลช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เพราะหวังอยากให้ครูที่เป็นน้าผู้ชาย (ครูสไว วงษ์งาม) หัดเพลงให้ แต่เขาก็ไม่สอน แต่ครูน้าผู้หญิงเขาสนับสนุน ซึ่งเมื่อเขาทะเลาะเรื่องของเราบ่อยเข้า มันก็อึดอัดใจเลยรอวันที่จะออกมาหาที่เรียนรู้ใหม่

“ตอนหลังได้รู้จักครูท่านอื่นๆ บ้าง ประกอบกับครูที่เป็นน้าผู้หญิงก็ช่วยฝากฝัง มันก็เลยมีการพัฒนาเพราะอาศัยครูพักลักจำด้วยส่วนหนึ่ง แต่ตลอดเวลาที่เราอยากเรียนรู้อยากร้องอยากรำนี้ที่บ้านก็ไม่ได้สนับสนุนนะ เพราะสมัยก่อนเขาเคร่งครัดกัน ผู้หญิงที่รำวงนี้เขาจะไม่ค่อยคบกันหรอกนะ เพราะเขาว่าเต้นกินรำกินมันไม่ดี แต่เราชอบก็แอบหัดกับลูกสาวครูในโรงครัวไปเรื่อย

“แม่เป็นคนตรงหัวแข็งนะ ได้ยินใครพูดอะไรไม่ดีกับเรานี่ไม่ได้เลย ต้องมีปะทะตลอด อย่างตอนที่เป็นขวัญจิตแล้ว ก็มีคนมาพูดให้ได้ยินว่าต่อไปแม่เรานี้จะสบายนะ ‘เพราะเดี๋ยวก็จะมีหลานไม่ต้องมีลูกเขย’ ตอนที่เขาพูดแม่ก็ไม่ได้มาเล่าให้ฟังนะ เพราะรู้ว่าคงไม่อยู่เฉยแน่ จนผ่านไปหลายปีแล้วมาเล่า พอรู้ก็โกรธเขาใหญ่เลยที่เขามาพูดไม่ดีขนาดนี้นะ แต่พอโตมาก็ดีขึ้นใจนิ่งขึ้นเยอะ” 

ตามหาความฝันที่กรุงเทพฯ 

หลังจากที่ฝึกฝนวนเวียนใช้ชีวิตร้องรำมาสักระยะ การเสาะหาความฝันต่อไปจึงเป็นเป้าหมายที่ต้องไขว่คว้า หนทางสู่การเข้าเมืองกรุงจึงเป็นเสมือนเส้นทางแห่งอนาคตที่แม่ขวัญจิตพร้อมแล้วที่จะเผชิญและฝ่าฟัน

“ครูปอง ปรีดาเขามาเล่นแถวบ้าน แม่ก็ชอบเขาอยากตามเขาไปเล่นอยู่วงดนตรี อยากไปกรุงเทพฯ ที่บ้านก็ขัด ก็ห้ามไม่ให้ไป แต่ด้วยความที่ดื้อ แม่ก็หาทุกวิถีทางจนแม่เข้ากรุงเทพฯ มาก็มาเป็นนักร้องเพลงลูกกรุง ลูกทุ่งอะไรไปเรื่อย ไม่ได้ร้องลำตัดหรอกเพราะกรุงเทพฯ นั้นมันไม่มีคนดู ก็ไปเล่นตามสังคีตศาลาของกรมศิลปากร เล่นที่สนามหลวงช่วงสงกรานต์เก้าวันเก้าคืนอะไรไปเรื่อย ตอนนั้นเขาก็รู้จักกันในชื่อเดิมอยู่ก็เรียก ‘เกลียว’ กันทั้งนั้น

“ทีนี้พอมาอยู่บ้านหัวหน้าวง ก็รู้สึกอึดอัดใจเพราะมันมีเหตุการณ์เรื่องราวหลายอย่าง ก็อย่างว่านะ ไม่ใช่บ้านเรา หัวหน้าเขาเอ็นดูเราก็จริง แต่คนรอบข้างเขาไม่ มันก็มีแต่ไม่สบายใจ เลยตัดสินใจออกมาซะ ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นคนที่ไม่ยอมคน ตาต่อตาฟันต่อฟันเสมอ แต่ก็ไม่คิดกลับบ้านที่สุพรรณฯ นะ 

“จากนั้นก็ได้มาอยู่วงดนตรีของ ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เพลงลูกทุ่งที่ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกคือ เพลงเบื่อสมบัติ เป็นเพลงร้องแก้กับครูไวพจน์ ตามด้วยเพลงดังอื่นๆ เช่น ลาน้องไปเวียดนาม ขวัญใจคนจน แม่ครัวตัวอย่าง ฯลฯ จากนั้นก็ได้แต่งเพลงเองอันได้แก่เพลง กับข้าวเพชฌฆาต น้ำตาดอกคำใต้ สาวสุพรรณ เป็นต้น

“เมื่อมีชื่อเสียง แม่ก็ตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตนเองขึ้น ใช้ชื่อว่าวงขวัญจิต ศรีประจันต์ เลย ตอนนั้นก็ลงทุนไปเยอะ ได้รับความนิยมมากเหมือนกัน แม่ก็ได้เอาเพลงอีแซวมาผสมผสานเข้ากับเพลงลูกทุ่งคนก็ยิ่งติดนะ จนปีพ.ศ. 2516 ก็ได้ยุบวง เพราะมันเหนื่อยไม่มีเวลาพักผ่อนไม่มีเวลาให้ครอบครัว แม่เลยหันไปทำร้านอาหารอยู่พักหนึ่ง แล้วกลับมาอยู่บ้านที่สุพรรณฯ อยู่ว่างๆ ก็ช่วยคนนั้นคนนี้เขาไปเรื่อย ใครอยากให้ไปสอนร้องรำ สอนเพลงที่ไหนแม่ก็ไป เพราะแม่ตั้งใจที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านให้กับคนรุ่นหลังได้สืบทอด” 

ตำราชีวิตเล่มใหญ่ 

นอกจากการแสดงแล้ว ท่านยังอุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยได้ไปบรรยายและสาธิตการแสดงเพลงพื้นบ้านในสถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย และยังคงปฏิบัติเช่นนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“เพลงอีแซวจริงๆ นั้นร้องยากมาก คนรับที่จะต้องรับสามคำท้ายนั้น มันต้องถูกต้อง ทีนี้พอร้องทั้งคืน มันจะไม่รู้กันทั้งหมด แล้วก็ต้องได้เนื้อด้วย จังหวะด้วย ถ้าหัวไม่ไวพอก็ตายเลย ถึงได้ว่ามันยากนะ แล้วเพลงพื้นบ้านนี้ว่ากันตามจริงมันก็เหลือคนสืบทอดต่อกันไม่มากแล้ว ยิ่งเพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว บ้านเราเขาก็ร้องรำกันอยู่แล้ว แม่ก็ไม่อยากให้มันค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา อย่างถ้าให้ย้อนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ มันก็จะนึกไปถึงช่วงที่เขาลงแขกเกี่ยวข้าวกัน บ้างก็ร้องเกี้ยวกัน เย้ากันสนุกสนาน แล้วยิ่งเพลงอีแซวมันเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของบ้านเรา (สุพรรณบุรี) มันก็ยิ่งต้องถ่ายทอดให้เด็กๆ เขาได้เรียนรู้

“ชีวิตแม่ได้ดีเพราะนอกจากจะใฝ่รู้แล้ว แม่ยังโชคดีที่มีครูดีคอยสอนคอยอบรมทั้งในเรื่องของการวางตัว ชีวิต และสัมมาอาชีพ เพราะงั้นแม่เลยต้องแบ่งปันสิ่งที่แม่ได้รับมาให้คนอื่นเขาได้รับเป็นทอดๆ ต่อกันไป ครั้นจะเก็บไว้กับตัวก็จะพาเน่าเปื่อยไปกับเราเสียเท่านั้น ชีวิตแม่ก็ไม่ได้ต้องการอะไรที่มากมาย คนบ้านนอกอย่างแม่ก็มีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มันก็ปลื้มนะ แล้วที่สุดของชีวิตก็ได้เข้าเฝ้าแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อยและเพลงอีแซวต่อหน้าพระที่นั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวที่เสด็จมาสุพรรณบุรี ทุกวันนี้แม่ก็ยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ไม่ลืมเลย

“ยิ่งพอมาได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ แม่ก็ยิ่งต้องพยายามทำคุณประโยชน์ให้มากขึ้น มีช่วยเหลือเพื่อนศิลปินผู้ป่วยที่เขาไม่มีสตางค์กันบ้าง โชคดีมากที่ได้มิตรดีให้ความร่วมมือกันมากมาย บางทีก็เอาของเอาอะไรไปบริจาคกันตามโรงเรียนตามที่ที่เขาขาดแคลน มันเหมือนต่อจากนี้ก็เป็นเวลาที่เราจะทำเพื่อคนอื่นบ้างแล้วล่ะนะ

“ส่วนเรื่องการสืบสานวัฒนธรรมให้รุ่นหลังนั้นก็พยายามจะทำแต่ก็ยังคิดถอยหน้าถอยหลังอยู่ เพราะพอไปทำกับคนที่เขาไม่ตั้งใจจริงนี้มันก็เสียกำลังใจเหมือนกันนะ เพราะมันต้องไม่ใช่กับคนที่ตั้งใจเพียงแค่จะทำผลงานแล้วพอได้ผลงานเขาก็จะหยุด มันก็เสียเปล่าเท่านั้น แถมมันยังมีเรื่องของผลประโยชน์อย่างเวลาเราดูแลช่วยสอนเด็กๆ พอเขาเป็นกันแล้วก็เริ่มหางานมาให้ เมื่อมีรายรับเงินเหล่านั้นมันก็ไม่ได้ไปถึงเด็ก แม่เห็นแล้วมันก็สะเทือนใจ 

“แม่เองถูกแต่งตั้งเป็นครูภูมิปัญญารุ่นหนึ่งไม่มีเงินเดือนอะไร มีเพียงเบี้ยเลี้ยงเล็กน้อยเท่ากับราชการเขาแต่แม่ก็ไม่ท้อนะ มันไม่ใช่ปัญหาเลย เวลาแม่ไปงานไหนเขาให้สตางค์มาบ้างเราก็เอามาเจือๆ กันไป แต่เรื่องคนนี่แหละที่มันเป็นปัญหาใหญ่มันบั่นทอนให้ท้อ หายากนะคนที่เขามีใจอยากจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่นอย่างจริงใจ อดทนต่อการยั่วยุของผลประโยชน์ได้ ในเมื่อเรื่องของเงินมันไม่เข้าใครออกใคร เขาก็พ่ายแพ้ต่ออำนาจของกิเลสของเงินไปอีก

“เดี๋ยวนี้พอถึงเวลาที่จะแต่งเพลงใหม่ แม่ก็จะเอาเทคนิคของป๋าหวังเต๊ะและแม่บัวผันมาผสมผสานกัน มันก็ช้าสักหน่อย เพราะเราต้องคิดให้มากใช้เทคนิคตามที่เรียนรู้มาให้เยอะ เพลงที่ออกมาจึงจะสมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้าพูดถึงความสามารถของเด็กๆ สมัยนี้ ต้องนับถือเลยนะ เขาหัวเร็ว พัฒนาได้ไว มีแววกันหลายคนอยู่ แม่เองก็จะพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอทุกวัน พร้อมกับพยายามที่จะสอนถ่ายทอดทั้งวิชาความรู้และประสบการณ์ที่มี ที่สะสมมาให้แก่เด็กๆ รุ่นใหม่ ให้เขาได้เรียนรู้กัน” 

แน่นอนว่าหากใครได้เคยฟังเพลงไทยพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเพลงอีแซวแล้ว ก็จะพบว่าเสน่ห์ของเพลงมีอยู่แทบทุกทำนองและคำที่นำมาต่อกันจนเป็นประโยคเนื้อร้อง จนครั้งหนึ่งวงดนตรีเพลงร็อคต่างชาติอย่างวง My Morning Jacket ยังต้องขอนำเพลงอีแซวถามปัญหาหัวใจของแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์นี้ไปทำเป็นเพลงในสไตล์ของตนเองเสียใหม่แต่ยังให้กลิ่นอายความเป็นดนตรีพื้นบ้านของเราได้อย่างน่าชื่นชมเช่นเดิม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าฉุกคิดว่าทำไมเราจึงยังมองข้ามศิลปวัฒนธรรมของไทยกันอยู่อีก 

แม่เป็นคนช่างคิด ช่างจินตนาการ