อุบลราชธานี แผ่นดินข้างเคียงแม่น้ำโขง

อุบลราชธานี แผ่นดินข้างเคียงแม่น้ำโขง

ขณะใครสักคนเลียบเลาะส่วนหนึ่งของลำน้ำโบราณ เรามักเอ่ยอ้างถึงการค้นพบใหม่ ขณะที่ความจริงของโลกตรงหน้าที่พบเผชิญรายทางล้วนเป็นตัวของตัวเองอย่างจริงแท้ ไร้การปรุงแต่งรองรับรสนิยมของนักแสวงหา เป็นที่ทางแห่งการก่อเกิดและสูญสลายไปตามหนทางแห่งวันเวลาอย่างงันเงียบ

ไม่เว้นแม้แต่ลำน้ำชราที่ทอดผ่านผืนแผ่นดินกว่า 6 ประเทศ อย่างสายน้ำโขง เราพบตัวเองในหลายวันที่อุบลราชธานี เคียงข้างส่วนเสี้ยวของแม่น้ำสายยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก ภาพเรียงราย ณ ฝั่งขวาของสายน้ำโขงบอกเล่าตัวตนอันยิ่งใหญ่และเปี่ยมมนต์เสน่ห์ และแม่น้ำสายหนึ่งก็สมควรยิ่งแก่การเคารพจดจำ

ฟ้ากระจ่างใสสด แดดสายระอุร้อนเร่า ขณะเราผ่านพ้นตัวเองเหนือสันเขื่อนปากมูล มวลน้ำในยามแล้งถูกกักเก็บไว้เพื่อการเกษตร แก่งตะนะที่ถัดไปไม่กี่กิโลเมตรมองเห็นเป็นสันดอนหินทรายโผล่ผุด เรือประมงพื้นบ้านและคนหาปลาประดับประดาสายน้ำที่เป็นสบสายแห่งแม่น้ำโขงเป็นภาพงดงาม

เรายืนอยู่บนรอยต่อของแผ่นดินและแม่น้ำ ทั้งพิบูลมังสาหาร สิรินธร และโขงเจียมในเขตอุบลราชธานี รวมไปถึงจุดพบกันของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง อารมณ์รับรู้แปลกใหม่จับจู่ ทั้งการบรรจบของแม่น้ำสองสายที่หล่อหลอมผู้คนมากมาย บรรยากาศขอบเขตชายแดน รวมไปถึงการโค้งลับหายไปในแดนดิน สปป.ลาวของสายน้ำโขง

อาคารโคโลเนียลแห่งแรกของโขงเจียมบนถนนแกล้วประดิษฐ์ คงความงามท่ามกลางพื้นผิวคร่ำคร่า โค้งอาร์ก ผนัง ลายปูนปั้น ประดับฝีมือช่างญวนที่เก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ.2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5

เมืองโขงเจียมเงียบสงบ จุดบรรจบของแม่น้ำสองสายอย่าง “สบมูล” ดูจะเป็นจุดหมายเดียวของผู้ที่ผ่านมาเยือน ที่สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยพ่อค้าไทย-ลาว จากโขงเจียม หลังล่องเรือในลำน้ำมูลไปตามความงามของผาหิน เมื่อถึงยามเช้าที่ตะวันฉายส่อง เราย้อนถนนสายเล็กไปที่บ้านเวินบึก ณ จุดที่แม่น้ำโขงกลืนกินแม่น้ำมูลและหายลับไปสู่ดินแดนลาว ปลายทางของเทือกเขาพนมดงรักต่อกับเทือกเขาแดนเมืองจรดเทือกภูพาน โดยมีสายน้ำเป็นสิ่งยืนยันการสิ้นสุดของแผ่นดิน

พี่น้องคนไทยเชื้อสายบรูปักหลัก ณ หมู่บ้านที่เป็นปลายแหลมของแผ่นดินโขงเจียม กล่าวถึงพวกเขา ชนเผ่าในสายวัฒนธรรมมอญ-เขมร ที่แผ่นดินถิ่นเดิมล้วนอยู่ในแถบภูเขาสองฝั่งโขง ไทยและแถบลาวใต้ คำว่าบรูอันหมายถึงภูเขานั้นบ่งบอกเสมอว่าพวกเขาล้วนมาจากที่ใด

หันหลังให้ดวงอาทิตย์ที่เป็นแสงแรกของฝั่งสยาม เราผละออกจากสบมูลและโขงเจียมด้วยทางหลวงหมายเลข 2112 หวังเลียบเลาะทวนย้อนแม่น้ำโขงในเขตอุบลราชธานี อากาศสะอาดสดและลมหนาวปลายฤดูช่วยให้ภาพทางตายิ่งรื่นรมย์ รูปทรงอัศจรรย์ของธรรมชาติอันหลากหลาย เสาเฉลียงยืนหยัดตัวเองเหนือพลาญหิน ผ่านการขัดเกลาทางธรรมชาติด้วยลม ฝน และกาลเวลานับพันปี โลกทางธรณีวิทยาบอกเล่าถึงชั้นชุดหินที่ทับซ้อนกันหลายยุค ทั้งชุดภูพาน ชุดพระวิหาร ชุดเสาขัวร์ ไล่เลยไปถึงชุดโคกกรวด โดยเรียกกายภาพเช่นนี้ว่าทอร์ (Tore)

ไล่ลึกขึ้นไปถึงขอบเขาใกล้แม่น้ำโขง มันคือภาพส่งต่อของผู้คนและสายน้ำมาแต่โบราณกาล สะท้อนสายสัมพันธ์การกินอยู่ของคนริมน้ำผ่านเครื่องจักสานที่ใช้หาปลามาแต่โบราณ เราตัดลัดแนวผาหินทรายลงไปยังทางเดินกว่า 3.6 กิโลเมตรของผาแต้ม แนวผาหินอัศจรรย์บนภูผาขาม ที่ฝั่งตรงข้ามคือเขตเมืองซะนะสมบูนของแดนดินลาว ทางเดินพาเราไปพบโลกโบราณริมสายน้ำโขงของมนุษย์ประวัติศาสตร์ในหลายพันปีที่แล้ว ทั้งผาขาม ผาแต้ม และผาหมอน โดยเฉพาะที่ผาแต้ม กว่า 180 เมตร ภาพความเป็นอยู่ทั้งกสิกรรมและโลกแห่งการประมงฉายชัดในภาพเขียนสีแดงเรียบง่าย ทั้งรูปปลาบึก ช้าง วัว กวาง โดยเฉพาะตุ้มจับปลา ที่พวกเขารูปจักใช้มานับพันปี รวมไปถึงลายเส้นหยึกหยักทับซ้อนกัน 4 ชั้น ซึ่งว่ากันว่าคือสายน้ำโขงที่โอบล้อม

ถนนเลาะน้ำโขงพาเราไปเป็นหนึ่งเดียวกับโตรกหินและสายน้ำเมื่อผ่านพ้นเข้าเขตอำเภอโพธิ์ไทร บ้านผาชันหยัดยืนตัวเองด้วยไร่มันสำปะหลังบนเนื้อดินและลานหินทราย ตลิ่งสูงชันจากระดับน้ำโขงยามแล้วปรากฏเป็นทิวทัศน์แปลกตา ฟ้าครามเข้ม เรือประมงกลายเป็นจุดเล็ก ๆ ในมหานทีกว้างใหญ่ ผาหินสูงชันบีบให้สายน้ำขอดแคบไหลเร็วรี่ เมื่อเข้าเขตบ้านสองคอน เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนหลากหลาย ทั้งท้องถิ่นและแดนไกล หาดทรายริมน้ำโขงทอดทางไกลไปสู่กลุ่มหินทรายรูปทรงแสนอัศจรรย์ทั้งดอน หรือเกาะกลางน้ำ หรือแก่งที่เป็นกลุ่มหินหลากรูปทรง

เราเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับสามพันโบก โลกแห่งหินทรายในพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตร มันเปลี่ยนภาพแม่น้ำจากเบื้องบนให้ยิ่งดูโอฬารและเปี่ยมเรื่องราว จินตนาการทบย้อนไปถึงห้วงแดนบรรพกาล “กุมภลักษณ์” หรือโบก อันเกิดจากการสายน้ำที่พัดพาก้อนกรวด เศษไม้ หิน ทราย เวียนวนกันเซาะนานนับกัปกัลป์บนพลาญหินจนเกิดเป็นหลุมกลมมนใหญ่น้อย ต่างกระจัดกระจายอยู่ริมหาด ผู้คนริมโขงไม่เพียงรู้ว่ามันคือที่ที่ปลาชุม รวมไปถึงมีไคร้ หรือไก สาหร่ายน้ำจืดอันอุดม ทว่ามันคือโลกอีกใบที่คนแปลกหน้าเลือกเข้ามาหาพวกเขา 

จากหุบเขาจิฟู (Jifu) แม่น้ำโขงก่อเกิดจากหิมะหนาวเหน็บ ค่อยหลอมละลายและหลากไหลผ่านเขตปกครองตนเองยูชุ (Yushu) ในทิเบต แล้วบ่ายหน้าลงใต้ รองรับแผ่นผืนดินอีก 6 ประเทศ อย่างจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนสูญสลายตัวเองที่ทะเลจีนใต้ในแผ่นดินเวียดนาม ด้วยความยาวตลอดสาย 4,909 กิโลมตร

นึกถึงส่วนเสี้ยว ณ พิกัดหนึ่งของอุบลราชธานีและสายน้ำโขง ที่ประกอบกันขึ้นกับชีวิตในอีกหลายแผ่นผืนตลอดการเดินทาง โลกล้วนอาจสะท้อนชัดความหลากหลาย ทั้งสุขทุกข์ เริงร่าหรือร่ำไห้ ไว้ในการหลากไหลของแม่น้ำสายหนึ่งอย่างยาวนาน

ลำน้ำชราที่ทอดผ่านผืนแผ่นดินกว่า 6 ประเทศ อย่างสายน้ำโขง บอกเล่าตัวตนอันยิ่งใหญ่และเปี่ยมมนต์เสน่ห์แก่การเคารพจดจำ