Eat Smart Live Longer กินอย่างสมดุล ต้นทุนแข็งแรง

Eat Smart Live Longer กินอย่างสมดุล ต้นทุนแข็งแรง

การจะทำให้ตัวเราเองสุขภาพดี นอกจากร่างกายแข็งแรงแล้วต้องมีจิตใจที่สมบูรณ์พร้อมอีกด้วย แต่จะไปถึงตรงนั้นเราควรดูแลร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการกินอาหารที่นับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญ สามารถบ่งชี้ในอนาคตได้ว่าร่างกายของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต MiX Magazine ฉบับนี้จึงขอเสนอเรื่องราวในธีม“Eat Smart Live Longer กินอย่างสมดุล ต้นทุนแข็งแรง”เกี่ยวกับการกินอาหาร ที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว

จุดเริ่มต้นของอาหาร

ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ต่างก็ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ได้เรียนรู้การกินสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต สั่งสมองค์ความรู้ว่าสิ่งใดกินแล้วปลอดภัยและสิ่งใดเป็นพิษมาอย่างยาวนาน เรามาดูกันว่าอาหารกว่าจะเดินทางมาถึงปัจจุบันต้องผ่านเรื่องราวอะไรบ้าง

ยุคหิน

มนุษย์รู้จักการกินมาตั้งแต่เกิด ในยุคนี้การกินเกิดขึ้นด้วยสัญชาตญาณ เมื่อตื่นขึ้นมาท้องหิวก็ต้องล่าสัตว์ป่า โดยใช้หินเป็นอาวุธดัดแปลง เก็บผักและผลไม้ในป่ากิน ในยุคนี้หาอาหารวันต่อวันเพื่อยังชีพเท่านั้น ไม่ได้สนใจเรื่องรสชาติของอาหารมากนัก

ยุคการปฏิวัติเกษตรกรรม

การกำเนิดของเกษตรกรรม นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องการเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ตรงจุดนี้เองเป็นจุดเริ่มนำความเจริญมาสู่อารยธรรมมนุษย์ เป็นการวางรากฐานสำหรับวิวัฒนาการเรื่องอาหารในเวลาต่อมา

ยุคกลาง

ในยุคกลางนี้อาหารมักถูกกำหนดโดยชนชั้นสูงของสังคม โดยชาวนาจะกินธัญพืชและผักเป็นหลัก สวนคนชั้นสูงนิยมรับประทานเนื้อสัตว์และเครื่องเทศหลายชนิด อาหารในยุคนี้บางส่วนได้รับอิทธิพลจากศาสนา สถานะทางสังคม และประเพณีบางอย่าง ซึ่งยังคงมีให้เห็นจนถึงปัจจุบันนี้

ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและการบริโภค เกิดจากการขยายตัวของเมือง ที่มีประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น รูปแบบของอาหารการกินจึงเปลี่ยนไป อาหารแปรรูปเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของวิถีชีวิตที่รวดเร็ว ยุคนี้มีการผลิตสินค้าจำนวนมาก สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคพอสมควร

ยุคใหม่

ปัจจุบันอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนอาหารให้กลายเป็นธุรกิจที่มีความหลากหลายและซับซ้อน มีการขยายตัวของซูเปอร์มาร์เก็ต เครือข่ายอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปจำนวนมาก โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่เต็มไปด้วยสารเติมแต่ง เช่นสารกันบูด น้ำตาล โซเดียม และไขมัน มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หลอดเลือด และโรคหัวใจ ซึ่งแน่นอนว่าเราหลีกเลี่ยงมันยากมากในสมัยนี้

วิวัฒนาการของอาหารตั้งแต่ยุคหินจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของมนุษยชาติ ในการปรับตัว และเจริญเติบโต จนกลายเป็นเรื่องของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีผลเสียในเรื่องของคุณภาพที่แฝงไปด้วยความอันตราย แต่ก็แลกมาด้วยความรวดเร็วและความสะดวกสบาย กลายเป็นความท้าทายด้านสุขภาพ ที่ต้องเลือกกินอย่างมีสติเพื่อตัวของเราเอง


อาหารคือยาวิเศษ

การ "กินอาหารเป็นยา" หมายถึงการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารบางชนิดสามารถป้องกันโรค และยังสามารถบำรุงร่างกายให้กลับมาแข็งแรงดีอีกด้วย เป็นที่ทราบว่าอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารหลายชนิดมีสารอาหารมากมายเช่น ๆ วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และสารประกอบที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก ที่ดีต่อสุขภาพ การเลือกกินอาหารที่หลากหลาย เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน

อาหารมีส่วนช่วยป้องกันและรักษาโรค เช่นผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามิน มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะเมล็ดธัญพืชและโปรตีน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมกล้ามเนื้อได้ อาหารบางชนิดสามารถต้านการอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดโรค เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด

อาหารช่วยปรับสมดุลลำไส้เช่น โยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติก และอาหารที่อุดมด้วยไฟเบอร์ มาจากธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว มีสารไมโครไบโอม (Microbiome) ช่วยย่อยอาหาร ช่วยปรับลำไส้ให้สมดุล และสร้างภูมิคุ้มกันอีกด้วย

พื้นฐานอาหารเพื่อสุขภาพ

อาหารที่เรากินในแต่ละเมนู เชื่อว่าคนปกติทั่วไปรู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์และสิ่งใดนั้นมีโทษ เพียงแต่ไม่สามารถหักห้ามใจในความอร่อยได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วอาหารอร่อยมักไม่มีค่อยมีประโยชน์ อาหารเพื่อสุขภาพมักประกอบไปด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และปราศจากการแปรรูปหรือส่วนผสมทางเคมีที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เทรนด์ของอาหารเพื่อสุขภาพในยุคปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของสังคม เรามาดูกันว่าสิ่งที่เราควรกินจริง ๆ มีอะไรกันบ้าง

1. ผักและผลไม้สด เป็นเรื่องพื้นฐานเลยก็ว่าได้ เพราะการรับประทานผักและผลไม้สดเป็นสิ่งควรกินเป็นประจำ เนื่องจากมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ประเทศไทยโชคดีที่ว่ามีผักและผลไม้สดสามารถหามากินได้ทันที เช่นผักโขม ผักกาด แครอท และผลไม้เช่น แอปเปิล ส้ม กล้วย ฯลฯ แต่ผลไม้บางชนิดก็มีน้ำตาลสูงมากเช่นทุเรียน จึงไม่ควรกิจบ่อยเกินไป

2. แป้งและข้าว แป้งและข้าวเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ที่จะให้คุณมีพลังและกำลังในการทำกิจกรรมประจำวัน แต่ควรเลือกแป้งและข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ แป้งข้าวโพดหรือแป้งที่มีใยอาหารสูง เพื่อให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตที่ดีและให้พลังงานที่เพียงพอ

3. โปรตีน โปรตีนมีส่วนสำคัญในการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย ให้เลือกรับประทานโปรตีนจากแหล่งที่ดี อย่างเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณไขมันน้อย เช่น เนื้อไก่ ปลา และเนื้อวัว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณไขมันสูง เช่น เนื้อหมูแดดเดียว หรือเนื้อวัวที่มีส่วนของไขมันสูง

4. ธัญพืช เต้าหู้และถั่วเป็นแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ ควรเลือกรับประทานเต้าหู้และถั่วเพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนในอาหาร เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง ที่มีทั้งวิตามินและโปรตีนจากพืช ซึ่งเหมาะกับคนที่อยากลดการกินเนื้อสัตว์ และยังเป็นเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพอีกด้วย

ความจริงแล้วการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และสมดุลเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพ ตามพื้นฐานที่กินให้ครบ 5 หมู่ ไม่ควรกินอย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป เพราะอาหารทุกอย่างที่เรากินเข้าไปมีผลต่อร่างกายโดยตรง ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพของเราเอง

อาหารอันตรายที่แฝงในอาหาร

มนุษย์เรามีความเสี่ยงทุกวันจากการกินอาหารปนเปื้อน รวมถึงอาหารแปรรูปที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงตามมา อาหารเหล่านี้อาจมีสารพิษ สารก่อภูมิแพ้ เราจึงควรระวังเรื่องการบริโภคเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้าง นี่คือตัวอย่างบางส่วนที่ควรหลีกเลี่ยง

เนื้อสัตว์ดิบ

การบริโภคเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ และอาหารดิบหรือยังไม่สุก อาจทำให้ได้รับแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เช่น เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อพยาธิ โดยเมนูกินดิบของประเทศไทยมีอยู่มากมาย แต่หารู้ไม่ว่าถ้าติดเชื้อเหล่านี้แล้วอันตรายถึงชีวิตได้

ผักดิบ

การกินผักดิบหลายชนิดมีประโยชน์ที่หลายชนิดก็มีโทษ เช่น ถั่วงอกดิบ หัวไชเท้า ถั่วฝักยาว โดยมีแนวโน้มที่จะเกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรียในระหว่างกระบวนการเติบโต รวมถึงพยาธิบางชนิดที่ติดมากับผักดิบอีกด้วย

อาหารแปรรูป

ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีส่วนผสมของสารเติมแต่งทางเคมี เช่นครีมเทียม น้ำตาลเทียม ขัณฑสกร สารกันบูด ไขมันทรานส์ หลายอย่างอยู่ในขนมปัง ไส้กรอก น้ำหวานบางชนิด ฯลฯ เมื่อบริโภคในปริมาณที่เกินความจำเป็น สิ่งเหล่านี้จะไปสะสมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวได้

 

เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง

เราสามารถพบเจอเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง ในร้านสะดวกซื้อจำนวนมาก บางอย่างมีการเขียนระบุถึงสารกาเฟอีนเอาไว้ แต่มักเป็นอักษรที่เล็กมาก กาเฟอีนมักอยู่ในเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมสีดำ ชา กาแฟ และน้ำผลไม้บางชนิดที่แปรรูปเป็นเครื่องดื่ม การบริโภคกาเฟอีนมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ใจสั่น วิตกกังวล หรือบางรายอาจมีอาการแพ้กาเฟอีนได้เช่นกัน

อาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้

สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ การกินอาหารบางชนิดอาจถูกต่อต้านจากร่างกาย โดยปกติคนมักแพ้เช่น อาหารทะเล ข้าวสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และนม อาหารจำพวกนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง รวมถึงภาวะภูมิแพ้ ทำให้ร่างกายเป็นพิษจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เพื่อปกป้องสุขภาพของเรา สิ่งสำคัญคือต้องมีความรู้ในเรื่องอาหาร และปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยแก่ตัวเองเราและคนรอบข้างนั่นเอง

เทรนด์การดูแลสุขภาพและการลดน้ำหนัก

ปัจจุบันเทรนด์การกินอาหารเพื่อสุขภาพรวมถึงการลดน้ำหนัก ได้รับความนิยมอย่างสูง มีวิธีการมากมายหลายสูตร ซึ่งอาจไม่เหมาะกับทุกคน กับเราจึงขอรวมเอาวิธีการกินเพื่อดูแลสุขภาพ และการลดน้ำหนักที่นิยมใช้กันดังนี้

IF (Intermittent Fasting)

คือการควบคุมแคลอรี และจำกัดเวลาในการรับประทานอาหาร เป็นวิธีการกินอาหารที่เน้นในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น โดยปกติแล้ว IF แบ่งออกเป็นหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะใช้สูตร16/8 คือการกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง หรือสูตร 5:2 คือการกินอาหารตามปกติใน 5 วันในสัปดาห์ และอดอาหารหรือกินอาหารให้น้อยใน 2 วันสุดท้ายของสัปดาห์

IF สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ โดยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน และเพิ่มการสร้างกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ IF ยังมีประโยชน์อื่น ๆ เช่น ช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน ลดความดันโลหิตสูง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง แต่มีปัจจัยที่ทำให้การลดน้ำหนักแบบ IF ไม่สำเร็จเช่น อดอาหารไม่ได้ ร่างกายต่อต้าน หรืออดทนไม่พอ มีพฤติกรรมนอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

2. คีโต (Ketogenic Diet)

เรียกว่าวิธีนี้กำลังมาแรง เนื่องจากมีการบริโภคโปรตีนจากเนื้อเป็นหลัก คีโตเจนิคเป็นวิธีการกินอาหารที่จำกัดปริมาณการบริโภคคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มปริมาณการบริโภคไขมันและโปรตีน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ร่างกายเข้าสู่สถานะเรียกว่า "คีโตซิส" ที่จะเริ่มใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานแทนการใช้น้ำตาล กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญไขมัน ซึ่งผลที่ได้คือการลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ คีโตเจนิคยังสามารถเพิ่มการสังเคราะห์ฮอร์โมนเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และมีประสิทธิภาพในการเพิ่มพลังงานของร่างกายอีกด้วย

3. โลว์ คาร์บ ไดเอท (Low Carb Diet):

โลว์ คาร์บ ไดเอท (Low Carb Diet) มาจาก Low Carbohydrate คือรูปแบบการกินอาหารที่จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารประเภทแป้งช่วยลดน้ำหนัก และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การกินอาหารแบบนี้มักเน้นการบริโภคผัก ผลไม้ และโปรตีน คล้ายกับอาหารคีโตแต่ไม่สุดโต่งเท่าคีโต ยังส่งเสริมการบริโภคโปรตีนไร้ไขมัน ผัก และคาร์โบไฮเดรตปริมาณต่ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เพิ่มการลดน้ำหนัก และลดความเสี่ยงของภาวะเรื้อรัง เช่น เบาหวาน การรักษาสมดุลของการบริโภคสารอาหาร และการเลือกอาหารที่ไม่แปรรูป

การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการกินอาหารที่ถูกต้องสามารถช่วยลดน้ำหนัก และรักษาสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญของการรักษาสุขภาพที่ดีนั่นเอง

นาฬิกาชีวิต ความสมดุลของสุขภาพ

ร่างกายของมนุษย์ มีกระบวนการทางสรีรวิทยารวมถึงชีวภาพที่ซับซ้อน ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีความสัมพันธ์กันทั้งเรื่องการกิน การพักผ่อน และการออกกำลังกาย เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านาฬิกาชีวภาพ เป็นวงจรของชีวิตที่หมุนเวียนภายใน 24 ชั่วโมง เป็นเรื่องของกลไกกิจกรรมการใช้ชีวิตกับร่างกายที่สมดุลนั่นเอง

ช่วงเวลาที่ควรรับประทานอาหาร

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเราควรกินอาหารเวลาใด และควรกินกี่มื้อกันแน่ เพราะความจำเป็นของแต่ละคนในการดำรงชีวิตต่างกัน แต่มีการยอมรับว่า ควรกินอาหารให้สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนพลบค่ำ ภายในกรอบเวลาที่กำหนด (ปกติคือ 10-12 ชั่วโมง) จะช่วยการควบคุม อินซูลิน ส่งเสริมการลดน้ำหนัก

เนื่องจากการกินอาหารในตอนกลางวัน มนุษย์มีกิจกรรมค่อนข้างเยอะ มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร การเผาผลาญแคลอรี่ และดูดซึมสารอาหารได้ดี สะท้อนถึงประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของบรรพบุรุษที่หาอาหารเพื่อยังชีพในระหว่างวันเท่านั้น เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่เราไม่ควรกินอาหารตอนกลางคืน อาจทำให้ระบบการย่อยอาหารยากขึ้น ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและโรคต่าง ๆ ตามมา

นอนหลับให้เพียงพอ

การหลับช่วยในเรื่องการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ในร่างกายมนุษย์มีนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ฝังอยู่เองตามธรรมชาติ ลองสังเกตว่าเราสามารถหลับและตื่นในเวลาเดิมอยู่เป็นประจำ นาฬิกาชีวภาพนี้นอกจากจะบอกให้เราหลับแล้วยังควบคุมเวลาตื่นได้แล้ว ความสำคัญของมันคือส่งผลโดยต่อฮอร์โมน และอุณหภูมิของร่างกาย ในขณะที่เราหลับร่างกายยังซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเอง และการได้รับแสงอาทิตย์ในระหว่างวันยังช่วยควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นให้มีคุณภาพได้อีกด้วย ดังนั้นเราจึงไม่ควรนอนดึกหรือฝืนธรรมชาติของร่างกายของตัวเอง

ช่วงเวลาที่ควรออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นที่ยอมรับกันว่าทำให้ร่างกายแข็งได้ แต่ช่วงเวลาการออกกำลังกายที่เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นไม่เท่ากัน เนื่องจากจังหวะการทำงานของร่างกายมีอิทธิพลต่ออุณหภูมิร่างกาย ระดับฮอร์โมน และการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกายต่างกัน

มีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับบอกว่า การออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มจากช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวัน จนถึงหัวค่ำเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกาย และการทำงานของกล้ามเนื้ออยู่ในช่วงสูงสุดในเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกาย มีความสำคัญมากกว่าเวลาที่กำหนด กุญแจสำคัญคือการหากิจวัตรที่เหมาะกับตารางเวลาและความชอบของแต่ละคน

 

การเติบโตของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

หากพูดถึงอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทย จะพบว่ามีความนิยมอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างแรกคือ ความได้เปรียบทางวัตถุดิบที่สามารถหาได้ตลอดเวลา มีสถานที่ปลูกหมุนเวียนทั้งปี และยังมีคุณภาพความสดใหม่

ประการที่สองคือเรื่องของการหลอมรวมวัฒนธรรมความอร่อย ที่ประเทศไทยเปิดรับเอาความเจริญของทุกชนชาติ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารเข้ามาในประเทศ แล้วนำมาดัดแปลงให้ถูกปากของคนไทย สังเกตได้ว่าประเทศไทยมีเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อติดระดับโลกจำนวนมาก

เมื่อเราได้เปรียบในเรื่องวัตถุดิบและความหลากหลายของอาหารแล้ว คนเราจะนึกถึงสุขภาพร่างกายที่ดีตามมา เมื่อเศรฐกิจของประเทศไทยพัฒนาในระดับที่ดี คนจำนวนหนึ่งที่มีรายได้มากพอ พวกเขาจะคัดสรรอาหารที่เป็นประโยชน์ เทรนด์เรื่องสุขภาพจึงได้รับความสนใจจากผู้คนทุกกลุ่มวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงานที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัว ขณะที่ผู้สูงอายุที่ต้องการรักษาสุขภาพในระยะยาว เหล่านี้เองจึงช่วยผลักดันธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสุขภาพให้เติบโตขึ้น

เหตุผลอีกประการที่ทำให้อาหารเพื่อสุขภาพได้รับการยอมรับ คือคนไทยสามารถปรับปรุงเมนูอาหารที่จากเดิมมีรสชาติค่อยอร่อย แต่ปัจจุบันมีการรังสรรค์สารพัดเมนูให้มีความอร่อย จนกลายเป็นที่ติดใจของนักชิมจำนวนมาก

ปัจจุบันธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทยเติบโตอย่างมหาศาล บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการสำรวจตลาดมูลค่าการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่มูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท โดยปี 2561 ที่มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมออกมาจำนวนมาก มีร้านอาหาร ค่าเฟ่เพื่อสุขภาพเปิดทั้งในกรุงเทพและเมืองหลักของประเทศไทย อย่างเช่นร้านสลัดผัก ร้านมังสวิรัติร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่เน้นวัตถุดิบสดใหม่ หรือร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่จัดเตรียมอาหารสำหรับการส่งถึงบ้าน

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทยไม่เพียงแต่มีกำไรสูง แต่ยังมีโอกาสในการขยายตลาดออกไปต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย โดยมีความต้องการจากคนที่ต้องการดูแลสุขภาพ และชื่นชอบการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ส่งผลให้ธุรกิจด้านนี้ ยังคงมีโอกาสในการขยายตลาดอย่างยั่งยืนต่อไป

การจะทำให้ตัวเราเองสุขภาพดี นอกจากร่างกายแข็งแรงแล้วต้องมีจิตใจที่สมบูรณ์พร้อมอีกด้วย