ปลูกฝังค่านิยมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความเคารพผู้นำบ้านสามหลัง

ปลูกฝังค่านิยมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความเคารพผู้นำบ้านสามหลัง

ตั้งแต่ดั้งเดิมสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความเคารพนับถือผู้นำผู้หลักผู้ใหญ่ แสดงออกเป็นวัฒนธรรมอันดีงามในการประพฤติปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้น้อยและผู้ใหญ่ อาทิ นักเรียนกับครูบาอาจารย์ ลูกกับพ่อแม่ ฆราวาสกับพระสงฆ์ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นผ่านการประพฤติปฏิบัติต่อกันในวิถีชีวิตประจำวัน อาทิ การแสดงกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย การไหว้แสดงความเคารพนับถือ การรดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ในช่วงวันเทศกาล เป็นต้น แต่ด้วยบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้วัฒนธรรมอันดีงามดังกล่าวนี้ค่อย ๆ ลดเลือนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ การเปิดรับวัฒนธรรมโดยขาดการประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

ผมนำเสนอความคิด โมเดลบ้านสามหลัง ว่าประกอบด้วย บ้านหลังที่หนึ่ง ครอบครัว มีพ่อและแม่เป็นไอดอล บ้านหลังที่สอง โรงเรียน มีครูเป็นไอดอล และที่ทำงาน มีหัวหน้างานเป็นไอดอล และบ้านหลังที่สาม สังคม มีผู้นำอุดมการณ์ทางกายภาพและผู้นำอุดมการณ์ทางจิตภาพเป็นไอดอล บ้านทั้งสามหลังดังกล่าวนี้ควรประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ดำรงตนเป็นมนตรีรักนับถือสูงสุดที่ถือเป็นพ่อแม่ผู้สร้าง ส่งผ่านอิทธิพลชีวิตอันเกิดจากการเห็นคุณค่านามธรรมความดีงาม โยงมาเป็นรูปธรรมสะท้อนอยู่ในตัวตนของตนเอง จนทำให้คนนับถือสูงสุดและอยากเลียนแบบ  

ขณะเดียวกันควรปลูกฝังค่านิยมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความเคารพนับถือบ้านสามหลัง รื้อฟื้นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยให้กลับมาเข้มแข็ง กรณีเกิดความขัดแย้งควรแสวงหาวิธีการจัดการเชิงสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วม แสดงออกศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ ไม่เลือกปฏิบัติ

เพื่อทำให้สังคมโดยรวมได้รับประโยชน์สูงสุด อาทิ การใช้กระบวนการอารยสนทนา 12 ขั้นตอนหาข้อตกลงหรือจุดยืนที่ยอมรับร่วมกัน โดยมีหลักปรัชญาอารยะกำกับ (1) เพื่อคงความเป็นเอกภาพในสังคม แม้มีความแตกต่างหลากหลาย การสร้างค่านิยมการเป็นนักประชาธิปไตยแท้ให้เกียรติความเห็นต่าง ถ่อมตัวรับฟัง พิจารณาเปิดใจ ให้เหตุผลความเห็นระวังตรรกะวิบัติ ระวังตีความผิด และให้ศักดิ์ศรีมนุษย์ ไม่ปรักปรำ ทำลายไม่ผรุสวาท หยาบคาย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต

เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีพลัง มีข้อดีหลายประการ และต้องการการชี้แนะแนวทางให้เดินในทิศทางที่ถูกต้องเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเยาวชนเอง ชุมชน และสังคมประเทศชาติ การลงทุนสอนและสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและจะทำให้เกิดผลลัพธ์ยั่งยืนยาวนาน

 


1 ประกอบด้วย ขั้นที่ ๑ อารยสดับ (Araya Listening) ขั้นที่ ๒ อารยปุจฉา (Araya Query) ขั้นที่ ๓ อารยปริทัศน์ (Araya Perspective) ขั้นที่ ๔ อารยถกแถลง (Araya Discussion) ขั้นที่ ๕ อารยพิจารณา (Araya Configuration) ขั้นที่ ๖ อารยวาที (Araya Debate) ขั้นที่ ๗ อารยปรึกษา (Araya Consultation) ขั้นที่ ๘ อารยเสวนา (Araya Dialogue) ขั้นที่ ๙ อารยญัตติ (Araya Proposition) ขั้นที่ ๑๐ อารยมติ (Araya Consensus) ขั้นที่ ๑๑ อารยวิสัชนา (ArayaResponse) ขั้นที่ ๑๒ อารยพันธกิจ (ArayaMission) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, อารยสนทนา : สนทนาสองเราสู่สนทนาสาธารณะ (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2556).

ตั้งแต่ดั้งเดิมสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความเคารพนับถือผู้นำผู้หลักผู้ใหญ่ แสดงออกเป็นวัฒนธรรมอันดีงามในการประพฤติปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้น้อยและผู้ใหญ่