เดินหลากหลายความฝัน ไขว่คว้ามันด้วยศรัทธา ‘นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข’

เดินหลากหลายความฝัน ไขว่คว้ามันด้วยศรัทธา ‘นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข’

ชายหนุ่มหน้าตาดีดีกรีนายแพทย์ เขาคือหมอตั้ม หรือนายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข ที่นอกจากจะมีอาชีพหลักเป็นนายแพทย์แล้วเขายังมีความสามารถด้านการทำอาหารอีกด้วย ปัจจุบันหมอตั้มทำงาน เป็นวิสัญญีแพทย์หรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านเรียกว่าหมอดมยาโดยมีหน้าที่หลักคือช่วยระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่ง ในส่วนของเรื่องการทำอาหาร เขามีเพจเฟซบุ๊ก ‘EAT Matters : by หมอตั้ม’ทำCooking Show สอนการทำอาหารออนไลน์และมีออกงานอีเว้นท์ให้แฟนคลับได้หายคิดถึง

หากย้อนกลับไปในวัยเด็กหมอตั้มชื่นชอบเรื่องของการทำอาหารเป็นอย่างมากใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ซึ่งอาหารที่ลองทำในช่วงแรกเป็นเมนูอาหารไทยที่ทำกินกันเองในบ้าน อย่างผัดผักบุ้ง ผัดกะเพราฯลฯโดยในเวลาต่อมาพัฒนาฝีมือมาทำอาหารฝรั่งมากขึ้น แม้จะชอบการทำอาหารมากเพียงใดแต่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งจะทุ่มเทชีวิตไปกับการเป็นเชฟเพียงอย่างเดียว ย่อมเกิดความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงในชีวิตอนาคตได้

ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่ครอบครัวอยากให้เป็นคือแพทย์ หมอตั้มจึงยื่นขอเสนอว่าหากตัวเองสอบแพทย์ไม่ติดจะขอเรียนทำอาหารที่ตัวเองชอบอย่างจริงจัง แต่ปรากฏว่าหมอตั้มสอบติดแพทย์ ในช่วงเวลานั้นจึงมุ่งมั่นกับการเรียนและเตรียมตัวเป็นแพทย์อย่างเต็มที่จนกระทั่งเรียนจบ แต่ความฝันในการเป็นเชฟไม่ได้หายไปไหน เขาชื่นชอบเรื่องการทำอาหารมาโดยตลอด เมื่อได้โอกาสจึงทำตามฝันที่ตัวเองรอมานาน

แจ้งเกิดกับรายการ MasterChef

เมื่อถึงเวลาสำคัญที่คิดว่าตัวเองต้องออกมาพิสูจน์ฝีมือในเรื่องการทำอาหาร หมอตั้มจึงเข้าสมัคร MasterChef Thailand Season 2รายการทำอาหารที่ค้นหาเชฟฝีมือดีจากผู้เข้าแข่งขัน 20 คน แม้ไม่ได้เป็นผู้ชนะแต่เขากลับเป็น 1 ในคนที่ถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษ

“จุดเริ่มต้นคือ ผมเป็นแฟนรายการ MasterChef ซีซั่น 1 อยู่แล้ว ก็อยากลองทำอาหารดูรู้สึกว่าถ้าไปแข่งน่าจะสนุกดี ได้ลองเมนูหลากหลายมากขึ้น แล้วที่สำคัญคือไม่ต้องล้างจานเองก็เลยลองไปสมัครแข่งขัน ในช่วงเวลาที่ออกรายการ คนที่ดูจะเห็นว่าผมไม่ได้เก่งมากนักหลังจากที่ไปออกรายการนี้ ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ จากเดิมที่เป็นหมอธรรมดาก็กลายเป็นหมอที่ทำอาหารได้ มีคนรู้จักมากขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปพอสมควรครับ”

“ถ้าถามว่าผมถนัดทำอาหารประเภทไหน ความจริงแล้วผมถนัดการทำอาหารฝรั่งมากกว่า เพราะอาหารไทยมันค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องอาศัยรสมือค่อนข้างเยอะ ด้วยความที่เรียนหมอมาจะเป็นคนที่คิดเยอะว่าต้องใส่อะไรปริมาณเท่าไหร่กี่ช้อน อันนี้ใส่ยังไงถ้าเป็นอาหารไทยจะใส่ในลักษณะที่โยน ๆ เข้าไป คือใส่น้ำปลาน้ำตาลแล้วเดี๋ยวชิมๆเอาระหว่างทางบางทีผมยังไม่ได้แบบเก่งขนาดนั้นการทำอาหารไทยจึงรู้สึกว่ายากจึงถนัดทำอาหารฝรั่งมากกว่าเพราะมีเครื่องตวงวัดที่ชัดเจนค่อนข้างเป๊ะในเรื่องสัดส่วนมากๆแล้วผมไม่ค่อยทำเมนูเดิมซ้ำๆเท่าไหร่พอเริ่มทำเป็นแล้วจะเปลี่ยนไปทำเมนูอื่นครับ

“สำหรับเชฟตัวจริงนอกจากทำอาหารในครัวเก่งแล้วยังต้องบริหารครัวเป็นด้วยต้องดูเรื่องคนเรื่องตำแหน่งเรื่องวัตถุดิบการสั่งของมันค่อนข้างละเอียดต้องมีการวางแผนที่ค่อนข้างรัดกุม แล้วถ้าเกิดว่าเชฟเป็นเจ้าของร้านอาหารด้วยเขาก็จะไม่ได้ดูแค่หลังครัวแล้วต้องมาดูหน้าบ้านเรื่องเซอร์วิสการดูแลต่างๆเรื่องบรรยากาศก็มีผลในเรื่องธุรกิจต้องดูเรื่องMarketing เรื่องการบริหารการเงินหรือการบัญชีผมว่าการเปิดร้านอาหารและการเป็นเชฟมันต้องต้องมีความรู้รอบด้านครับ

ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์

เนื่องจากหมอตั้มเรียนจบแพทย์ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากพอสมควร เมื่อได้มาทำอาหาร จึงนำทั้งสองศาสตร์เข้ามาผสานกันในเรื่องการกินกับเรื่องสุขภาพ เขาได้เขียนเรื่องราวเหล่านี้ลงใน CookBook(หนังสือสูตรอาหารสำหรับผู้ป่วย) ของตัวเอง โดยให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของสุขภาพ

“ส่วนใหญ่โรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มักเกี่ยวกับการกินคือ เบาหวาน ความดัน ไขมัน อาจขยายไปที่โรคไตหรือโรคมะเร็งซึ่งผมกำลังดูอยู่ กลุ่มโรคที่มีผลต่อการกิน เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์การออกกำลังกาย เรียกว่า 80% ของคนไทย แล้วโยงไปถึงโรคอื่นๆ เช่นหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ส่งผลตามมาในระยะยาวได้

“ผมทำ CookBookขึ้นมาซึ่งเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้วคือมันไม่ได้เป็นหนังสือ แต่อยู่ใน App ไอโฟนข้างในเป็นสูตรอาหาร ทั้งเอเชียน ยูโรเปียน อาหารไทย ความพิเศษของ CookBookคือคำนวณหลักการทำอาหารเพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ มาเรียบร้อยแล้วว่าควรจะใช้ปริมาณโซเดียม เกลือ โปรตีน ไขมัน หรือปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่ก็เลือกเอาเช่นถ้าเป็นโรคเบาหวานแล้วอยากลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตก็จะบอกว่ามีอะไรที่มาทดแทนกันได้บ้าง คนที่เป็นความดัน เบาหวานไขมันกินอะไรได้”

กินดีสุขภาพดี

“ในเรื่องของอาหารอร่อยมักไม่มีประโยชน์ กับอาหารมีประโยชน์แต่ไม่อร่อย ผมคิดว่ามันอาจจะถูกแต่ไม่ทั้งหมด ผมว่ามันอยู่ที่การปรุงมากกว่าด้วยความที่เราต้องทำอาหารสุขภาพก็มีความรู้สึกว่าสุดโต่งไปเลยคือไม่มีตรงกลางอาหารไม่มีแคลอรีมันจืดจังเลยแห้งกินยากผมว่ามันควรมีสมดุลตรงกลางแต่ถ้าศึกษาเทรนสุขภาพมันจะสุดโต่งเกินไปคนปกติกินยาก

“แต่ปัจจุบันอาหารสุขภาพรสชาติดีเริ่มมีคนกินมากขึ้นแล้วเช่นร้านโอ้กะจู๋ จะปรับให้มาอยู่ตรงกลางคนก็รู้สึกว่ากินอร่อย แม้กระทั่งร้านชาบูสุกี้ที่เน้นเรื่องสุขภาพ เราก็เห็นว่ามีความอร่อยเหมือนกัน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องแห้งหรือว่าจืดชืดเสมอไป

“สำหรับคนที่รักษาสุขภาพ อยากควบคุมน้ำหนัก ผมแนะนำว่าให้กินตามปกติ 3 มื้อไปก่อน คือคีโตเจนิค ไดเอท หรือ Intermittent Fastingคือเทรนมันกำลังมา แต่ว่างานวิจัยก็ยัง 50-50 บางอันก็ไม่ได้ผล ไม่ได้มีผลสรุปว่าดีจริงไหม คีโตเจนิค ไดเอท เรามีงานวิจัยบอกแล้วว่าดีสำหรับคนที่เป็นโรคลมชัก คือกินยาแล้วไม่หายแต่ลองปรับมากินอาหารคีโตหายชัดเจน สำหรับการลดน้ำหนักระยะยาวที่บอกว่า ทำให้อายุขัยนานขึ้น หรือIntermittent Fastingเอง ก็ยังไม่ได้งานวิจัยระยะยาวออกมา เราเน้นไปที่กิน 3 มื้อให้ดีก่อน แล้วพยายามให้ดูที่ตัวแคลอรีสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือสำหรับคนที่ต้องการป้องกันมะเร็ง หรือAnti agingกินแล้วให้หนุ่มสาวก็ต้องเน้นที่สารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในอาหาร”

สูตรอาหารของหมอตั้ม

“สำหรับตัวผมเองเน้นการกินโปรตีนเป็นหลักผมพยายามคำนวณโปรตีนก่อน ทั้งไข่ไก่หมู ว่ากินกี่กรัม เอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบเป็นเมนูอะไรก็ได้ แล้วทำออกมา ส่วนการออกกำลังกายผมก็มีเทรนเนอร์ส่วนตัวช่วยดูด้วยว่าวันนี้เล่นอก เล่นท้อง เล่นแขน เล่นขา เขาจะช่วยเรื่องโปรแกรม ส่วนผมจะเสริมในเรื่องโปรตีนมากกว่า ผมออกกำลังกายจะเปลี่ยนท่าไปเรื่อยๆ เพราะถ้ากล้ามเนื้อมันเคยชินแล้วจะโตช้า ถ้าเรายกแล้วไม่รู้สึกอะไรเทรนเนอร์จะเปลี่ยนท่าไปเรื่อย ๆ

“ผมอยากบอกว่าคนที่เป็นโรคส่วนใหญ่ 50% อยู่ที่การกิน เชฟหรือว่าคนทำอาหาร เราเป็นด่านหน้าก็พยายามคัดเลือกวัตถุดิบหรือการปรุงอาหารที่มันดีต่อสุขภาพ คือจริงๆ อาหารที่ทำลายสุขภาพถ้าเอามาดูกันจริงๆ มันไม่ได้มีเยอะมาก เช่นอาหารทอดแบบที่มีเนื้อแดงผ่านความร้อนเป็นสารก่อมะเร็ง หรือการย่างที่เกิดการไหม้ก็เป็นสารก่อมะเร็ง พวกนี้พอเรารู้อยู่แล้วว่ามันทำลายสุขภาพ เราพยายามที่จะคัดออกให้ลูกค้าหรือคนกินหลีกเลี่ยงตั้งแต่ต้น

“ส่วนเมนูอื่นก็แล้วแต่สไตล์อาหารของแต่ละคน เราไม่สามารถบังคับเขาได้ว่าต้องใส่ผักเยอะ ๆ ต้องทำอย่างนั้นสิ แล้วแต่ละร้านเชฟต้องการนำเสนออะไร แล้วลูกค้าเขาเลือกอยู่แล้วว่าต้องการไปกินอะไรเป็นความอิสระของเขามากกว่า

“สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่ชื่นชมผลงานและเป็นกำลังใจให้ผมมาโดยตลอดสามารถติดตามผมได้ที่Facebook ‘EAT Matters : by หมอตั้ม’หรือ Instagram : p.dissakulครับ”

 

หมอตั้ม หรือ นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุขจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล รุ่น 89จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2จากคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล

เขาเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ซีซั่น 2 ที่มีคนติดตามมากที่สุดท่านหนึ่ง

เขาได้ทำ Mini Cookbook by หมอตั้ม ชื่อว่า Eat Matters ขึ้นมาเพื่อให้คนได้ทำอาหารอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

Eating for Health, Eating for life นายแพทย์ผู้รังสรรค์เมนูเพื่อสุภาพ