ประทับภาพพิมพ์เพื่อสื่อความหมาย สู่ความหลากหลายของความเป็นไทย เฉลิมศักดิ์  รัตนจันทร์

ประทับภาพพิมพ์เพื่อสื่อความหมาย สู่ความหลากหลายของความเป็นไทย เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์

ย้อนไปเมื่อราว 10 ปีก่อน เราเคยสัมภาษณ์ อาจารย์ เฉลิมศักดิ์  รัตนจันทร์ มาแล้ว เรียกว่าได้ประสบการณ์ศิลปะโดยเฉพาะภาพพิมพ์ไปแบบเต็ม ๆ ตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งคณบดี คณะศิลปะวิจิตรสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่มีความเมตตาสูง สร้างลูกศิษย์ฝีมือดีจำนวนมากในสังคม แม้ว่ากาลเวลาจะทำให้สังคมหรือแม้กระทั่งศิลปะเปลี่ยนแปลง แต่ตัวตนของอาจารย์ เฉลิมศักดิ์  รัตนจันทร์ ยังเป็นคนเดิมที่ยึดมั่นในอุดมการณ์งานศิลป์ ในอัตลักษณ์ที่สร้างคุณค่าและแรงบันดาลใจให้กับผู้คนตลอดเวลา

   “ในช่วงเวลาหลังจากที่ MiX Magazine ได้มาสัมภาษณ์ ระหว่างนั้นผมก็ทำงานมาโดยตลอด เมื่อก่อนผมเองยังมีภารกิจเรื่องการสอนประจำ แต่ตอนนี้ผมอายุ 65 ปี แล้วก็ลดจำนวนลง มาช่วยสอนในสาขาภาพพิมพ์ ที่คณะศิลปะวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่เมื่อหมดวาระก็มาเป็นตัวตนของเราเอง มีเวลาว่างมากขึ้นก็ทำงานศิลปะของตัวเอง มีการทดลองทำงานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อผสม หรือว่างานเพ้นท์ เหตุผลที่ไม่หยุดทำคือเรารักศิลปะ มันเป็นสิ่งที่เราชอบ เรารักมัน”

การทดลองเป็นพื้นฐานของงานศิลปะ

   “งานศิลปะมันก็เหมือนวิทยาศาสตร์ที่ต้องทดลองไปเรื่อย ๆ และการทดลองบางครั้งก็ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างแต่ห้ามหยุด คุณต้องทำต่อไป ซึ่งการทดลองของงานศิลปะมันเป็นสิ่งที่สำคัญ เราอาจจะทดลองอย่างเช่น เรื่องของการใช้วัสดุมาทำสื่อ จากเมื่อก่อนมันอาจจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ แต่เดี๋ยวนี้มันรวมกันไปหมดแล้ว แสง สี เสียงก็ใช้ กลิ่นก็มี ทุกอย่างมันเป็นการพัฒนาในมุมของศิลปะ เราสามารถเอามาผสมผสานในความคิดของเราได้ไหม โดยการทดลองทำ

   “ยกตัวอย่างรูปนี้ผมต้องไป Research ที่วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทวารบาลที่วัดราษฎร์ประดิษฐ์ มันเป็นเรื่องหน้าที่ของยามที่เฝ้าประตู เราก็เอาตรงนั้นมาทำ มันเป็นทางความงามทางศิลปะ ไม่ได้เอามาเป๊ะ ๆ ไร้เหตุผล ในขณะเดียวกัน ภาพนี้ก็เป็นเรื่องแบบเดียวกัน คือเป็นหน้าที่เหมือนกันมีการแบก อันนั้นคือยืนเฉย ๆ เหมือนยืนเฝ้า อันนี้มันก็เป็นเทคนิคทางภาพพิมพ์ ซึ่งเราได้แนวความคิดต่าง ๆ จากเรื่องของหน้าที่ แต่รูปแบบที่เราประทับใจเราเอามาจากวัดราษฎร์ประดิษฐ์ เป็นยามเฝ้าประตู เป็นหน้าที่ที่เขาต้องดูแลการเฝ้าประตู ทำไมถึงต้องเฝ้าประตู ผมไปหาข้อมูลที่วัด พบว่าทวารบาลหรือยามเฝ้าประตูที่เราเห็นอยู่นี่ เขาเฝ้าหรือเขาป้องกัน สิ่งที่เป็นอวมงคล ไม่ให้เข้าไปในวัด ไม่ให้เข้าไปในส่วนที่เขาป้องกัน

   “อันนี้คือจุดหนึ่งที่ผสมผสานกับทางวัฒนธรรมของเรา ในเรื่องของทวารบาล แต่ถ้าเรื่อง Concept ของผมจริง ๆ ก็คือเรื่องของหน้าที่ เรามีหน้าที่ อันนี้ก็มีหน้าที่ (ชี้ไปที่ภาพบนผนัง) เราก็มาคลี่คลาย ผมก็มาคลี่คลายส่วนที่จะเป็นตัวโบสถ์ ผมก็เอาเป็นแค่ Outline ของคน และมีคั่นคล้าย ๆ กับระเบียงโบสถ์ เป็นคลื่นขึ้นมาเป็นบัวเป็นอะไร แต่ว่าเราก็เอามาปรับให้มันเป็นร่วมสมัยให้เรียบง่ายขึ้น เหลือแค่ความรู้สึกของความเป็นบัวที่จะเป็นฐานบัวของโบสถ์ของอะไร อันนี้เป็นวิธีคิด แต่เราอย่าบอกว่าชิ้นนี้มันสวย มันไม่ใช่มันเป็นแค่การทดลองความคิดของเรา ในรูปแบบของการพิมพ์ แบบดิจิตอลปริ้น อันนั้นเป็นแบบ Etching ก็จะเหนื่อยหน่อยเพราะใช้แม่พิมพ์แบบโลหะ ซึ่งต้องกัดกรดจะลำบากในการที่ทำ ชิ้นนึงใช้เวลาเป็นเดือน”

การเดินทางของศิลปะ

   “สมัยที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. 2521-2525 และตอนที่เรียนปริญญาโทประมาณถึงปี พ.ศ.2532 ภาพพิมพ์ที่ทำจะต้องเป็นภาพพิมพ์บนกระดาษ 2 มิติ แต่ในปัจจุบันวิวัฒนาการไปแล้ว อย่างเมื่อปี พ.ศ. 2525 มีผู้ที่เอาภาพพิมพ์ 3 มิติ เข้ามาแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติก็คือ ท่านอาจารย์กมล ทัศนาญชลี ตอนนั้นทำให้เรามองเห็นถึงภาพพิมพ์ 2 มิติเปลี่ยนไป

   “อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ท่านเป็นศิลปินที่ทำภาพ 3 มิติเยอะมาก และทำงานสื่อผสมมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นแนวโน้มคนที่จะชื่นชม คนที่มองเห็นว่าศิลปะมันมีการพัฒนา ก็จะมีการนำไปทดลองเยอะ ส่วนตัวผมเองก็มีการทดลอง ในประวัติในหนังสือที่ผมเคยทำ เคยเขียน มันก็จะมีรูปแบบที่ผมทดลองเอางานมาทำเป็น 3 มิติตั้งแต่สมัยเรียน อันนี้มันเป็นเรื่องของความรู้ที่มันมีเพิ่มแต่ละยุคแต่ละสมัย

   “ในปัจจุบันผมคิดว่าการที่จะมองภาพพิมพ์ว่าเป็น 2 มิติ ความคิดแบบนี้มันน้อยลง เพราะว่าโลกมันไปไกล การพัฒนาตอนนี้มันมีแม้กระทั่งทำต้นแบบจากคอมพิวเตอร์ แล้วก็เอาไปทำเป็น 3 มิติเลยก็มี เพราะฉะนั้นศิลปะมันก็จะมีเรื่องของสื่อผสม เรื่องของการพัฒนาเชิงความคิด เป็นกวี เป็น Performance เป็นการแสดงออกแบบหลายอย่าง ซึ่งอย่างที่บอกคือมันเป็นอะไรที่ผสมผสานกันไปหมด เราจะไปจำกัดมันอย่างเดียวไม่ได้

   “อย่างการแสดงครั้งล่าสุดของผมเมื่อ 3 ปีก่อน ผมมีงานศิลปะที่นำประตูจริง ๆ เปิดออกไปแสดง มีทั้งโขนยักษ์แล้วก็มีเทพแสดงเป็นทวารบาล และมีการเอาตัวที่เขาเรียกว่าตัวอวมงคล ซึ่งเราก็สมมุติขึ้นมาเป็นภูตผีปีศาจ โดยที่มีทวารบาลเป็นตัวปกป้อง ไม่ให้ตัวอวมงคลนั้นเข้าไป แต่ว่าเป็น Perform ขึ้นมา เป็นการแสดงมีตัวจริง ๆ คือจับต้องได้ มีเพลง ฯลฯ อันนี้มันก็เป็นการทำงานศิลปะซึ่งมันไม่ใช่อยู่แค่ที่ภาพ

   “เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงการพัฒนาในด้านศิลปะผมคิดว่ามันก้าวหน้าไปไกล สิ่งที่ผมนำเรียนนั้น แค่นิดเดียว แต่มีศิลปินอีกเยอะแยะเลยที่เขามีแนวความคิดกว้างไกล มีทั้งใช้กลิ่น ใช้เสียง ใช้แสง ปลูกต้นไม้ขึ้นมา คือมันสารพัดไปหมด มันไม่จำกัดละ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าคนที่ดูพึงพอใจแบบไหน ชื่นชมยังไง สนใจยังไง ก็เอาตามที่เราสนใจ เราชอบ เพียงแต่ว่าขอให้เปิดใจว่าบางอย่างที่มันเหมือนกับล้าสมัย แต่พอถึงยุคหนึ่งมันก็ไม่ได้ล้าสมัย แต่เราก็เปิดใจให้รู้ว่ามันมีแนวทางที่เดินมานะ และต่อไปมันก็จะมีทางพัฒนาเดินหน้าต่อไปอีก

   “สรุปก็คือ คนที่ดูงานศิลปะ เราชอบที่จะดูแบบไหน เราสนใจแบบไหน เราก็สนใจแล้วเราก็ทำ งานมันมีเยอะแยะ มีทั้งงานที่ดูแล้วสวย ดูแล้วต้องคิด ดูแล้วไม่รู้เรื่องก็มี คือบางทีเราไม่ได้คุยกับศิลปิน บางทีเราก็ดูไม่รู้หรอกเพราะมันขยุ่มมา บางทีก็เก็บขึ้นมาแล้วถ่ายเป็นวีดีโอ มันก็มีรูปแบบเยอะแยะ อยู่ที่ว่าเราสนใจแบบไหน แต่ว่าก็เปิดใจไว้ว่า ศิลปะมันกว้างมากและมันก็พัฒนาไปเยอะ และโดยส่วนตัวก็ไม่เคยด้อยค่าศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ ถือว่าทุกอย่างมันมีคุณค่าในตัวของมันเองทั้งนั้น เพียงแต่ขอว่าถ้าเราสนใจเราก็ดูและติดตาม แต่อย่าไปว่าหรืออย่าไปด่า ผมคิดว่าเป็นการให้โอกาส เราให้คุณค่ากับทุก ๆ สิ่งในบนโลกนี้”

คุณค่าของภาพพิมพ์

   “ในงานของภาพพิมพ์บางงานมันเป็นดิจิตอล ซึ่งการสร้างงานออกมาเป็นชิ้นมันไม่ยาก ในช่วงก่อนหน้านี้สัก 10 -20 ปี งานดิจิตอลจะถูกด้อยค่า เพราะว่ามันง่าย คุณสามารถทำงานสเก็ตแล้วเอาไปเข้าคอมพิวเตอร์ สั่งปริ้นออกมา ซึ่งช่วงก่อนนี้มันก็เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงความคิดของคน หรือความทันสมัยของเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นคุณค่าของมันสูง ปัจจุบันศิลปินหลายคนเขาอาจจะไปถ่ายงานของเขาแล้วก็มาเซ็นชื่อ โดยที่ใช้กระบวนการพิมพ์ Digital ที่มีคุณภาพสูงออกมาจำหน่าย ราคาการจำหน่ายถ้าเทียบแล้ว ก็ไม่สูงมากถ้าเทียบกับงานที่เป็น Original ถามว่าตรงนี้มันผิดไหม ผมว่ามันไม่ผิด ผมว่ามันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีรายได้น้อย สามารถเป็นเจ้าของงานที่เขาชื่นชมศิลปินคนนี้ได้

   “ผมคิดว่ามันเป็นแนวโน้มของการพัฒนาวงการศิลปะด้านหนึ่ง ให้คนมีความรู้สึกว่าที่บ้านฉันมีรูปของอาจารย์เขาอยู่นะ แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็น Original แน่นอนว่าถ้าเป็น Original มันต้องราคาสูง ผมคิดว่ามันเป็นทางออกทางนึงที่ดี ส่วนหนึ่งคนที่ชื่นชอบก็สามารถที่จะเอาศิลปะไปใกล้ตัวเขา และชื่นชมได้ทุกวัน และในขณะเดียวกันคนทำงานก็มีความรู้สึกดีที่ว่า เราไม่สามารถให้งานที่เป็น Original ให้กับทุกคน แต่เขาสามารถที่จะเอางานเหมือนที่เป็นงานจำลองแต่มีลายเซ็นเขาจริง คนที่เป็นศิลปินก็รู้สึกดีไปด้วย

   “แต่มุมมองใน 20 ปีก่อนอาจจะมองว่ามันไม่ใช่ และเดี๋ยวนี้การเรียนการสอนโดยส่วนตัว ผมจะไม่เข้าไปกำหนดว่าคุณต้องทำเทคนิคประมาณนี้ อาจจะมองกว้าง ๆ ให้ไอเดียว่า ไอเดียนี้ไปได้นะ แต่เทคนิคถ้าคุณจะทำให้สมบูรณ์ก็ลองคุยกับอาจารย์ เขาอาจจะแนะนำให้ได้เทคนิคที่สมบูรณ์ หรือว่าคุณอาจจะผสมผสานแบบใด หรือจะเอาแบบนี้ไหม ซึ่งก็จะเป็นส่วนที่แนะนำลูกศิษย์ลูกหาในปัจจุบัน ผมก็คิดว่ามันเป็นการเรียนการสอนในมุมเล็ก ๆ มันไม่ได้เปิดกว้างอะไร แต่ว่าในขณะเดียวกัน เราในฐานะที่เป็นครูสอนก็พยายามที่จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราคิดว่าเราจะทำให้ได้”

การตลาดกับงานศิลปะ

   “ในเรื่องของวงการของศิลปะและการตลาด ผมคิดว่าในปัจจุบันมีความหลากหลาย ในเรื่องของวิธีต่าง ๆ นะครับ เราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีแกลอรี่เยอะขึ้น มีหอศิลป์มากขึ้น มีวิธีการนำเสนองานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องศิลปะเลย สามารถที่จะดูศิลปะได้ จะเห็นว่าการทำงานในปัจจุบัน มีการขายงานศิลปะผ่านอินเตอร์เน็ต โดยที่เจ้าของอาจจะไม่ได้งานไปจริง ๆ แต่ว่าได้เป็นภาพหรือลิขสิทธิ์ อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่ใช้การตลาดและเทคโนโลยีเข้ามา

   “ขณะเดียวกันในส่วนของแกลอรี่ เขาคอยสรรหางานที่เขาสนใจ ที่เห็นว่ามันสามารถสร้างมูลค่าได้ สร้างการค้าได้ในหลาย ๆ กลุ่ม มีการประมูลตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดี ผมมองว่ามันจะทำให้งานถูกยกระดับขึ้นไป ทำให้คนรู้จักผลงานของคนคนนี้มากขึ้น มีคนที่มาช่วยทำแทน คุณทำงานศิลปะไปแต่อาจจะมีดีลเลอร์มาช่วยจัดการให้

   “ปัจจุบันมีคนสนใจที่อยากจะไปเป็นเจ้าของศิลปะเยอะขึ้น ยิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีโควิด ผมคิดว่าช่วงนี้ที่ผ่านมามันเป็นช่วงที่เรามองว่างานศิลปะ มีมูลค่าเพิ่มตามเวลา ทำให้มีการเก็บงานของศิลปินมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าดี ผมมองว่ามันเป็นวิวัฒนาการที่มีแนวโน้ม ที่คนเห็นว่างานศิลปะมันไม่ใช่แค่ภาพที่ไปแขวนอย่างเดียว มันแขวนแล้วมีมูลค่า อย่างส่วนตัวสมัยก่อน มีการเก็บงานของเพื่อนศิลปินหลายคน เมื่อเวลาผ่านไปเขามีชื่อเสียง มูลค่าของงานที่เราเคยเก็บไว้ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เราไม่ได้คิดจะขาย ตรงนี้ก็เป็นดัชนีชี้ให้เห็นว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของศิลปะที่มันขึ้นตามระยะเวลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะแพงมากหรือแพงน้อยก็ขึ้นอยู่กับศิลปินเหล่านั้น”

ศิลปินรุ่นใหม่ไปได้ไกลกว่าที่คิด

   “ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่เขามีการเติบโตมีการพัฒนา ซึ่งต้องบอกเลยว่าศิลปะในเมืองไทยเราไม่ได้ด้อย ไม่ได้แพ้ใคร ตั้งแต่สมัยก่อนเห็นได้จากการส่งผลงานไปต่างประเทศ มักได้รางวัลกลับมา ในปัจจุบันนี้จะยิ่งเห็นชัดว่า ศิลปะสามารถสร้างมูลค่าให้กับศิลปิน ลูกศิษย์ที่ทำงานเป็นศิลปะสามารถที่จะมีรายได้อย่างดี

   “นักศึกษาในปัจจุบัน เขาก็มีวิธีคิดในแบบของเขา เราไปห้ามเขาไม่ได้ เพียงแต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการแนะเขา ถ้าคุณชอบในสิ่งนี้คุณก็ต้องยืนหยัด คุณต้องทำ เพราะศิลปะมันพิสูจน์ทั้งชีวิต มันไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี แต่คุณต้องพิสูจน์ทั้งชีวิตของคุณ ศิลปินรุ่นใหม่เขาโชคดีและได้เปรียบในเรื่องความรู้ที่เปิดกว้าง สื่อออนไลน์ให้ทั้งความรู้และสร้างตัวตนของศิลปิน ในการสร้างชื่อให้กับงานตัวเอง ผมคิดว่าอันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่โลกศิลปะมันกว้างขึ้น แต่ว่าในส่วนตัวของผมก็ยังอยากให้การทำงานส่วนหนึ่ง พัฒนาเอกลักษณ์กับความเป็นไทยด้วย

   “สมัยก่อนเราอาจมองประเทศญี่ปุ่นเก่งในการทำเทคนิคภาพพิมพ์ คือมีความเรียบง่าย เฉียบขาด ด้วยแสงด้วยน้ำหนัก ที่มันปรากฏในงานของเขา แต่เดี๋ยวนี้เราอาจจะไม่ได้คิดว่าเขาเก่งมากขนาดนั้นแล้ว เพราะประเทศไทยสามารถทำได้ เราไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่และในอนาคต Generation ต่อไป เขาจะคิดยังไง เพราะว่าเดี๋ยวนี้บางทีศิลปะมันเป็นแฟชั่นก็มีเยอะ ซึ่งเราต้องยอมรับและมันก็ไม่ผิด มันไม่มีอะไรผิดอะไรถูก ผมให้เกียรติกับคนที่ทำงานศิลปะ แต่ขอให้เขาทำขอให้เขารัก ถ้าเขารักจริงมันก็จะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ

อนาคตของศิลปะไทย

   “ผมมองศิลปะมันกว้างมาก และเดี๋ยวนี้มันก็พัฒนาไปไกลมาก อย่างที่นำเรียนไปแล้วด้วยเทคนิคด้วยวิธีการ ด้วยรูปแบบ มันกว้างไกล มันไร้ขอบเขต เพราะฉะนั้นผมคิดว่าระบบมันจะพัฒนาตัวเองทั้งในประเทศไทยและในโลกนี้ ซึ่งมันเชื่อมโยงถึงกัน ตรงนี้คงเป็นไปตามระบบ แต่ว่าการรับรู้ในการที่จะสื่อสารทำให้คนเข้าใจ ในรูปแบบศิลปะที่มีความหลากหลายแล้วเป็นบวก ในแง่มุมในความคิดของผมคือ จะทำยังไงในเรื่องของศิลปะมันช่วยค้ำจุนจิตใจ เราไม่อยากพูดว่าศิลปะช่วยค้ำจุนโลก มันยิ่งใหญ่เกินไป มันค้ำจุนจิตใจความรู้สึกของคนได้ในบางทีและบางจุด คนที่เหงาหรือมีความรู้สึกเดียวดาย เขาอาจจะใช้ศิลปะในการที่ทำให้จิตใจสงบ มีความสุขมากขึ้น

   “ผมอยากให้ช่วยกันหาวิธีที่จะทำให้มีคนสนใจรับฟังทุกอาชีพ ให้เขาได้มีโอกาสเข้าใจว่า ศิลปะมันไม่มีพิษมีภัย ส่วนหนึ่งยังช่วยยกระดับจิตใจคน ช่วยให้เรามีความสุขสงบได้ครับ ตรงส่วนนี้ต้องฝากให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน แต่คิดว่าเขาคงทำแล้วแต่ถ้าเขาทำได้มากขึ้นก็ยิ่งดี เราเองคงไม่พยายามขอให้ใครช่วย  เราต้องช่วยตัวเราเอง

   แต่ในขณะเดียวกันถ้าเขาเห็นความสำคัญว่า ศิลปะสามารถไปพัฒนาเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่งจริง ๆ มันมีอยู่แล้วเพียงแต่เราไม่ได้พูดถึงนัก มันมีทั้ง Soft Power อะไรเยอะแยะที่มันอยู่ แม้กระทั่งในเรื่องของการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ที่มีคนเข้ามาใช้ศิลปะเพื่อไปทำเป็นธุรกิจเยอะแยะมาก อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นพื้นฐานที่เราทราบกันอยู่แล้ว ก็ฝากไว้เพียงเท่านี้ ก็ขอให้ทุกคนมองศิลปะในแบบที่เป็นบวก และมีความสุขที่ได้เห็นมันนะครับ

Profile 

การศึกษา

- พ.ศ. 2519 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิทยาลัยช่างศิลป

- พ.ศ. 2524: ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

- พ.ศ. 2533: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทุนการศึกษา

- พ.ศ. 2532 : ทุน Hesis สำหรับ M.F.A. , มหาวิทยาลัยศิลปากร

- พ.ศ. 2539 : รางวัลทุนการศึกษา Seameo หลักสูตรฝึกอบรม SPAFA ด้านศิลปะพื้นบ้านและเทคนิค Crafts ประเทศฟิลิปปินส์

- ในช่วงชีวิตข้าราชการท่านดำรงตำแหน่งระดับสูงทางวิชาการด้านการสอนศิลปะของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ปัจจุบันแม้ท่านปลดเกษียญแล้ว แต่ยังมาเป็นอาจารย์ช่วยสอนศิลปะ คณะวิจิตรศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร

ประทับภาพพิมพ์เพื่อสื่อความหมาย สู่ความหลากหลายของความเป็นไทย เฉลิมศักดิ์ รัตนจันทร์