E-San  Fusion : คละสากลเคล้าเสียงพิณ  สร้างกลิ่นอีสานโมเดิร์น | Issue 166

E-San Fusion : คละสากลเคล้าเสียงพิณ สร้างกลิ่นอีสานโมเดิร์น | Issue 166

จากงานวิจัยที่หยิบจับกีต้าร์มาผสานเสียงพิณ สู่การต่อยอดทางดนตรีที่แตกต่างไม่เหมือนใคร เมื่อดนตรีอีสานที่เราท่านต่างคุ้นเคย ถูกจับมาฟิวชั่นกับดนตรีสากล เกิดเป็นซาวด์ดนตรีอีสานโมเดิร์นสุดเท่ ม่วนคัก ม่วนหลาย ด้วยฝีมือของพวกเขาวง E-San Fusion นำทีมโดย บักคำเชษฐ์ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชษฐ์ วิเชษฐ์ สุดใด และคณะ

 

จุดเริ่มต้นของ E-San Fusion

บักคำเชษฐ์ : E-San Fusion มีจุดเริ่มต้นมาจากงานวิจัยสร้างสรรค์ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครครับ เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการประพันธ์เพลงบรรเลงกีต้าร์ร่วมกับพิณ ช่วงก่อนหน้าทำวิจัยผมมีโอกาสได้ไปร่วมโชว์ในงาน TEDx DonModDang ร่วมกับอาจารย์ทองใส ทับถนน ผมเล่นกีต้าร์ อาจารย์ทองใสเล่นพิณ และนี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผม อยากสร้างสรรค์งานดนตรีที่เป็นกีต้าร์เล่นร่วมกับพิณครับ หลังจาก คิดคอนเซ็ปต์งานวิจัยได้แล้ว ผมก็อยากให้มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้น สัก 5-6 ชิ้น ก็มีผมเล่นกีต้าร์ อาจารย์อาทิตย์ คำหงษ์ศา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาเล่นพิณ อาจารย์โจ้เล่นเปียโน บอยตีกลอง และมีอีกคนเล่นเบส ส่วนหนุ่ยตอนนั้นเขาเป็นตากล้องให้กับงานวิจัย หนุ่ยกับบอยเขาเป็นลูกศิษย์ที่ผมสอน ก็เป็นทีมนี้จนเสร็จสิ้นในเรื่องของงานวิจัย

 

จากงานวิจัย สู่วงดนตรี E-San Fusion

บักคำเชษฐ์ : จากงานวิจัยกลายมาเป็นวงดนตรีนี่ต้องยกเครดิตให้กับคุณดาว ผู้จัดการวงครับ ตอนนั้นคุณดาวจัดงาน FOLKULTURE (โฟล์คคัลเจอร์) เขาก็เชิญพวกเรามาเล่นที่งาน จริง ๆ ผมคิดไว้ตั้งแต่งานวิจัยแล้วว่างานของเรามันน่าจะไปต่อได้ แต่พองานวิจัยเสร็จสิ้นมันก็คิดงานหลายอย่าง เลยไม่มีโอกาสได้คุยกันอย่างจริงจัง พอคุณดาวมาชวน เราก็ตอบโอเค เริ่มทำเพลงเซ็ตใหม่ที่ต่างจากงานวิจัย เริ่มฟอร์มสมาชิกใหม่ เพราะนักดนตรีหลายคนที่เราเชิญมาเขาอยู่ต่างจังหวัด ผมเลยเปลี่ยนมาเล่นพิณ อาจารย์โจ้เล่นคีย์บอร์ด บอยตีกลอง และหนุ่ยเล่นเบส รวมเป็นไลน์อัพแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

ผลงานของวง E-San Fusion

หนุ่ย : ตอนนี้ E-San Fusion ปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการแล้วสามเพลงครับ เพลงแรกคือ Funk Der La (ฟังก์เด้อหล่า) เป็นเพลงสไตล์บรรเลง เพลงที่สองคือ Der La Kum (เด้อ หล่า คำ) ซึ่งเพลงนี้ มีคุณ James Christopher Geel มาร่วมร้องและแร็ปในเพลง และล่าสุดกับเพลงที่สาม Hug Der (ฮักเด้อ) เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาที่ผ่านมาครับ

 

เสน่ห์ของดนตรีพื้นบ้านในมุมมองของแต่ละคน

บักคำเชษฐ์ : ความต่างของวัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจครับ เหมือนที่ ฝรั่งชอบดูวัฒนธรรมบ้านเรา มุมมองของแต่ละคนย่อมมองเห็นความงามในแต่ละมุมที่แตกต่างกันไป ทีนี้เรามองไปถึงดนตรี พื้นบ้านของทุกภาคเลย เปรียบดนตรีเป็นเหมือนอาหาร แน่นอนว่า มีทั้งถูกปากไม่ถูกปาก คนท้องถิ่นเขาอาจจะรู้สึกคุ้นชินรสชาติแบบนี้ แต่คนข้างนอกเขาจะรู้สึกว่ามันใหม่ นี่คือเสน่ห์ของดนตรีพื้นบ้านครับ นอกจากนี้ดนตรีพื้นบ้านยังมีความตรงไปตรงมา มีความเป็นธรรมชาติ เพลงที่ร้อง เนื้อหาที่สื่อ มันสะท้อนให้เห็นเรื่องราวที่ไม่ซับซ้อน สื่อสารตรงไปตรงมา อยากสนุก ก็พูดเรื่องสนุก อยากร้องไห้ก็พูดเรื่องเศร้า ไม่ได้เน้นความวิจิตรอลังการ เน้นการตีความ เหมือนดนตรีไทยที่ยึดโยงอยู่ในรั้วในวัง

หนุ่ย : เรื่องจังหวะดนตรีพื้นบ้านของเราเองมันต่างกับจังหวะของดนตรีสากลเลยครับ

อ.โจ้ : สำหรับผม ผมเป็นคนเล่นดนตรีกับนักดนตรีมาหลายรูปแบบ หลายแนว ส่วนใหญ่การเล่นดนตรีมันจะมีความเนี้ยบ แต่กับดนตรีพื้นบ้าน มันเปิดโอกาสให้เราคิดได้อย่างมีอิสระ ระหว่างที่เล่นมันให้ความรู้สึกแบบเฮฮา อบอุ่น รู้สึกว่า มันเป็นจริตจะก้านของเรา เหมือนเราพูดคุยอยู่กับเพื่อน คือมันคุยกันถูกคอ มีระวังกันบ้างตามจังหวะของมันครับ

บอย : ผมเป็นคนกลองก็จะชอบในเรื่องของจังหวะ อย่างอีสานเขาก็จะมีจังหวะโจ๊ะ ๆ จังหวะที่สนุกสนาน และไม่ใช่แค่จังหวะ พวกเมโลดี้จากพิณเอย จากแคนเอย ฟังแล้วมันรู้สึกเอนจอยมาก มีความร่าเริง ครบเครื่องในตัวเองครับ

เสน่ห์ของวง E-San Fusion

อ.โจ้ : ความหล่อของอ.เชษฐ์

ทุกคน : ฮา ๆ

อ.โจ้ : ผมคิดว่าเสน่ห์ของวงเราคือความจริงใจในการเล่นดนตรีครับ คนเล่นมันต้องมีความสุขก่อน พอคนเล่นมีความสุข ความรู้สึกนั้นมันก็ถูกส่งไปถึงบรรยากาศโดยรอบ พอคนดูเขาสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้เขาก็จะมีความสุขที่ได้ฟัง มันคือการส่งความสุขผ่านเสียงเพลงนั่นเอง ตอนเราซ้อมกันมันก็จะมีความสุขแบบหนึ่ง ตอนแสดงมันก็จะมีความสุขอีกแบบครับ

หนุ่ย : เสน่ห์ของวงดนตรีวงนี้คือการเล่น 10 รอบ ไม่เหมือนกันสักรอบ

บอย : ไม่ได้ซ้อมมาใช่ไหม?

ทุกคน : ฮา ๆ

บอย : คือเวลาเล่นด้วยกัน เราก็จะมีฟอร์มการเล่นประมาณนึง และมี อิมโพรไวส์ประมาณนึง เปิดช่องให้ทุกคนมีความยืดหยุ่นในการเล่นในการแสดงความคิดสร้างสรรค์กัน

อ.โจ้ : คือช่วงที่มีคนอิมโพรไวส์ พวกเราก็จะมองกัน ส่งสัญญาณถึงกันว่าใครจะเป็นคนรับคนเสริม เพิ่มความลื่นไหลให้กับการเล่น

หนุ่ย : นี่แหละครับ คือการเล่น 10 รอบไม่เหมือนกันเลย

บักคำเชษฐ์ : สำหรับผม เสน่ห์ของวงนี้คือซาวด์ที่แปลกใหม่ คือผมเป็นมือพิณที่แตกต่างจากคนอื่น ผมเล่นกีต้าร์มาก่อน ไม่ใช่มือพิณ สายตรง ไม่ได้เริ่มเล่นทำนองแบบดั้งเดิม ผมแต่งทำนองขึ้นมาใหม่ โดยผสมความเป็นดนตรีอีสานกับสากลเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ซาวด์ของวงแตกต่างไปจากซาวด์อีสานที่คนคุ้นเคย อีกหนึ่ง ความน่าสนใจของวงเราคือเพลงครับ เพลงของเราจะเน้นไปที่ การบรรเลงเป็นหลัก มีเพลงที่ร้องบ้าง แต่เป็นกึ่งร้องกึ่งบรรเลง

มุมมองที่มีต่อวงการดนตรีบ้านเรา

อ.โจ้ : สำหรับผม ผมมองว่ามันมีอิสระมากขึ้น สมัยก่อนศิลปินต้องขึ้นอยู่ กับค่าย แต่ปัจจุบันมันมีความเป็นอินดี้ มีความเป็นตัวตนมากขึ้น เมื่อก่อนถ้าเพลงของเราไม่เป็นไปตามที่ตลาดต้องการ เราจะรู้สึกว่า เพลงแบบนี้ทำไปก็คงขายไม่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพลงมีตลาดของมัน มีตลาดของคนที่พร้อมจะเสพอะไรที่หลากหลาย ทางเลือกมีมากขึ้น อีกอย่างคือความเนี้ยบความสมบูรณ์ของศิลปินหรือเพลงมันไม่ได้ น่าสนใจเสมอไป บางครั้งความไม่สมบูรณ์มันอาจจะมีความ น่าสนใจมากกว่า

บอย : ผมคิดเหมือนอาจารย์ครับ ผมชอบวงการดนตรีในปัจจุบันมาก รู้สึกว่าสมัยนี้มันมีแต่ข้อดี มีการสตรีมมิ่งที่อิสระ คุณมีค่ายหรือไม่มีค่ายก็สามารถปล่อยผลงานออกมาได้ ต่างจากสมัยก่อนที่การทำเพลงส่งไปถึงคนฟัง โดยเฉพาะเพลงใต้ดินเนีย มันเป็นเรื่องยากมาก

อ.โจ้ : เหมือนกับว่าสมัยก่อนเพลงมันโดนแพลตฟอร์มบล็อกเอาไว้ ทำให้ความเป็นศิลปะถูกจำกัด ซึ่งสมัยนี้ทั้งศิลปินและคนฟังต่างมีสิทธิ์ มีอิสระมากขึ้น ทั้งการทำเพลง การฟังเพลง

บักคำเชษฐ์ : มองในมุมของศิลปิน ผมมองว่ามันมีทั้งดีและไม่ดี เมื่อก่อนศิลปินสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายเทปขายซีดี แต่ปัจจุบันช่องทางการฟังเพลงมันเข้าถึงง่ายและหลากหลาย มากขึ้น แต่การเข้าถึงง่ายเกินไปบางทีมันทำให้เพลงกลายเป็นของฟรี ศิลปินเขาอยากให้คนมาฟังเพลงอยู่แล้วล่ะ ทีนี้คนเขาฟังเพลงฟรี แต่ศิลปินมีค่าใช้จ่ายในการทำเพลง แล้วเราจะมีรายได้จากตรงนั้น ได้อย่างไร นี่คือการบ้านที่ศิลปินทุกคนต้องคิดต้องหาวิธีให้ได้ บางคนเขามีงานแสดง ขายของที่ระลึก หรือทำช่องยูทูป สังเกต ได้เลยนะว่านักดนตรีกับศิลปินมีเยอะมากก็จริง แต่มีไม่กี่คนไม่กี่วงที่สามารถอยู่ได้ด้วยการเล่นดนตรีเพียงอย่างเดียว ใครที่ไม่ใช่เบอร์ต้น ๆ ล้วนมีงานสำรองกันหมด เพราะงานเพลงมันไม่ได้มีทุกวัน

มองในมุมของอาจารย์ ผมมองว่าวงการดนตรีสมัยนี้เปิดโอกาสให้เด็กสามารถเป็นศิลปินได้ด้วยตัวของเขาเอง ต่างจากสมัยก่อน ที่ต้องส่งเดโม่เข้าค่ายใหญ่ ต้องรูปร่างหน้าตาดีประมาณหนึ่ง ต้องมี ปัจจัยมากมาย แต่ปัจจุบันการเป็นศิลปินมันง่าย แต่หลังจากเป็นศิลปินแล้ว คุณต้องมาคิดต่อนะครับว่าจะทำยังไงให้ตัวเองยังคงเป็นศิลปินต่อไปได้ ถามว่าดีไหม ผมมองว่าดี มันมีความหลากหลาย มันเหมือน เป็นการวิวัฒนาการ แต่บอกไว้ก่อนนะครับว่าปัจจุบันนี้ ผมมองว่าวงการดนตรีบ้านเราอยู่ในยุคซบเซา ไม่ใช่รุ่งเรือง ประเทศที่เจริญแล้วเขาดูกันที่ศิลปะครับ ถ้าศิลปะเฟื่องฟู แสดงว่าประเทศนั้นเจริญแล้ว เพราะศิลปะเป็นสิ่งที่มีหรือไม่มีก็ได้ เรา ไม่ดูงานศิลป์ ไม่ฟังดนตรี เราอยู่ได้ ถ้าเรายังมีข้าวให้กิน

ประเทศที่เจริญแล้ว เขากินข้าวอิ่มแล้ว เขามีเศรษฐกิจที่ดีแล้ว เขาอิ่มหมีพีมัน เขาจึงหันมาพัฒนาเรื่องศิลปะเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณ ประเทศที่กินข้าวยังไม่อิ่มจะเอาเวลาไปทำอะไร จะไปพัฒนาอะไร นี่คือภาพสะท้อนของประเทศเรา เศรษฐกิจเรายังไม่แข็งแรง ศิลปะบ้านเรา ก็ยังไม่แข็งแรง คนฟังทำเพลงฟังเพลงก็ยังต้องหาเช้ากินค่ำอยู่เลย ลองนึกดูนะครับว่าถ้าศิลปินอยู่ดีกินดี ทำเพลงแล้วมีรายได้ ทุกคนที่เข้ามาเป็นศิลปินก็จะแข่งขังกันทำผลงาน เพลงมันก็จะถูกทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ตัวศิลปินเองก็จะเก่งขึ้นไปอีก

สรุปแล้วสำหรับผม วงการดนตรีในปัจจุบันข้อดีมันก็มี ข้อเสียมันก็มี คือคุณสามารถเป็นศิลปินได้เลย มีช่องทางปล่อยเพลงให้ คนฟังหลากหลาย แต่คุณจะต้องทำงานหนักมาก ๆ เพื่อให้คุณยังคง เป็นศิลปินต่อไปได้

Know Them
•    บักคำเชษฐ์ หรือ อาจารย์เชษฐ์ วิเชษฐ์ สุดใด ตำแหน่งพิณ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสาขาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
•    อาจารย์โจ้ ธีรเดช แพร่คุณธรรม ตำแหน่งคีย์บอร์ด ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
•    หนุ่ย โรจนินทร์ เพ็งขำ ตำแหน่งเบส ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ
•    บอย ณัฐวุฒิ ยินดีจันทร์ ตำแหน่งกลอง ปัจจุบันเป็นครูสอนวิชาดนตรีสากล 

Photo : Satchaphon Rungwichitsin

E-San Fusion : คละสากลเคล้าเสียงพิณ สร้างกลิ่นอีสานโมเดิร์น | Issue 166