Scoop : Lifestyle in New Normal พฤติกรรมของผู้บริโภค กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป | Issue 162

Scoop : Lifestyle in New Normal พฤติกรรมของผู้บริโภค กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป | Issue 162

EAT พฤติกรรมการกินที่ต้องปรับ

กินร้อน ช้อนกลาง (ของตัวเอง) ล้างมือ คือข้อควรปฏิบัติในการบริโภคอาหารของยุคนี้ นั่งกินส่วนตัวของใครของมัน ไม่รวมกลุ่มสังสรรค์ หรือหลีกเลี่ยงการนั่งล้อมวง ในกรณีที่เราเองไม่แน่ใจว่าญาติท่านนั้นเดินทางไปจุดเสี่ยงที่ไหนมาบ้าง

กว่าสองเดือนที่เราต้องซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน เพราะ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้ห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน และเพิ่งปลดล็อกไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 63 แต่พฤติกรรมการซื้ออาหารกลับบ้าน และการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว

การบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่นั้นก็กลายเป็นปัจจัยที่หลายคนคุ้นชินเช่นกัน แอพพลิเคชั่นการให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่เติบโตเกิน 100% เรียกว่าแอพหลักทั้งสี่แอพกลายเป็นช่องทางการสั่งอาหารของคนไทยเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ Grab Food, LINE MAN, Foodpanda และ Get Food โดยที่ร้านอาหารอาจจะต้องแบกรับการหัก GP % ส่วนแบ่งการขายที่เยอะสักหน่อย ถือเป็นค่าบริการคือ 25-30% ของยอดขายต่อหน่วย

ส่วนการนั่งรับประทานอาหารในร้านทั้งที่เป็นร้าน Street Food, Stand Alone หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า จะต้องลดการเบียดเสียดและเว้นระยะห่าง หลายร้านให้นั่งโต๊ะละหนึ่งท่าน หรือไม่เกินสองท่าน และต้องนั่งห่างกันเกินหนึ่งเมตร มีการจดบันทึกชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้มาใช้บริการ มีเจลแอลกอฮอล์บริการ และมีหลายร้านที่ต้องลงทะเบียนกับ เว็บไซต์ ไทยชนะ.com ซึ่งรายละเอียดการใช้งานและจุดประสงค์ก็ออกข่าวกันไปหลายช่องทางแล้ว แต่คนทำตามนั้นอาจจะยังน้อยอยู่ แต่ผมว่าการลงทะเบียนนั้นดีกับทุกฝ่าย ทั้งร้านอาหาร ผู้บริโภค และหน่วยงานของรัฐที่ต้องเก็บข้อมูล เพราะเราจะสามารถจำกัดและรู้ความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นได้แม่นยำขึ้นนั่นเอง

IN การไปเดินช้อปปิ้ง ใช้บริการร้านอาหาร หรือเซอร์วิสต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า

หลังจากการผ่อนปรนในวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา เราก็สามารถออกไปช้อปปิ้ง จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ธุรกรรมการเงิน และรับประทานตามร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าได้แล้ว แต่อาจไม่ถึงกับปกติ เพราะต้องมีการลงชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ก่อนเข้าใช้บริการ หรือถ้าสะดวกก็ลงทะเบียนในเว็บไซต์ ไทยชนะ.com เพื่อที่จะได้เช็กประวัติการเดินทางของผู้ใช้บริการได้ ถ้าเผื่อมีท่านใดติดเชื้อโควิด-19 จะได้แจ้งไปยังทุกท่านที่ไปใช้บริการในช่วงวันเวลาเดียวกันกับผู้ที่ติดเชื้อ ให้มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่จากการที่ตัวผมเองได้ไปสอดส่องและทดลองใช้บริการ จะเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะถนัดลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ในสมุดบันทึกของทางร้านก่อนเข้ามากกว่าที่จะใช้การลงทะเบียนใน ไทยชนะ.com

จากการสำรวจผมได้เข้าไปเดินซื้อของและใช้บริการร้านอาหาร จะเห็นได้ว่ามีมาตรการที่รัดกุมมาก หน้าประตูจะมี รปภ. ตรวจวัดอุณหภูมิและให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าห้างสรรพสินค้าเสมอ และในทุก ๆ ร้านจะมีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการหน้าทางเข้า จำกัดปริมาณคนในร้านขณะใช้บริการ มีการจัดที่นั่งรอซึ่งมีระยะห่างกันเกินที่ ศบค. กำหนด ดังเช่นในภาพ จะเป็นการรอจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ที่ AIS SHOP หรือร้านเสื้อผ้า ร้านชายอุปกรณ์มือถือก็เช่นกัน

สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจก็คือการรอรับอาหารที่สั่งกลับบ้าน Take Away ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นพนักงานขนส่งเดลิเวอรี่ หรือลูกค้าที่มาเดินซื้ออาหารเองก็ตาม ทุกคนจะต้องมารับรับที่จุดบริการ มีการสั่งที่โต๊ะตัวแทนของร้านนั้น ๆ และให้ไปนั่งรอเรียกคิวเพื่อรับอาหารตามออเดอร์ ดูได้จากในภาพครับ ทุกคนจะนั่งเว้นระยะห่างตามที่ทางห้างจัดสถานที่เอาไว้ และรอเรียกคิว พนักงานที่รับออเดอร์ก็จัดเต็มทั้งหน้ากากอนามัย และเฟสชิลด์ ทำให้เรามั่นใจได้ว่าปลอดภัยในระดับหนึ่งเลยครับ

ART การดูคอนเสิร์ตออนไลน์

ผมเป็นหนึ่งใน MUSIC LOVER ที่ชอบฟังเพลงมาก ๆ และหลงใหลในการไปดูคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของศิลปินที่จัดในฮอลล์ สนามกีฬา หรือผับก็ตาม การได้ดูวงดนตรีที่เราชอบแสดงสดนั้นมีเสน่ห์กว่าฟังแผ่นมาก เพราะได้เห็นลีลาท่าทาง ฝีมือ ลวดลาย แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกคอนเสิร์ตต้องงด เพราะเป็นการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก แน่นอนว่าเสี่ยงทุกที่ ไม่ว่าจะฮอลล์ใหญ่ ๆ หรือผับเล็ก ๆ ทุกที่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้ออย่างดี

ผมว่าหลาย ๆ คนอาจคุ้นชินกับการดูศิลปินน้อยใหญ่ หรือนักร้องโนเนมที่ชอบเล่นคัฟเว่อร์ลงยูทูบกันดีอยู่แล้ว อีกทั้งตอนนี้ยังมีเทคโนโลยีการสตรีมมิ่ง ถ่ายทอดสดที่ชัดเจนทั้งภาพและเสียง แม้จะไปดูกับตาในสถานที่จัดคอนเสิร์ตไม่ได้ แต่ศิลปินทั้งหลายก็พร้อมเสิร์ฟการแสดงถึงหน้าจอสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะจากเฟสบุ๊ค ยูทูป หรือแพลตฟอร์มไหน ๆ ก็ตาม ล่าสุดมีคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกบนโลกออนไลน์ของไทยเกิดขึ้น

ศิลปินกลุ่มแรกที่ได้ประเดิมคอนเสิร์ตในรูปแบบใหม่นี้คือ Whal & Dolph จากค่าย What The Duck ซึ่งค่ายได้ร่วมกับบริษัทจัดคอนเสิร์ต H.U.I. และอีก 3 บริษัทพาร์ทเนอร์ สร้าง Live Interactive Studio ถึงแม้จะเกิดขึ้นผ่านทางออนไลน์ แต่ศิลปินในสตูดิโอกับผู้ชมที่บ้านสามารถโต้ตอบกันได้จริงแทบจะเรียลไทม์

บัตรคอนเสิร์ตของวง Whal & Dolph จำนวน 1,000 ใบ ถูกขายหมดไปได้ในเวลาเพียง 10 นาที ปรากฏการณ์นี้บอกได้ว่าคอนเสิร์ตยังคงเป็นที่ต้องการในหมู่คนฟังเพลงไทย เพียงแต่ว่าอาจจะต้องปรับรูปแบบให้ไปสู่โลกออนไลน์แทน

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่วงการดนตรีในต่างประเทศเองก็ได้รับผลกระทบจากการจัดคอนเสิร์ตในสถานที่จริง ๆ ภายนอกไม่ได้เช่นกัน อย่างเช่นการจัด Drive-in Concert ที่ประเทศเดนมาร์ก ของศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงอย่าง Mads Langer ที่ปิ๊งไอเดียโดยให้ผู้ชมขับรถของตัวเองมาจอดแบบโรงหนัง Drive-in ชมภาพบนเวที และฟังเสียงดนตรีที่จะถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุ แล้วให้รับฟังจากเครื่องเสียงในรถยนต์ของตัวเอง ไม่ต้องออกมาหายใจร่วมกับคนอื่น และไม่เบียดเสียด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรการ Social Distancing นั่นเอง

แน่นอนว่าหลังจากนี้รูปแบบคอนเสิร์ตที่มาในรูปแบบใหม่จะต้องเกิดขึ้นอีกมากมาย ปรับตามกระแสของโลก ล่าสุดทั้งอินสตาแกรมและเฟซบุ๊คก็เริ่มทำคอนเสิร์ตในช่องทางของตัวเองกันแล้ว

 


อ่าน Scoop : New Normal เพิ่มเติม 

- New Normal : ชีวิตวิถีใหม่ของคนไทย - Intro

- The New Normal Begins : จุดเริ่มต้นของชีวิตที่เปลี่ยนไป

- โควิด-19 ตัวเร่งสู่โลกออนไลน์

- A New Business Normal : ธุรกิจดาวรุ่งในช่วงโควิด

- New Normal Life : ภาพสะท้อนจากสื่อภาพยนตร์ต่อชีวิตรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโรคระบาด

Scoop : Lifestyle in New Normal พฤติกรรมของผู้บริโภค กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป | Issue 162