Scoop : โควิด-19 ตัวเร่งสู่โลกออนไลน์ | Issue 162

Scoop : โควิด-19 ตัวเร่งสู่โลกออนไลน์ | Issue 162

ปกติโลกของเรานั้นถูกขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ จากการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่องของออนไลน์ เมื่อมีโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น เทคโนโลยีออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้เพื่อการทำงานและความบันเทิงส่วนตัว มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ยิ่งมีโรคระบาดจึงกลายเป็นตัวเร่งให้เราใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในชีวิตประจำวันมากกว่าเดิม จากหัวข้อหลักดังต่อไปนี้

Social Media คือสิ่งที่ขาดไม่ได้
ทุกวันนี้ไม่ว่าจะทำอะไร สิ่งแรกที่เราตื่นนอนมาคือเปิดโทรศัพท์มือถืออัพเดทข่าวสาร นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชั่นมากมายที่ออกมาให้เราใช้กันเช่น ธนาคาร ชอปปิ้ง ดูหนัง ซื้ออาหาร ฯลฯ ซึ่งทำกันปกติ เมื่อโรคโควิด-19 เข้ามา จึงทำให้อัตราการเติบโตทั่วโลกใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลเพิ่มขึ้น ทั้งแง่ของจำนวนและสถิติ โดยช่วงเวลาที่มีการใช้มากคือกิจกรรมทาง Digital ในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ มีการใช้วิดีโอคอลล์ อีคอมเมิร์ซ สิ่งบันเทิงออนไลน์อย่างวิดีโอเกมและอีสปอร์ตที่มีคนติดตามก็ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กัน

 

Learn From Home ถึงเวลาเรียนที่บ้าน
ความจริงเรื่องการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะมีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์แบบปกติตามคอร์สสั้น ๆ อยู่แล้ว แต่การพัฒนาเพื่อเข้าถึงตัวของนักเรียนแทนการเข้าไปเรียนในโรงเรียนจริง ๆ ในประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ยังต้องลองผิดลองถูก ซึ่งยังมีปัญหาหลายอย่างตั้งแต่ผู้สอน ความเสถียรของระบบ นักเรียนมาจากครอบครัวรายได้น้อยทำให้ไม่มีอุปกรณ์เรียน รวมไปถึงความเอาใจใส่ของผู้ปกครองที่มีต่อนักเรียนเอง ในอนาคตถ้าเราปรับตัวได้ก็ไม่แน่ว่าโรงเรียนยังมีความจำเป็นแค่ไหน และหากโรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่หลังจากเปิดเทอม บางทีโรงเรียนก็อาจเป็นเพียงสนามสอบอย่างเดียวก็ได้

Work From Home งานประจำทำที่บ้าน
แนวคิดเรื่องนี้มีมานานแต่บางทียังไม่ได้นำมาใช้จริง เพราะการทำงานที่ออฟฟิศได้เห็นหน้าพูดคุยกันจริง ๆ น่าจะสะดวกกว่า แต่ด้วยเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการติดและแพร่เชื้อโรคจากการเดินทางและการใกล้ชิดกันในบริษัท ก็ทำให้ Work From Home ถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วน โดยอาศัยเทคโนโลยีออนไลน์ ตั้งแต่ประชุมพูดคุยทำงานจนกระทั่งส่งงานทุกอย่างอยู่ที่บ้านหมด แน่นอนว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องแก้ไขกันไป แต่ด้วยเหตุการณ์โรคระบาดนี้ไม่ใช่แค่เพียงทางเลือก แต่มันคือทางรอดของมนุษย์ที่จะต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตต่อไป

นวัตกรรมการแพทย์ต้องนำมาใช้
วงการแพทย์เองก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเริ่มจากได้สร้างชุดตรวจโควิด-19 จากน้ำลาย คิดค้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีสามารถรู้ผลการตรวจภายใน 1 ชั่วโมง ตามมาด้วย “ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรค” ด้วยโปรแกรม DDCcareme ทำให้สามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยอยู่ที่ไหนทำอะไร เพื่อช่วยเหลือป้องกันอย่างทันท่วงที มี “ระบบ TeleHealth” หรือบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์ หรือการสื่อสารผ่านระบบ video conference อีกด้วย


• ในการแข่งขันกีฬา ที่จำกัดคน เข้าชมอย่างฟุตบอล ทำให้สนามว่างเปล่าเงียบเหงาไม่มีเสียงเชียร์ บริษัท Yamaha จึงกำลังคิดสร้างระบบ “เชียร์ทางไกล” ซึ่งผู้ใช้งานสามารถแตะปุ่มแอพจากที่บ้าน เพื่อส่งเสียงเชียร์กีฬา โดยเสียงนี้จะถูกส่งเข้าไปในลำโพงของสนามนั่นเอง
• ประเทศจีน ได้จัดงานแฟร์ หางานในรูปแบบ Online มีการ Live streaming สัมภาษณ์งานออนไลน์แบบสด ๆ ในอีกด้านหนึ่งตัวผู้สมัครก็รับรู้เรื่องของบริษัทผ่านทางออนไลน์เช่นกัน หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันก็เซ็นสัญญาแบบออนไลน์และทำงานโดยที่แทบไม่ต้องออกจากบ้านเลย


อ่าน Scoop : New Normal เพิ่มเติม 

- New Normal : ชีวิตวิถีใหม่ของคนไทย - Intro

- The New Normal Begins : จุดเริ่มต้นของชีวิตที่เปลี่ยนไป

- Lifestyle in New Normal : พฤติกรรมของผู้บริโภค กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

- A New Business Normal : ธุรกิจดาวรุ่งในช่วงโควิด

- New Normal Life : ภาพสะท้อนจากสื่อภาพยนตร์ต่อชีวิตรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโรคระบาด

Scoop : โควิด-19 ตัวเร่งสู่โลกออนไลน์ | Issue 162