ต้นปากคลองบางหลวง

ต้นปากคลองบางหลวง

จำได้ว่า...ย่าไม่เคยเรียกตลาดนี้ว่า “ตลาดน้ำ” อย่างที่สมัยนี้เรียกกัน วันนี้ย่าจะไปตลาดที่วัดอินทร์...วัดจันทร์ ย่าจะลุกขึ้นก่อนไก่ขันราวตีสี่...ตีห้า ปลุกบ่าวไพร่ให้เตรียมออกเรือจากท่า เป็นรู้กันว่าย่าจะไปตลาดเช้าอย่างที่ย่าบอกบอกกับลูกหลายว่า... “ย่าจะไปตลาดท้องน้ำ”

“ตลาดท้องน้ำ” ...ของย่าก็คือ “ตลาดน้ำ” ที่คนในสมัยนี้เรียกกันแต่ในสมัยย่านั้น คนรุ่นเก่าก่อนตั้งแต่กรุงเก่า จะเรียกกันว่า “ตลาดท้องน้ำ” เพราะคนซื้อคนขายจะพายเรือมาชุมนุมกันตั้งแต่ตีสี่...ตีห้า ยังไม่พอทันจะสาย บรรดาพ่อค้าแม่ขายคนซื้อทั้งหลาย ก็จะพายเรือกลับบ้าน ข้าวของ สิ่งละอันพันละอย่างก็จะขายเกลี้ยงลำเรือ ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นที่มาของคำร้องของเด็ก...เด็กที่ร้องกันว่า

“...พายเถิดพาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า...”

“คลองบางหลวง” ...เป็นคลองท้องน้ำแห่งแรกของกรุงธนบุรี เริ่มที่บริเวณปากคลอง บริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ คนกรุงเก่าที่อพยพหนีไอ้พม่าข้าศึก จำลองเอาตลาดท้องน้ำที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่บริเวณรอบ “ป้อมเพชร” ริมกำแพงเมือง ใกล้กับ
วัดพนัญเชิง เอามาไว้ที่นี่เพราะมีสภาพคล้ายคลึงกัน ปากคลองบางหลวงที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาใหญ่ จึงมี “เรือแพ” ร้านค้าขายที่อาศัยของพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายมากมาย ตั้งแต่ปากคลองเรื่อยไปจนถึงคลองวัดท้ายตลาด หรือที่เรียกกันว่า “วัดโมฬีโลการาม”

เมื่อตอนเด็กก็ได้ยินย่าเรียกบริเวณนี้ว่า “ตลาดคลองบางหลวง” ซึ่งไม่ใช่ปากคลองตลาด “ฝั่งพระนคร” ที่ตอนนี้เรียกกันว่าผิด...ผิด ด้วยความเข้าใจว่า “คลองหลอด” เป็นปากคลอง ซึ่งไม่ใช่!!! “คลองหลอด” เป็นคูเมืองทางทิศตะวันออกที่พระเจ้ากรุงธนฯ โปรดให้ขุดขึ้นตั้งแต่ปากคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงปากคลองบางกอกน้อย

ปากคลองบางหลวง จึงเป็นปากคลองตลาดแต่ปากคลองตลาดที่ทุกวันเรียกกันผิด แท้จริงก็คือปากคูเมืองที่เปลี่ยนมาเป็นตลาดใหญ่ในสมัยย้ายเมืองมาอยู่ที่ฝั่งตะวันออกตลาดท้องน้ำในคลองบางหลวง มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายหลายครั้ง จากปากคลองบางหลวง ก็ย้ายมา “บางยี่เรือ” ชื่อนี้เรียกกันไม่ถูกอีก ในสมัยก่อนเก่าย่าเคยเล่าว่า บางที่อยู่ใกล้กับบางไส้ไก่ คนสมัยปู่ย่าตายายสมัยกรุงแตกยังไม่มีกรุงธนบุรี เคยใช้บางนี้เป็นสถานที่ซุ่มยิงพม่า ที่พายเรือเข้ามาในคลอง ด้วยชัยภูมิอันเหมาะสม ไอ้พม่าข้าศึกถูกปืนตายมากมายก่ายกอง ไทยทั้งหลายจึงร้องพร้อมกันเรียกบางพม่าตายนี้ว่า ...บางยิงเรือ... คือบางยิงเรือพม่า ฆ่ารามัญ

ตลาดท้องน้ำแห่งที่สองของกรุงธนบุรีจึงมารวมกันอยู่ที่คลองบางหลวงระหว่างวัดอินทราราม ซึ่งย่าเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดใต้” กับวัดจันทราม หรือเรียกว่า “วัดกลาง” เพราะอยู่ระหว่างวัดอินทรารามกับวัดราคฤห์ ตลาดท้องน้ำแห่งนี้ จะมีข้าวของสินค้าจากในสวนมารวมกันมากมาย ตั้งแต่สวนนอก ซึ่งหมายถึงสวนที่มาจากบางช้าง สมุทรสงครามกับสวนในที่เป็นผลหมากรากไม้ ปลูกในสวนฝั่งธน จนไปถึงสวนเมืองนนท์ซึ่งถือกันว่า

ผลไม้สวนในจะดีกว่าผลไม้สวนนอก
อย่างหนึ่งที่เห็นว่าผลไม้สวนในดีกว่าผลไม้สวนนอกก็คือทุเรียน แถวบางช้าง อัมพวา บางคณฑีไม่มีสวนทุเรียน ที่ขึ้นชื่อก็มีเพียงสวนมะม่วง มะม่วงอกร่องของสวนนอกจะอร่อยกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้ของสวนใน แต่ถึงอย่างไรคนตลาดขวัญ เมืองนนท์ก็ยืนยันว่า “มะม่วงยายกล่ำ” หวานฉ่ำกว่า จึงเป็นเรื่องที่คนชาวสวนสมัยนั้นทะเลาะกันมา ทำนองเดียวกับคนเพชรบุรีทะเลาะกับคนสุพรรณเรื่อง “ต้นตาล” พวกเรื่องผลไม้ในสวนเป็นเรื่องที่ชวนทะเลาะกันของชาวสวนนอกกับสวนในแล้ว แต่มีอย่างหนึ่งที่คนสวน คนไร่ คนนาจะต้องยอมรับว่าตลาดท้องน้ำที่วัดกลางมีดีที่ปฏิเสธไม่ได้คือ บรรดาอาหารทะเลที่มาจากมหาชัย

ในสมัยย่าเริ่มมีน้ำแข็งใช้กันแล้ว เรือบรรทุกกุ้ง หอย ปู ปลาจากสมุทรสาคร จะเข้ามาจาก “คลองด่าน” ด้านติดกับสมุทรสาคร เรือบรรทุกปลาที่อัดลงมากับกะบะน้ำแข็ง จะเป็นเรือขนาดเล็กชนิดหกคนแจว สามคนพายข้างหน้า สามคนพายข้างหลัง

เรือปลาหกคนแจวพายจ้ำไม่ทันจะข้ามคืนจากมหาชัยก็มาถึงปากคลองตลาด คนฝั่งธน...คนฝั่งพระนคร ก็พอจะได้กินปลาสดไม่ค้างข้ามวัน ระหว่างทางก็จะต้องแวะขายให้กับคนคลองบางหลวงเลือกซื้อกันเสียก่อน ย่าจึงต้องชักชวนบ่าวไพร่ให้ตื่นก่อนไก่โห่ ไปดักซื้อปลามหาชัยซื้อก่อนตลาดจะวาย ปลาสดจะเน่า หรือสายบัวจะเน่า อย่างที่ เด็ก...เด็กเราร้องกันเป็นเพลง

ตลาดท้องน้ำบางหลวง จึงเริ่มต้นที่ปากคลองบางหลวง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับป้อมมิไชยประสิทธิ์ เป็นตลาดน้ำแห่งแรกของกรุงธนบุรี ซึ่งต่อมาก็หมายถึงกรุงเทพในสมัยที่เริ่มสร้างบ้างแปลงเมืองใหม่ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ตลาดน้ำปากคลองตลาด ก็โยกย้ายเข้าลึกไปตอนกลางคลองบางหลวง แถวบางยี่เรือ ซึ่งก็มีตลาดชาวสวนที่ขายผักผลไม้ ที่มีชื่อเรียกกันว่า “ตลาดพลู” ต่อจากตลาดพลูก็จะถึงคลองด่าน คลองที่จะต่อผ่านไปถึงคลองสามโคก ที่ต่อไปถึงแม่น้ำท่าจีน ของสมุทรสาครใต้

เส้นทางน้ำสายนี้ คือประวัติศาสตร์ของ “ตลาดท้องน้ำ” หรือ “ตลาดน้ำ” ที่ทุกวันนี้ตลาดน้ำก็เปลี่ยนเป็นสถานที่ จากตลาดน้ำปากคลองบางหลวง มาเป็นตลาดน้ำวัดจันทร์ แล้วก็ย้ายลึกเข้าไปถึงวัดสิงห์ วัดไทร แต่ปัจจุบันไปไกลถึง “ตลาดน้ำดำเนินสะดวก” ที่ไม่ได้อยู่กับคลองบางหลวง แต่เป็นคลองภาษีเจริญ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจำเรื่อง “คลองท้องน้ำ” ที่ย่าเล่าไว้สรุปได้ว่า

ตลาดท้องน้ำ ต้นอยู่ปากคลองทางหลวง ท้ายอยู่ปลายคลองด่าน... ลูกหลานจงจดจำกันไว้อย่าให้ลืมเลือน... 

 

สันติ เศวตวิมล

ตลาดท้องน้ำ บทที่ 6 ต้นปากคลองบางหลวง