สายน้ำที่ไหลกลับ บทที่สาม โดย สันติ เศวตวิมล

สายน้ำที่ไหลกลับ บทที่สาม โดย สันติ เศวตวิมล

ปากคลองบางหลวง...ตรงช่วงพระราชวังเดิมจะมีป้อมปืนใหญ่ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกกันว่า “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” ย่าเล่าว่าป้อมนี้ลักษณะสร้างเหมือน “ป้อมเพชร” ที่กรุงเก่าปากคลองบางหลวง ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี บรรยากาศจึงเหมือนปากคลองบางกระจะที่เป็นตลาดริมแม่น้ำ สมัยอยุธยา ด้านหนึ่งของคลองจะเป็นป้อมปืน เป็นกำแพงเมืองอีกด้านหนึ่งจะเป็นวัด ในสมัยเก่าก่อนเป็น “วัดพนัญเชิง” ที่มีคนไทยคนจีนอยู่ร่วมกันมาสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงเป็น “วัดกัลยาฯ” และเป็นวัดจีนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดซำปอกง” ถัดจากวัดไทย...จีน ก็เป็นวัดฝรั่ง ที่เรียกกันว่า “วัดซางตาครู้ส” ถ้าเข้าไปคลองบางหลวงจึงจะถึง “สุเหร่าแขก” แถวสะพานเจริญพาศน์ รวมความแล้วบริเวณปากคลองบางหลวง จึงเป็นชุมชนหลากหลาย ส่วนใหญ่อพยพหนีภัยสงครามมาจากครั้งเสียกรุง

บ้านผู้คนในคลองบางหลวง จะแตกต่างกันถ้าเป็นพวกจีน พวกเชื้อฝรั่งโปรตุเกสจะอยู่ริมแม่น้ำ ใกล้กับพระราชวังเดิมที่ประทับของพระเจ้ากรุงธน พวกนี้เป็นนักรบ ออกศึกเหนือเสือใต้มาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า จึงต้องใกล้เบื้องพระยุคคลบาทใกล้ชิด ส่วนคนไทยที่แตกกระสานซ่านเซ็นหนีพม่ามา ก็โปรดให้อยู่ริมคลองซึ่งแต่ก่อนแต่ไรเรียกกันว่า “คลองบางกอกใหญ่” คู่กับ “คลองบางกอกน้อย” แต่เมื่อมีคนไทยมาอยู่มากมาย บางส่วนก็เป็นข้าราชบริพารรับใช้พระเจ้ากรุงธนบุรี กาลต่อไปคลองนี้จึงถูกเรียกว่า “คลองบางหลวง” ซึ่งหมายถึงคลองทั้งบาง คนของหลวงปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่สองฝั่งคลอง

ย่าเล่าว่าบรรพบุรุษของย่าอยู่บางปลาสร้อย ปัจจุบันเรียกกันว่า “เมืองชลบุรี” คนที่นั่นนับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขาย เมื่อเกิดสงครามก็เข้าร่วมรบกับพระเจ้าตาก ก่อนจะเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ทั้งนี้เพราะท่านมีเชื้อจีน จึงโปรดคนจีนแต้จิ๋ว จีนเหล่านี้จึงถูกเรียกต่อมาว่า “จีนหลวง” ตั้งแต่ปากคลองบางหลวง ไปจนถึงปลายคลองด่าน ที่จะออกสู่ทะเลมหาชัยคนละแวกแถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นจีนหลวง

คนในคลองบางหลวง ในช่วงที่ย่ายังเป็นเด็กเรื่องราวที่เล่าขานของคนในคลอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องศึกสงคราม คนปากคลอง...พวกเชื้อสายฝรั่งโปรตุเกส ที่จะเล่าให้ลูกหลานจดจำการใช้ปืนไฟ ที่เป็นอาวุธทันสมัยของคนในยุคนั้น คนกลางคลอง...จะเป็นผู้มีเชื้อสายแขกอาหรับที่เข้ามาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ และเรื่องราวที่จดจำได้ก็คือเรื่องของ “แขกมักกะฆ่า” หรือคนไทยเรียกแขกพวกนี้ว่า “แขกมักกะสัน” แขกนักรบเคยคิดว่ากบฏยึด “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” เอาไว้ จึงต้องมีการปราบกบฏแขกครั้งใหญ่ แต่สำหรับนักรบคนไทยที่จะอยู่ตั้งแต่ปากคลองไปจนถึงปลายคลอง มีเรื่องเล่าความกล้าหาญของบรรพบุรุษมากมาย แต่ละบ้านแต่ละตระกูลก็มีแตกต่างกัน

ตระกูลข้างย่าเล่าถึงวีรกรรมที่ช่วย “พระยาตาก” ปราบโจรสลัด “นายทองอยู่ นกเล็ก” ที่ตระบัดสัตย์ไม่รักษาคำพูด ที่ช่วยกู้บ้านกู้เมืองจีนนอกซึ่งยังไม่ได้ถูกเรียกตอนนั้นว่า “จีนหลวง” ที่นั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีนจึงจับมีด ง้าว หอก เกาทัณฑ์ร่วมรบด้วยกันจึงได้ชัยชนะ ตระกูลจีนพ่อค้าจึงกลายมาเป็นจีนนักรบ อพยพตามพระเจ้าตากมาอยู่ในคลองบางหลวง ก่อนที่พระองค์จะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” 

ย่าเล่าว่า ความรักที่บรรพบุรุษข้างจีนของย่าที่มีต่อ พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นความรักที่มีความจงรักภักดี จึงพร้อมยอมพลีชีวิตให้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นคนไทย แต่ก็พร้อมจะตายร่วมกับคนไทย เอาชีวิตจิตใจและร่างกายฝากไว้กับแผ่นดินนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็รักไพร่ฟ้าไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน คนแขก ที่หนีร้อนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และทุกคนรักพระองค์ประดุจบิดา พระองค์ทรงรักประชาราษฎร์ประดุจลูกเช่นกัน

ชีวประวัติของ “พระเจ้าตาก” หรือ “พระเจ้ากรุงธนบุรี” มีความผูกพันอยู่กับคลองบางหลวงแห่งนี้ นับตั้งแต่ท่านเลือกปากคลองบางหลวง ซึ่งสมัยก่อนนั้นเรียกว่า “คลองบางกอกใหญ่” เป็นที่ประทับ จึงเป็นที่มาของคำที่ว่า “พระราชวังเดิม” เมื่อพระองค์ทรงเลือกคลองแห่งนี้ บรรดาผู้ที่ตามเสด็จมากับพระองค์ก็เลือกอยู่สองฝั่งคลองตามเมื่อพระองค์ทรงศึกษาวิชาวิปัสสนา ก็ทรงเลือกวัดอินทราราม วัดกลางคลอง และเมื่อสิ้นพระชนม์ พระศพของท่านถูกฝังไว้ที่ “วัดหงส์รัตนาราม” วัดที่อยู่ปากคลองซึ่งไม่ห่างจากพระราชวังที่ทรงประทับเมื่อครั้งยังมีพระชนม์ ในความรู้สึกของคนอยู่ในคลองบางหลวง สายน้ำแห่งนี้จึงเป็นเสมือนสายชีวิต สายโลหิตของพระองค์ที่ผูกพันอยู่กับคนในคลองแห่งนี้ตลอดมา เมื่อสิ้นพระองค์ไป ย่าเคยบอกว่า เสมือนคำโบราณที่กล่าวขานกันว่า...เหมือนลูกขาดพ่อ 

เหมือนคนเรือที่ไม้ถ่อเรือหักลงกลางน้ำ 

เรือจึงเคว้งคว้างไม่รู้จะลอยไป ณ หนใด

เรื่องราวที่ย่าเล่าถึงความเป็นมาของ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เป็นเรื่องที่ติดเตือนใจมาตั้งแต่เล็กคุ้มใหญ่ โดยเฉพาะคำที่ย่ากล่าวไว้ว่า...ชีวิตขาดพ่อ เหมือนไม้ถ่อเรือหัก “แต่ชีวิตของลูกอาภัพยิ่งกว่านั้น”...ยังจำคำที่ย่ากล่าวขานในวันที่ย่าบอกว่า... ชีวิตของลูกขาดพ่อ เรือชีวิตของลูกไม่มีผู้ค้ำถ่อเรือให้ลอยลำ ร้ายยิ่งกว่านั้นชีวิตของลูกก็ขาดแม่ซ้ำ ชีวิตลูกที่ขาดแม่หนักหนาสาหัสเหมือนคนนั่งอยู่บนแพ แล้วแพกลับหักสะบั่น เป็นอันว่าหมดกันแล้วชีวิตนี้ขวบปีที่พ่อทิ้งไปไม่เลี้ยงดู แม่ผู้ให้กำเนิดไม่นำพาเอาไปให้คนอื่นเลี้ยงแทน ในที่สุดย่าก็แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการทำหน้าที่ทั้งเป็นพ่อ ทั้งเป็นแม่ให้...เรื่องชีวิตของเด็กกำพร้าทั้งพ่อ กำพร้าทั้งแม่ จึงรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาเติบโตขึ้นมาได้จนถึงอายุขัยในวันนี้

ขาดพ่อเหมือนถ่อหัก ขาดแม่เหมือนแพแตก