The Handmaiden

The Handmaiden

ดูกันอย่างผิวเผินแล้ว นิยายปี 2002 เรื่อง Fingersmith ของซาราห์ วอเตอร์ส นักเขียนชาวเวลส์ มีรูปโฉมภายนอกเหมือนนิยายชิงรักหักสวาทประโลมโลกทั่ว ๆ ไป มีตัวละครเกี่ยวโยงพัวพันกันสลับซับซ้อนอย่างบังเอิญและจงใจ จนเหมือนวนเวียนอยู่ในโลกแคบใบเล็กมิหนำซ้ำตัวละครแต่ละคนยังมีเป้าหมายแรงจูงใจมุ่งไปที่การช่วงชิงทรัพย์สมบัติมรดกจำนวนมหาศาลอีกต่างหาก

พูดได้ว่า พิจารณาจากรูปโฉมภายนอกและพล็อตโดยคร่าว ๆ แล้ว มีคุณสมบัติเข้าข่าย ‘น้ำเน่า’ ครบครัน

อย่างไรก็ตาม งานเขียนชิ้นนี้ก็มีดีเหนือกว่าเปลือกผิวภายนอกอยู่มากไม่ว่าจะเป็นเค้าโครงเรื่องที่ผูกขึ้นได้อย่างชาญฉลาด มีความยอกย้อนพลิกผันหักมุมหลายตลบ จนยากแก่การคาดเดา และสนุกเข้มข้นชวนติดตามชนิดหยิบอ่านแล้ววางไม่ลง 

ถัดมาคือ รูปแบบการเล่าเรื่อง กลวิธีทางศิลปะ สำนวนภาษาซึ่งทำให้พล็อตเรื่องแบบนิยายราคาถูก ยกระดับกลายเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างน่าทึ่ง

ประการสุดท้ายคือ เนื้อหาสาระ Fingersmith นำพาผู้อ่านไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าผู้ยากไร้ในยุคสมัยวิคตอเรียนของอังกฤษได้อย่างมีเลือดเนื้อ เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา ละเอียดถี่ถ้วน ขณะเดียวกันในอีกแง่มุมหนึ่งก็สะท้อนภาพความเสื่อมโทรม พฤติกรรมเหลวแหลกฟอนเฟะ และความป่วยไข้ทางจิตใจในสังคมผู้ดี รวมถึงประเด็นการขับเคี่ยวต่อสู้ระหว่างเพศ

Fingersmith ประสบความสำเร็จทั้งในด้านยอดขายและคำวิจารณ์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรอบสุดท้ายของ Man Booker Prize ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ในแวดวงวรรณกรรม อันเป็นที่ยอมรับเชื่อถือของนักอ่านทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น นิยายของซาราห์ วอเตอร์ส ยังได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์สำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในอังกฤษเมื่อปี 2005 กำกับโดยไอสลิง วอลช์ และล่าสุดคือ การดัดแปลงข้ามสัญชาติเป็นหนังเกาหลีเรื่อง The Handmaiden โดยฝีมือการกำกับและเขียนบทของปาร์ก ชาน วุค

ปาร์ก ชาน วุค เป็นคนทำหนังชาวเกาหลีที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ งานเด่น ๆ ของเขาได้แก่หนังไตรภาคเกี่ยวกับการล้างแค้นที่ประกอบไปด้วย Sympathy for Mr. Vengeance (2002),Oldboy (2003) และ Lady Vengeance (2005) ตลอดจนหนังที่ไปทำในฮอลลีวูดและได้รับคำชื่นชมอย่าง Stoker (2013)

เอกลักษณ์โดดเด่นในหนังของปาร์ค ชาน วุค ก็คือการสะท้อนภาพด้านมืด ความดิบเถื่อน ความรุนแรงของมนุษย์ ผ่านเรื่องราวประหลาดเพี้ยน แฝงด้วยน้ำเสียงท่าทีเสียดสีเย้ยหยัน และอารมณ์ขันร้าย ๆ

ความยากและเป็นโจทย์ที่ท้าท้าทายอย่างยิ่งสำหรับปาร์ค ชาน วุก ในการดัดแปลงนิยาย Fingersmith ให้กลายเป็นหนังเรื่อง The Hand Maiden เบื้องต้นก็คือจะดัดแปลงนิยายอังกฤษ ซึ่งมีฉากหลังอยู่ในช่วงยุคสมัยวิคตอเรียน ให้ออกมาเป็นเกาหลีได้อย่างไรจึงจะปลอดจากกลิ่นนมกลิ่นเนย 

ประการต่อมา นิยายต้นเรื่องเดิมนั้น มีเหตุการณ์ รายละเอียดเยอะแยะมากมาย ครอบคลุมช่วงเวลายาวนาน จนยากที่จะเก็บใจความดำเนินเรื่องได้ครบถ้วนตรงตามฉบับ ภายในความยาวเพียงแค่สองชั่วโมงกว่า ๆ ยิ่งไปกว่านั้นหลายช่วงหลายตอนยังเป็นการพรรณนาอธิบายความในใจของตัวละครผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่อง

ในเครดิตท้ายเรื่องของหนัง ใช้คำว่า ‘ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายเรื่อง Fingersmith’ อาจเพื่อต้องการลดแรงกดดัน และหลีกเลี่ยงการโดนนำไปเปรียบเทียบเคียงกับต้นเรื่องเดิม 

อย่างไรก็ตาม ตัวหนัง The Handmaiden มีทั้งส่วนที่เป็นการดัดแปลงสร้างจากนิยาย Fingersmith และมีทั้งส่วนที่ปรับเปลี่ยนปรุงรสขึ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนิยาย จนกระทั่งแตกต่างและเป็นอิสระแก่กัน

หนังและนิยายแบ่งเรื่องออก 3 ภาคตรงกัน ภาคแรกนั้นหนังดำเนินเรื่องอย่างซื่อสัตย์เคร่งครัดตรงตามนิยาย ภาคต่อมายังคงใกล้เคียงกันยกเว้นช่วงท้ายที่เปลี่ยนแปลงบางอย่างเพียงเล็กน้อย ส่วนภาคสุดท้ายหนังเลือกเล่าและสรุปลงเอยในแบบฉบับของปาร์ค ชาน วุก ซึ่งผิดแผกแตกต่างจากนิยาย จนกลายเป็นเรื่องใหม่

พล็อตคร่าว ๆ เท่าที่สามารถเล่าสู่กันฟังได้ โดยไม่เป็นการทำลายอรรถรส คือเรื่องราวในภาคแรกเท่านั้น ที่เหลือพ้นจากนั้นพูดได้กว้าง ๆ ว่าเต็มไปด้วยความลับซ้อนความลับ และเป็นการหักมุมซ้อนหักมุมกันหลายชั้น ซึ่งท่านผู้อ่านต้องลองหาโอกาสสัมผัสด้วยตนเองขอยืนยันอีกครั้งว่า เป็นเค้าโครงเรื่องที่เหนือชั้นและสนุกมาก หนังใช้ฉากหลังในช่วงทศวรรษ 1930 อันเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีตกอยู่ใต้การยึดครองโดยญี่ปุ่น หญิงสาวกำพร้าชื่อซุคฮี ซึ่งเติบโตและผ่านการฝึกฝนให้เป็นนักล้วงกระเป๋าและฉ้อโกงต้มตุ๋น ถูกเลือกให้ไปรับหน้าที่เป็นสาวใช้ประจำตัวของท่านผู้หญิงฮิเดโกะในคฤหาสน์หรูหราแห่งหนึ่ง 

เชื้อสายครอบครัวทางฝ่ายแม่ของฮิเดโกะ มีฐานะมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แต่ทั้งแม่และป้าต่างก็เสียชีวิตหมด หญิงสาวจึงกลายเป็นทายาทสืบทอดมรดกโดยชอบธรรมเพียงผู้เดียวที่เหลืออยู่บวกรวมกับรูปโฉมสวยสะคราญ ฮิเดโกะจึงกลายเป็นที่หมายปองของชายจำนวนมาก รวมทั้งลุงเขยชื่อโคอุซุมิ ซึ่งทำหน้าที่ปกครองคฤหาสน์นี้อยู่ และมีเพียงอำนาจจากการขู่เข็ญบังคับจนหลานสาวยำเกรง แต่ไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติทั้งหมด

การที่ซุคฮีมารับหน้าที่สาวใช้ประจำตัวฮิเดโกะ แท้จริงแล้วเป็นแผนของท่านเคานท์ฟุจิวาระ โดยหวังให้สาวใช้คนใหม่ทำหน้าที่เสมือน ‘นกต่อ’ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้นายสาวสนิทสนมไว้วางใจเพื่อสร้างโอกาสให้ขุนนางตกยากได้ใกล้ชิดและล่อลวงให้ฮิเดโกะตกหลุมพราง

เรื่องในภาคแรกจบลง ด้วยการที่สาวใช้กับขุนนาง สมคบคิดกันวางกับดักเล่นงานฮิเดโกะ จวนเจียนใกล้จะสำเร็จ แต่แล้วจุดจบบทสรุปกลับกลายเป็นการพลิกผันช็อคคนดูอย่างแรง

การจบแบบหักมุมแรง ๆ ในภาคแรก ทำหน้าที่เชื่อมโยงส่งต่อไปสู่ภาค 2 ซึ่งทั้งในหนังและนิยาย ล้วนเป็นส่วนที่ดีที่สุด เป็นการเฉลยคลายปมหลาย ๆ อย่างที่ปูพื้นไว้ในภาคแรก และสร้างความประหลาดใจให้แก่

ผู้ชมอยู่เป็นระยะ ๆ ขณะที่ภาค 3 อันเป็นบทสรุป ฉบับนิยายนำพาไปสู่การเผยความลับสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เรื่องคลี่คลายแบบเต็มไปด้วยดราม่าสะเทือนอารมณ์ แต่ในฉบับหนังของปาร์ค ชาน วุค เลือกที่จะทิ้งความลับนี้ไป เปลี่ยนทางมาเป็นการแก้แค้นของตัวละครฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกระทำ และเน้นความเป็นตลกร้ายกันอย่างเต็มที่

ขณะที่เนื้อเรื่องเหตุการณ์ในช่วงจบ มีรายละเอียดและบรรยากาศต่างจากต้นฉบับเดิมอยู่มาก แต่ภาพรวมทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นการดัดแปลงที่เคารพบทประพันธ์ และมีการปรับเปลี่ยนตีความใหม่ไปด้วยในตัว 

อันที่จริงจะใช้คำว่า ‘ตีความใหม่’ ก็อาจจะไม่ตรงนัก น่าจะเป็นการหยิบบางแง่มุมในนิยาย นั่นคือ ความป่วยไข้ในใจของตัวละคร (บางราย) มาขยายความเน้นให้เด่นชัดขึ้นเสียมากกว่า 

โดยรวมแล้ว ประเด็นทางด้านเนื้อหาสาระ ทั้งหนังและนิยายสะท้อนสื่อออกมาได้เกือบจะตรงกันหมด ส่วนที่แตกต่างแน่นอน คือ พื้นเพความเป็นไปกว้าง ๆ ทางสังคม (ซึ่งผิดแผกกัน แต่นำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ยากแค้นเหมือนกัน ผู้คนดิ้นรนทำทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี เพื่อความอยู่รอด รวมถึงความโลภโมโทสันของมนุษย์) ประเด็นอื่น ๆ ที่เหลือตรงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่เต็มไปด้วยกาดกดขี่เอารัดเอาเปรียบเพศตรงข้าม ความละโมบ กิเลศตัณหา ความรัก การทรยศหักหลัง การล้างแค้น รวมทั้งความวิปริตป่วยไข้ในจิตใจมนุษย์

คุณงามความดีอย่างแรกเลยของหนังเรื่อง The Handmaiden ก็คือ การเขียนบทดัดแปลงได้อย่างชาญฉลาด สามารถเก็บรักษาใจความสำคัญจากฉบับนิยายได้ไม่ตกหล่น ขณะเดียวกันก็สอดแทรกเอกลักษณ์ตัวตนของผู้กำกับเข้าไปอย่างกลมกลืน โดยไม่ไปกระทบรบกวนตัว

ความโดดเด่นถัดมาคือ ความประณีตพิถีพิถันในส่วนของงานสร้าง ตั้งแต่การกำกับภาพ การตัดต่อลำดับภาพ ดนตรีประกอบ กำกับศิลป์ การออกแบบเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า-ทรงผม ซึ่งบวกรวมกันแล้วกลายเป็นหนังพีเรียดย้อนยุคที่สวยน่าตื่นตา แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ งานสร้างทั้งหมดยังสะท้อนถึงโลกที่สวยงามหน้าฉากแต่เสื่อมโทรมอัปลักษณ์ในเบื้องลึกที่ห้อมล้อมบรรดาตัวละครหลัก ๆ รวมทั้งยังทำหน้าที่สร้างความลึกลับเคลือบแคลงไม่น่าไว้วางใจตลอดเวลาอันเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง

โดยแนวทางแล้ว The Handmaiden มีการผสมปนกันระหว่างหนังหลายประเภท ตั้งแต่เรื่องลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ตื่นเต้นระทึกขวัญหนังรัก หนังประเภทจิตวิเคราะห์พฤติกรรมของตัวละคร และแน่นอนว่าเป็นหนังอีโรติก

น้ำหนักของความเป็นเรื่องอีโรติคของ The Handmaiden สามารถจำแนกออกเป็น 2 ส่วน อย่างแรกเกี่ยวข้องกับการที่เหล่าผู้ดีมีเงินมาชุมนุมรวมตัวกันอย่างเร้นลับ เพื่ออ่านวรรณกรรมลามก ส่วนนี้สะท้อนความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนวิปริตออกมาได้ดีมาก และเป็นทางถนัดของปาร์ค ชาน วุค โดยแท้ แง่มุมอีโรติกอีกส่วนหนึ่งอยู่ในเหตุการณ์ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างสาวใช้กับเจ้านาย ซึ่งทำออกมาได้สวย เย้ายวน เซ็กซี่ ร้อนแรง

มีเลิฟซีนฉากหนึ่ง ซึ่งเล่าย้อนให้ได้เห็นกัน 2 ครั้ง วาระแรกมันดูเป็นฉากรักดาด ๆ ไม่มีอะไรน่าจดจำ แต่เมื่อเล่าซ้ำทวนอีกครั้ง ท่ามกลางเรื่องราวห้อมล้อมที่เปลี่ยนไป  (รวมถึงการเน้นขยายฉากนี้ให้มีความยาวเพิ่มขึ้น) ผลลัพธ์ก็คือ ฉากพิศวาสที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

The Handmaiden ไม่ได้เป็นแค่หนังอีโรติคที่ดีมาก ๆ เท่านั้น แต่ยังติดกลุ่มหนึ่งในหนังดีที่สุดที่เข้าฉายในบ้านเราประจำปี 2016 ด้วยนะครับ

The Handmaiden เหยื่อและผู้ไล่ล่า