นโยบายวัฒนธรรม

นโยบายวัฒนธรรม

ทุนเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งความหมายของทุนนั้นกว้างขวางและมีหลายรูปแบบ มากกว่าเพียงเครื่องจักร เงินออม (Financial capital) แต่ยังมีทุนประเภทอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ทุนทางปัญญา ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม หรือ ทุนวัฒนธรรม เป็นต้น โดยวัฒนธรรมนี้ถือเป็นทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้หลายทาง ในบทความก่อนหน้า ผมได้อธิบายแนวคิดเกี่ยวการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น 

1) การบูรณาการวัฒนธรรมกับการพัฒนาในมิติอื่น ๆ 
2) การผลักดันประเด็นเชิงวัฒนธรรมในเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อยุทธศาสตร์ชาติ 
3) การพัฒนาวัฒนธรรมในเชิงปริมาณ 
4) การให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมทุกมิติ (Products vs Practices vs Perspectives)  
5) การสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรม ในบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึงประเด็นที่เหลือซึ่งได้แก่

6. เชิงรับ หรือ เชิงรุก (Defensive approach vs Offensive approach)
ที่ผ่านมาวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากตะวันตกมักจะถูกมองเป็นภัยคุกคาม เราจึงเห็นความพยายามรักษาวัฒนธรรมของชาติและป้องกันการเข้ามาของวัฒนธรรมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรับอย่างไรก็ตามการป้องกันวัฒนธรรมจากต่างประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างชาติ การเชื่อมโยงของข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้คนไทยมีปฏิสัมพันธ์กับ
คนต่างชาติและเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรให้น้ำหนักกับนโยบายวัฒนธรรมเชิงรุกมากขึ้น เช่น 

1) สร้างคนให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมโลก สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนต่างชาติ มีทักษะทางวัฒนธรรมแบบสากล สามารถไปทำงานได้ทั่วโลก เพราะโลกในอนาคตมีลักษณะเป็นโลกาเทศาภิวัฒน์ (Glocalization) คนไทยต้องสามารถนำวัฒนธรรมไทยไปสู่โลก แต่ต้องเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของต่างประเทศและสามารถประยุกต์วัฒนธรรมไทยให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น (Contextualization) ได้

2) ส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรม ผมเสนอว่าประเทศไทยควรสนับสนุนการส่งออกวัฒนธรรมทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงการทูต เช่น มีนโยบายวัฒนธรรมเพื่อสร้าง Soft Power หรือความเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในกลุ่ม CLMV, สนับสนุนการส่งออกศิลปินและผู้ทำงานทางวัฒนธรรมของไทยไปยังประเทศเป้าหมาย, ทำการตลาดให้กับสินค้าวัฒนธรรมไทย, สนับสนุนเงินทุนผลิตสินค้าและบริการวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เช่น สร้างภาพยนตร์ที่ Promote วัฒนธรรมไทย เพื่อนำไปขายต่างประเทศ เป็นต้น

3) เลือกรับวัฒนธรรมที่ดีจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาพัฒนาวัฒนธรรมของไทย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของคนไทย เช่น ความมีวินัย การตรงต่อเวลา เป็นต้น เราควรร่วมมือกับต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การต่อยอดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม โดยความร่วมมือนี้ต้องไม่ทำให้เกิดการกลืนทางวัฒนธรรมหรือการทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย

7. เอกภาพ หรือ หลากหลาย (Unity vs Diversity) 
ผมคิดว่าสังคมที่น่าอยู่ควรเป็นสังคมที่มีเอกภาพในความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งผมเรียกว่า “สังคมพหุเอกานิยม” หรือ สังคมที่แตกต่างในความคิดทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ
ฐานะ อายุ วัฒนธรรม ประเพณี เพศ อาชีพ และชนชั้นทางสังคม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข 

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการพัฒนาประเทศของไทยในมิติวัฒนธรรม พบว่า การพัฒนาในอดีตโน้มเอียงไปในการสร้างเอกภาพ แต่ขาดความหลากหลาย เช่น การผลักดันนโยบายการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นบ่อยครั้ง
เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าสังคมไทยไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายโดยเฉพาะความแตกต่างทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอว่าภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น

1) ส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural Rights) ให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ให้ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในการพัฒนาวัฒนธรรมของตน มีสิทธิในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การพิจารณาว่าภาษาราชการควรมีภาษาอื่น ๆ ด้วยได้หรือไม่ รวมทั้งการศึกษาควรให้สิทธิแก่ท้องถิ่นบรรจุเนื้อหาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น เป็นต้น

2) จัดโครงสร้างและบริบทที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เพื่อให้กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ มีพื้นที่ที่จะปฏิสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน พัฒนาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายใต้ความหลากหลาย เช่น สิงคโปร์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่หลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ มีระบบการเมืองการปกครองเชื่อในหลักพหุนิยมทางวัฒนธรรม เป็นต้น (Multiculturalism) มีระบบรัฐสภาที่มีสมาชิกหลายประเภท มีตัวแทนของชนกลุ่มใหญ่ ชนกลุ่มน้อย และคนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ การสร้างที่พักที่กำหนดให้คนเชื้อชาติต่าง ๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นต้น

8. บนลงล่าง หรือ ล่างขึ้นบน (Top down vs Bottom up)
การขับเคลื่อนการพัฒนา หรือโครงการต่าง ๆ มักเผชิญปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะการบรรจุวัฒนธรรมเข้าในโครงการพัฒนาและนโยบายสังคมยังไม่เป็นระบบ การผลักดันนโยบายและโครงการต่าง ๆ มักเป็นลักษณะจากบนลงล่าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือปราศจากความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ในบางครั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ดังตัวอย่างโครงการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ผมเห็นว่า การดำเนินการจากบนลงล่างมีความจำเป็น เนื่องจากภาครัฐสามารถเห็นภาพรวมและทิศทางการพัฒนา มีผู้เชี่ยวชาญ มีงบประมาณเพียงพอ ทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา โครงการพัฒนาต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ การจูงใจ หรือบังคับ ในบางครั้งวัฒนธรรมมีคุณสมบัติเป็นสินค้าสาธารณะ ทำให้ภาครัฐต้องมีหน้าที่บำรุงรักษา แต่การดำเนินโครงการใด ๆ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการจากล่างขึ้นบนด้วย สิ่งที่ผมเสนอในด้านนี้ คือ

1) พัฒนาธรรมาภิบาลทางวัฒนธรรม (Cultural Governance) ฟังเสียงประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมการพัฒนา การดำเนินโครงการใด ๆ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการทางวัฒนธรรมในการพัฒนาการประเมินผลกระทบทางวัฒนธรรม การจัดระบบการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อน และการติดตามประเมินผลโดยคำนึงถึงมิติวัฒนธรรม

2)  เพิ่มพลังเครือข่ายวัฒนธรรม  เช่น  วางระบบและกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต วางโครงสร้างบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม โดยทำให้เป็น แกนนำ สร้างเครือข่ายวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างความร่วมมือในระดับท้องถิ่น กับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา ชุมชน เอกชน และประชาชนทั่วไป และทำหน้าที่ เอายุทธศาสตร์ภาพรวมระดับประเทศ มาประยุกต์ในเชิงปฏิบัติกับท้องถิ่น สามารถดึงเอาพลังวัฒนธรรมท้องถิ่น มาใช้ด้วยความเข้าใจ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ส่งเสริม ต่อยอด ช่วยเพิ่มมูลค่า คุณค่า และความเลอค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการนำมิติวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมาวัฒนธรรมไม่ได้รับความสำคัญจากฝ่ายการเมืองและผู้กำหนดนโยบายมากนัก ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายดำเนินการทางวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องปรับมุมมองใหม่ด้วยการเปลี่ยนมุมมองนี้ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีพลังต่อไป 

นโยบายวัฒนธรรม ที่มีพลังขับเคลื่อน