พงศ์นรินทร์ อุลิศ

พงศ์นรินทร์ อุลิศ

ส่งต่อคอนเนคชั่นมาถึง “พงศ์นรินทร์ อุลิศ” CHIEF EXECUTIVE OFFICER คลื่น Cat Radio รายการวิทยุออนไลน์ยอดนิยมในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้เขาโด่งดังมาจากการทำคลื่นวิทยุชื่อดังอย่าง Fat Radio, Green Wave และอีกหลายรายการ ในปัจจุบันเขายังคงจัดรายการวิทยุในช่วง “หนังหน้าแมว” ทาง Cat Radio อีกด้วย

ทำไมถึงทำรายการวิทยุออนไลน์?
Cat Radio เป็นรายการวิทยุที่ตั้งใจทำเป็นออนไลน์เพราะว่าถ้าเป็นคลื่นวิทยุ FM นั้นค่าใช้จ่ายสูง และรายการเราค่อนข้างมีผู้ฟังเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องใช้ Mass Media ขนาดนั้น เพราะมีกลุ่มคนฟังที่เหนียวแน่นประมาณนึงอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างฟังเพลงหลากหลายและเปิดรับอะไรใหม่ ๆ คือชอบฟังเพลงเป็นหลัก ก่อนหน้านี้เราก็มีจัดในคลื่นวิทยุอยู่สักพัก เพราะได้ช่วงเวลาที่ดีมาและเราพอจ่ายไหว แต่เราทำกันเองไม่ได้คิดจะไปหานายทุนมาซัพพอร์ต สปอนเซอร์ก็หากันเอง สุดท้ายคิดว่าช่องทางออนไลน์น่าจะตอบโจทย์ได้ดีในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของเรา คือต้องอธิบายเรื่องสปอนเซอร์นิดนึงครับ สปอนเซอร์ที่เขาซื้อโฆษณาในคลื่นวิทยุก็จะซื้อในสื่อนี้เท่านั้น สปอนเซอร์ในอินเตอร์เน็ตก็จะซื้อเฉพาะในอินเตอร์เน็ต ซึ่งตัดสินใจซื้อจากยอดคลิก ยอดวิว คือจะแยกกันชัดเจน และ Cat Radio เป็นรายการวิทยุออนไลน์
ซึ่งอยู่ตรงกลาง คือจะต้องขายโฆษณาในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น พูดง่าย ๆ คือรายได้ของเราแทบจะมาจากงานอีเว้นท์แทบทั้งหมดก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้เคยทำ Fat Radio จนโด่งดัง?
ตอนนั้นคุณยุทธนา บุญอ้อม ชวนผมมาทำร่วมกับเขาตอนออกจากแกรมมี่ ตอนนั้นระบบการคิดนั้นง่ายหน่อยครับ คือเปิดเพลงที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ในช่วงนั้นคลื่นวิทยุส่วนใหญ่คนทำจะเป็นผู้ประกอบการหรือค่ายเพลงเป็นหลัก คลื่นวิทยุของค่ายไหนก็เน้นเปิดเพลงของค่ายนั้น ส่วนเราจะคิดกันอีกแบบเพราะไม่ได้มีค่ายเพลงเป็นคนหนุนหลัง คือเจอเพลงที่คิดว่าใช่ก็เปิด เพลงใหม่ ๆ จากค่ายเล็ก ๆ ก็เปิด บางทีก็เป็นเพลงจากตัวศิลปินโดยตรง คือไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเปิดแค่เพลงฮิตเท่านั้น ทีนี้ก็เลยแปลกใหม่ในยุคนั้นครับ เรื่องหนังสือ หนัง เพลง ผมว่าเป็นเรื่องของรสนิยม พอดีว่ามีคนที่รสนิยมตรงกับเรา และอาจจะเบื่อกับสิ่งที่เหมือน ๆ กัน หรือฟังแต่เพลงซ้ำ ๆ กันไปหมด แฟตจึงเป็นที่นิยมขึ้นมาครับ และ Fat Festival ก็กลายเป็นอีเว้นท์คอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายในเวลาต่อมา

สมัยนี้ยังมีการจ้างเปิดเพลงอยู่ไหม?
สมัยนี้มันกลับหัวกลับหางแล้วครับ กลายเป็นถ้าเราเปิดเพลงของศิลปินค่ายไหนต้องจ่ายเงินให้เขาแทน ส่วนการจ้างเปิดเพลงนั้นโดยส่วนตัวผมยังไม่เคยเจอนะครับ แต่ก็เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้มาบ้าง

Fat Radio ทำไมถึงร่วง?
แฟตไม่ได้ร่วงนะครับ แต่มันไม่เคยดีในแง่ธุรกิจเลยต่างหาก ช่วงที่ผลประกอบการดีมีโบนัสให้พนักงานก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการวิ่งไปให้ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้มากกว่า คือเราทำคลื่นวิทยุที่ต่างออกไป อาจจะแปลกกว่าชาวบ้าน โฆษณาก็เลยหายากกว่า ปัญหาของคนฟังเพลงบ้านเราคือไม่ชอบเลือกเอง คือจะฟังเพลงนอกกระแส หรือตามกระแสก็ได้ แต่เราต้องตัดสินใจที่จะเลือกเองสิ เปิดใจรับอะไรใหม่ ๆ ไม่ยากเลยครับ คือรอแต่คนมาชี้นำมาป้อนให้ทั้ง ๆ ที่แค่เปิดเจอเพลงใหม่ ๆ ก็ฟังเท่านั้นเอง พอปีสุดท้ายของแฟต ผลประกอบการไม่เข้าเป้าอย่างที่คิด ผมก็เลยลาออกจากบริษัท พอผมออกทีมงานส่วนใหญ่ก็ออกตาม จึงทำให้แฟตไม่มีคนทำต่อ จริง ๆ ผมว่าถ้าเขายังทำต่อก็น่าจะอยู่ได้นะ

จุดเริ่มต้นของ Cat Radio?
เพราะทีมงานทุกคนรักในงานที่พวกเราทำ ผมก็เลยต้องทำทีนี้พอออกจากที่เก่ากันมาทั้งทีม ผมก็เลยต้องหาไอเดียใหม่มาทำต่อ เพราะเขาออกตามเรามา เราก็อยากให้พวกเขามีงานทำกันต่อ ก็เลยทำคลื่นวิทยุออนไลน์ Cat Radio ขึ้นมาอย่างที่เห็นครับ ที่เราไม่ใช้ชื่อเก่าเพราะเรารู้สึกว่าอยากบุกเบิก อยากจะเริ่มต้นกันใหม่ อย่าง Fat Festival เราทำมาหลายปีจนเริ่มรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรใหม่ ๆ รู้สึกเหมือนกลายเป็นงานประจำปีงานหนึ่ง ที่เป็นรูปแบบเดิม ๆ คือเราต้องการทำอะไรให้มันแตกต่างจากของเดิม ก็เลยรื้อแล้วทำใหม่ครับ ซึ่งนักธุรกิจจริง ๆ เขาไม่ทำอย่างนั้นหรอก เพราะเมื่อชื่อเก่าขายง่าย และอีเว้นท์ก็เป็นที่นิยมมาก การทำรูปแบบเดิมคือการขายที่ง่ายที่สุด แถมมีลูกค้ารออยู่แล้ว แต่เรากลับอยากทำสิ่งใหม่ ๆ คือมีความ Unique สูง อาจจะต้องเหนื่อยกว่าเดิม แต่ก็คิดว่าสนุกกว่าการทำอะไรเดิม ๆ ครับ สุดท้ายก็มาเคาะที่ชื่อ Cat Radio เพราะอยากให้คนฟังรู้ว่าเป็นทีมงานเดิมมาทำต่อ ก็เลยใช้ชื่อที่ใกล้เคียงกับของเดิมครับ

ในอนาคตสื่อวิทยุจะได้รับผลกระทบจากโซเชี่ยลมีเดียขนาดไหน?
ในวันที่โลกเจริญก็ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไป จากเคยติดวิทยุ อ่านหนังสือ ดูทีวี ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นติดโทรศัพท์มือถือมากขึ้น แต่ผมว่าก็มีบางคนที่ยังชอบอะไรในรูปแบบเดิม ๆ อยู่ คือในทุกอย่างจะมีช่องว่างเสมอ ถ้าเรามองหาโอกาสในช่องว่างนั้นได้เราก็จะปรับตัวและอยู่รอดในสังคมได้ ผมมองอย่างนี้มาโดยตลอด แต่ถ้าถามว่าอยู่ได้ไหม อยู่ได้ครับแต่ต้องปรับตัวมากขึ้น ต้องแข่งขันมากขึ้น อีกสักเดี๋ยวก็จะมีคลื่นดิจิตอลออกมา มีการแบ่งซอยความถี่มากขึ้นไปอีก คือพูดง่าย ๆ เค้กก้อนเดิมแต่จะโดนแบ่งไปหลายส่วนมากขึ้น แต่สำหรับตัวผมเองผมก็ยังเชื่อว่าทุกอย่างยังคงไปต่อได้ ช่วงที่คนเขาว่าเศรษฐกิจไม่ดี เราก็ยังอยู่ได้ ช่วงเศรษฐกิจดี ๆ เราก็อยู่เหมือนเดิม คือกลุ่มคนฟังหรือผู้บริโภคของเราก็มีประมาณนี้ คือคนฟังวัยรุ่นอาจจะเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นไปเรื่อย ๆ แต่พอช่วงอายุนึงเขาก็จะชอบฟังเพลงแบบนี้ พอโตอีกหน่อยก็อาจจะชอบฟังไปอีกแบบ แต่ถ้าตัวตนหรือภาพของเราต้องชัดเจน คือมีความเป็น Unique คนก็จะติดตามเราเองครับ

พงศ์นรินทร์ อุลิศ CHIEF EXECUTIVE OFFICER คลื่น Cat Radio รายการวิทยุออนไลน์ยอดนิยมในอินเตอร์เน็ต