ชเล วุทธานันท์

ชเล วุทธานันท์

เรื่องของการสร้างแบรนด์ในรูปแบบ Home Fashion ขึ้นมาสักแบรนด์หนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้การยอมรับในต่างประเทศแต่ PASAYA แสดงให้เห็นแล้วว่าแบรนด์ไทยนั้นสามารถก้าวไปสู่ระดับ Hi-End ได้ด้วยคุณภาพชั้นเยี่ยมที่มียอดขายกระจายไปในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจและแบรนด์นี้ขึ้นมาคือคุณชเล วุทธานันท์กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ผู้มีมุมมองและวิสัยทัศน์กว้างไกลสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนำพาองค์กรประสบความสำเร็จ

ย้อนกลับไปในวัยเด็กคุณชเลเติบโตในครอบครัวคนจีนแบบชั้นกลางทั่วไปมีพี่น้อง 2 คน ซึ่งคุณชเลเป็นคนโต ในวัยประถมได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีน แต่ว่าตัวคุณชเลไม่ค่อยชอบนักเพราะไม่รู้ว่าในเวลานั้นจะเรียนภาษาจีนไปเพื่ออะไร แต่สิ่งที่ชอบมากที่สุดของคุณชเลคือการอ่านหนังสือภาษาไทย อ่านเยอะมากขนาดที่ว่าหลังเวลาเที่ยงคืนยังอ่านหนังสือไม่ยอมนอนทำให้คุณพ่อไม่พอใจจึงสั่งห้ามอ่านหนังสืออีกต่อไป

“การที่ไม่ได้อ่านหนังสือมันทำให้ชีวิตผมขาดอะไรไปเยอะ คือผมมานั่งสรุปว่าทำไมคุณพ่อถึงห้ามอ่านหนังสือภาษาไทย คือท่านอ่านหนังสือไทยไม่ได้จึงไม่รู้ว่าผมอ่านอะไร เวลาขอเงินไปซื้อหนังสือก็ไม่ได้ ผมมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้คุณพ่อยอมรับ เหลือวิธีเดียวคือผมต้องอ่านหนังสือภาษาจีนให้ออก ผมก็เริ่มตั้งใจเรียนภาษาจีน หัดอ่านหนังสือภาษาจีนตั้งแต่อายุ 13-14 ปี พอเริ่มรู้ภาษาจีนผมก็เปลี่ยนจากการอ่านหนังสือภาษาไทยมาอ่านหนังสือภาษาจีนแทน คราวนี้คุณพ่อไม่ว่าอะไรแล้วแถมให้เงินไปซื้อหนังสืออ่านด้วย ตอนนั้นผมก็เลยตั้งเป้าว่าทำอย่างไรถึงอ่านหนังสือให้สูงกว่าหัวผมให้ได้ ผมใช้เวลาประมาณ 3 ปี อ่านหนังสืออย่างเดียวเพื่อเกณฑ์ความรู้ออกมา มันเป็นเรื่องความชอบส่วนตัวที่ทำให้ได้ทั้งความรู้และภาษาจีนติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ 

“พอเริ่มโตขึ้นคุณพ่ออยากส่งผมไปเรียนต่างประเทศ ผมไม่อยากไปเพราะใจผมชอบเรียนทางด้านศิลปะมากกว่าแต่คุณพ่อไม่ให้ผมเรียนที่ผมชอบเลย ผมก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นหาเงินเรียนเองดีกว่าก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและทำงานไปด้วย งานแรกคือการสอนภาษาจีนแต่รู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเองก็เลยไปทำงานกับหนังสือพิมพ์จีนสมัยนั้นชื่อ ตั่งหน้ำ อยู่แถวสี่พระยา แต่มันเป็นอาชีพที่น่าเบื่อมากเพราะเอาข่าวไทยมาแปลเป็นจีนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากทำจริง ๆ 

“พอดีช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้นมาแล้วเขาเปิดหนังสือพิมพ์ไทยชื่อ อธิปัตย์ ผมก็เลยไปสมัครงานและได้ทำงานที่นั่น ผมทำงานเรื่อยไปจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็ต้องเลิกทำงานหนังสือพิมพ์ไป

“หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาผ่านไป ผมก็กลับมาทำงานกับครอบครัวของตัวเองคือมีโรงงานทอผ้าเล็ก ๆ อยู่ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าเราจะทำเรื่อง Textile แต่ไม่มีความรู้เลยมันไม่ได้ ผมเข้าไปบอกคุณพ่อว่าถ้าจะให้ผมทำผมต้องเป็นคนที่รู้จริงผมก็เลยเลือกที่จะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสมัยนั้น คือวิศวกรรมสิ่งทอจาก Philadelphia University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคราว 30 ปีที่แล้วเป็นมหาวิทยาลัยค้นคว้าเรื่องของชุดนักบินอวกาศ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในมหาวิทยาลัยแม้จะมีชาวยุโรป แอฟริกา เอเชียน้อยมากผมเป็นคนไทยเพียงคนเดียว แต่มีชาวอเมริกาใต้เยอะที่สุด รวมกันแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

“การเรียนที่นั่นสอนเรื่องของวิชาการล้วน ๆ มีการคำนวณเข้าห้องทดลอง โดยโปรเจ็กต์ที่ผมทำคือหลอดเลือดเทียม ที่ใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ กับอีกโปรเจ็กต์หนึ่งคือการเลี้ยงแมงมุม เพราะแมงมุมมีเส้นใยที่เหนียวมากเป็นเส้นใยธรรมชาติเหนียวที่สุดหากเทียบจากขนาดของตัวมัน ทฤษฎีมันว่าไว้คือทำไมแมงมุมถึงได้คายเส้นใยเหนียวประมาณนี้ออกมาได้โดยไม่ต้องใช้ความร้อนพิเศษใช้เพียงเคมีคอลในร่างกายตัวเองออกมา มีอยู่วันหนึ่งผมจำได้แม่นเพราะแมงมุมหลุดออกมา คือตัวมันใหญ่เท่าฝ่ามือ ก็ไล่จับกันทั้งตึกเพราะราคาของมันมีมูลค่าเป็นหมื่นเหรียญดอลลาร์”

หลังจากเรียนจบคุณชเลก็กลับมาช่วยงานของครอบครัว แม้จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยไม่ได้เติบโตเรื่องของสิ่งทอมากนักเนื่องจากความรู้ด้านสิ่งทอมีอยู่อย่างจำกัด แต่ตรงนี้เองกลับเป็นโอกาสของคนที่มีความรู้จากการไปศึกษาในต่างประเทศ ได้นำเอาเทคนิคใหม่มาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการ Textile สร้างความได้เปรียบในสิ่งที่โรงงานอื่นทำไม่ได้ แต่ข้อจำกัดอยู่ตรงที่ตลาดกำลังซื้อภายในประเทศไม่มี ทำให้ต้องขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มเติม 

“ในปี พ.ศ.2529 ผมรับกิจการต่อมาจากคุณพ่อก็ได้จัดตั้ง บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ขึ้นมา ในปี พ.ศ.2531 ทางบริษัทก็เริ่มทำการส่งออกโรงงานก็โตวันโตคืนส่งออกได้จำนวนเยอะมาก จนได้มีการขยายโรงงานในปี พ.ศ.2538มาใช้พื้นที่ของจังหวัดราชบุรี พอมาสร้างโรงงานเองเราก็สามารถควบคุมการผลิตแทบจะทุกขั้นตอนสามารถผลิตเคมีสิ่งทอได้ตามที่เราต้องการทุกอย่าง จนในปี พ.ศ.2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายธุรกิจล้มลงแต่ธุรกิจส่งออกยังโชคดี เพราะการที่เงินบาทลอยตัวทำให้อัตราแลกเปลี่ยนทวีคูณเป็นกำไรหลายเท่าตัว

“แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้โชคดีตลอดเวลามันมีสัจธรรมของตัวเอง ความไม่เที่ยงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เราก็มีช่วงที่ขาดทุนเหมือนกันมีอยู่ปีหนึ่งเราขาดทุนถึง 50 ล้านบาทเพราะเราทำสัญญาการขายในระยะยาวด้วยอัตราแลกเปลี่ยนแบบเดิม โดยรับประกันจะไม่เปลี่ยนราคาขนาดที่ว่าส่งออกผ้าไป 1 หลาก็แถมให้เขาไป 1 เหรียญ แต่เราก็ภูมิใจว่าเราเสียชีพได้แต่ไม่ยอมเสียสัตย์ เราไม่เคยผิดสัญญาแต่ก็ต้องมาเจ็บหนัก หลังจากนั้นเป็นต้นมาเราจึงระวังเรื่องการส่งออกเป็นอย่างมาก”

เมื่อทำงานส่งออกสินค้าสิ่งทอมาระยะเวลาหนึ่ง ด้วยความที่คุณชเลเป็นคนอ่านหนังสือภาษาจีนออกทำให้รู้เท่าทันเหตุการณ์สังคมจีนเป็นอย่างดีและคาดการณ์ว่าจีนที่กำลังเปิดประเทศมีการเติบโตในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและเชื่อมั่นว่าจะแซงหน้าหลายประเทศได้ไม่ยาก ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกในประเทศไทยด้วยช่วงปี พ.ศ.2543 จึงได้เตรียมความพร้อมโดยการสร้างแบรนด์ PASAYA ขึ้นมา เพิ่มช่องทางการขายสินค้าของตัวเองขยายไลน์การผลิตสินค้าตกแต่งบ้าน Home Fashion จากผ้าทอคุณภาพพิเศษ

“ผมเป็นเอ็นจิเนียทำโรงงานมาตลอด การเป็นคนโรงงานกับการขายของในห้างมันคนละเรื่องกัน ทำให้คิดตลอดว่าต้องทำมาร์เก็ตติ้งอย่างไรให้สำเร็จ แต่ก็คิดเสมอว่าจะสร้างแบรนด์อย่างไร หาคอนเซ็ปต์ทำสินค้าประเภทไหน ก็ทำถูกทำผิดมาบ้าง แล้วเราก็พยายามทำความเข้าใจเรื่องการตลาด มีการสร้างทีมงานใหม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก

“ผมตั้งชื่อแบรนด์มีอยู่เพียง 3 เงื่อนไขคือ ชื่อต้องเป็นภาษาไทย ต้องเป็นคำที่พูดแล้วจำได้ และเป็นคำที่ออกเสียงได้ในทุกชาติ จึงเป็นที่มาของภาษาไทยว่า แพศยา (PASAYA)หมายถึง หญิงรูปงาม ฉลาด มีอำนาจ แต่จุดที่ทำให้เราสำเร็จได้ก็น่าจะมาจากโปรดักส์ คือเรากล้าวิจัยในสิ่งที่ไม่มีใครกล้านำเสนอ

“อย่างโปรดักส์ที่ขายดีมากมีคอตตอนกับไมโครไฟเบอร์ คนจะบอกว่าถ้าจะใช้ผ้าปูที่นอนต้องคอตตอน100% แต่ผมบอกว่าทำไมต้องเป็นคอตตอน 100% ในเมื่อไฟเบอร์ก็แทนได้ สมัยที่ผมเรียนหนังสือมันสามารถทำเป็นหลอดเลือดเทียมใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้ ไมโครไฟเบอร์เป็นสิ่งที่ทนทานไม่มีพิษต่อร่างกายแล้ว แถมมีความละเอียดยิ่งกว่าเส้นใยคอตตอน หรือฝ้าย 8 เท่า ความสามารถในการนำพาความร้อนถ่ายเทได้ดีกว่า มีพื้นผิวของวัสดุที่มากกว่าสามารถระบายความชื้นได้ดีกว่า แต่คน
กลับกลัวส่วนผมไม่กลัว ผมเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ต้องอาศัยการพัฒนาสินค้าเพื่อให้มีสินค้าคุณภาพดี

“แน่นอนว่าการจะทำให้ PASAYA ติดอันดับแบรนด์เป็นที่รู้จักนั้น คือปัญหาที่ทำยากที่สุด ยิ่งการออกไปสู่ตลาดต่างประเทศนั้นต่อให้ดีแค่ไหนเราจะมักถูกกันทุกรูปแบบ แม้ว่าเราจะมีสินค้าที่คุณภาพดีที่สุดแต่ปัญหาคือเราจะขายราคาแบบแบรนด์เนมอย่างประเทศอิตาลีไม่มีใครซื้อแน่นอน แล้วเราจะเบียดขึ้นไปไม่ใช่เรื่องง่าย แบรนด์ของคุณต้องมีประวัติศาสตร์สร้างสตอรี่ขึ้นมา 

“แต่ก็เหมือนเป็นความโชคดีที่บังเอิญราชเลขาของทางกษัตริย์สวีเดน เขาต้องการได้ผ้าไหมแบบโบราณเพื่อไปใช้ในพระราชวัง เพียง 30 เมตร ผมก็คิดว่าเป็นโอกาสดีจึงจัดทำถวายเป็นของขวัญไป 50 เมตร ในเวลาต่อมาทางพระราชวังสวีเดนทำมูลนิธิเกี่ยวกับเด็กและลูกเสือโลก ผมก็อาสาไปช่วยทำผลิตภัณฑ์หาเงินเข้ามูลนิธิโดยนำกำไรที่หักต้นทุนเข้ามูลนิธิโดยนำไปขายในยุโรป ซึ่งเป็นการทำสินค้าร่วมกันระหว่าง PASAYA กับ จอร์จ เจนเซน ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าระดับราชวงศ์เดนมาร์กเลือกใช้ ตรงส่วนนี้เองทำให้ PASAYA เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น ในฐานะผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูง”

เหมือนกับที่คุณชเลคาดการณ์เอาไว้เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันสินค้าจีนได้เข้ามาในประเทศไทยมากมายที่สำคัญเป็นคู่แข่งการส่งออกสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมของไทย การสร้างแบรนด์ PASAYA ขึ้นมาจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ป้องกันความเสี่ยงที่นอกเหนือจากการทำโรงงานรับผลิตสินค้า OEM เพียงอย่างเดียว แต่ถึงอย่างไรวงการสิ่งทอบ้านเราก็ยังถือว่าอยู่ในขั้นที่ยังไม่ฟื้นตัวเองมากนัก

“วันที่จีนเข้ามาสถานการณ์ถูกเทไปฝั่งจีนทั้งหมด เพราะเขาทำสินค้าได้ถูกซึ่งมันจะเกิดสภาวะอันหนึ่งคือทุกคนนิยมของถูกของดี ๆ มันแพงเขาก็ไม่เอา วงการ Textileในบ้านเราก็เข้าสู่ยุคถดถอยถ้าเทียบจากปี พ.ศ.2542ผมว่าโรงงานในประเทศเหลือแค่เพียงหนึ่งในสามเท่านั้นเอง 

“ปัจจุบันเราต้องเก็บออมกำลังเอาไว้เพราะว่าจีนก็คงอยู่ได้เพียงพักเดียว ผมคิดว่าอีก 2 -3 ปีอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศจะเริ่มกลับมา ตอนนี้ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะดูจากค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนที่เป็นแรงงานทอผ้าเริ่มสูงกว่าประเทศไทย ที่ยังยืนอยู่ได้เขามีการสนับสนุนจากภาครัฐ พอเขาลำบากก็เข้าไปให้รัฐช่วยเหลือ 

“ช่วงที่ผ่านมาประเทศจีนมีเหตุการณ์รัฐบาลไม่สนับสนุนเรื่องของภาษีเหมือนกัน ปรากฏว่าโรงงานของเขาปิดไปจำนวนมาก แต่พอรัฐบาลเข้าไปช่วยไม่นานโรงงานก็เปิดกลับมาใหม่ แต่ว่าเขาหนีความเป็นจริงไม่พ้น เพราะในจีนตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องของคุณภาพและการจัดการสิ่งแวดล้อม แล้วโรงงานจะค่อย ๆ ปิดไป ผมว่าปีนี้น่าจะเริ่มเห็นผล แต่อีกด้านหนึ่งจะต้องลำบากในการต่อสู้เพราะต้องมาเจอกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม แต่เวียดนามจะทำของที่ถูกมากเราต้องทำของที่ Hi-End ขึ้นมาแล้วบริหารงานแบบทันสมัยโดยใช้ Know How มากขึ้นแบบนี้จะไปรอดได้

“แม้ตอนนี้ผมจะอายุมากแล้วมีคนถามผมว่าทำไมยังไม่เกษียณ ผมยังมีภารกิจที่ต้องทำหลายอย่างในธุรกิจนี้ผมยังเชื่อว่า Textile จะสามารถกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้งหนึ่ง สภาวะมันไม่ได้อยู่อย่างนี้แล้วเป็นแบบนี้ตลอดไป มันใกล้ถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว เหมือนกับน้ำขึ้นน้ำลงเรานั่งมองน้ำไหลออกไปนั่งคุยกันยังไม่เท่าไหร่เลยน้ำมันก็ไหลกลับมาอีกแล้ว มันเป็นเรื่องของธรรมชาติมีขึ้นมีลงเวลาที่มันผ่านไปก็แค่แป๊บเดียวเอง

“แต่บางคนมองว่าธุรกิจ Textile เป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นประเทศไทยไม่ผลิต ก็ยังมีอินเดีย ปากีสถาน จีน ผลิต เราควรไปทำธุรกิจที่สบาย ๆ ไม่เหนื่อย ผมบอกเลยว่าธุรกิจสบายมันมีไม่เยอะหรอก อย่างธุรกิจที่กำลังบูมอยู่ตอนนี้มันอาจเป็นเพียงสภาวะชั่วคราวมันอาจไม่ได้ดีไปตลอด หรืออย่างในเมืองนอกก่อนหน้านี้ถ้ารู้ว่า สตีฟ จอบส์ ประสบความสำเร็จคงมีคนไปร่วมงานตั้งแต่ตอนแรก ๆ แล้ว แต่เราไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์นั้นได้ ถึงแม้ผมเองจะมองเห็นว่ามันดีแต่ผมมีภาระที่ต้องกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว การสร้างธุรกิจขึ้นมาขนาดนั้นมีคนที่อยู่ข้างหลังเราอีกมากมาย แล้วสิ่งที่เรารู้ดีที่สุดคือ Textile เราจึงต้องทำมันออกมาให้ดีที่สุด

“ปัจจุบันบริษัทผมมีพนักงานราว 600 คน จากเดิมที่มี 1 พันกว่าคน  โดยลดพนักงานในส่วนอื่น  และเพิ่มในส่วนของพนักงานขาย หลักการบริหารของผมไม่มีอะไรมาก ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารโรงงาน ผมรู้เสมอว่าที่เติบโตขึ้นมาได้ล้วนเป็นหยาดเหงื่อแรงงานของพนักงานทุกคนช่วยกันทำในฐานะของกรรมการผู้จัดการหรือว่าหุ้นส่วนหมายถึงว่าเราเป็นคนลงเงินทุนและควบคุมทิศทางแต่คนที่ทำให้มันสำเร็จจริง ๆ เป็นหยาดเหงื่อแรงงานก็คือพนักงาน 

“เหล่านี้เองจึงเป็นหลักการอย่างหนึ่งของบริษัทว่าเราต้องดูแลพนักงานของเราให้ดีคาดหวังว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในทุกด้านแล้วอย่างหนึ่งคือจะทำอย่างไรให้ลูกหลานของพนักงานมีการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งเรากำลังจัดตั้งกองทุนไว้ให้ลูกหลานของพนักงานได้เรียนไปจนถึงปริญญาตรี แต่ว่าต้องมีเงื่อนไขคือคนที่ได้ต้องเรียนเก่งเพราะเขาจะได้ต่อยอดพัฒนาตนเองต่อไปได้ในอนาคต”

นอกจากนี้ในเรื่องของการตอบแทนสังคมในระดับประเทศคุณชเลยังเป็นประธานมูลนิธิป่าเขตร้อน เป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งแต่เรื่องของเงินทุน การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เดินป่า GPS รถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ ในการช่วยพิทักษ์ป่าให้คงอยู่กับประเทศไทยต่อไป 

“ยังมีงานที่ผมทำคือช่วยเหลือมูลนิธิเด็กเกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งบ้านเรามีเด็กจำนวนมากถูกเอาเปรียบตั้งแต่เล็ก ส่วนใหญ่มากจากภาวะยากจน เรื่องของการช่วยเหลือมูลนิธิเด็ก มีต่างชาติจำนวนมากจ้องทำความผิดในประเทศไทยหรือมาซ่อนตัวอยู่ การทำมูลนิธินี้ส่วนใหญ่จึงต้องสู้กับชาวต่างประเทศที่ชั่วร้ายมากระทำต่อเด็ก ถ้าประเทศไทยมีกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นศูนย์รวมของการทำผิด แล้วประเทศเพื่อนบ้านก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่นำเหยื่อคือเด็กเข้ามาในประเทศไทย เมื่อมีการผลักดันกฎหมายสื่อลามกอนาจารในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ หายไปด้วย

“ส่วนวันพักผ่อนของผมนั้นผมอาจไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเท่าไหร่เพราะผมชอบเล่นเรือใบ คือมีความประทับใจตั้งแต่เด็กจำได้ว่าคุณพ่อพาผมไปดูหนังเรื่องเกี่ยวกับไวกิ้ง แต่เรื่องที่ผมชอบมากเลยคือ อภินิหารขนแกะทองคำ มันเป็นหนังที่ประทับใจมีการแล่นเรือใบ ผมรู้สึกว่าชอบเพราะมันไม่ต้องใช้คนพายเรือ พอโตขึ้นเมื่อมีโอกาสไปเล่นเรือใบ ก็รู้สึกชอบมันเรียกความรู้สึกเก่ากลับมา 

“ผมเล่นเรือใบจนกระทั่งไม่มีเวลาไปตีกอล์ฟ มีนักบริหารท่านหนึ่งบอกผมว่าถ้าเป็นนักธุรกิจต้องตีกอล์ฟเพราะว่ากอล์ฟเป็นโอกาสเดียวที่จะมีโอกาสสนทนาการกับนักธุรกิจด้วยกัน แต่บนเรือใบไม่มีใครคุยเรื่องธุรกิจเลย เจ้าของธุรกิจอีกคนก็อยู่อีกลำแล้วเป็นคู่แข่งกัน พอถึงฝั่งก็ไม่ได้คุยเรื่องงานแต่คุยเรื่องวิธีแข่งกันอย่างเดียว”

จากเรื่องราวชีวิตและแนวคิดการบริหารธุรกิจของผู้บริหารอย่างคุณชเล วุทธานันท์ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมีความอดทนมองโลกในแง่บวกเสมอ กัปตันเรือคนนี้แม้จะมีคลื่นลมแห่งอุปสรรคแรงแค่ไหนก็พร้อมที่ฟันฝ่าให้ไปถึงเป้าหมาย นำพาองค์กรและแบรนด์อย่าง PASAYA โลดแล่นในระดับสากลต่อไป 

Know Him 

•    จุดเด่นอย่างหนึ่งของแบรนด์ PASAYA คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อผ้าความละเอียดสูงมาก โดยใช้เทคโนโลยีการทอตามสูตรเฉพาะตัวที่ยากจะมีโรงงานอื่นเลียนแบบ
•    คุณชเลย้ายโรงงานจากย่านพระประแดงมาอยู่จ.ราชบุรี บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่ นับได้ว่าเป็นโรงงานที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัยสวยงาม อีกส่วนหนึ่งยังเป็นโรงงานที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
•    นอกจากเรื่องการเป็นนักบริหารแล้ว คุณชเลยังเป็นนักเขียน โดยออกหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อย่าง เร้นรอยทราย มาก่อนแล้วซึ่งในเวลาไม่นานเราจะได้เห็นเรื่องราวนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อีกหนึ่งก็เป็นได้

The Visionary Leader การเปลี่ยนแปลงสู่ความสำเร็จ