การเมือง

การเมือง

ถ้าด่านตรวจคนเข้าเมืองตามสนามบินต่าง ๆ ทั่วโลกสังเกตหนังสือเดินทางของผู้ที่เดินทางเข้าออกให้ละเอียดสักหน่อยก็จะพบว่ามีปกหนังสือเดินทางจำนวนหนึ่งที่มีการประดับตกแต่งด้วยสติ๊กเกอร์ 

การติดสติ๊กเกอร์บนปกหนังสือเดินทางของคนไต้หวันมิได้เป็นเพียงการประดับเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏบนสติ๊กเกอร์ออกแบบเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ โดยกำหนดขนาดให้ปิดทับตำแหน่งที่ต้องการได้พอดี 

ตำแหน่งหลัก 2 จุดบนปกพาสปอร์ตที่ติดสติ๊กเกอร์คือตรงตำแหน่งชื่อประเทศซึ่งเดิมพิมพ์คำว่า “จงฮว๋าหมินกว๋อ”中華民國 REPUBLIC OF CHINA ตรงตำแหน่งนี้จะถูกปิดทับด้วยสติ๊กเกอร์ 台灣國 REPUBLIC OF TAIWAN ส่วนตรงตำแหน่ง วงกลมมีดวงตะวันฉายแสง ซึ่งอยู่ถัดลงมา จะถูกปิดด้วยสติ๊กเกอร์วงกลมรูปแผนที่ไต้หวันหรือสติ๊กเกอร์รูปหมี 

สติ๊กเกอร์เหล่ามีรูปให้เลือกหลายแบบ เป็นสติ๊กเกอร์แจกฟรีขององค์กรรณรงค์ทางการเมืองเพื่อการก่อตั้งประเทศไต้หวัน (ซึ่งปัจจุบันยังใช้ชื่อ “สาธารณรัฐจีน” หรือ “จงฮว๋าหมินกว๋อ” 中華民國 REPUBLIC OF CHINA) ตั้งแต่ปี 1971 ที่ไต้หวันต้องออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหประชาชาติ คำว่า Rebupblic of China หรือ 中華民國 ของไต้หวันก็กลายเป็นประเด็นการเมืองทั้งในระดับนานาชาติและเป็นปัญหาการเมืองภายในระหว่างพรรคชาตินิยม (กว๋อหมินตั่ง) 國民黨 กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง) 民進黨 โดยพรรคกว๋อหมินตั่งยังคงยึดมั่นกับการใช้ชื่อประเทศแบบเดิมว่า “จงฮว๋าหมินกว๋อ” 中華民國 REPUBLIC OF CHINA

ขณะที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง) นั้นมีความคิดที่จะเป็นประเทศอิสระที่ไม่สังกัดกับชื่อประเทศเดิม แนวความคิดการตั้งตัวเป็นประเทศไต้หวันอิสระนั้นฝังตัวอยู่ในความคิดของประชากรไต้หวันกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวจีนอพยพที่มาพร้อมกับเจียงไคเชคและพลพรรคกองกำลังของกว๋อหมินตั่งที่แตกพ่ายมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1949 โดยผู้คนส่วนใหญ่นั้นมาทางเรือกับเรือรบทหาร ส่วนตัวเจียงไคเชคเองโดยสารเครื่องบินจากสนามบินเฟิ่งฮว๋างซานในเมืองเฉิงตู 成都鳳凰山機場 เวลา 14.00 น. ของวันที่ 10 ธันวาคม 1949 และนับจากเวลานั้นเป็นต้นมาเจียงไคเชคก็ไม่มีโอกาสได้กลับไปยืนบนพื้นดินของจีนแผ่นดินใหญ่อีกเลย

เกาะไต้หวันมีคนอยู่อาศัยหลายกลุ่มตั้งแต่ก่อนที่พลพรรคกว๋อหมินตั่งของเจียงไคเชคจะอพยพมา นอกจากชนเผ่าพื้นเมือง บนเกาะไต้หวันยังมีคนจีนที่อยู่บนเกาะแห่งนี้มานานเนื่องจากเกาะไต้หวันเป็นเกาะใกล้มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ในประวัติศาสตร์อันยาวนานก็ได้มีคนจีนจำนวนหนึ่งตั้งรกรากทำมาหากินอยู่บนแผ่นดินเกาะนี้แล้ว การมาถึงของพลพรรคกว๋อหมินตั่งของเจียงไคเชคทำให้ไต้หวันตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎอัยการศึก ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 1949 โดยพรรคกว๋อหมินตั่งครองอำนาจการเมืองอยู่เพียงพรรคเดียว จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 1987 ในยุคของประธานานธิบดีเจี่ยงจิงกว๋อ 蔣經國 จึงได้มีการประกาศยกเลิกอำนาจเผด็จการของกฎอัยการศึก 

มองดูผิวเผิน ไต้หวันก่อนยุคปี ค.ศ.1987 เหมือนจะอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ทว่าภายใต้ความเงียบของท็อปบู้ททหาร ไต้หวันมีกลุ่มและองค์กรที่เคลื่อนไหวความคิดขัดแย้งกับอำนาจรัฐของกว๋อหมินตั่งอยู่ไม่น้อย ความขัดแย้งระหว่างพลพรรคกว๋อหมินตั่งที่อพยพมาใหม่ในปี 1949 กับผู้ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้แต่เดิมนั้นดำรงมาก่อนหน้านี้แล้ว, ตั้งแต่ปี 1947 ไต้หวันก็มีนักโทษทางความคิดจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับติดคุกและ “ปล่อยเกาะ” (ที่เกาะลวี่ต่าว 綠島) ซึ่งประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไต้หวันเรียกช่วงเวลานั้นว่า ยุคความสยองขวัญสีขาว 白色恐怖 

แนวความคิดที่ว่า ไต้หวันเป็นประเทศอิสระประเทศหนึ่ง มิใช่มณฑลหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐจีน Rebupblic of China หรือ 中華民國 ตามแนวคิดของพรรคชาตินิยมกว๋อหมินตั่ง และไต้หวันก็มิใช่มณฑลหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน People Republic of China หรือ 中华人民共和国 ตามแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนบนแผ่นดินใหญ่นั้นมีมานานแล้ว การเคลื่อนไหวแนวความคิด “ประเทศไต้หวัน” มีมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกกระทำกันอย่างลับ ๆ เนื่องจากอำนาจกฎอัยการศึกจากอำนาจเผด็จการเจียงไคเชคถือว่าเป็นความผิดขั้น “บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ” ทว่าไม่ว่าอำนาจเด็ดขาดจากท็อปบู้ททมิฬของพวกเผด็จการจะทำอย่างไรก็ไม่อาจสยบหน่อความคิดที่ต้องการตั้ง “ประเทศไต้หวัน” อย่างเป็นอิสระของผู้คนได้

การเคลื่อนไหวทางความคิดเรื่อง “ประเทศไต้หวัน” หรือ “ไต้หวันอิสระ” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้วยวิธีการอย่างลับ ๆ ในช่วงอำนาจทมิฬจนถึงการต่อสู้อย่างเปิดเผยจะแจ้งด้วยการก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง 民進黨) เพื่อการต่อสู้อย่างจริงจังในรัฐสภา จนกระทั่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าสามารถครองเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล 2 สมัยในยุคของเฉินสุยเปี่ยน 陳水扁 ระหว่างปี ค.ศ.2000-2008 นั่นเป็นครั้งแรกที่แนวความคิดเรื่อง “ประเทศไต้หวัน” หรือ “ไต้หวันอิสระ” 
สามารถมีพื้นที่ทั้งในระดับภายในประเทศในรัฐสภาของไต้หวันและในระดับนานาชาติ ปัญหาเรื่องชื่อประเทศของไต้หวันนั้นดำรงอยู่อย่างชัดเจนไม่ว่าจะในยุครัฐบาลพรรคชาตินิยมกว๋อหมินตั่งที่เรียกประเทศของตนว่า “จงฮว๋าหมินกว๋อ” 中華民國 REPUBLIC OF CHINA 

โดยเสนอแนวความคิดว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งสังกัดกับประเทศ “สาธารณรัฐจีน” 中華民國 REPUBLIC OF CHINA ซึ่งแนวความคิดนี้ขัดแย้งกับแนวความคิดของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่งที่มีแนวความคิดว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งสังกัดกับประเทศ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน” 中華人民共和國 PEOPLE REPUBLIC OF CHINA ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มองว่าไต้หวันเป็นเพียง “มณฑล” หนึ่งของประเทศจีนที่ใช้ชื่อแตกต่างกัน ทว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง 民進黨) นั้นเสนอความคิดว่าไต้หวันคือ “ประเทศสาธารณรัฐไต้หวัน” มีสถานะความเป็นประเทศอธิปไตยอย่างเป็นอิสระทั้งจากจีนเก่าและจีนใหม่ ไต้หวันคือประเทศอิสระ ไม่ใช่มณฑลหนึ่งของใครผู้ใดทั้งสิ้น 

แนวความคิดประเทศไต้หวันอิสระได้หยั่งรากลึกลงในจิตใจของคนไต้หวันรุ่นใหม่มากขึ้น ความเคลื่อนไหวทั้งอย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสถาปนา “ประเทศไต้หวัน” อย่างเป็นทางการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และการติดสติ๊กเกอร์台灣國 REPUBLIC OF TAIWAN ก็เป็นการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่กำลังดำเนินอยู่ในยุคนี้ ส่วนที่ฮ่องกงก็เริ่มมีสติ๊กเกอร์ในลักษณะเดียวกันนี้ปรากฏบนปกหนังสือเดินทางของคนฮ่องกงด้วยความคิด “ประเทศฮ่องกง” เช่นกัน 

เรื่องสติ๊กเกอร์